xs
xsm
sm
md
lg

จาก“เชียงราย”สู่ “เชียงรุ่ง”...เมืองนกยูง อีนางตัวดีโชว์สะดือ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
แฟชั่นชุดชนเผ่าเอวลอยที่นิยมแสดงกันในโชว์ต่างๆที่เมืองเชียงรุ่ง
11 ธ.ค. 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4

หลังจากนั้นนับแต่วันที่ 12 ธ.ค. 56 สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ก็เปิดให้บริการเชื่อม 2 ฝั่งโขงไทย-ลาว ระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 จากเชียงของสู่ห้วยทราย
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 เป็นทั้งเส้นทางการค้า เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ที่นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งประตูสู่อาเซียนรับ AEC ในปีหน้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมไกลไปถึงประเทศจีน

ด้วยเหตุนี้เมื่อเส้นทางเชื่อมประเทศทางภาคพื้นดินสะดวกสบายขึ้น ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ จึงจัดกิจกรรม“คาราวานรถยนต์ท่องเที่ยวเปิดประตูสู่ AEC ไทย-ลาว-จีน” ขึ้น ระหว่างวันที่ 22-29 มี.ค. 57 ที่ผ่านมา ในระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร พาสัมผัส 2 เมืองท่องเที่ยวสำคัญในต่างแดนคือ เมือง“เชียงรุ่ง” สิบสองปันนา ประเทศจีน และเมืองมรดกโลก “หลวงพะบาง”(หลวงพระบาง) แห่ง สปป.ลาว โดยตั้งต้นออกจากไทยที่เชียงราย ผ่านลาวสู่เมืองเชียงรุ่ง จีน จากนั้นย้อนกลับมาเข้าลาวเดินสู่เมืองหลวงพะบาง ก่อนกลับมาตุภูมิในเมืองไทยที่ จ.น่าน

นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคภาคเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงราย เปิดเผยว่า หลังการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ทำให้เส้นทาง R3A (กรุงเทพฯ-คุนหมิง) มีความสมบูรณ์ขึ้น เชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจไทย-ลาว-จีน ส่งผลให้เชียงรายกลายเป็นฮับสู่อาเซียนที่สำคัญของภูมิภาค
ขบวนคาราวานไทย-ลาว-จีน ต้อนรับ AEC ที่จัดโดย ททท. กำลังเคลื่อนผ่านขุนเขาในสปป.ลาว
1...

การเที่ยวแบบทัวร์คาราวานที่ต่างคนต่างๆมา มันทำให้เราได้พบกับประสบการณ์แปลกใหม่ พบเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งบางคนเพิ่งพบเจอกันเพียงไม่กี่วันแต่กลับดูเหมือนผูกพันสนิทสนมกันมายาวนาน นี่อาจเรียกว่าดวงสมพงษ์หรือฟ้าลิขิต

นอกจากนี้ในบางทริปบางทีเราอาจจะได้พบกับ“มนุษย์แปลก” ที่แม้จะมีอยู่น้อยนิดในสังคม แต่เขาเหล่านี้ก็มักจะสร้างเรื่องพิกลมาเป็นสีสันประดับการเดินทางได้อยู่บ่อยครั้ง
ด่านตม.เชียงของ ก่อนข้ามแดนสู่สปป.ลาว
สำหรับทัวร์คาราวาน AEC ในทริปนี้ มีสมาชิกมาร่วมผจญภัยกันกว่า 90 คน มีรถทั้งหมด 24 คัน จากฝั่งไทยพวกเราตั้งต้นกันที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่วันนี้หลังเปิดสะพานมิตรภาพฯ 4 บรรยากาศของเมืองดูคึกคักขึ้น แถมที่ทางก็มีราคาพุ่งพรวด มีการประกาศขายที่ให้เห็นกันอยู่ทั่วไป ขณะที่บรรดาสิ่งปลูกสร้าง อาคารร้านรวงก็ทยอยกันสร้างผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง(รวมถึงในสปป.ลาวด้วย) นับเป็นความเจริญทางวัตถุที่เป็นรูปธรรมปรากฏชัดเจนรับ AEC ที่จะมาถึงในปี 58 นี้

2...

