วันออกพรรษา (15 ค่ำ เดือน 11) ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 19 ต.ค.
พวกที่ “งดเหล้าเข้าพรรษา” คงหายอยาก เพราะจะได้กลับไปร่ำสุราอีกครั้ง ยังไงๆ ก็ขอให้ดื่มแบบบันยะบันยัง ไม่ใช่ล่อหนักกว่าเก่าเมาหัวราน้ำทุกวัน อย่างนั้นไอ้ที่งดเหล้าเข้าพรรษามาคงช่วยอะไรไม่ได้สักเท่าไหร่
พูดถึงวันออกพรรษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นของคู่กับวันออกพรรษาไปแล้วก็คือ “บั้งไฟพญานาค” ปรากฏการพิศวงที่วันนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ หรือเกิดจากการกระทำของพญานาคกันแน่!!!
ออกพรรษา พญานาคถวายลูกไฟ
ตามพุทธประวัติมีบันทึกว่า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันปวารณาออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จฯ กลับจากการแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลาตลอดพรรษา (3 เดือน)
เมื่อทั้งสามโลกทราบข่าวกำหนดการเสด็จฯ กลับในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ หรือแม้แต่พญานาคที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต่างก็มีความยินดี และเตรียมการต้อนรับตามศรัทธาของตน
เหล่าเทวดาได้เนรมิตบันไดทอง เงิน และแก้ว ทอดลงมาส่งเสด็จถึงพื้นโลก
ส่วนมนุษย์ได้จัดถวายอาหารคาว หวาน และของแห้ง รวมทั้งดอกไม้ ธูป เทียน ในพิธีทำบุญตักบาตรที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ”
ด้านพญานาคที่จำพรรษาอยู่ในเมืองบาดาล ร่วมกันพ่นลูกไฟถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งต่อมาเชื่อกันว่าคือ “บั้งไฟพญานาค”
บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์พิศวงแห่งลำน้ำโขง
“พญานาค” มีจริงหรือไม่? เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานและคำยืนยันแน่ชัด
แต่ “บั้งไฟพญานาค” นั้นมีจริง ปรากฏขึ้นเป็นประจำในคืนวันออกพรรษา แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานและคำยืนยันแน่ชัดเช่นกันว่าเกิดขึ้นจากอะไร ? ซึ่งหลักๆ แล้วมีข้อสันนิษฐานไปใน 3 แนวทางคือ
แนวทางแรก เชื่อว่าเกิดจากฝีมือของมนุษย์ โดยการยิงปืน จุดพลุ หรือยิงวัสดุพิเศษขึ้นฟ้าในคืนวันออกพรรษา ซึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทีวีช่องหนึ่งเคยทำสกู๊ปว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากการยิงปืนของทหารลาว เพราะสามารถบันทึกภาพทหารลาวยิงปืนขึ้นฟ้าในคืนวันนั้นได้
เรื่องนี้ไม่เพียงถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่เท่านั้น ยังถูกคนรู้ทันจับผิดและหาข้อมาหักล้าง ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของการยิงปืนที่ต้องมีเสียง ควัน และมีวิถีการพุ่งที่เร็วมากแถมสีก็แตกต่างกับลูกไฟประหลาดที่พวยพุ่งขึ้นมา พุ่งช้ากว่า ไม่มีควัน เสียงไม่ดังเท่า นอกจากนี้ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคยังมีบันทึกว่าเกิดขึ้นมานับร้อยๆ ปี มาก่อนการยิงปืนของทหารนานแล้ว
แนวทางที่สอง เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดจากก๊าซร้อน ที่มีส่วนผสมของก๊าซมีเทน และก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเกิดจากการหมักตัวของซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ และแบคทีเรีย เมื่อก๊าซที่ฝังตัวอยู่ใต้แม่น้ำโขงโดนแรงกดดันจากน้ำและอากาศที่เหมาะสมมันจะลอยพุ่งขึ้นมาเหนือน้ำ และเมื่อก๊าซนั้นกระทบกับออกซิเจน ก็จะเกิดการสันดาปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นลูกไฟ หรือบั้งไฟพญานาคอย่างที่เห็นกัน
แนวทางนี้ปัจจุบันมีผู้ที่พยายามพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์กันมาก ซึ่งในอนาคตเราคงได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเจ้าลูกไฟประหลาดที่พวยพุ่งมาจากลำน้ำโขงในคืนวันออกพรรษาเพิ่มมากขึ้น
แต่ทว่า...เรื่องนี้มันมีความน่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมเคยคุยกับ “นพ.มนัส กนกศิลป์” หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคมายาวนานและจริงจัง หมอมนัสให้ข้อสังเกตที่ชวนคิดว่า ในอนาคตบางทีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอาจเหลือเพียงตำนาน เพราะธรรมชาติและระบบนิเวศของลำน้ำโขงถูกทำลายไปมาก
