xs
xsm
sm
md
lg

นั่งสามล้อเที่ยว “เกาะกลาง” สัมผัสธรรมชาติ ยลความงามวิถีชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนเกาะกลาง
แม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แต่ชื่อเสียงของ “เกาะกลาง” ก็ถือได้ว่าโดดเด่นไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนๆ

เนื่องจาก “ชุมชนเกาะกลาง” เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนบนเกาะก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย จึงทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าที่เที่ยวที่อื่นๆ
สาธิตการลงสีผ้าปาเต๊ะ
และด้วยความโดดเด่นนี้เอง จึงทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะกลางอย่างมากหลาย โดยบนเกาะนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้กับการประกอบอาชีพต่างๆ ของชาวบ้านบนเกาะ ทั้งเรียนรู้การทำผ้าปาเต๊ะ เรือหัวโทงจำลอง การทำนาข้าวสังข์หยด หรือการท่องเที่ยวป่าโกงกาง และเรียนรู้การประมงพื้นบ้านของชาวบ้าน ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินไปกับการใช้ชีวิตของผู้คนบนเกาะนี้
นาข้าวสังข์หยดเขียวขจีที่เกาะกลาง
แต่ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านบนเกาะกลางนั้น เรามาทำความรู้จักกับเกาะกลางแบบคร่าวๆ กันเสียก่อน ..

