ผลึกสีขาวที่เรียกว่า “เกลือ” คือเครื่องปรุงรสคู่ครัวที่เป็นมากกว่าเครื่องปรุง เพราะเกลือยังสามารถใช้ในการถนอมอาหาร ในสมัยโบราณเกลือจึงเป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมืองที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว โดยในบ้านเรามีการทำทั้งเกลือสินเธาว์ (เกลือที่ได้จากดิน) และเกลือสมุทร (เกลือทะเล)
สำหรับ “เกลือสมุทร” หรือเกลือทะเลนั้นได้มาจากการทำนาเกลือ ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นนาเกลือในเวลาที่เดินทางมุ่งหน้าลงใต้โดยใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี แต่กว่าจะได้ผลึกเกลือที่เรานำมาใช้ปรุงอาหารนั้น มีขั้นตอนมากมายที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
สำหรับอาชีพการทำนาเกลือนั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนในการตากแดดตากลม บวกกับภูมิปัญญาชาวบ้านจึงได้เป็นเกลือที่เรานำมาบริโภค และช่วงเวลาที่เหมาะในการทำนาเกลือก็คือเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม โดยต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่ในการขังน้ำทะเลไว้เพื่อรอให้แห้งจนเกิดเป็นผลึกเกลือ
ขั้นตอนในการทำนาเกลือเริ่มจากการเตรียมพื้นที่ในการทำนาโดยจะต้องปรับหน้าดินให้เรียบเนียนเพื่อถ่ายเทความร้อนได้อย่างสม่ำเสมอ โดยจะใช้ลูกกลิ้งในการบดดินให้เรียบ โดยจะมีการกลิ้งวันละ 6 ตลบ ซึ่งคำว่า “ตลบ” หมายถึงการนำลูกกลิ้งกลิ้งให้ทั่วแปลงนาแล้วปล่อยให้แดดเผานาให้แห้งเรียกว่า 1 ตลบ ปัจจุบันการบดดินง่ายขึ้นเนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรมาใช้ ซึ่งทุ่นแรงในขั้นตอนนี้ลงอย่างมาก
หลังจากปรับหน้าดินให้เข้าที่แล้วนั้น ก็จะมีการแบ่งพื้นที่นาออกเป็นส่วน 3 ส่วน เรียกว่า “นาตาก” “นาเชื้อ” และ “นาปลง” ซึ่งแต่ละส่วนและยกขอบคันดินให้สูงเหมือนคันนา โดยจะมีร่องระบายน้ำระหว่างแปลง จากนั้นจะสูบน้ำทะเลไปเก็บไว้ในวังขังน้ำหรือบ่อขังน้ำ เพื่อให้โคลนหรือเศษดินตกตะกอน จากนั้นจึงระบายน้ำทะเลจากวังขังน้ำเข้าสู่นาตาก ซึ่งต้องให้ระดับน้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตร โดยจะปล่อยให้น้ำทะเลระเหยไปกับลมและแดด และจะมีการวัดค่าความเค็มอยู่เรื่อยๆ
การที่ต้องวัดค่าความเค็มอยู่เสมอนั้น เนื่องจากน้ำทะเลปกติมีระดับความเค็มที่ไม่สามารถตกผลึกเป็นเกลือได้จึงต้องมีวิธีการเพิ่มระดับความเค็มด้วยการระเหยของน้ำเรื่อยๆ โดยจะใช้ปรอทในการวัดค่าความเค็มซึ่งชาวนาเกลือเรียกว่า “ดีกรี” และจะต้องเพิ่มระดับความเค็มของน้ำทะเลปกติจาก 2 ดีกรีให้อยู่ที่ระดับ 25 ดีกรี น้ำทะเลถึงจะกลายเป็นเกลือได้
หลังจากทิ้งน้ำทะเลไว้ได้สักระยะในนาตากและระดับความเค็มเพิ่มขึ้นเป็น 20 ดีกรี ก็จะมีการระบายน้ำจากนาตากเข้าสู่นาเชื้อ ซึ่งจะมีระดับความตื้นขึ้นมาอีก และจะมีการบ่มน้ำทะเลด้วยการตากแดดตากลมจนระดับความเค็มเป็น 25 ดีกรี ก็จะถ่ายน้ำส่งไปยังนาปลง ระยะเวลาตั้งแต่การระบายน้ำเข้าสู่นาตากจนถึงนาปลงประมาณ 45 วัน และหลังจากระบายน้ำเข้าสู่นาปลงประมาณ 2 วัน ผลึกเกลือจะตกลงมาและมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างนี้ก็จะปล่อยน้ำจะยังคงระเหยต่อไป
ในขั้นตอนนี้ผลึกเกลือที่ลอยอยู่เหนือน้ำเป็นแพผลึกเล็กๆ นั้นชาวนาเกลือจะเรียกว่า “ดอกเกลือ” ซึ่งการเก็บดอกเกลือนั้นชาวนาเกลือจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อรีบช้อนดอกเกลือ ก่อนที่แสงแดดและลมจะทำให้ดอกเกลือจมลงด้านล่าง ดอกเกลือที่เก็บได้นั้นจะมีความละเอียดและมีไอโอดีนสูง เป็นเกลือที่เพิ่งตกผลึกใหม่ๆ ลอยเหนือน้ำไม่ได้สัมผัสกับพื้นดิน ชาวนาเกลือจึงถือว่าดอกเกลือเป็นเกลือที่ดีที่สุดมีคุณภาพสูง อีกทั้งเพราะมีปริมาณน้อยราคาจึงแพง โดยส่วนมากจะนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น เกลือขัดผิว เป็นต้น
โดยทั่วไป ชาวนาเกลือจะปล่อยให้เกลือตกผลึกอยู่ในนาปลงประมาณ 9-10 วันจึงขูดเกลือออกโดยใช้ “ไม้อีรุน” ทำการรุนโดยไถไปไถมาให้ผลึกเกลือแตกเป็นเม็ดและใช้ไม้อีรุนลากจัดไว้เป็นแถวและนำมารวมกันให้เป็นกองๆ หลังจากนั้นก็จะปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท หลังจากแห้งสนิทแล้ว ก็จะนำเกลือใส่ถุงนำมาเก็บในยุ้งเกลือเพื่อรอจำหน่าย
จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็น “เกลือ” ที่เราใช้นั้นต้องผ่านวิธีในการผลิตที่ต้องใช้ความอดทนในการรอคอย อีกทั้งผลผลิตที่ได้ออกมานั้นยังนำไปทำประโยชน์ได้อีกมากมาย อีกทั้งบริเวณนาเกลือตามเส้นทางยังเป็นทัศนียภาพที่ดูสวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชวนชมอีกแห่งหนึ่งอีกด้วย