ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวมอญสังขละ ผ่านประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์
วันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ถือเป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ซึ่งในวันเพ็ญเดือนหกนี้ พุทธศาสนิกชนก็พร้อมใจกันเข้าวัดทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และมีการเวียนเทียนในช่วงค่ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล
แต่สำหรับที่วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ยังมีอีกหนึ่งประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน และจะปฏิบัติกันในวันเพ็ญเดือนหกนี้ด้วย ก็คือ “ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์”
“ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์” เป็นพิธีที่พุทธศาสนิกาชนในพม่าปฏิบัติกันในวันวิสาขบูชา แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นจะพบได้ที่ชุมชนชาวมอญสังขละบุรี ที่วัดวังก์วิเวการาม แห่งเดียวเท่านั้น
เมื่อครั้งที่ชุมชนชาวมอญสังขละบุรียังตั้งอยู่บริเวณอำเภอเก่า (ปัจจุบันถูกน้ำท่วมหมดทั้งอำเภอ เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลม) ยังไม่ปรากฏว่ามีประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ เนื่องจากในวัดวังก์วิเวการาม (เดิม) ยังไม่มีต้นโพธิ์
ถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชา
เมื่อย้ายขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 หลวงพ่ออุตตมะ ได้อัญเชิญหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศศรีลังกา ในโอกาสเดียวกับที่หลวงพ่ออุตตมะเดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำมาประดิษฐานในเจดีย์พุทธคยา
ในวันที่ 10 มิถุนายน 2530 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ไว้ที่บริเวณลานกว้างหน้าเจดีย์พุทธคยา นับตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่ออุตตมะจึงรื้อฟื้นให้มีประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ขึ้น เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งยังอาศัยอยู่ในพม่า
ประเพณีการรดน้ำต้นโพธิ์ จะเริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดวังก์วิเวการาม มาสวดมนต์ ไหว้พระ สักการะเจดีย์พุทธคยา จากนั้นจะมารวมกันบริเวณลานกว้างด้านหน้าต้นโพธิ์ เตรียมตัวสมาทานศีลพร้อมกัน แล้วก็จะรดน้ำต้นโพธิ์ โดยรดผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ที่จัดเตรียมไว้
สาวงามเชื้อสายมอญเข้าร่วมพิธี
ชาวบ้านจะจัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนมาจากบ้าน และยังเตรียมน้ำที่จะมารดน้ำต้นโพธิ์ด้วย บางคนก็ใช้น้ำสะอาดธรรมดา บางคนก็มีน้ำลอยกลีบดอกไม้ น้ำผสมน้ำอบ บางคนก็ใช้น้ำอบรดน้ำต้นโพธิ์เลย
หลังจากเสร็จสิ้นการรดน้ำต้นโพธิ์แล้วนั้น ก็จะเคลื่อนย้ายมาเวียนเทียนรอบเจดีย์พุทธคยา เสร็จแล้วก็จะเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ทำต่อเนื่องกัน นั่นก็คือ “การออกร้านตลาดนิพพาน” ของชาวมอญสังขละบุรี ซึ่งในช่วงค่ำของวันวิสาขบูชา หลังจากรดน้ำต้นโพธิ์ และเวียนเทียนเสร็จแล้ว ก็จะมีพิธีการเปิดตลาดนิพพาน
เวียนเทียนในคืนเพ็ญเดือนหก
“ตลาดนิพพาน” ถือเป็นอีกการทำบุญ ทำทาน และการแบ่งปันซึ่งกันและกันของชาวบ้าน ลักษณะของตลาดนิพพานก็คล้ายกับตลาดทั่วไป ที่มีโต๊ะตั้งเรียงรายอยู่สองข้างทาง มีของกินทั้งคาว หวาน ผลไม้ น้ำดื่มและน้ำหวานต่างๆ วางเรียงกันอยู่บนโต๊ะ ตามแต่ว่าชาวบ้านแต่ละคนหรือแต่ละบ้านจะนำอะไรมาวาง
แต่สิ่งที่พิเศษของตลาดนิพพานแห่งนี้ก็คือ ไม่ได้ใช้เงินในการซื้อขายอาหารเหล่านี้ แต่จะใช้บุญที่ได้ทำมาแล้วมาซื้ออาหารแทน โดยผู้ขายเองก็ปรารถนาที่จะได้บุญจากการนำอาหารเหล่านี้มาจ่ายแจก เรียกว่าเป็นตลาดที่คนขายก็ได้บุญ คนซื้อก็สุขใจ
ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ยืนยันได้ถึงความศรัทธาของชาวมอญสังขละบุรีที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย
ออกร้านตลาดนิพพาน