“เมืองแพร่เมืองผ่าน” คนทั่วไปมักกล่าวเช่นนั้น ด้วยแพร่เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ทางภาคเหนือตอนบน เป็นเมืองเก่าแก่นับพันปี เดิมชื่อว่า เมืองพลนคร หรือ เวียงโกศัย เป็นจังหวัดเล็กๆ เงียบๆ ที่ผู้คนมักใช้เป็นทางผ่านเพื่อไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ ทางภาคเหนือ จึงไม่ค่อยจะมีใครได้แวะไปเที่ยวสักเท่าไรนัก วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จึงขออาสาพาเที่ยวแบบช้าๆ ชิลชิล บ้าง โดยการ “นั่งสามล้อ ผ่อเฮือนเก่า เล่าขานตำนานเมืองแป้” ซึ่งโครงการนี้ได้รับการผลักดันจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมเมืองแพร่โดยใช้รถสามล้อจากกลุ่ม “ฮักเมืองแพร่” ที่มีกว่า 30 คัน ในการพาไปเปิดมุมมองและเรื่องราวที่ล้วนแต่น่าค้นหา ทั้งประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวิถีชีวิต
การนั่งสามล้อ ผ่อเฮือนเก่า เล่าขานตำนานเมืองแป้ครั้งนี้ เราเริ่มต้นจากหน้า ททท.สำนักงานแพร่ นั่งสามล้อลัดเลาะคลองชลประทานเล็กๆ ผ่านซอกซอย วนวงเวียนน้ำพุ จนได้มาผ่อเฮือนเก่า หรือมาชมบ้านเก่า ซึ่งบ้านหลังแรกก็คือ “คุ้มเจ้าหลวง” ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2553 และรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2540 จากสมเด็จพระเทพฯ
คุ้มเจ้าหลวงเป็นบ้านของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ผู้ครองเมืองแพร่คนสุดท้าย สร้างขึ้นในปี 2435 ก่อนเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้น 10 ปี คุ้มแห่งนี้มีความหรูหราและสง่างามและมีเสน่ห์อย่างมาก เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมยุโรป หรือที่เรียกว่าบ้านแบบขนมปังขิง (Gingerbread) ซึ่งเป็นขนมปังขิงของชาวยุโรปที่ตกแต่งลวดลายเป็นแง่งคล้ายขิง สวยงาม จึงใช้เป็นคำเรียกลวดลายของสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น ซึ่งคุ้มหลังนี้เป็นฝีมือของช่างชาวจีนและช่างพื้นบ้านได้ร่วมกันสร้างสรรค์ลวดลายขึ้น ใต้ถุนของคุ้มเป็นที่ควบคุมข้าทาสของเจ้าหลวงฯ ซึ่งเวลาที่เข้าไปชมด้านในของคุกต้องเดินถอยหลังเข้าเพื่อเป็นการแก้เคล็ดจะได้ไม่เข้าไปอยู่ในคุกจริงๆ ตามความเชื่อ นอกจากนี้ในอดีต “คุ้มเจ้าหลวง” ยังเคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาเยี่ยมเยือนราษฎรที่จังหวัดแพร่ และเป็นสถานที่ถ่ายละครดังหลายเรื่องเช่น รอยไหม อีกด้วย
จากคุ้มเจ้าหลวง “ตะลอนเที่ยว” นั่งสามล้อชมบรรยากาศยามเช้าของจังหวัดแพร่ ผ่านบ้านไม้สักอายุเก่าแก่หลายสิบหลัง สามล้อขี่เลียบกำแพงเมืองแพร่มาเรื่อยๆ จนถึงบ้านไม้สักหลังใหญ่ “บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์” ซึ่งก็เป็นบ้านอีกหลังที่ได้รับรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ประเภทบ้านพัก เมื่อปี พ.ศ. 2555 บ้านไม้โบราณหลังนี้เป็นเรือนไม้ฉลุลวดลายแบบขนมปังขิง ซึ่งพระยาบุรีรัตน์ มหายศปัญญา ได้สร้างเพื่อเป็นเรือนหอให้กับลูกสาว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยชาวจีนชุดเดียวกับที่สร้างบ้านวงศ์บุรี ต่อมาถูกน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2538 ถือว่าเป็นครั้งที่น้ำท่วมสูงที่สุดและได้มีการวัดระดับน้ำไว้เป็นหลักฐานด้วย ถึงแม้จะเป็นบ้านพักอาศัยแต่ในปัจจุบัน “บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์” ก็มีเพียงแต่ลูกหลานช่วยกันดูแลแต่มิได้เข้ามาอยู่อาศัยแต่อย่างใดและอนุญาตให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมแต่ภายนอกเท่านั้น
และก็มาถึง “คุ้มวิชัยราชา” เรือนไม้สักสองชั้น สไตล์โคโลเนียล (Colonial) ซึ่งก็คือสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างเรือนมะนิลาและเรือนขนมปังขิง สร้างโดยเจ้าหนานขัติ จากต้นตระกูล แสนศิริพันธุ์ ซึ่งไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในปีใดและได้ถูกทิ้งรกร้างมาเป็นเวลาร่วม 40 ปี จนปัจจุบัน ได้รับการดูแลจากนายวีระ สตาร์ แต่ก็ยังดูแลไม่ได้เต็มที่เนื่องจากเหตุผลทางการเงิน “คุ้มวิชัยราชา” ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ ประเภท บ้านพักอาศัย (บ้านเจ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2555 และเป็นแหล่งเรียนรู้ ทัศนศึกษากับผู้ที่ต้องการหาความรู้อีกด้วย
