โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
“ทุ่งแสลงหลวง” เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีที่มาของชื่อน่าสนใจไม่น้อย เพราะคำว่า “แสลงหลวง”นั้น มีที่มา 2 ทางด้วยกัน
ทางแรกสันนิษฐานว่ามาจากชื่อของ “ต้นแสลงใจ” เพราะในอดีตพบต้นไม้ชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมากในผืนป่าทุ่งแสลงหลวง (ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้น มีผลสีเหลือง เมล็ดมีสารพิษเบื่อเมาประเภทสารสตริกนิน ที่ใครกินเข้าไปอาจทำให้ตายได้ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ต้นแสลงใจ)
ทางที่สองมาจากหนังสือ “คู่มือศึกษาผีเสื้อกลางวัน ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก-เพชรบูรณ์” ที่ระบุว่า นายบาน มีแสงแวว พรานอาวุโสซึ่งปัจจุบันเลิกล่าสัตว์แล้ว เล่าให้ฟังว่า พรานป่าเมื่อเข้าป่าจะมีข้อห้ามหลายข้อ ถ้าใครทำผิดข้อห้ามเหล่านี้ จะเรียกว่า “แสลงป่าหรือผิดป่า” จะทำให้เกิดอันตรายหรือเหตุอาเพศอย่างใหญ่หลวง อันเป็นที่มาของชื่อทุ่งแสลงหลวง
เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะเชื่อข้อมูลทางไหน แต่สำหรับผมทุ่งแสลงหลวงถือเป็นผืนป่าที่น่าสนใจยิ่ง เพราะป่าแห่งนี้มีลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะกับทุ่งหญ้า ป่าสน และมวลหมู่ดอกไม้อันงดงาม ซึ่งนับเป็นเสน่ห์แห่งธรรมชาติอันโดดเด่นที่ดึงดูดให้ผู้สนใจได้เดินทางไปสัมผัสและหลงรักทุ่งแสลงหลวงกัน
ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งสะวันนาเมืองไทย
ผืนป่าทุ่งแสลงหลวง ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง” ในปี พ.ศ. 2506 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของเมืองไทย มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ หรือราว 1,262 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์
จุดเด่นอันสูงสุดของทุ่งแสลงหลวงนั้นเห็นจะหนีไม่พ้น ลักษณะผืนป่าแบบ “ทุ่งหญ้าสะวันนา” ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอันขึ้นชื่อลือชา เป็นดังเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้
ทุ่งแสลงหลวงหรือทุ่งหญ้าสะวันนา มีจุดเที่ยวชมอยู่ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8(หนองแม่นา) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ที่นี่เราจะได้สัมผัสกับทุ่งหญ้าธรรมชาติอันสวยงามกว้างไกล ขึ้นอยู่บนเนินเขาลดหลั่นกันไป แซมด้วยไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ ไม้ดัดธรรมชาติ ดอกไม้ป่า อาทิ กระเจียว(ช่วงหน้าฝน) เอนอ้า หญ้าเหลี่ยม เอื้องสามสี โดยมีฉากหลังเป็นผืนป่าและขุนเขาทอดยาว
ทุ่งหญ้าสะวันนาผืนนี้จะเปลี่ยนมุมมองไปตามฤดูกาล ยามหน้าฝนจะเป็นสีเขียวขจีสดใส และเป็นสีเหลืองทองในยามหน้าแล้ง ขณะในช่วงนี้ที่ผมเพิ่งไปสัมผัสมานั้นทุ่งหญ้าจะเป็นสีเขียวปนเหลืองเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทุ่งหญ้าสะวันนาผืนนี้มีพื้นที่ราว 10 ตารางกิโลเมตร ยามเช้าในวันที่โชคดีจะเห็นสายหมอกลอยอ้อยอิ่งมาช่วยสร้างสีสันความงามในมุมมองที่พิเศษไปกว่าธรรมดา
