ในโลกยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ คำว่า “ค้าของป่า” จึงฟังแล้วอาจนึกถึงการค้าขายของโลกอดีตที่ล้าสมัย ไม่มีอารยะ แต่เชื่อไหมว่าสินค้าจากป่านี่เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกยุคอดีต โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา สยามได้ถูกบรรทุกไว้ในแผนที่การค้าของนักเดินเรือจากทั่วสารทิศ ซึ่งสะท้อนภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดี
มิวเซียมสยาม โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้นำเอาความน่าสนใจของการค้าของป่าในสมัยอยุธยา มาถ่ายทอดผ่านนิทรรศการกลางแจ้ง “ค้าของป่า” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวความมั่งคั่งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเกิดจากการนำทรัพยากรในป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์มาทำการค้ากับนานาประเทศ โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง และพระนารายณ์ ตลาดการค้าของป่าของกรุงศรีอยุธยามีความคึกคัก เพราะคู่ค้าของประเทศฝั่งตะวันตกเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่ค้าเจ้าเดิม คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเปอร์เซีย
ดังนั้นจึงบอกว่าคนไทยค้าขายไม่เป็นไม่ได้ เพราะเรามีการแต่งสำเภาหลวงขนส่งสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ทั้งอินเดีย ปัตตาเวีย มลายู เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ส่วนสินค้าส่งออกที่นำไปค้าขายนั้นมีก็หลากหลาย จะมีอะไรบ้างนั้นเดินชมกันไปพร้อมๆ กันเลย
พื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับการ “ค้าของป่า” นี้แบ่งตามชนิดของสินค้าออกเป็น 8 โซน โซนแรก “ค้าช้าง” เล่าเรื่องการค้าช้างของราชสำนักสยาม โดยให้ไพร่พลจากหัวเมืองไปคล้องช้างป่ามาเข้าเพนียดเพื่อฝึกจนเชื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากจะฝึกมาใช้ในสยามแล้ว ก็ยังเป็นสินค้าส่งออกกำไรดีที่ผูกขาดการส่งออกโดยรัฐอีกด้วย ส่วนประเทศที่เป็นคู่ค้าช้างที่สำคัญก็คืออินเดีย ที่ซื้อช้างฝึกจากสยามเพื่อไปเป็นช้างศึก และได้แลกเปลี่ยน “ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย” จากชายฝั่งโคโรมันเดลมาเป็นการตอบแทน โดยการซื้อแต่ละครั้งอินเดียจะซื้อช้างจากเรานับร้อยเชือก เช่นใน พ.ศ.2227 ในสมัยพระนารายณ์ได้ใช้เรือถึง 6 ลำ เพื่อขนย้ายช้างไปยังเมืองมะสุลีปัตนัมมากถึง 115 เชือก!!
“ค้ากวาง” ญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อหนังกวางจากสยาม โดยซื้อเอาไปฟอกต่อให้นิ่มและเหนียวทนทาน เอาไปทำชุดศึก ชุดเกราะซามูไร โดยพระคลังสินค้าของอยุธยามีอำนาจผูกขาดการค้า ก่อนที่ภายหลังจะมีการให้สัมปทานแก่บริษัทของฮอลันดา จากนิทรรศการที่จัดแสดงทำให้เรารู้ว่าใน พ.ศ.2176-2206 มีหนังกวางจำนวนมากเกือบ 2 ล้านผืน ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่น
“ค้าฝาง” ไม้ยอดนิยมที่แก่นของมันให้สีโทนแดง ม่วง ชมพู และสีน้ำตาล ฝางถูกส่งออกไปไกลถึงญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ซึ่งนำไปใช้ในการย้อมสีเสื้อผ้า และใช้เป็นเครื่องสำอางแต่งแต้มสีสันบนใบหน้า สาวไทยโบราณใช้น้ำยาอุทัยที่มีส่วนประกอบหลักจากฝางทาปากทาแก้ม ส่วนสาวสูงศักดิ์ในฝรั่งเศสต่างก็ใช้ฝางผสมขี้ผึ้งทาแก้มทาปากให้แดงระเรื่อ
“ค้าสี” สะท้อนภูมิปัญญาการดึงเอาสีสันจากพืชและสัตว์ที่มีอยู่มากมายในป่ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น มะเกลือที่ให้สีดำ แก่นขนุนให้สีกรัก (จีวรพระป่า) ครามให้สีน้ำเงิน ครั่งให้สีแดง นำมาย้อมเสื้อผ้าให้มีสีสันที่หลากหลาย
“ค้ากลิ่น” ไม้หอมและสารให้กลิ่นหอมจากต้นไม้ ใช้ในการทำน้ำหอม เครื่องหอม เทียนอบ ธูป เช่น ไม้กฤษณา ที่แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีราคาสูงไม่เปลี่ยน กำยาน ก้อนชันไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม จันทน์ ไม้หอมที่มีความแปลกตรงที่จะหอมเมื่อยืนต้นตายเท่านั้น
“ค้ายา” ตำรับยาแผนโบราณล้วนใช้ส่วนผสมจากพืชสมุนไพรนานาชนิดที่หาได้ในป่า โดยสมุนไพรที่นำมาปรุงยานั้นมีมากมายนับร้อยๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะแว้งต้น ชะเอมเทศ ขิง ข่า ดีปลี บอระเพ็ด กวาวเครือ และอีกมากมายหลายอย่างที่เป็นพืชสมุนไพรที่ได้จากป่า นำไปขายปรุงเป็นยารักษาโรค
และโซนสุดท้าย “ค้ารส” เครื่องเทศเป็นเครื่องปรุงจากป่าที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับอาหาร และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้าระหว่างประเทศในอดีต ในโซนนี้จะมีเครื่องเทศมาให้ลองดมกลิ่น เพราะส่วนใหญ่แล้วเครื่องเทศเหล่านี้จะมีกลิ่นเฉพาะที่ทำให้อาหารมีรสชาติความอร่อยเป็นเอกลักษณ์
ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสิ่งที่หาได้ในป่าทั้งสิ้น นับได้ว่าการค้าสมัยอยุธยาเฟื่องฟูขึ้นมาได้จากของป่า หรือความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอย่างแท้จริง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
นิทรรศการ “ค้าของป่า” เป็นนิทรรศการกลางแจ้ง เปิดให้เข้าชมฟรี ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่วันนี้- 28 กันยายน นี้ เวลา 10.00-18.00 น. และในวันที่ 22 มิ.ย. เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะมีการจัดงานเทศกาล Muse fest ตอน “เสือสะดิ้ง กระทิงสะดุ้ง” พบกับกิจกรรมเรื่องราวที่ต้องทึ่ง พร้อมเปิบพิสดาร...กว่าจะเป็นอาหารป่า และปิดท้ายด้วยการแสดงจากศิลปิน “ลิปตา” เข้าชมฟรี สอบถามโทร. 0 2225 2777 ต่อ 123 หรือดูรายละเอียดที่ www.museumsiam.org www.facebook.com/museumsiamfan
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com