“เขาช้างเผือก”
“เขาช้างเผือก” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในแบบผจญภัย ด้วยเส้นทางสู่ยอดเขาที่มีเอกลักษณ์ประกอบกับทัศนียภาพที่สวยงามไม่แพ้ขุนเขาอื่นๆ จึงทำให้ขุนเขาแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของเหล่าผู้พิชิต ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาเหยียบบนสันหลังช้างเผือกเชือกนี้ให้ได้
“เขาช้างเผือก” ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่ยังคงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด ภูมิประเทศของอุทยานนั้นเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาตะนาวศรี และเป็นต้นกำเนิดลำห้วยหลายสายที่ไหลลงไปสู่แม่น้ำแควน้อย
จุดเริ่มต้น
การเดินทางขึ้นสู่เขาช้างเผือกนั้น นักท่องเที่ยวจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เพื่อจองวันเดินทาง ลูกหาบ และเจ้าหน้าที่นำทาง เพราะเส้นทางสู่ยอดเขาช้างเผือกนั้นมีความสูงชัน ต้องได้รับดูแลจากเจ้าหน้าที่ในเรื่องความปลอดภัย และหากนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนเดินทางขึ้นไปโดยไม่ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ จะถูกปรับเป็นเงินจำนวน 500 บาท อีกทั้งทางอุทยานฯได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นสู่เขาช้างเผือก ซึ่งรองรับได้เพียง 60 คนต่อวัน เพราะพื้นที่สำหรับกางเต็นท์บนเขานั้นมีอยู่อย่างจำกัด
โดยก่อนวันเดินทางนักท่องเที่ยวจะต้องมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯในที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เพื่อนัดกับทางเจ้าหน้าที่นำทาง ลูกหาบ แจ้งรายชื่อผู้ที่จะเดินทาง รับอุปกรณ์กางเต็นท์และถุงนอน
ลัดเลาะต้นหญ้าตามเส้นทาง
เมื่อทำการติดต่อเรียบร้อยแล้ว จะมีการนัดหมายกันที่ “บ้านอีต่อง” หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้เขาช้างเผือก ซึ่งบรรยากาศภายในหมู่บ้านนั้นสวยงามและถูกรายล้อมด้วยขุนเขา นักท่องเที่ยวที่จะพิชิตเขาช้างเผือกจะต้องพักที่หมู่บ้านแห่งนี้หนึ่งคืน เพื่อที่จะรอพบกับทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลและคณะลูกหาบ และออกเดินทางขึ้นสู่เขาช้างเผือกในช่วงเช้า
ในส่วนการเตรียมความพร้อมในการขึ้นสู่เขาช้างเผือกนั้น ชุดสำหรับการเดินขึ้นเขาควรเป็นชุดที่ใส่แล้วสามารถที่จะขยับเขยื้อนตัวได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะเส้นทางในช่วงสุดท้ายก่อนขึ้นสู่ยอดเขานั้นจะต้องมีการปีนป่ายหน้าผา ซึ่งจะต้องใช้ความคล่องตัว อีกทั้งตลอดเส้นทางนั้นเป็นป่าโปร่งและทุ่งหญ้าเป็นส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันแดดไปด้วย และบนเขาช้างเผือกนั้นไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกใดๆ ไม่มีน้ำและไฟฟ้า จะมีห้องน้ำเพียงแค่ 3 ห้องสำหรับปลดทุกข์ ซึ่งห้องน้ำนั้นจะเป็นเเบบส้วมหลุม นักท่องเที่ยวจึงต้องเตรียม อาหาร น้ำ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ต้องการขึ้นไปเอง
ทางลงสู่ “ลานกางเต็นท์”
หลังจากจัดแจงสัมภาระให้แก่ลูกหาบและได้พบกับทางเจ้าหน้าที่นำทางแล้ว ก็จะเป็นการเริ่มต้นการเดินทางสู่เขาช้างเผือก โดยระยะทางจากบ้านอีต่องสู่ลานกางเต้นท์ มีระยนะทางประมาณ 8 กิโลมตร และจากลานกางเต้นท์สู่ยอดเขา ประมาณ 1กิโลเมตร รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรกนั้นจะเป็นเส้นทางจากบ้านอีต่อง เพื่อมาสู่ป้ายทางเข้า “เส้นทางผู้พิชิตเขาช้างเผือก” และหลังจากนั้นเส้นทางการเดินก็จะลัดเลาะป่า ขุนเขา และทุ่งหญ้า โดยจะไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากยอดเขาหนึ่งไปสู่อีกยอดเขาหนึ่ง ถึงแม้เส้นทางจะยาวไกลแต่ทัศนียภาพโดยรอบยอดเขานั้นสวยงาม และสามารถเห็นยอดเขาต่างๆได้อย่างกว้างไกล รวมไปถึงยอดเขาช้างเผือก ซึ่งตลอดการเดินก็จะใกล้เขามาทีละนิด เป็นอีกแรงใจให้เดินต่อไปให้ถึงจุดหมาย โดยระยะเวลาในการเดินนั้นก็จะขึ้นอยู่กับตัวนักท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวควรที่จะขึ้นไปสู่ลานกางเต็นท์ก่อนบ่าย2 เพราะจะได้มีเวลาพักผ่อนเอาแรง สำหรับการพิชิต 1 กิโลเมตรสุดท้ายสู่ยอดเขาช้างเผือก ซึ่งเป็นจุดหมายของการขึ้นมาพิชิตขุนเขาแห่งนี้
