ถือเป็นหนึ่งในข่าวดีของเมืองไทยที่ล่าสุด “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” หรือ “วัดพระมหาธาตุ” จ.นครศรีธรรมราช ได้รับการลงมติรับรองให้วัดพระมหาธาตุ ขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่จัดประชุมขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่าแฟ้มข้อมูล (Nomination File) ส่งไปยังศูนย์มรดกโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อผลักดันให้เข้าสู่วาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
วัดพระมหาธาตุเมืองนคร ตั้งอยู่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มี “พระบรมธาตุเมืองนคร” หรือ “องค์พระบรมธาตุเจดีย์” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย (หลายคนเชื่อว่ามีลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)
ในปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับสร้างเจดีย์องค์ใหม่ทรงศาญจิครอบพระบรมธาตุองค์เดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 1770 มีพระภิกษุจากลังกามาบูรณะองค์พระบรมธาตุให้เป็นแบบทรงลังกาหรือทรงโอคว่ำดังที่เห็นในปัจจุบัน
พระบรมธาตุเมืองนคร(ทรงลังกา) มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” ขณะที่ยามแสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอดไม่ถึงพื้น จนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงทำให้ได้รับการเขียนขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง
นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว วัดพระมหาธาตุยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย โดยในหนังสือ “ตามรอยธรรมที่เมืองนคร” ได้คัด 12 สิ่งน่าสนใจในวัดพระมหาธาตุมานำเสนอในหัวข้อ “12 สิ่งควรรู้ ที่พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร และใน 3 พระวิหารที่ไม่ควรพลาด” ซึ่งสรุปได้ดังนี้
พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช : เป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และงดงามด้วยศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตัก 3 วา 1 ศอก 12 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชี พร้อมด้วยพระอัครสาวก ซึ่งเป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานต่างