xs
xsm
sm
md
lg

“สงกรานต์ 2 ด้าน” วัฒนธรรมไทย-สมัยนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล
“สงกรานต์” ถือเป็นประเพณีไทยที่คนมักจะรู้จักกันเป็นอันดับแรก โดยชาวต่างชาตินั้นอาจจะรู้จักในชื่อของ “Water Festival” ซึ่งก็หมายถึงการจัดงานสาดน้ำกันนั่นเอง

อะไรที่ทำให้ประเพณีสงกรานต์แบบไทยๆ กลายเป็นเป็นสงครามการสาดน้ำไปได้ เพราะกาลเวลาที่ผ่านไป หรือเพราะคนไทยเองที่แสดงออกให้คนทั่วโลกได้เห็น

ปัจจุบัน กิจกรรมที่ทำกันในช่วงสงกรานต์ หากแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จะเห็นว่ามีอยู่ 2 อย่าง คือ กิจกรรมแบบไทยๆ ที่ทำตามกันมาจนกลายเป็นประเพณี และวัฒนธรรมแบบไทยๆ กับอีกอย่างก็คือ กิจกรรมรื่นเริงตามสมัยนิยม
สงกรานต์มอญสังขละ ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา
สงกรานต์แบบวัฒนธรรมไทย
สงกรานต์ตามแบบวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ประกอบไปด้วยกิจกรรมดีงามที่เกี่ยวเนื่องกันกับวัดวาอาราม ครอบครัว และญาติสนิทมิตรสหาย เริ่มตั้งแต่การตระเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เตรียมข้าวของที่จะไปทำบุญที่วัด

โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน เชื่อกันว่าการได้ทำบุญทำทานในช่วงสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยนั้น จะเป็นสิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีงาม ซึ่งนอกจากจะเตรียมทำข้าวปลาอาหารไปถวายพระ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ก็ยังมีการบังสุกุลอัฐิญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไปแล้ว

อีกกิจกรรมหนึ่งที่นิยมปฏิบัติกันเมื่อเข้าวัดก็คือ การสรงน้ำพระ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญ หรือพระสงฆ์ สำหรับพระพุทธรูปนั้น ส่วนใหญ่จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ (พระพุทธรูปที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้) ออกมาจากที่ประดิษฐานในยามปกติ ให้พุทธสาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ก็ยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์อีกด้วย
ขนทรายเข้าวัด-ก่อพระเจดีย์ทราย
หลังจากสรงน้ำพระแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมการขนทรายเข้าวัด และก่อพระเจดีย์ทราย โดยเป็นความเชื่อของคนไทยสมัยโบราณว่า การนำสิ่งของที่เป็นของวัดกลับมาบ้านนั้นถือเป็นเรื่องบาป ไม่ว่าจะเป็นเพียงเม็ดดินหรือเม็ดทรายก็ตาม เมื่อมีโอกาสจะต้องขนทรายกลับไปถวายคืนวัด จะถือว่าเป็นการสร้างบุญและได้กุศล โดยชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายจากทะเลหรือแม่น้ำเข้ามาไว้ที่วัด และนัดหมายกันมาก่อรพะเจดีย์ทราย มีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม จากนั้นทรายที่ขนเข้ามาก็จะได้ให้พระสงฆ์ได้นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป ซึ่งนอกจากจะได้ทำบุญตามความเชื่อแล้ว ก็ยังเป็นความร่วมมือร่วมใจ แสดงความสามัคคีกันของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย

ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวและญาติพี่น้องนั้น ในช่วงสงกรานต์จะถือว่าเป็นวันครอบครัวไปด้วย เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุกคนมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้มากินข้าวพร้อมกัน พูดคุยสารทุกข์สุขดิบ ร่วมกันทำบุญ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เชื่อว่าเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษกับสิ่งที่เคยล่วงเกิน และเป็นการขอพรจากญาติผู้ใหญ่ให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุข
รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ วัฒนธรรมไทยในวันสงกรานต์
ส่วนเรื่องการสาดน้ำกันนั้น ในสมัยก่อนก็มีการละเล่นแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งสาเหตุก็มาจากช่วงสงกรานต์นั้นถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในรอบปี จึงได้ใช้น้ำมาเป็นตัวคลายร้อน ซึ่งการเล่นสาดน้ำกันนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นการปะพรมกันพอใช้เย็นชื่นใจ อาจจะใช้มือจุ่มลงน้ำแล้วพรมใส่คนรอบข้าง หรือใช้ขันเล็กๆ ตักน้ำรดใส่กัน โดยน้ำที่ใช้เล่นกันนั้นก็อาจใช้น้ำที่อยู่ในตุ่มดินเพื่อความเย็น อาจจะใส่น้ำอบน้ำปรุงลงไปเพิ่มกลิ่นหอมอ่อนๆ หรือใส่ดอกไม้สีสันต่างๆ ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความสดใส

สงกรานต์สมัยนิยม
สำหรับสงกรานต์ในปัจจุบัน การทำกิจกรรมตามวัฒนธรรมไทยๆ นั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะถูกบดบังด้วยการละเล่นสาดน้ำไปเสียหมด

ภาพลักษณ์ของงานสงกรานต์ในยุคนี้ก็คือการสาดน้ำใส่กันโครมๆ เพราะไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนก็มักจะเห็นแต่ภาพแบบนี้ ทำให้เยาวชนไทยในยุคหลังๆ ซึมซับและรับรู้ว่า ประเพณีสงกรานต์ก็คือสงครามการสาดน้ำระดับชาติ
สงกรานต์สมัยใหม่ สงครามสาดน้ำ
คนรุ่นใหม่ (ส่วนหนึ่ง) ตระเตรียมตัวกันแต่เช้า อาบน้ำประแป้งแล้วเตรียมอุปกรณ์ในการทำสงครามให้พร้อม ปืนฉีดน้ำ ขัน ถัง กะละมัง เลยไปจนถึงโอ่ง และแท๊งก์น้ำ บ้างก็ใส่น้ำจนเต็มเปี่ยมไปจากบ้าน ยกขึ้นกระบะหลังรถ แล้วก็เริ่มสาดใส่ผู้คนที่ผ่านไปมา ไม่เว้นแม้แต่คนขี่จักรยาน-มอเตอร์ไซค์ ที่อาจทำให้พวกเขาเกิดอุบัติเหตุได้

บางส่วนขนกันขึ้นรถกระบะไปเล่นน้ำตามจุดต่างๆ บางส่วนก็ยืนเล่นน้ำกันอยู่หน้าบ้าน เตรียมสาดใส่ผู้คนที่ผ่านไปมา แต่หากเป็นคนเล่นสาดน้ำในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ที่มีการจัดจุดสาดน้ำให้เล่นกันประจำ ก็มาแต่ตัว เตรียมมาเปียกให้พร้อมก็พอ

สงครามสาดน้ำส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายหรือช่วงเย็นไปจนถึงค่ำมืด นั่นก็เพราะในช่วงกลางวันนั้นอากาศและแดดร้อนมากเกินไป ช่วงเย็นๆ จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการเล่นน้ำ
สงครามน้ำของคลื่นมนุษย์
แต่หากว่าการเล่นน้ำสงกรานต์คือการสาดน้ำเฉยๆ ก็คงมีเพียงความสนุกสนานและเย็นฉ่ำชื่นใจ แต่เมื่อมีการดื่มกินสิ่งของมึนเมารวมกันไปด้วย นั่นอาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่ายขึ้น จากการที่ไม่สามารถควบคุมสติของตนเองได้ รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนที่หลายองค์กรออกมาร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุให้เป็น 0

สงกรานต์ในประเทศไทย ปัจจุบันนี้เปลี่ยนความหมายจากสงกรานต์ดั้งเดิมไปอย่างมากมาย การสาดน้ำไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรคำนึงถึงคนที่โดนสาดด้วยว่าจะได้รับอันตรายหรือไม่ หรือเขาต้องการเปียกในเวลานั้นหรือไม่

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำควบคู่กันไปกับสงครามการสาดน้ำก็คือ การร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ กับครอบครัวของตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือการมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว

สิ่งเหล่านี้ เป็นความผูกพันกันระหว่างคนในครอบครัว ที่จะช่วยสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทยให้คงอยู่ต่อไป เป็นสงกรานต์ที่มีความหมายมากกว่าการสาดน้ำเหมือนเช่นปัจจุบัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น