นอกจากนี้ตามทุ่งหญ้ายังมีนกออกโผผินหากิน บินไปเกาะหญ้ายอดโน้น ยอดนี้ นกหลายตัวเราได้ยินแต่เสียงร้องของมัน เป็นดังเสียงดนตรีขับกล่อมจากธรรมชาติ ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเสน่ห์แห่งท้องทุ่งแห่งนี้ก็เห็นจะเป็นบรรดาผีเสื้อแมลงปีกสวย ที่โฉบบิน ฉวัดเฉวียนไป-มา
ในพื้นที่หน่วยหนองแม่นายังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแคมป์ปิ้งพักแรม ซึ่งมีทั้งแบบกางเต็นท์ใกล้ชิดธรรมชาติและพักที่บ้านพักอุทยานฯที่ต้องจองก่อนล่วงหน้า
ส่วนใครที่ชอบขี่จักรยานที่นี่มีจักรยานให้เช่าขี่ชมธรรมชาติในรอบๆพื้นที่หน่วย หรือใครที่มีกำลังเหลือเฟือจะปั่นกึ่งวิบากลุยถนนลูกรังไปยัง “ทุ่งนางพญา” ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย
ทุ่งนางพญา ป่าสนแสนสวย
จากหน่วยฯหนองแม่นา ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร จะเป็นพื้นที่ของทุ่งนางพญาอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวไฮไลท์ของอุทยานฯทุ่งแสลงหลวง แต่ก่อนที่จะไปถึงทุ่งนางพญาระหว่างทาง ผมขอแวะที่ “ลานดุสิตา” เพื่อชมวิวทิวทัศน์สวยๆกันสักหน่อย
ลานดุสิตาเป็นจุดชมวิวและจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าอันโดดเด่นของทุ่งแสลงหลวง ที่นี่เมื่อมองลงไปจะเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของท้องทุ่งหญ้า และ“เขาย่า” ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ เบื้องหน้า
จากลานดุสิตาผมออกเดินทางต่อสู่ทุ่งนางพญาที่เป็นผืนป่าสนแสนสวยของอุทยานฯแห่งนี้
ทุ่งนางพญา มีชื่อเต็มว่า“ทุ่งนางพญาเมืองเลน” ถือเป็นป่าสนสองใบตามธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทย
ทุ่งนางพญา นอกจากเต็มไปด้วยต้นสนต้นใหญ่อันสูงตระหง่านที่ขึ้นเรียงรายอย่างเป็นระเบียบแล้ว บริเวณใต้ต้นสนบางช่วงยังมี ต้นหญ้า ดงเฟิร์น ขึ้นเรียงราย โดยในยามเช้าของวันที่อากาศเป็นใจจะมีสายหมอกบางๆลอยอ้อยอิ่งไหลเรื่อยเอื่อยผ่านแนวป่าสน ดูสวยงามโรแมนติกไปอีกแบบ
นับเป็นมนต์เสน่ห์แห่งต้นไม้ใหญ่และต้นหญ้าที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ออกมาอย่างกลมกลืน ลงตัว สวยงาม
สำหรับชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเลือกเป็นต้นไม้ใหญ่โต้ลมหรือต้นหญ้าลู่ลมนั่นก็สุดแท้แต่ แต่ที่ผมเห็นในเบื้องหน้าที่ทุ่งนางพญาก็คือ ภาพความงามของต้นไม้ใหญ่กับต้นหญ้าที่ไหวเอนขึ้นอยู่เคียงคู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน
ทุ่งแสม ดงดอกไม้งาม
ห่างจากทุ่งนางพญาไปราว 5 กิโลเมตร มี“ทุ่งแสม”เป็นแหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่ที่ดูแล้วมีอนาคตไกลไม่น้อย
พี่“มะขามป้อม-ปัญญา จันทร์มา” เจ้าหน้าที่สื่อความหมายของ อช.ทุ่งแสลงหลวง ผู้นำชมทุ่งแสมเล่าให้ฟังถึงที่มาของทุ่งแห่งนี้ว่า ชื่อแสม(สะ-แหม) เป็นภาษาถิ่น หมายถึงอาการแฮงก์(โอเวอร์)หรือยังไม่สร่างเมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชุดหนึ่งได้เคยออกสำรวจลาดตระเวน แล้วมาพักที่ทุ่งแห่งนี้ด้วยอาการยังไม่สร่างเมา(สมัยก่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติยังดื่มสุราได้) เจ้าหน้าที่ชุดนั้นจึงตั้งชื่อทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งแสม”