“เกาะกลาง” เป็นเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่ (กลางแม่น้ำกระบี่) ห้อมล้อมไปด้วยป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์นับพันไร่ บนเกาะมีประชากรราว 5,000 คน ซึ่งประชากรบนเกาะส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ภายในเกาะประกอบไปด้วยหมู่บ้านทั้งหมด 3 หมู่บ้าน โดยชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน และอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ด้วยความเป็นอยู่เหล่านี้ จึงทำให้เกาะกลางกลายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่สมถะอย่างไม่ต้องสงสัย
เรือหัวโทงจำลอง
และเมื่อได้รู้จักกับเกาะกลางกันไปแล้ว เราก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง มาเริ่มต้นเที่ยวชมเกาะกลางกันได้ ซึ่งการเดินทางของเราในครั้งนี้ จะเริ่มต้นจากตัวเมืองกระบี่ไปยังท่าเรือเจ้าฟ้า (ตั้งอยู่ไม่ไกลกับประติมากรรมปู) โดยจากท่าเรือเจ้าฟ้าไปถึงท่าเรือท่าหิน (เกาะกลาง) จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที (จากตัวเมืองกระบี่สามารถนั่งเรือหางยาวข้ามฟากไปยังเกาะกลางได้ โดยมีท่าเรือให้บริการ 2 ท่า คือ ท่าเรือสวนสาธารณะธารา ไปยังท่าเรือท่าเล โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที และท่าเรือเจ้าฟ้า ไปยังท่าเรือท่าหิน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที)
ออกเดินทางรอบเกาะด้วยรถสามล้อ
เมื่อมาถึงเกาะกลางนักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่าจะนั่งรถสามล้อกินลมชมวิวเที่ยวรอบเกาะ หรือจะปั่นจักรยานชิลล์ๆ (จุดเช่าจักรยานอยู่บริเวณท่าเรือท่าเล) โดยคำนวณจากระยะทางแล้วรอบๆ เกาะมีระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ถ้าให้ปั่นจักรยานท่ามกลางแดดร้อนๆ ล่ะก็เราขอบาย หันมาเลือกนั่งรถสามล้อมีคนขับให้ นั่งสบายๆ ชิลล์ๆ ดีกว่า เมื่อได้สามล้อและคนขับตามที่ต้องการแล้ว ก็เตรียมตัวซิ่งสามล้อไปยังจุดต่างๆ กันเลย
แม่พิมพ์โลหะที่ใช้ในการทำผ้าปาเต๊ะ
“ผ้าปาเต๊ะ ลวดลายโดดเด่นเฉพาะตัว”
เริ่มจากจุดแรกการทำผ้าปาเต๊ะ การทำผ้าปาเต๊ะของที่นี่เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน ซึ่งได้แนวคิดและวิธีการทำมาจากจังหวัดปัตตานี โดยวิธีการทำผ้าปาเต๊ะของชาวเกาะกลางจะมีรูปแบบเฉพาะตัว จะแตกต่างกับที่อื่นตรงที่ผ้าปาเต๊ะของที่นี่มีการผสมผสานกันระหว่างการทำผ้าปาเต๊ะของชาวมาเลย์ กับวิธีการทำผ้าบาติก โดยจะใช้แม่พิมพ์โลหะจุ่มในเทียนที่ร้อน จากนั้นนำพิมพ์ลงบนผ้าขาว แล้วนำไปย้อมในอ่างสี และนำไปย้อมในอ่างน้ำเกลืออีกครั้งเพื่อให้สีติดทนทาน จากกระบวนการดังกล่าวทำให้สีสันและลวดลายผ้าที่ออกมานั้นมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากการชมการสาธิตการทำผ้าปาเต๊ะแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของที่นี่คือนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้และสนุกสนานไปกับการทดลองทำผ้าปาเต๊ะด้วยฝีมือตนเอง ทำเอาสาวๆ หลายคนเพลิดเพลินไปกับการทำผ้าปาเต๊ะจริงๆ
จำลองการทำเรือหัวโทง
“เรือหัวโทงจำลอง สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของกระบี่”
การสาธิตการทำเรือหัวโทงจำลองเป็นการสืบสานวิถีชีวิตของชาวเกาะกลางสมัยก่อนที่นิยมใช้เรือหัวโทงทำประมงและใช้ในการเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันอาชีพการประกอบเรือหัวโทงได้ลดน้อยลงจากเดิมไปมาก เนื่องจากมีการใช้งานที่ลดลง และรูปแบบเรือหัวโทงดั้งเดิมนั้นก็หาดูได้ยากมากขึ้น จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันเพื่อทำเรือหัวโทงจำลองขึ้น ซึ่งเสน่ห์ของเรือหัวโทงอยู่ที่วิธีการทำ ถึงแม้ว่าเรือที่ทำนั้นจะเป็นเรือจำลอง แต่ที่นี่ก็ใช้กระบวนการทำเหมือนกับเรือของจริง ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามานอกจากจะได้เรียนรู้การประกอบชิ้นส่วนและโครงสร้างของเรือหัวโทงแล้ว ยังได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของเรือหัวโทงที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดกระบี่ รวมถึงได้ทำเรือหัวโทงจำลองด้วยตนเอง ถึงแม้จะใช้เวลาสักหน่อย แต่ก็ได้ความรู้หลายอย่างทีเดียว
ป่าโกงกางในพื้นที่รอบๆ เกาะกางยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก
“พายเรือคายัคชมป่าโกงกางท่ามกลางธรรมชาติ”
ป่าโกงกางบริเวณเกาะกลางขึ้นชื่อว่าเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ โดยป่าโกงกางที่นี่จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 1,100 ของโลก มีเนื้อที่กว่า 100,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จากหน้าเมืองกระบี่ เกาะกลาง ไปจนถึงเกาะศรีบอยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ โดยนักท่องเที่ยวจะสามารถเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมพายเรือคายัคชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าโกงกาง ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติอันพิสุทธิ์ เป็นการชาร์จแบตและเพิ่มพลังของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เต็มอิ่มมากยิ่งขึ้น
นก Kingfisher แห่งป่าชายเลนปากแม่น้ำกระบี่
“แหล่งดูนกนานาชนิด”
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าโกงกาง และพื้นที่เกาะกลาง จึงทำให้เกาะกลางกลายเป็นแหล่งดูนกถูกอกถูกใจนักดูนกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับนกที่เห็นทั่วไปก็จะเป็น นกนางนวล นกกระสาขาว-ดำ ส่วนที่หายากนั้นก็มีให้ดู เช่น นกคิงฟิชเชอร์ นกแต้วแร้วป่าโกงกาง เรียกได้ว่าใครที่ชื่นชอบการดูนกนั้นต้องถูกอกถูกใจเป็นแน่
ประมงพื้นบ้านเกาะกลาง
นอกจากนี้แล้วชุมชนเกาะกลางยังมีกิจกรรมพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิ

