xs
xsm
sm
md
lg

อิ่มบุญอิ่มท้อง ท่อง "สามย่าน" ทำบุญโลงศพ พร้อมชิมหลากเมนูสเต็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หลวงพ่อพุทธมงคล
ความเชื่อในเรื่องการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เป็นความเชื่อที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือเพื่อเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ซึ่งก็มีเคล็ดต่างๆในการสะเดาะเคราะห์มากมาย ตัวอย่างเช่น การทำบุญโลงศพ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม เที่ยวตามย่านในครั้งนี้ เลยจะขอพามาเที่ยวพร้อมทำบุญสะเดาะเคราะห์กันที่ “ย่านสามย่าน” โดยเป็นที่ตั้งของ “วัดหัวลำโพง” สถานที่ทำบุญโลงศพที่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “ตลาดสามย่านใหม่” ศูนย์รวมร้านค้าร้านอาหารมากมาย ที่สามารถเลือกซื้อเลือกชิมกันอย่างเพลิดเพลิน

เริ่มต้นด้วยการทำบุญที่ “วัดหัวลำโพง” ซึ่งแต่เดิมนั้น วัดนี้ชื่อว่า “วัดวัวลำพอง” โดยประวัติการสร้างนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่ได้มีการคาดคะเนว่า สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของพระอุโบสถหลังเก่า และจากการเล่าต่อๆ กันมาของผู้คนในพื้นที่ จนเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินที่วัดแห่งนี้ และได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ โดยพระราชทานนามว่า "วัดหัวลำโพง" ซึ่งเป็นชื่อใหม่ที่ใช้เรียกวัดแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน
ทำบุญไถ่ชีวิตโค-กระบือ
หากมาวัดหัวลำโพงแล้ว ก่อนอื่นต้องขึ้นไปสักการะขอพร “หลวงพ่อพุทธมงคล" พระประธานในพระอุโบสถของวัดหัวลำโพงกันก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งภายในพระอุโบสถนั้นได้มีภาพเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังและเพดานที่งดงาม โดยเป็นลายวรรณคดีไทย ชาดก และประเพณีไทย ให้ได้ผู้เข้ามาได้ชม และบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ ยังมีจุดร่วมทำบุญด้วยการให้อาหารและร่วมบริจาคปัจจัยไถ่ชีวิตโค-กระบือ ให้ได้ร่วมทำบุญกันอีกด้วย

หลักจากสักการะขอพรพระประธานเเล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะไปสะเดาะเคราะห์ ซึ่งต้องเดินไปยังบริเวณด้านหน้าวัด โดยจะเป็นที่ตั้งของ "มูลนิธิร่วมกตัญญู" โดยสามารถที่จะร่วมทำบุญโลงศพได้ที่มูลนิธิแห่งนี้ การทำบุญโลงศพนั้นถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดวิธีในการสะเดาะเคราะห์ด้วยการบริจาคปัจจัยแล้วแต่กำลังศรัทธาเพื่อให้ทางมูลนิธิได้นำเงินบริจาคไปซื้อโลงศพสำหรับบรรจุศพที่ไม่มีญาติ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำบุญอีกทั้งยังได้สะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อกันอีกด้วย
บรรยากาศสักการะเทพเจ้า ภายใน “ศาลเจ้าพ่อเขาตก”
และหากทำบุญโลงศพเสร็จแล้วก็อย่าลืมที่จะสักการะ “ศาลเจ้าพ่อเขาตก” ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้าง ซึ่งภายในศาลเจ้าพ่อเขาตกนั้นเป็นที่ตั้งของรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆของชาวจีน อาทิ โป๊ยเซียน , เจ้าแม่กวนอิม , เจ้าพ่อเสือ ให้ได้สักการะเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต โดยหลังจากสักการะเหล่าเทพเจ้าแล้ว ก็จะต้องนำใบอนุโมทนาบัตร ที่จะได้รับหลังจากได้ทำบุญโลงศพ มาเผาในกระถางเผากระดาษภายในศาลเจ้าพ่อเขาตกแห่งนี้
บรรยากาศซื้อ-ขายคึกคัก “ตลาดสามย่านใหม่”
หลังจากอิ่มบุญเเละได้สะเดาะเคราะห์กันแล้ว ใครที่กำลังหิวก็คงไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้อง เพราะที่ย่านสามย่านแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของ “ตลาดสามย่านใหม่” อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลกันมากจากวัดหัวลำโพงอีกด้วย โดยตลาดสามย่านใหม่นั้นจะตั้งอยูที่บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 32 -34 เดินไปไม่ไกล

ตลาดสามย่านแห่งใหม่นี้ มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้น โดยชั้นล่างนั้นจะเป็นที่ตั้งของตลาดที่มีแผงร้านค้ามากมายหลากหลายชนิด มีของคาวของหวาน อาหารต่างๆหลากเมนู ดอกไม้ สินค้าสารพัด ให้เลือกซื้อกลับบ้านได้อย่างตามใจ ส่วนชั้นบนนั้นเป็นที่ตั้งของศูนย์อาหาร โดยเมนูเด็ดของย่านสามย่านเเห่งนี้ คงจะหนีไม่พ้นเมนูสเต็ก ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด ซึ่งที่ศูนย์อาหารเเห่งนี้ จะมีร้านสเต็กมากมายหลายร้านเรียงรายให้ได้เลือก อีกทั้งแต่ละร้านยังมีหลากหลายเมนูสเต็กให้ได้เลือกชิมกันอีก หากใครที่ตั้งใจจะมากินสเต็กแล้วก็คงไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
“สเต็กไก่ชีส” หนึ่งในหลากเมนูสเต็กสามย่าน
เรียกได้ว่าย่านสามย่านแห่งนี้ เป็นย่านที่ทำให้ผู้มาเที่ยวได้อิ่มเอมกันจริงๆ ทั้งอิ่มบุญจากร่วมทำบุญต่างๆ และอิ่มท้อง จากของกินหลากหลายเมนู ถือเป็นอีกหนึ่งย่านใจกลางกรุงฯ ที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยว

(คลิกติดตามเรื่องกิน “ย่านสามย่าน” ได้ที่ลิงค์นี้)

**********************************************************************************

ตลาดสามย่านใหม่ : เปิดบริการทุกวัน ชั้น 1 เวลา 05.00 - 17.00 น ชั้น 2 เวลา 05.00 - 24.00 น.

การเดินทาง : รถไฟฟ้ามหานคร MRT สถานีสามย่าน
รถโดยสารประจำทาง : สาย 4, 21, 25, 34, 40, 46, 67, 73, 109, 113, ปอ.4, ปอ.17, ปอ.29, ปอ.67

**********************************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น