พี่มะขามป้อมเล่าต่อว่า “ทุ่งแสมเป็นทุ่งดอกไม้งามในระดับทุ่งโนนสนย่อส่วน”(ทุ่งโนนสนคือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของทุ่งแสลงหลวงที่อุดมไปด้วยดอกไม้งามนานาชนิด)
จากทุ่งนางพญาพี่มะขามป้อมพาเดินผ่านทุ่งหญ้าป่าสนอันสวยงาม ป่าโปร่ง สู่บริเวณทุ่งแสมที่มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่
ทุ่งแสมแบ่งเป็น 3 พื้นที่ชมดอกไม้หลักๆ คือ ลานกระดุมเงิน ลานเอื้องนวลจันทร์ และลานดุสิตา
สำหรับลานกระดุมเงินจะเป็นทุ่งหญ้า มีต้นสนขึ้นแซมเป็นระยะๆ ที่เบื้องล่างเหนือพื้นดิน มีดอกกระดุมเงินสีขาวนวลเบ่งบานทั้งเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มย่อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากกระดุมเงินแล้วที่นี่ยังมีเอื้องม้าวิ่ง ยี่โถปีนัง ที่บานอยู่แถวลานหินเป็นพันธุ์ไม้เด่นให้ผู้รักถนอมบุปผาได้ชื่นชมกัน
เมื่อเดินถัดไปอีกไม่ไกลจะเป็นลานเอื้องนวลจันทร์ที่มี“ดอกเอื้องนวลจันทร์” หรือ “เหลืองพิศมร” ขึ้นอยู่ทั่วไปบนลานหิน และมีกลุ่มดอกดุสิตาขึ้นอยู่กระจุกหนึ่งทางด้านหลัง ส่วนที่ด้านหน้าลานจะเป็นลำธารน้ำใสเย็น สามารถลงแหวกว่ายเล่นได้อย่างชุ่มฉ่ำอุรา
จากลานเอื้องนวลจันทร์เดินไปอีกนิดจะเป็นลานดุสิตา ซึ่งเป็นลานหินกว้างมีดอกดุสิตาสีม่วงนวลขึ้นดารดาษอยู่เต็มลานหิน ร่วมด้วยดอกเอื้องนวลจันทร์สีเหลืองที่ขึ้นมาเติมเต็มองค์ประกอบแห่งความงาม อีกทั้งยังมีดอกสร้อยสุวรรณ กระดุมเงิน กระดุมทอง ที่ขึ้นแซมในบริเวณลานแห่งนี้
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งทุ่งแสมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของทุ่งแสลงหลวงที่มากไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้งาม ซึ่งดอกไม้เหล่านี้อย่าไปเด็ดทำลายมัน เพราะหากเด็ดดอกไม้จะสะเทือนถึงดวงดาว
แต่ขอให้ดูด้วยตา แล้วให้ความงามของเหล่าดอกไม้เหล่านี้ไปเบ่งบานเจิดจรัสในหัวใจ
*****************************************
จากหน่วยหนองแม่นา สามารถไปเที่ยวทุ่งแสมได้แบบไปเช้า-เย็นกลับ(ค้างบริเวณที่ทำการหรือในที่พักใกล้เคียง) พร้อมๆกับการเที่ยวชมทุ่งนางพญา ลานดุสิตา ส่วนถ้าใครอยากสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดก็สามารถกางเต็นท์พักค้างแรมได้ที่ทุ่งนางพญาหรือห้วยโกหก
ทั้งนี้เหล่ามวลหมู่ดอกไม้ที่ทุ่งแสมจะบานในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. โดยการเที่ยวชมจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง และทางอุทยานฯกำหนดให้การเที่ยวชมแต่ละครั้งไม่เกิน 100 คน ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 0-5526-8019 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชื่อมโยงกับ อช.ทุ่งแสลงหลวง รวมไปถึงที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ได้ที่ ททท. สำนักงานพิษณุโลก 0-5525-2742-3
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
