xs
xsm
sm
md
lg

“ย่านสะพานพุทธ” ที่เที่ยวหลากสไตล์ ไหว้พระ-ดูดอกไม้-ช้อปปิ้งยามค่ำคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สะพานสะพานพระพุทธยอดฟ้า”
“สะพานพุทธ” ชื่อคุ้นหูของเหล่านักเที่ยว ที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงแต่ชื่อของสะพานเท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อเรียกของอีกหนึ่งย่านท่องเที่ยวกลางใจกรุงฯ ที่คึกคักไม่แพ้ย่านไหนๆ โดยเฉพาะในฝั่งพระนคร ซึ่งมีที่เที่ยวหลากหลายให้ได้เที่ยวทั้งในยามกลางวันและยามราตรี
ทางเดินสำหรับชมวิว ด้านบนสะพานพุทธ
เริ่มต้นกันที่บริเวณ “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” สะพานแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. พ.ศ. 2474 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) อันเป็นที่มาของชื่อ “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” (สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์) หรือที่คนมักเรียกสั้นๆว่า “สะพานพุทธ” จนเป็นที่มาของชื่อย่านละแวกนี้
ทัศนียภาพยามเย็น เมื่อมองจากบนสะพานพุทธ
และบริเวณบนสะพานพุทธ ก็ยังมีทางเดินสำหรับข้ามไปฝั่งธนบุรี โดยสามารถที่จะเดินขึ้นไปกินลมชมวิวได้อีกด้วย ซึ่งทัศนียภาพด้านบนนั้นนับว่าสวยงามเเละยังมองเห็นได้อย่างกว้างไกล ทางเดินบนสะพานพุทธจึงเป็นอีกหนึ่งจุดยอดนิยม ที่ใครหลายคนต้องขึ้นมากินลมชมวิว เมื่อได้มาเที่ยวที่ย่านแห่งนี้
บรรยากาศร้านค้ามากมาย เรียงรายยามค่ำคืน
อีกทั้งในยามราตรี บริเวณพื้นที่ถนนใต้สะพานพุทธฝั่งพระนคร ก็ยังเป็นที่ตั้งของตลาดช้อปปิ้งกลางคืน โดยจะมีร้านค้ามากมายมาตั้งขายในยามค่ำคืน โดยร้านค้านั้นก็จะมีหลากหลายประเภท ทั้งร้านเสื้อผ้า,ร้านรองเท้า,ร้านเครื่องประดับ,ร้านรับสักตามร่างกาย เรียงรายตลอดสองฝั่งถนน ซึ่งเป็นที่เที่ยวยามราตรีที่ได้รับความนิยมจากเหล่าวัยรุ่นเป็นอย่างมาก จนได้กลายมาเป็นที่เที่ยวยอดนิยม เเละขึ้นชื่อของย่านแห่งนี้
“ร้านขายเสื้อ” หนึ่งในร้านค้ามากมาย ในตลาดช้อปปิ้งสะพานพุทธ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
ในส่วนบริเวณเชิงสะพานพุทธฝั่งพระนคร ก็ยังได้เป็นที่ตั้งของ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ซึ่งบริเวณด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่ตั้งของลานสาธารณะ เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่นัดพบก่อนเดินช้อปยามค่ำคืนของใครหลายคน ที่มาเที่ยวที่ย่านสะพานพุทธ
บรรยากาศบริเวณลานสาธารณะ มองเห็นวัดราชบูรณราชวรวิหารอยู่ไม่ไกล
ร้านขายดอกไม้เรียงรายที่ “ปากคลองตลาด”
สถานที่เที่ยวถัดมาอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยเยื้องมาจากทางซ้ายของลานสาธารณะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่1 สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของตลาดขายดอกไม้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของใครๆ โดยมีชื่อว่า “ปากคลองตลาด” ตลาดสดที่ขึ้นชื่อในเรื่องขายดอกไม้ ตลาดปากคลองตลาดแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของร้านขายดอกไม้มากมาย พร้อมดอกไม้นานาชนิดให้ได้เลือกซื้อ
“พวงมาลัยดอกดาวเรือง” มีให้เลือกหลายขนาด
ดอกไม้หลากชนิดที่นำมาวางขายนั้น มีทั้งแบบจัดเป็นช่อหรือร้อยเป็นพวกมาลัย มีให้เลือกอย่างมากมาย สีสันสดใสสวยงามสะดุดตา หากใครที่กำลังจะซื้อและมองหาดอกไม้ในดวงใจแล้ว ถ้าได้มาเลือกซื้อที่ตลาดแห่งนี้ ก็คงไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน
“ดอกไม้” หลากสีสันมีให้เลือกซื้อ
“ดอกกล้วยไม้” หลากชนิดมีให้เลือกซื้อเลือกชม
พระปรางค์” วัดราชบูรณราชวรวิหาร ศาสนสถานแห่งเดียวที่รอดจากการทิ้งระเบิด
และหากเดินถัดมาทางด้านถนนตรีเพชร ก็จะพบกับ “วัดราชบูรณราชวรวิหาร” หรือ "วัดเลียบ" วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์
“หน้าบันพระอุโบสถวัดราชบูรณราชวรวิหาร” สวยงามน่าชม
เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดแห่งนี้ได้ถูกทำลายจากการถูกทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยสิ่งที่ยังคงเหลือจากอดีตก็คือ ”พระปรางค์” ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้เป็นศาสนสถานแห่งเดียวในวัดราชบุรณราชวรวิหาร ที่เหลือรอดจากระเบิดครั้งนั้น นับเป็นไฮไลต์เด่นของวัดแห่งนี้
พระพุทธมหาราช พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบูรณะ
ซึ่งในปัจจุบันวัดราชบูรณราชวรวิหาร ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด โดยได้มีการสร้างพระอุโบสถใหม่เป็นทรงจตุรมุข ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นที่ถูกออกแบบโดย สง่า มยุระ จิตรกรคนสำคัญที่เขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ 7 หน้าบันพระอุโบสถมีลวดลายปูนปั้นปิดทองที่สวยงามน่าชมเป็นอย่างมาก ซึ่งภายในพระอุโบสถได้ประดิษฐาน “พระพุทธมหาราช” เป็นพระประธาน
“อาคารสวนกุหลาบ”  อาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
และหากได้เดินออกจากวัด ด้านประตูฝั่งถนนตรีเพรช ก็จะพบกับ “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” โรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ถูกก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2425 จุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้คือ “อาคารสวนกุหลาบ” หรือ “ตึกยาว” ที่ทอดยาวเลียบถนนตรีเพชร
บรรยากาศภายใน “พิพิธภัณฑ์การศึกษา” โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
โดยเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็นอาคารเรียนที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมของยุโรปแบบนีโอคลาสสิกซึ่งสวยงามเป็นอย่างมาก โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารสวนกุหลาบเป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2530
“อาคารสวนกุหลาบ”  เมื่อมองจากฝั่งตรงข้ามถนนตรีเพชร
เเละอาคารสวนกุหลาบแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์การศึกษา" ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ได้ถูกแบ่งออกเป็นห้องจัดแสดงทั้งหมด 14 ห้องนิทรรศการ อาทิ ห้องบูรพคณาจารย์สวนกุหลาบวิทยาลัย, ห้องภูมิปัญญาครูสวนกุหลาบวิทยาลัย , ห้องเกียรติยศและเกียรติภูมิชาวสวนฯ ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมประวัติความเป็นมาอันยาวนานของโรงเรียนแห่งนี้