นอกจากจังหวัดแพร่จะมีเรือนไม้สักขนมปังขิงที่สวยงามแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติการลับของขบวนการเสรีไทยในแพร่ “ตะลอนเที่ยว” จึงไม่ขอพลาดที่จะได้ไปยืนยันคำกล่าวนี้ “พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่” ตั้งอยู่ที่โรงแรมภราดร ต.ในเวียง อ. เมือง จ.แพร่ เป็นที่รวบรวมเอาข้อมูลทั้งเบื้องลึกเบื้องหลังของบุคคลที่ร่วมขบวนการเสรีไทย ไม่ว่าจะเป็น คำสัมภาษณ์จากผู้ที่ร่วมขบวนการที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเป็นหลักฐานต่างๆ และวิธีที่ใช้ในการส่งข่าว ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ที่ผู้รักชาติไม่ควรพลาด
นอกจากนี้ “พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่” ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” เข้าใจความหมายของคำสบประมาทคนแพร่ที่ว่า “แพร่แห่ระเบิด” ซึ่งหมายถึงคนแพร่ไม่ฉลาด ไม่รู้จักระเบิด กลับเอาระเบิดมาแห่จนระเบิด ว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ชาวบ้านได้พบระเบิดที่ฝ่ายอเมริกาทิ้งโดยเครื่องบินไว้ หลายลูกด้านจึงไม่เกิดระเบิด จึงใช้ภูมิปัญญาถอดชนวนระเบิดออก และแห่ไปถวายที่วัด ทั้งวัดนาตุ้ม และวัดศรีดอนคำ ซึ่งก็ตรงกับคำบอกเล่าของ โกมล พานิชพันธ์ ว่า การแห่ระเบิดของชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสมัยโบราณการที่จะทำสิ่งของมาถวายวัดมักจะใช้วิธีการแห่เข้ามาภายในวัด ซึ่งระเบิดที่ชาวบ้านแห่นำมาถวายวัดศรีดอนคำนั้นได้ถูกนำมาทำเป็นระฆัง และส่วนหัวที่ตัดออกไปนั้นได้ทำเป็นอ่างล้างเท้า ดังนั้นคำสบประมาทที่ว่า “แพร่แห่ระเบิด” ที่สื่อความหมายในด้านลบของคนแพร่ แท้ที่จริงแล้วกลับเป็น ความหมายในเชิงบวกมากกว่า
หลังจากที่เที่ยวทั่วเมืองแพร่แบบช้าๆ กันไปแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ได้เดินทางต่อไปที่ อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อค้นหาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวแพร่ผ่านผืนผ้า โดยเริ่มที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “โกมลผ้าโบราณ” ซึ่งที่นี่เป็นที่เก็บสะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลองไว้โดย โกมล พานิชพันธ์ ผู้ที่ได้รับรางวัล "ผู้ทำคุณประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย 2555” ภายในจัดแสดง จิตรกรรมเวียงต้า (ภาพงานเขียนของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน ที่เขียนบนแผ่นกระดานไม้สัก, ผ้าโบราณเมืองลอง (ผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนก เมืองลอง), ผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ, วิธีการเก็บผ้าโบราณจากภูมิปัญญาคนโบราณที่ทำให้ผ้าอยู่ได้นานกว่า 200 ปี และร้านค้าขายของที่ระลึกจากผ้าทอแบบโบราณทำใหม่ที่ทันสมัย
จากคำบอกเล่าว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” เมืองลองไม่เป็นสองรองใคร “ตะลอนเที่ยว” เลยต้องลองมายล “ผ้าซิ่นตีนจกที่ยาวที่สุดในโลก” ที่แหล่งเรียนรู้งานหัตถศิลป์ผ้าทอตีนจกเมืองลอง “บ้านศิลปินแห่งชาติ ประนอม ทาแปง” ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ) ที่อายุน้อยที่สุด ที่นี่มีผ้าซิ่นลายโบราณ และลายใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเองจำนวนมาก ซึ่งนอกจากที่นี่จะเป็นที่จัดแสดงลายผ้าต่างๆ แล้ว ยังมีการสอนทอผ้าตั้งแต่ การอีดฝ้าย, ดีดฝ้าย, เก็บด้าย, ปั่นฝ้าย, ทำหางฝ้าย ไปจนถึงการขึ้นกี่ทอผ้าเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงเสาร์ - อาทิตย์จะมีนักเรียนและผู้ที่สนใจมาเรียนการทอผ้าจาก ประนอม ทาแปง เป็นประจำ ซึ่งถือเป็นการถ่ายทอดศิลปะทางประณีตศิลป์ให้คงอยู่ต่อไป
ได้มาเจอสิ่งที่น่าสนใจเช่นนี้ เมืองแพร่จึงไม่ใช่เพียงเมืองผ่านของ “ตะลอนเที่ยว” อีกต่อไป แต่กลายเป็นเมืองที่น่าสนใจ และอยากบอกต่อให้คนที่ยังไม่เคยมาเยือนได้มาสัมผัสกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจท่องเที่ยวตามเส้นทาง “นั่งสามล้อ ผ่อเฮือนเก่า เล่าขานตำนานเมืองแป้” และสนใจท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทร.0-5452-1118
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com