“ทุ่งแสลงหลวง” เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีที่มาของชื่อน่าสนใจไม่น้อย เพราะคำว่า “แสลงหลวง”นั้น มีที่มา 2 ทางด้วยกัน
ทางแรกสันนิษฐานว่ามาจากชื่อของ “ต้นแสลงใจ” เพราะในอดีตพบต้นไม้ชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมากในผืนป่าทุ่งแสลงหลวง (ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้น มีผลสีเหลือง เมล็ดมีสารพิษเบื่อเมาประเภทสารสตริกนิน ที่ใครกินเข้าไปอาจทำให้ตายได้ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ต้นแสลงใจ)
ทางที่สองมาจากหนังสือ “คู่มือศึกษาผีเสื้อกลางวัน ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก-เพชรบูรณ์” ที่ระบุว่า นายบาน มีแสงแวว พรานอาวุโสซึ่งปัจจุบันเลิกล่าสัตว์แล้ว เล่าให้ฟังว่า พรานป่าเมื่อเข้าป่าจะมีข้อห้ามหลายข้อ ถ้าใครทำผิดข้อห้ามเหล่านี้ จะเรียกว่า “แสลงป่าหรือผิดป่า” จะทำให้เกิดอันตรายหรือเหตุอาเพศอย่างใหญ่หลวง อันเป็นที่มาของชื่อทุ่งแสลงหลวง
เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะเชื่อข้อมูลทางไหน แต่สำหรับผมทุ่งแสลงหลวงถือเป็นผืนป่าที่น่าสนใจยิ่ง เพราะป่าแห่งนี้มีลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะกับทุ่งหญ้า ป่าสน และมวลหมู่ดอกไม้อันงดงาม ซึ่งนับเป็นเสน่ห์แห่งธรรมชาติอันโดดเด่นที่ดึงดูดให้ผู้สนใจได้เดินทางไปสัมผัสและหลงรักทุ่งแสลงหลวงกัน
ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งสะวันนาเมืองไทย
ผืนป่าทุ่งแสลงหลวง ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง” ในปี พ.ศ. 2506 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของเมืองไทย มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ หรือราว 1,262 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์
จุดเด่นอันสูงสุดของทุ่งแสลงหลวงนั้นเห็นจะหนีไม่พ้น ลักษณะผืนป่าแบบ “ทุ่งหญ้าสะวันนา” ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอันขึ้นชื่อลือชา เป็นดังเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้
ทุ่งแสลงหลวงหรือทุ่งหญ้าสะวันนา มีจุดเที่ยวชมอยู่ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8(หนองแม่นา) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ที่นี่เราจะได้สัมผัสกับทุ่งหญ้าธรรมชาติอันสวยงามกว้างไกล ขึ้นอยู่บนเนินเขาลดหลั่นกันไป แซมด้วยไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ ไม้ดัดธรรมชาติ ดอกไม้ป่า อาทิ กระเจียว(ช่วงหน้าฝน) เอนอ้า หญ้าเหลี่ยม เอื้องสามสี โดยมีฉากหลังเป็นผืนป่าและขุนเขาทอดยาว
ทุ่งหญ้าสะวันนาผืนนี้จะเปลี่ยนมุมมองไปตามฤดูกาล ยามหน้าฝนจะเป็นสีเขียวขจีสดใส และเป็นสีเหลืองทองในยามหน้าแล้ง ขณะในช่วงนี้ที่ผมเพิ่งไปสัมผัสมานั้นทุ่งหญ้าจะเป็นสีเขียวปนเหลืองเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทุ่งหญ้าสะวันนาผืนนี้มีพื้นที่ราว 10 ตารางกิโลเมตร ยามเช้าในวันที่โชคดีจะเห็นสายหมอกลอยอ้อยอิ่งมาช่วยสร้างสีสันความงามในมุมมองที่พิเศษไปกว่าธรรมดา
