“หนังใหญ่” เป็นมหรสพเก่าแก่ของไทยที่เกิดขึ้นมาในสมัยกรุงสุโขทัย โดยนิยมเล่นกันในวังหรืองานพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาศิลปะการแสดงแขนงนี้ได้ถูกทำลายไปเกือบหมดเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ก่อนที่จะถูกรื้อฟื้นกลับคืนมาอีกครั้งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้ “หนังใหญ่” ได้รับความนิยมลดน้อยลงไป ถูกหลงลืมจนเกือบจะสูญหาย ทั้งๆ ที่การแสดงหนังใหญ่เป็นต้นกำเนิดของ “โขน” และเป็นศาสตร์ของการแสดงชั้นสูงที่ผสานศิลปะอันทรงคุณค่าหลายแขนง
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ มิวเซียมสยาม จึงร่วมกับ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี จัดกิจกรรม “คน เชิด หนัง” ภายใต้โครงการ Museum Family พร้อมชวนคนไทยร่วมเรียนรู้วิถีและความเป็นมาของ “หนังใหญ่” ผ่านการเสวนาในหัวข้อ “เล่าเรื่องราวเส้นทางหนังใหญ่ที่หายไป” ว่าเพราะเหตุใดมหรสพโบราณอันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของไทย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูงจึงเกือบที่จะสูญหายไปจากสังคมไทย
สำหรับ “หนังใหญ่วัดขนอน” มีการสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) โดยหนังใหญ่ชุดแรกที่สร้างขึ้นคือชุด “หนุมานถวายแหวน” และต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง 313 ตัว เป็นวัดเพียงแห่งเดียวที่มีมหรสพเป็นของวัด มีตัวหนังและคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์ และมีการสืบสานศิลปะการแสดงหนังใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน กล่าวในเวทีเสวนาว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงที่หนังใหญ่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง จากเดิมที่เคยแสดงอยู่แต่ในรั้ววังก็ถูกนำออกมาสู่บ้านของเจ้านายและขยายมาสู่วัด จาก “หนังหลวง” กลายมาเป็น “หนังราษฎร์” ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ต่อมาเมื่อมีวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 6 หนังใหญ่ก็เริ่มไม่มีผู้ชม จึงเริ่มมีการนำการแสดง “โขน” เข้ามารวมกับหนังใหญ่ที่เรียกว่า “หนังติดตัวโขน”
“พอแสดงร่วมกันไปผู้ชมก็รู้สึกว่าโขนนั้นสนุกกว่าหนัง ก็เลยเหลือแต่การแสดงโขนเพียงอย่างเดียว ตรงนี้จะเห็นได้จากฉากด้านหลังของการแสดงโขนคือฉากของหนังใหญ่นั่นเอง ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดงหรือมหรสพความบันเทิงแขนงต่างๆ ก็ถูกวางลง ประกอบกับหลวงปู่กล่อมผู้สร้างหนังใหญ่ของวัดขนอนได้มรณภาพลงในปี 2485 หนังใหญ่ก็ถูกวางเก็บทิ้งไว้ในยุ้งฉางจนขาดชำรุดไปตามกาลเวลา ทำให้การแสดงแขนงนี้เกือบจะสูญหายไป” พระครูพิทักษ์ศิลปาคมกล่าว
เมื่อตัวหนังถูกวางทิ้งไม่มีคนสนใจ แต่ชาวต่างชาติกลับเห็นคุณค่าและความสวยงาม ตัวหนังใหญ่จึงถูกขายออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีมีตัวหนังใหญ่เก็บไว้มากถึง 352 ตัว หนังใหญ่จึงแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย คงเหลือไว้เพียง 2 แห่งคือที่หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี และหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีการอนุรักษ์และสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน
“แต่หนังใหญ่ยังไม่ตาย เพราะผู้เฒ่าผู้แก่หลายๆ คนยังพอที่จะเล่นได้ ก็มีความพยายามที่จะอนุรักษ์การแสดงแขนงนี้ให้อยู่คู่กับวัด ให้อยู่คู่กับชุมชนกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี 2532 ให้อนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำตัวหนังขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการแสดง ส่วนของเดิมทั้งหมดให้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนเพื่อสืบสานศิลปะที่ทรงคุณค่านี้เอาไว้” เจ้าอาวาสวัดขนอนกล่าว
นายจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงษ์ ผู้จัดการการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน กล่าวว่าปัจจุบันหนังใหญ่วัดขนอนมีการอนุรักษ์และถ่ายทอดศิลปะการเชิดหนังโดยจัดทำเป็น “หลักสูตรการเรียนรู้เสริมทักษะ” หรือที่เรียกว่า “หลักสูตรท้องถิ่น” เป็นวิชาเลือกเสรีของโรงเรียนวัดขนอน ที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรมาแล้วประมาณ 6 ปี โดยมีเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเข้ามาร่วมสืบสานอย่างต่อเนื่อง
“การเชิดหนังจะเรียนได้เฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้น ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะให้เรียนรู้ในเรื่องของดนตรีไทย และการตอกฉลุลายหนัง โดยเด็กชายจะได้รับการฝึกการแสดงหนังใหญ่ตั้งแต่ชั้น ป.4 ไปจนถึงมัธยม ส่วนเด็กผู้หญิงก็ได้รับการฝึกฝนในเรื่องของดนตรีไทยตั้งแต่ชั้น ป.3 ส่วนการตอกฉลุลายหนังเหมาะกับเด็กชั้น ป.5 ขึ้นไป เพราะต้องใช้สมาธิ โดยทั้งหมดจะใช้ความสมัครใจเป็นหลักในการคัดเลือก แต่ทุกวันนี้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องนักแสดง เพราะเด็กบางคนเมื่อจบชั้นประถมก็ต้องย้ายไปเรียนในเมือง และหลายๆ ครอบครัวก็มองว่าการแสดงหนังใหญ่ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงและสามารถเลี้ยงครอบครัวได้” นายจฬรรณ์ระบุ
ปัจจุบันทางวัดขนอนร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน” จ.ราชบุรี ขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ชุดเก่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และจัดให้มีการแสดงหนังใหญ่เป็นประจำทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น. เพื่อสืบสานการแสดงอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป
“หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่ประกอบไปด้วย หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์ และวรรณศิลป์ รวมเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นการอนุรักษ์หนังใหญ่จึงเท่ากับเป็นการอนุรักษ์ศาสตร์และศิลป์ที่ทรงคุณค่าทั้ง 5 แขนงของไทยเอาไว้ด้วย เพราะวัฒนธรรมไทยบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของความเป็นคนไทย บ่งบอกถึงความเป็นชาติ คนไทยทุกคนจึงต้องร่วมกันสืบสานศิลปะของไทยทุกแขนงให้ดำรงคงอยู่ไว้ เพราะถ้าเราหลงลืมวัฒนธรรมไทยก็เท่ากับว่าเรากำลังหลงลืมชาติ” พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอนกล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังใหญ่วัดขนอน โทร. 0-3223-3386, 08-1753-1230
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com