เดิมการจะนำรถข้ามจากเชียงของไปฝั่งลาว จะต้องอาศัยแพขนานยนต์หรือที่ชาวลาวเรียกว่า “บั๊ค”นำข้ามไป แต่เดี๋ยวนี้มีสะพานข้ามโขงการเดินทางข้ามประเทศจึงรวดเร็วสะดวกสบาย
ท้องทุ่งริมทางในเส้นทางห้วยทราย-หลวงน้ำทา
เมื่อข้ามแดนสู่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ภาพบรรยากาศเก่าๆมันผุดขึ้นมาในหัว ตอนนั้นย้อนไป 10 กว่าปีที่แล้ว ผมเคยมาสัมผัสกับเส้นทางสายนี้ในเส้นทาง เชียงราย-ลี่เจียง ถนนหนทางในลาวช่วงนั้นยังเป็นลูกรัง เป็นโคลนน้ำขัง ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ออกจากเชียงของแต่เช้าตรู่ไปถึงเมืองหลวงน้ำทาก็ดึกแล้ว
 
แต่เดี๋ยวนี้ถนนหนทางในลาวทำดีรถวิ่งฉิว ออกจากเชียงรายสามารถมากินข้าวกลางวันที่หลวงน้ำทาได้สบายๆ โดยร้านอาหารที่เราไปกินนั้น เป็นร้านอาหารไทยบรรยากาศดีและมีสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นไทยนั่นก็คือ “หลักกิโล(เมตร)ใหญ่” ที่เดี๋ยวนี้นิยมไกลไปถึงต่างแดน
หลักกิโลใหญ่จากเมืองไทยไปเมืองลาว
หลังกินข้าวกลางวันที่เมืองหลวงน้ำทา เราเดินทางไปยัง(สุด)ชายแดนลาว(เมืองบ่อเต็น)-จีน(เมืองบ่อหาน) เพื่อผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมือง ช่วงนี้ในลาวต้องเดินผ่านด่านที่นำสัญลักษณ์ของธาตุหลวง(เวียงจันทน์) มาทำเป็นซุ้มประตู ส่วนในจีนสร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เน้นอลังการ แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นจีน กับห้องน้ำกลิ่นสุดติ่งกระดิ่งแมว(กลิ่นสุดๆ : ภาษาวัยรุ่น)

สำหรับกระบวนการผ่านแดนเข้าจีนอาจต้องใช้เวลาหน่อย ยิ่งสื่อสารกันคนละภาษาด้วย ยิ่งแล้วใหญ่ ต้องให้“น้องยิ้ม” ไกด์สาวชาวจีนมาคอยประสานให้ ก่อนจะเดินทางกันต่อสู่เมืองหล้า(เมืองล่า)ที่เป็นประตูสู่สิบสองปันนา เพื่อให้เหล่าพลขับไปอบรมเรื่องการขับขี่รถในประเทศจีน
รถไทยขับจากลาวผ่านด่านบ่อหานเข้าสู่เมืองจีน
จากเมืองหล้าพวกเรามุ่งหน้าสู่เมืองเชียงรุ่ง ซึ่งเดิมถนนจากบ่อหานไปเมืองเชียงรุ่งนั้นคดเคี้ยวและแคบ แต่ปัจจุบันจีนทำเส้นทางใหม่เป็นทางด่วน มีการเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์(จากบ่อหานถึงเชียงรุ่งมีอุโมงค์มากกว่า 20 อุโมงค์) สามารถย่นเวลาและระยะทางได้มากโข

สมัยก่อนผมไปทัวร์คาราวานต้องใช้เวลาถึง 2 วันจึงเดินทางมาถึงเชียงรุ่ง แต่เดี๋ยวนี้เดินทางด้วยรถวันเดียวจากเชียงรายก็มาถึงเชียงรุ่งในช่วงเย็นหรือค่ำได้อย่างไม่ยากเย็น สามารถจัดทริปวันเดียว(วันแรก) กินข้าว 3 แผ่นดิน ไทย-ลาว-จีน ได้อย่างสบาย ซึ่งในทริปนี้คณะเราก็ทำอย่างนั้น คือกินข้าวเช้าที่เชียงราย(เชียงของ) ไปกินข้าวเที่ยงในลาวที่เมืองหลวงน้ำทา และกินข้าวค่ำกันที่เมืองจีน เมืองเชียงรุ่ง
จีนเจาะอุโมงค์ทำให้เส้นทางรถยนต์จากเชียงรายสู่เชียงรุ่งรวดเร็วขึ้น
3...