นอกจากนี้ตามทุ่งหญ้ายังมีนกออกโผผินหากิน บินไปเกาะหญ้ายอดโน้น ยอดนี้ นกหลายตัวเราได้ยินแต่เสียงร้องของมัน เป็นดังเสียงดนตรีขับกล่อมจากธรรมชาติ ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเสน่ห์แห่งท้องทุ่งแห่งนี้ก็เห็นจะเป็นบรรดาผีเสื้อแมลงปีกสวย ที่โฉบบิน ฉวัดเฉวียนไป-มา
ในพื้นที่หน่วยหนองแม่นายังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแคมป์ปิ้งพักแรม ซึ่งมีทั้งแบบกางเต็นท์ใกล้ชิดธรรมชาติและพักที่บ้านพักอุทยานฯที่ต้องจองก่อนล่วงหน้า
ส่วนใครที่ชอบขี่จักรยานที่นี่มีจักรยานให้เช่าขี่ชมธรรมชาติในรอบๆพื้นที่หน่วย หรือใครที่มีกำลังเหลือเฟือจะปั่นกึ่งวิบากลุยถนนลูกรังไปยัง “ทุ่งนางพญา” ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย
ทุ่งนางพญา ป่าสนแสนสวย
จากหน่วยฯหนองแม่นา ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร จะเป็นพื้นที่ของทุ่งนางพญาอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวไฮไลท์ของอุทยานฯทุ่งแสลงหลวง แต่ก่อนที่จะไปถึงทุ่งนางพญาระหว่างทาง ผมขอแวะที่ “ลานดุสิตา” เพื่อชมวิวทิวทัศน์สวยๆกันสักหน่อย
ลานดุสิตาเป็นจุดชมวิวและจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าอันโดดเด่นของทุ่งแสลงหลวง ที่นี่เมื่อมองลงไปจะเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของท้องทุ่งหญ้า และ“เขาย่า” ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ เบื้องหน้า
จากลานดุสิตาผมออกเดินทางต่อสู่ทุ่งนางพญาที่เป็นผืนป่าสนแสนสวยของอุทยานฯแห่งนี้
ทุ่งนางพญา มีชื่อเต็มว่า“ทุ่งนางพญาเมืองเลน” ถือเป็นป่าสนสองใบตามธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทย
ทุ่งนางพญา นอกจากเต็มไปด้วยต้นสนต้นใหญ่อันสูงตระหง่านที่ขึ้นเรียงรายอย่างเป็นระเบียบแล้ว บริเวณใต้ต้นสนบางช่วงยังมี ต้นหญ้า ดงเฟิร์น ขึ้นเรียงราย โดยในยามเช้าของวันที่อากาศเป็นใจจะมีสายหมอกบางๆลอยอ้อยอิ่งไหลเรื่อยเอื่อยผ่านแนวป่าสน ดูสวยงามโรแมนติกไปอีกแบบ
นับเป็นมนต์เสน่ห์แห่งต้นไม้ใหญ่และต้นหญ้าที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ออกมาอย่างกลมกลืน ลงตัว สวยงาม
สำหรับชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเลือกเป็นต้นไม้ใหญ่โต้ลมหรือต้นหญ้าลู่ลมนั่นก็สุดแท้แต่ แต่ที่ผมเห็นในเบื้องหน้าที่ทุ่งนางพญาก็คือ ภาพความงามของต้นไม้ใหญ่กับต้นหญ้าที่ไหวเอนขึ้นอยู่เคียงคู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน
ทุ่งแสม ดงดอกไม้งาม
ห่างจากทุ่งนางพญาไปราว 5 กิโลเมตร มี“ทุ่งแสม”เป็นแหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่ที่ดูแล้วมีอนาคตไกลไม่น้อย
พี่“มะขามป้อม-ปัญญา จันทร์มา” เจ้าหน้าที่สื่อความหมายของ อช.ทุ่งแสลงหลวง ผู้นำชมทุ่งแสมเล่าให้ฟังถึงที่มาของทุ่งแห่งนี้ว่า ชื่อแสม(สะ-แหม) เป็นภาษาถิ่น หมายถึงอาการแฮงก์(โอเวอร์)หรือยังไม่สร่างเมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชุดหนึ่งได้เคยออกสำรวจลาดตระเวน แล้วมาพักที่ทุ่งแห่งนี้ด้วยอาการยังไม่สร่างเมา(สมัยก่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติยังดื่มสุราได้) เจ้าหน้าที่ชุดนั้นจึงตั้งชื่อทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งแสม”