เจ้าหน้าที่ฯ ดูแลการปีนผาที่ “สันคมมีด”
เส้นทางสู่ลานกางเต็นท์ระยะสุดท้ายนั้นจะมีความสูงชัน นักท่องเที่ยวจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยจะมีเชือกช่วยพยุงตัวในการปีนป่ายขึ้นไป เมื่อถึงลานกางเต้นท์นักท่องเที่ยวก็สามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีการนัดเวลาในการเดินทางขึ้นไปสู่ยอด โดยส่วนมากจะเป็นเวลาบ่าย 3โมง ซึ่งดูเหมือนจะเร็ว แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า “เส้นทางระยะสุดท้ายขึ้นสู่ยอดเขาช้างเผือกนั้นเป็นเส้นทางที่อันตราย ตลอดเส้นทางเป็นทางชั้นด้านข้างหน้าผาสูงชัน ต้องใช้เวลาอย่างมากในการเดินทาง อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่จะพาเดินทางกลับลานกางเต้นท์ก่อนที่ฟ้าจะมืด เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว”
เส้นทาง 1 กิโลเมตรสุดท้ายสู่ยอดเขาช้างเผือกนั้น จะเริ่มต้นจากการปีนป่ายก่อนหิน ขึ้นไปสู่จุดที่เรียกว่า “สันคมมีด” โดยตลอดสองข้างทางนั้นเป็นหน้าผาหินสูง ที่ด้านล่างเป็นเหวลึก เปรียบได้ว่ากำลังเดินอยู่บนสันเขาซึ่งต้องใช้ความกล้าเป็นอย่างมาก มีหลายคนที่ไม่ได้ไปต่อเพราะทนความหวาดเสียวไม่ไหวในจุดนี้ ตลอดระยะทางจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด นักท่องเที่ยวต้องมีสติและใช้ความระมัดระวังในการเดินเป็นอย่างมาก เพราะหากพลาดพลั้งก็อาจจะได้รับอันตรายได้
เขาลูกสุดท้ายและ “ลานเทเลทับบี้” ทางขึ้นสู่ยอดเขาช้างเผือก
และทางขึ้นสุดท้ายสู่ยอดเขานั้นก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ โดยทางขึ้นแห่งนี้ เหล่านักท่องเที่ยวให้ชื่อว่า “ลานเทเลทับบี้” เพราะมองดูแล้วเหมือนทางสไลเดอร์ในการ์ตูนเรื่องเทเลทับบี้ แต่เส้นทางขึ้นนั้นไม่ได้น่ารักเหมือนชื่อเลย โดยเป็นเส้นทางสูงชันไม่มีหินก้อนใหญ่และเชือกสำหรับปีนและพยุงตัว นักท่องเที่ยวจะต้องพยุงตัวด้วยหินก้อนเล็กๆและต้นหญ้าระหว่างทาง โดยขากลับนั้นจะเพิ่มความหวาดเสียวอีกเป็นเท่าตัว ซึ่งจะต้องสไลเดอร์ลงมาช้าๆ เว้นแต่เพียงเจ้าหน้าที่เพราะมีความชำนาญ
ยอดบนสุดของเขาช้างเผือกนั้น มีความสูงประมาณ 1,249 เมตร โดยสามารถที่จะชมวิวทิวทัศน์ได้ถึง 360 องศา ซึ่งเป็นบรรยากาศสวยงามมากสามารถมองเห็นได้อย่างกว้างไกล แต่นักท่องเที่ยวจะไม่ได้ชมพระอาทิตย์ตกบนยอดเขาแห่งนี้ เพราะต้องเดินทางลงไปสู่ลานกางเต้นท์ก่อนฟ้ามืด แต่ไม่ต้องเสียใจในเรื่องนี้ เพราะเส้นทางสันคมมีดไปสู่ลานกางเต้นท์นั้น ก็สามารถชมพระอาทิตย์ตกดินและวิวทิวทัศน์ 360 องศาได้เช่นกัน
ความสวยงามและเส้นทางที่เป็นเอกลักษณ์ของขุนเขาแห่งนี้ จึงทำให้เขาช้างเผือกอยู่ในดวงใจและความฝันของเหล่านักผจญภัยหลายๆคน ที่จะต้องมาเป็นผู้พิชิตสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ยอดเขาช้างเผือก และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท. สำนักงานกาญจนบุรี โทร.0-3451-1200 อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โทร. 0-3453-2114
ค่าบริการ : เจ้าหน้าที่นำทาง 900 บาทต่อคน , ลูกหาบ 900 บาทต่อคน สามารถแบกน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัมต่อคน
**********************************************************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com