เมืองเชียงรุ่ง หรือที่ภาษาจีนเรียก“จิ่งหง”นั้น บ้านเราหลายๆคนนิยมเรียกกันว่าเมือง “เชียงรุ้ง” แต่หากยึดตามตำนานเมืองและคำเรียกขานของชาวเมืองจะเรียกเมืองนี้ว่า “เชียงรุ่ง”(สำเนียงชาวไทลื้อเรียกว่า“เจียงฮุ่ง” ซึ่งที่มาของชื่อเมืองนี้ผมจะกล่าวถึงในตอนต่อไป)

เชียงรุ่งเป็นเมืองเอก(อำเภอเมือง) ของ“เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา”(จังหวัดสิบสองพันนา : มณฑลยูนนาน)
บรรยากาศตัวเมืองเชียงรุ่ง ณ ปัจจุบัน
สิบสองปันนา(สิบสองพันนา) ถือเป็นเมืองไทลื้อเพราะมีชาวไทลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในสิบสองปันนา ซึ่งกลุ่มไกด์ของคณะเราคือ “น้องยิ้ม”, “น้องคำแก้ว” และ“น้องลูกตาล” ต่างก็เป็นสาวไทลื้อที่มาทำหน้าที่นำเที่ยวให้กับทัวร์ไทย(บางคนเคยมาเรียนที่เมืองไทย) จนมีชื่อเรียกขานในภาษาไทยตามที่กล่าวมา

สิบสองปันนา ปัจจุบันประกอบด้วย 3 เมือง(อำเภอ) คือ เมืองฮาย เมืองหล้า(หรือ“เมืองล่า”ตามคำสะกดในเมืองจีน) และเมืองเชียงรุ่งที่เป็นเมืองเอกหรืออำเภอเมือง

เมื่อคณะคาราวานเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงรุ่ง ภาพบรรยากาศเก่าๆที่อุดมไปด้วยวิถีไทลื้อสุดคลาสสิกของเมืองนี้ลดน้อยหดหายลงไปมาก เนื่องจากบ้านเมืองเจริญขึ้นมาก ตึกรามบ้านเรือนสูงใหญ่เต็มไปหมด ซึ่งน้องยิ้มบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมืองเชียงรุ่งพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วมาก งานนี้ใครที่อยากไปสัมผัสกับบรรยากาศย้อนยุคของบ้านเหนือบ้านเราคงต้องออกนอกเมือง ไปตามชนบทไกลๆโน่น
นกยูงสัตว์สัญลักษณ์เชียงรุ่ง มีให้ชมเป็นจำนวนมากที่สวนป่าดงดิบ
ในตัวเมืองเชียงรุ่ง เราสามารถพบเห็นรูปปั้นช้างได้ทั่วไปตามวงเวียน ฟุตบาท เกาะกลาง เพราะคนเชียงรุ่งและสิบสองปันนา เขายกให้ช้างและนกยูงเป็นสัตว์ประจำเมือง โดยเปรียบช้างที่ดูแข็งแกร่งทรงพลังเป็นผู้ชายและนกยูงที่อ่อนช้อยสวยงามเป็นผู้หญิง ซึ่งเราสามารถเห็นสัญลักษณ์นกยูงในสิบสองปันนาได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าบันของวัด บ้าน ส่วนประดับอาคาร ของที่ระลึก เสื้อผ้า ฯลฯ

นอกจากนี้ก็ยังมีนกยูงตัวเป็นๆให้ชมกันตามแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่“สวนป่าดงดิบ” เขามีนกยูงตัวเป็นนับร้อยให้ชม กับวิธีการเรียกนกยูงที่น่าทึ่งด้วยการเป่านกหวีดเรียก เมืองเห็นแล้วอดนึกถึงบ้านเราไม่ได้ เพราะเมื่อลุงกำนันเป่านกหวีดเรียกมวลมหาประชาชนได้ ฉันใดก็ฉันเพลงที่คนในสวนป่าสามารถเป่านกหวีดให้มวลมหานกยูงมาปรากฏตัวกันพรึ่บดูน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
2 สาวชุดชนเผ่ากับการละเล่นจีนกระทบไม้ใน 2 ลีลา 2 อารมณ์
4...