พี่มะขามป้อมเล่าต่อว่า “ทุ่งแสมเป็นทุ่งดอกไม้งามในระดับทุ่งโนนสนย่อส่วน”(ทุ่งโนนสนคือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของทุ่งแสลงหลวงที่อุดมไปด้วยดอกไม้งามนานาชนิด)
จากทุ่งนางพญาพี่มะขามป้อมพาเดินผ่านทุ่งหญ้าป่าสนอันสวยงาม ป่าโปร่ง สู่บริเวณทุ่งแสมที่มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่
ทุ่งแสมแบ่งเป็น 3 พื้นที่ชมดอกไม้หลักๆ คือ ลานกระดุมเงิน ลานเอื้องนวลจันทร์ และลานดุสิตา
สำหรับลานกระดุมเงินจะเป็นทุ่งหญ้า มีต้นสนขึ้นแซมเป็นระยะๆ ที่เบื้องล่างเหนือพื้นดิน มีดอกกระดุมเงินสีขาวนวลเบ่งบานทั้งเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มย่อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากกระดุมเงินแล้วที่นี่ยังมีเอื้องม้าวิ่ง ยี่โถปีนัง ที่บานอยู่แถวลานหินเป็นพันธุ์ไม้เด่นให้ผู้รักถนอมบุปผาได้ชื่นชมกัน
เมื่อเดินถัดไปอีกไม่ไกลจะเป็นลานเอื้องนวลจันทร์ที่มี“ดอกเอื้องนวลจันทร์” หรือ “เหลืองพิศมร” ขึ้นอยู่ทั่วไปบนลานหิน และมีกลุ่มดอกดุสิตาขึ้นอยู่กระจุกหนึ่งทางด้านหลัง ส่วนที่ด้านหน้าลานจะเป็นลำธารน้ำใสเย็น สามารถลงแหวกว่ายเล่นได้อย่างชุ่มฉ่ำอุรา
จากลานเอื้องนวลจันทร์เดินไปอีกนิดจะเป็นลานดุสิตา ซึ่งเป็นลานหินกว้างมีดอกดุสิตาสีม่วงนวลขึ้นดารดาษอยู่เต็มลานหิน ร่วมด้วยดอกเอื้องนวลจันทร์สีเหลืองที่ขึ้นมาเติมเต็มองค์ประกอบแห่งความงาม อีกทั้งยังมีดอกสร้อยสุวรรณ กระดุมเงิน กระดุมทอง ที่ขึ้นแซมในบริเวณลานแห่งนี้
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งทุ่งแสมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของทุ่งแสลงหลวงที่มากไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้งาม ซึ่งดอกไม้เหล่านี้อย่าไปเด็ดทำลายมัน เพราะหากเด็ดดอกไม้จะสะเทือนถึงดวงดาว
แต่ขอให้ดูด้วยตา แล้วให้ความงามของเหล่าดอกไม้เหล่านี้ไปเบ่งบานเจิดจรัสในหัวใจ
*****************************************
จากหน่วยหนองแม่นา สามารถไปเที่ยวทุ่งแสมได้แบบไปเช้า-เย็นกลับ(ค้างบริเวณที่ทำการหรือในที่พักใกล้เคียง) พร้อมๆกับการเที่ยวชมทุ่งนางพญา ลานดุสิตา ส่วนถ้าใครอยากสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดก็สามารถกางเต็นท์พักค้างแรมได้ที่ทุ่งนางพญาหรือห้วยโกหก
ทั้งนี้เหล่ามวลหมู่ดอกไม้ที่ทุ่งแสมจะบานในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. โดยการเที่ยวชมจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง และทางอุทยานฯกำหนดให้การเที่ยวชมแต่ละครั้งไม่เกิน 100 คน ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 0-5526-8019 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชื่อมโยงกับ อช.ทุ่งแสลงหลวง รวมไปถึงที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ได้ที่ ททท. สำนักงานพิษณุโลก 0-5525-2742-3
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com