(คลิกติดตามเรื่อง ตึกยาวสวนกุหลาบ ตึกเรียนยาวที่สุดในไทย "พิพิธภัณฑ์การศึกษา" แหล่งเรียนรู้ทรงคุณค่่า ได้ที่ลิงค์นี้)
หลากหลายเมนู ที่ “ร้านโรตีเพาะช่าง”
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบริมถนนตรีเพชร ก็ยังเป็นที่ตั้งของร้านขายอุปกรณ์การเรียนและร้านอาหารมากมาย อาทิ “ร้านสมใจ” ร้านขายอุปกรณ์การเรียน ที่เป็นที่รู้จักของใครหลายคน” ร้านโรตีเพาะช่าง” ที่มีเมนูอร่อยหลากหลาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวหลอด,ข้าวคลุกกะปิ หรือโรตี ให้ได้แวะชิม
(คลิกติดตามเรื่องกิน “ย่านสะพานพุทธ” ได้ที่ลิงค์นี้)

นับเป็นอีกหนึ่งย่านที่ได้รับความนิยมตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งกระแสความนิยมก็ยังไม่มีตก “ย่านสะพานพุทธ” แห่งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวของใครหลายคน ที่จะต้องมาเยือนสักครั้งหนึ่ง
“ร้านสมใจ” ร้านจำหน่อยอุปกรณ์การเรียน
**********************************************************************************************************************

การเดินทาง
รถโดยสารประจำทางสาย : 53 , 8
ทางเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ท่าสะพานพุทธ

พิพิธภัณฑ์การศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถ.ตรีเพชร พระนคร กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งล่วงหน้า หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ งานพิพิธภัณฑ์ โทร.0-2225-5605-8 ต่อ 105

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น