หากจะพูดว่าย่านไหนในเวลานี้คึกคักที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น “ย่านราชดำเนิน” ถนนเส้นใหญ่ใจกลางเมืองหลวง และเป็นหนึ่งในถนนสายสำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วงเวลานี้ถูกใช้เป็นจุดศูนย์รวมของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมกันนั้นสองฟากถนนราชดำเนินยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอยู่มากมาย อีกทั้งตลอดเส้นทางยังถูกประดับประดาไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่สร้างความงดงามทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน จนกลายเป็นย่านที่ได้รับความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
ย่านราชดำเนิน คือบริเวณสองฟากฟั่งริมถนนราชดำเนิน โดยย่านแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถนนราชดำเนินแห่งนี้เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต ซึ่งได้ออกแบบและสร้างถนนให้มีความสวยงามเพื่อความเป็นสง่าแก่บ้านเมือง
"ถนนราชดำเนินนั้น” มีระยะทางตั้งแต่ถนนหน้าพระลานเลียบสนามหลวงไปทางทิศเหนือ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและป้อมมหากาฬ จนถึงถนนศรีอยุธยา(หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า) ซึ่งถนนแห่งนี้ประกอบด้วยถนน 3 สายย่อย ซึ่งได้แก่ ถนนราชดำเนินใน, ถนนราชดำเนินกลาง, ถนนราชดำเนินนอก อีกทั้งถนนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญต่างๆ มากมายในบริเวณสองฟากฝั่งถนน
โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ย่านราชดำเนินแห่งนี้ได้รับความสนใจและคึกคักมากเป็นพิเศษ ในช่วงถนนตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ยิ่งในช่วงเย็นแล้วความคึกคักก็จะเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว
เริ่มต้นที่บริเวณ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” จุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของย่านราชดำเนิน อนุสาวรีย์แห่งนี้ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
โดยจุดนี้นับว่ามีความคึกคักที่สุดของย่านราชดำเนินในเวลานี้ ซึ่งถูกใช้เป็นจุดสำคัญของการชุมนุมเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในจุดนี้ถูกใช้เป็นเวทีของพรรคประชาธิปัตย์ บรรยากาศนั้นคับคั่งไปด้วยผู้คนมากมาย โดยรอบมีร้านค้าเรียงรายตามสองฟากฝั่งถนน มีร้านขายสินค้าตามกระแส ทั้งเสื้อ ผ้าพันคอ นกหวีดให้ผู้ที่มานั้นได้เลือกซื้อ อีกทั้งยังมีร้านขายอาหารและซุ้มอาหารฟรีให้เลือกซื้อเลือกชิม
และในส่วนของเวทีปราศรัยนั้น ก็จะมีกิจกรรมจากผู้ร่วมชุมนุมเป็นระยะ มีทั้งดนตรี งิ้ว และการกล่าวปราศรัย ซึ่งเมื่อเหตุการณ์บนเวทีถูกใจผู้ชมข้างล่างเมื่อไหร่ ก็จะมีเสียงนกหวีดดังสนั่นขึ้นมาในทันที ลานหน้าเวทีนี้จึงคึกคักเป็นพิเศษ
ถัดมาไม่ไกลเป็นบริเวณ “สะพานผ่านฟ้าลีลาศ” สะพานแห่งนี้อยู่คู่กรุงเทพฯ มายาวนานโดยไม่รู้ได้ว่าสร้างตอนไหน แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างพร้อมกับถนน เเต่เดิมนั้นเป็นสะพานโครงเหล็ก ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานใหม่ให้มีลักษณะงดงามมากขึ้น พระองค์ได้พระราชทานชื่อสะพานว่า “ผ่านฟ้าลีลาศ” อันเป็นชื่อใหม่ของสะพานแห่งนี้
ในส่วนสะพานผ่านฟ้าลีลาศนั้น ก็คึกคักไปด้วยร้านค้าต่างๆ เเละถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสู่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เเละเป็นที่ตั้งของเวทีผู้ชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยว อาทิ "นิทรรศน์รัตนโกสินทร์" อาคารนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ “พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี พร้อมจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์ และ “ป้อมมหากาฬ” 1 ใน 14 ป้อมของกำเเพงพระนครที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันรักษาพระนคร โดยในปัจจุบันเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลือให้ได้ชม
ใกล้ๆ กันนั้นบริเวณวัดสระเกศฯ ยังมีการจัดงานย้อนยุคห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ โดยงานจะจัดในระหว่างวันที่ 10-19 พ.ย. ซึ่งภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย สร้างความคึกคักเพิ่มขึ้นให้กับย่านแห่งนี้อีกเป็นเท่าตัว
อีกจุดที่ขาดไม่ได้เลยคือบริเวณ “แยกและสะพานมัฆวานรังสรรค์” สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ได้ชื่อว่าเป็นสะพานที่สวยงามอีกเเห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ บริเวณนี้ก็คึกคักไม่แพ้ที่ไหนๆ เพราะเป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งเวที คือเวทีของกลุ่มผู้ชุมนุมกองทัพธรรมกับกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ ถึงบรรยากาศนั้นจะดูแปลกตาไม่เหมือนในเวลาปกติ เพราะจะมีป้ายล้อเลียนการเมืองต่างๆ ที่นำมาติดไว้ เเต่ก็สร้างสีสันให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ชมอยู่ไม่น้อย และตรงจุดนี้ก็ยังมีบริการซุ้มอาหารฟรี จากครัวกองทัพธรรมให้ได้ลองลิ้มชิมรสกันไม่ขาด (คลิกติดตามเรื่องพักรบ พบของอร่อย จากสะพานมัฆวานฯ ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ตามลิงก์นี้)
ถึงแม้ว่าย่านราชดำเนินในเวลานี้ จะดูคึกคักเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาใด แต่ไม่ว่าช่วงเวลาไหนย่านแห่งนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างไม่เคยเสื่อมคลายตลอดทุกยุคทุกสมัย
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 15, 25, 44, 47, 59, 60 ,รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย 39, 44, 59, 79, 511, 512 ทางเรือ : เรือโดยสารคลองแสนแสบขึ้นที่ท่าเรือผ่านฟ้า
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้เข้าชมวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ไม่เว้นวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร ผู้พิการไม่เสียค่าเข้าชม วันหยุดราชการไม่เสียค่าเข้าชม
อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เปิดให้บริการ วันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น.
**********************************************************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com