“ประมงชายฝั่ง (ประมงน้ำตื้น) วิถีชีวิตของชาวเกาะกลาง”
การทำประมงชายฝั่งนั้นเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตอันดั้งเดิมของชาวเกาะกลางที่สืบทอดความรู้และภูมิปัญญามากจากคนในสมัยก่อน ชาวเกาะกลางส่วนใหญ่จะมีความรู้เรื่องการวางอวนปลา การทำโป๊ะน้ำตื้น การวางลอบปู การสักหอย ฯลฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิธีการทำประมงชายฝั่งร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ได้ คือ การทำประมงโป๊ะน้ำตื้น และการสักหอย
ปูที่ได้จากการทำประมงโป๊ะน้ำตื้น
โดยการทำประมงโป๊ะน้ำตื้นนั้น (โป๊ะ หมายถึง เครื่องมือประมงที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำ หรือในทะเล บริเวณที่มีกระแสน้ำขึ้น น้ำลง เป็นเครื่องมือประเภทดักจับ เช่นเดียวกับลอบและโพงพาง แต่ไม่สามารถยกขึ้น-ลงได้) ประกอบไปด้วยส่วนของลูกขัง (ใช้ขังปลา กุ้ง ปู ที่มาตามกระแสน้ำ) และส่วนปีก 2 ปีก เป็นทางนำให้สัตว์เข้าสู่ลูกขัง โดยใช้ไม้ยาว 4 - 5 เมตร ปักเป็นหลัก ห่างกัน 50 - 80 เซนติเมตร ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมเปิดออก 1 ด้าน แล้วใช้อวนขึงกับหลักไม้ให้ด้านที่เปิดออกรับทิศที่กระแสน้ำไหลลงโป๊ะ
ป่าชายเลนยังอุดมสมบูรณ์
ซึ่งวิธีการทำนั้นจะทำในช่วงที่น้ำลงเต็มที่ ชาวประมงจะนำเรือเข้าไปจอดใกล้ๆ โป๊ะ แล้วใช้สวิงไล่ช้อนปลาที่เข้ามาติดในโป๊ะ ส่วนมากสัตว์ที่จับได้ก็จะมี ปลาจาระเม็ด ปลาหมึกกล้วย ปลามง ปลาสาก ปลาทราย ปูม้า กุ้งแชบ๊วย เป็นต้น
นักท่องเที่ยวสามารถเช่าจักรยานปั่นรอบๆ เกาะได้
สำหรับการสักหอย (การขุดหอย) นั้น ชาวบ้านจะทำการบริเวณชายหาดในช่วงที่น้ำลด โดยหอยที่พบมากบริเวณชายหาดเกาะกลางคือ หอยหวาน หอยราก หอยเม็ดขนุน หอยจุ๊บแจง หอยปากหนา หอยแครง และอีกนานาชนิด โดยชาวบ้านจะนำไม้แหลมกลมๆ ยาวพอมือ มาเดินแทงลงบนพื้นทราย การแทงแบบนี้ชาวบ้านเขาเรียกว่า “สักหอย” ซึ่งชาวบ้านแต่ละคนก็จะมีวิธีสังเกตและวิธีหาที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถจับหอยได้หลากหลายชนิด และนักท่องเที่ยวเองก็สามารถร่วมสักหอยไปกับชาวบ้านได้ นอกจากจะได้สนุกสนานกับการสักหอยแล้ว ยังได้เรียนรู้วิธีการขุด และวิธีการสังเกตหอยแต่ละชนิดจากชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
ข้าวสังข์หยดของดีเกาะกลาง
ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเกาะกลางก็คือการทำนาข้าวสังข์หยด (คลิกอ่านเรื่องการทำนาข้าวสังข์หยด) ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ถือเป็นของดีภาคใต้ ว่ากันว่าข้าวสังหยดที่เกาะกลางนั้นมีความโดดเด่นต่างจากที่อื่น เนื่องจากข้าวจะมีความหอมและหุงขึ้นหมอ เพราะพื้นที่โดยรอบเป็นน้ำเค็ม ทำให้ดินที่นี่มีความพิเศษ ข้าวที่ได้ก็จะแตกต่างจากที่อื่น
สามารถพบเห็นนกได้ทั่วไป
และนี่ก็เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะกลาง ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาที่ได้มาเยือนกระบี่ ก็มักจะนึกถึง หาดทรายสวย น้ำทะเลใสๆ จนลืมไปว่าการท่องเที่ยวนั้นไม่จำเป็นที่จะยึดติดกับการท่องเที่ยวแบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากเราลองหยุดมองดีๆ อาจไม่ต้องออกทะเลไปค้นหาความสวยงามที่ไหนไกล เพียงใกล้ๆ ตัวเมืองกระบี่นี้เองยังมี “เกาะกลาง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่มีวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ เรียบง่าย และยั่งยืนไม่เสื่อมคลาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยวเกาะกลาง สามารถเดินางโดยนั่งเรือทางยาวข้ามฟากจากฝั่งตัวเมือง มายังฝั่งเกาะกลาง โดยใช้บริการเรือได้ 2 ท่า คือ ท่า คือ ท่าเรือสวนสาธารณะธารา ไปยังท่าเรือท่าเล โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที และท่าเรือเจ้าฟ้า ไปยังท่าเรือท่าหิน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
เมื่อมาถึงสามารถใช้บริการรถสามล้อ หรือเช่าจักรยานบริเวณท่าเรือท่าเล เพื่อเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวและจุดต่างๆ ระยะทางรอบเกาะแระมาณ 11 กิโลเมตร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่ โทร.0-7562-2163

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น