>>เมืองไทยเรานี้ขึ้นชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ตามคำขวัญที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งเป็นที่มาของความมั่งคั่งของประเทศไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องอันน่าสนใจ ที่ทางมิวเซียมสยาม หยิบยกมานำเสนอให้คนยุคนี้ทำการศึกษาเรียนรู้กัน
มิวเซียมสยาม โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เปิดตัวนิทรรศการ “ค้าของป่า” นำเสนอเรื่องราวความมั่งคั่งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเกิดจากนำทรัพยากรในป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์มาทำการค้ากับนานาประเทศ และยังคงรุ่งเรืองสืบเนื่องมาจนถึงโลกการค้าเสรีในยุคปัจจุบัน ผ่านกระบวนการเรียนรู้และดัดแปลงโดยมีอยุธยาเป็นต้นแบบ สู่แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “ของป่า” ได้ไม่รู้จบ
เนื่องจากป่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตและการหาเลี้ยงชีพของมนุษย์มาตั้งแต่อดีต หากศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยจะพบว่าความมั่งคั่งของอาณาจักรอยุธยาเองก็มีที่มาจากการค้าของป่า หรือการนำพืชและสัตว์จากป่าไปขายเป็นวัตถุดิบให้แก่อาณาจักรต่างๆ ทั่วโลก จนสยามถูกบันทึกไว้ในแผนที่การค้าของนักเดินเรือจากทั่วสารทิศ ทั้งยังสะท้อนภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนอุษาคเนย์อีกด้วย นิทรรศการ “ค้าของป่า” จึงมุ่งเน้นให้ผู้ชมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของคนในอดีต เพื่อนำความรู้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต
ในนิทรรศการ “ค้าของป่า” แบ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ทั้งหมด 8 โซน โดยเริ่มจาก อยุธยาโมเดล ต้นแบบการทำธุรกิจค้าของป่า ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ กอบกู้ชาติให้ผ่านภาวะวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ก็ด้วยต้นทุนความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ที่มีสินค้าและวัตถุดิบอันเป็นที่ต้องการของพ่อค้าทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก จนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่มีเรือสินค้าแวะเวียนกันมาจากทั่วทุกสารทิศ
ค้าช้าง เล่าเรื่องการค้าช้างป่าที่ฝึกแล้วของราชสำนักสยาม โดยแลกกับผ้าฝ้ายพิมพ์ลายของอินเดีย ค้ากวาง ญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อหนังกวางจากสยาม โดยพระคลังสินค้าของอยุธยามีอำนาจผูกขาดการค้า ก่อนที่ภายหลังจะมีการให้สัมปทานแก่บริษัทของฮอลันดา
ค้าฝาง ไม้ยอดนิยมที่ให้สีแดง ม่วง ชมพู และสีน้ำตาล ใช้ในการย้อมผ้าและแต่งแต้มสีสันบนใบหน้า เป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส
ค้าสี สะท้อนภูมิปัญญาการดึงเอาสีสันจากพืชและสัตว์ที่มีอยู่มากมายในป่ามาใช้ประโยชน์, การค้ากลิ่น ไม้หอมและสารให้กลิ่นหอมจากต้นไม้ ใช้ในการทำน้ำหอม เครื่องหอม เทียนอบ ธูป, ค้ายา ตำรับยาแผนโบราณล้วนใช้ส่วนผสมจากพืชสมุนไพรนานาชนิดที่หาได้ในป่า และการค้ารส เครื่องเทศเป็นเครื่องปรุงจากป่าที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับอาหาร และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้าระหว่างประเทศในอดีต
การเรียนรู้เรื่องราวการค้าของป่าในอดีต ซึ่งนับเป็นการสร้างรายได้มหาศาลจาก “ของฟรี” ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติ จะช่วยพัฒนาให้ผู้ชมนิทรรศการ ให้นำต้นแบบการค้าในสมัยอยุธยากลับไปถอดรหัส นั่นคือการ “ถอด” วิธีเพาะเลี้ยงและเพาะปลูก “ของป่า” ให้กลายเป็นสินค้า และการ “หัด” เล่นแร่แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “ของป่า” ได้ไม่รู้จบ อย่างเช่นการนำสมุนไพร หรือเครื่องเทศต่างๆ มาปลูกในบ้านหรือแปลงเพาะปลูกเพื่อการค้า หรือการทำฟาร์มสัตว์ เช่น กวาง จระเข้ ผึ้ง นกกระจอกเทศ ค้าขายได้อย่างเสรี ทำให้สิ่งที่เคยอยู่ในป่าเหล่านี้ยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบของยา อาหาร เสื้อผ้า เครื่องหอม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและพัฒนาต่อยอดต่อไป เพื่อสืบทอดความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
นิทรรศการ “ค้าของป่า” เปิดให้เข้าชม ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่วันนี้ - 28 กันยายน ตั้งแต่เวลา 11.00 - 18.00 น. ซึ่งสามารถเข้าชมได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2225-2777 ต่อ 123 หรือที่ www.museumsiam.org และที่ www.facebook.com/museumsiamfan :: Text by FLASH