ชาวไทลื้อที่เชียงรุ่ง มีถ้อยคำภาษาบางคำที่สามารถสื่อสารกับคนไทยเราได้ ยิ่งใครเป็นชาวไทลื้อในภาคเหนือก็จะคุยกับชาวไทลื้อที่เชียงรุ่งได้แบบรู้ความ(ส่วนหนึ่ง)

น้องยิ้มเล่าให้ผมฟังว่า ชาวไทลื้อที่นี่ยังพูดจากันแบบคำไทยในสมัยพ่อขุนรามอยู่เลย คือ พูดกู-มึง ฉะนั้นใครที่เห็นพวกเขาพูดกู-มึง ก็อย่าเข้าใจว่าหยาบคาย ส่วนเสน่ห์คำไทลื้อที่เป็นที่นิยมกันในหมู่คณะทัวร์ไทยมากก็คือ คำเรียก ผู้ชาย ผู้หญิง
อีนางตัวดีที่ร้านอาหารในเมืองเชียงรุ่ง
พวกเขาจะเรียกผู้ชายว่า“อ้าย” เรียกผู้หญิงว่า“อี” ผู้ชายที่หล่อเรียกว่า “อ้ายบ่าวตัวดี” หรือ “ผู้บ่าวตัวดี” ผู้หญิงสวย สาวงามเรียกว่า “อีนางตัวดี” ส่วนผู้ชายสูงวัยเรียกว่า “อ้ายบ่าวตัวแก่” ผู้หญิงมีอายุเรียกว่า “อีนางตัวแก่” ทั้งหมดนี้เป็นคำในเชิงบวก ไม่ใช่คำหยาบคายแต่อย่างใด

สำหรับในทริปนี้อีนางตัวดี(สาวงามไทลื้อ)ที่มาแสดงตามโชว์ต่างๆนั้น ไม่ว่าจะเป็น โชว์วัฒนธรรมพาราณสี(โชว์ดังประจำเมือง) โชว์ที่ร้านอาหาร สามารถดึงดูดอ้ายบ่าวได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเธอนอกจากจะมีหน้าตาแฉล้มแช่มช้อยแล้ว หลายๆคนยังมาในชุดเสื้อ(ชนเผ่า)โชว์สะดือขาวเนียน อันถือเป็นชุดโชว์เอกลักษณ์ของพวกเธอ

ผมไม่รู้ว่านี่เป็นแฟชั่นไทลื้อหรือเปล่า แต่ก็เห็นสาวชาวไทลื้ออีนางตัวดีที่เชียงรุ่งบางคนใส่เสื้อลอยเดินถนนอยู่บ้างเหมือนกัน ขณะที่แฟชั่นเอวลอยในโชว์นั้นถือว่าสามารถสร้างสีสันให้กับโชว์ได้เป็นอย่างดี

เพราะไม่ว่าคนไทยหรือคนจีน อ้ายบ่าวตัวแก่ของ 2 ประเทศนี้ดูจะชื่นชอบอีนางตัวดีใส่เสื้อเอวลอยโชว์สะดือกันเป็นพิเศษ...(อ่านเรื่องเที่ยวเมืองเชียงรุ่งต่อได้ในตอนหน้า)

****************************************
โชว์จากอีนางตัวดี กับแฟชั่นเอวลอย
เส้นทางในสปป.ลาว จากห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น มีระยะทางกว่า 240 กม. เข้าจีนที่บ่อหาน จากบ่อหานสู่เชียงรุ่งใช้ระยะทางกว่า 180 กม.

รถในจีน ลาว วิ่งเลนขวา การขับขี่ของคนไทยควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ปัจจุบันมีรถโดยสาร บขส.เปิดให้บริการ ระหว่างประเทศในเส้นทางภาคเหนือ คือ เชียงราย-เชียงของ-บ่อแก้ว.เชียงราย-หลวงพะบาง,เชียงใหม่หลวงพะบาง

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการข้ามแดน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานเชียงราย โทร. 0-5371-7433 และ 0-5374-4674-5
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น