สำหรับแนวทางสุดท้าย เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากการพ่นลูกไฟของพญานาคเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามที่กล่าวมาข้างต้น
ส่วนเหตุที่พบมากเป็นพิเศษในลำน้ำโขงแถบหนองคาย บึงกาฬ และเวียงจันทน์(เคยมีรายงานการพบบั้งไฟพญานาคในพื้นที่อื่น แต่ไม่มาก ไม่เป็นประจำเท่าในพื้นที่แถบนี้) เพราะเชื่อกันว่าใต้ลำน้ำโขงแถบนี้เป็นเมืองบาดาลมีพญานาคอาศัยอยู่หลายตัว พร้อมกับมีเรื่องเล่าขานว่ามีคนเคยพบเห็นสัตว์คล้ายงูใหญ่ และร่องรอยประหลาดที่เชื่อว่าเป็นร่องรอยของพญานาคอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้วันออกพรรษาก็จะมีข่าวในทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นประจำทุกปี
ตามดูบั้งไฟพญานาค
บั้งไฟพญานาค มีลักษณะเป็นลูกไฟประหลาดคล้ายไข่ไก่สีแดงอมชมพู พวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขง สูงขึ้นไปในอากาศประมาณ 50-150 เมตร แล้วดับหายไปแบบไร้เสียง ไร้ควัน ไร้กลิ่น
จุดที่ลูกไฟประหลาดพุ่งขึ้นนั้นไม่แน่นอน บางครั้งขึ้นกลางแม่น้ำโขง บางครั้งขึ้นใกล้ฝั่ง หากขึ้นกลางแม่น้ำลูกไฟจะเอนเข้าหาฝั่ง แต่หากขึ้นริมฝั่ง ลูกไฟจะพุ่งออกไปกลางแม่น้ำ
สำหรับจุดชมบั้งไฟพญานาคหลักๆ ใน จ.หนองคายและบึงกาฬ มีประมาณกว่า 20 จุด โดยใจ จ.หนองคาย ที่เด่นๆ ก็มีที่ อ.โพนพิสัย - ในเขตเทศบาล ต.จุมพล หน้าวัดไทย วัดจุมพล วัดจอมนาง หนองสรวง เวินพระสุก ท่าทรายรวมโชค ต.กุดบง บ้านหนองกุ้ง, อ.รัตนวาปี - บริเวณปากห้วยเป บ้านน้ำเป วัดเปงจานเหนือ บ้านหนองแก้ว, อ.ศรีเชียงใหม่ - บริเวณวัดหินหมากเป้ง, อ.สังคม - บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม บริเวณอ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง รวมไปถึงอำเภอเมือง ก็สามารถพบบั้งไฟพญานาคได้เช่นกัน
ด้านในจังหวัดบึงกาฬ จุดชมบั้งไฟพญานาคที่เด่นก็มีที่ อ.เมือง บริเวณแก่งอาฮง วัดอาฮง ต.หอคำ ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองหลวงของเมืองบาดาล เพราะเป็นสะดือแม่น้ำโขงที่มีความลึกมาก ขณะที่ใน อ.ปากคาด ก็สามารถชมได้เช่นกัน
นอกจากใน 2 จังหวัดหนองคาย บึงกาฬแล้ว ในรอบหลายปีที่ผ่านมาในคืนวันออกพรรษาได้มีรายงานบั้งไฟพญานาคขึ้นอยู่บ่อยครั้งในลำน้ำโขง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี บริเวณบ้านท่าล้ง และบ้านตามุย นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการชมบั้งไฟพญานาค
เงินสะพัด ออกพรรษา
ปีที่แล้ว 2555 ใน จ.หนองคาย และบึงกาฬ เกิดบั้งไฟพญานาคเฉพาะในคืนวันออกพรรษานับรวมกันแล้วได้เกือบ 500 ลูก นอกจากนี้หลังคืนวันออกพรรษาอีก 1 วันยังมีคนเห็นบั้งไฟพญานาคพุ่งขึ้นมาอีกพอสมควร
แต่บั้งไฟพญานาคจำนวนมากในยุคหลังเชื่อไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของจริง เป็นบั้งไฟพญานาคปลอมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ยิงปืน ยิงพลุ ขึ้นฟ้า ร่วมล้อไปกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งมีทั้งคนที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทำด้วยความคึกคะนองมึนเมา และทำเพื่อหลอกมนุษย์ด้วยกันเอง
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าบั้งไฟพญานาคจะเกิดจากอะไร แต่วันนี้บั้งไฟพญานาคก่อให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวหนองคาย บึงกาฬ ในช่วงวันออกพรรษา แต่ละปีจะมีคนนับแสนเดินทางไปเฝ้ารอชมปรากฏการณ์พิศวงของลูกไฟประหลาดแห่งลำน้ำโขง ทำให้ที่พัก-โรงแรม-โฮมสเตย์เต็มจนล้น ถึงขนาดหลายๆ คนต้องไปพึ่งพาอาศัยวัดนอน ร้านอาหาร ร้านรวงขายดิบขายดีเป็นพิเศษ สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวใน 2 จังหวัดให้คึกคัก ชนิดที่ทางจังหวัดไม่ต้องไปลงทุนจัดอีเวนต์อะไรมากมาย
นับเป็นอานิสงส์จากพญานาคที่พ่นเม็ดเงินสะพัดนับร้อยล้านบาท
ไม่เพียงแต่เจ้าบ้านอย่างคนในหนองคาย บึงกาฬเท่านั้นที่ได้อานิสงส์จากพญานาค แต่กับนักท่องเที่ยวก็มีสิทธิ์ได้รับอานิสงส์นี้เช่นกัน
เพราะมีคนนำจำนวนลูกไฟพญานาคที่ขึ้นหรือพบเห็น ไปตีเป็นเลขเด็ดแทงหวยถูกกันหลายคน
นับเป็นการดูบั้งไฟพญานาคแบบไทยๆ ที่ชาติใดยากจะลอกเลียนแบบ ซึ่งถ้าพญานาคมีจริงก็คงคาดคิดไม่ถึงเหมือนกัน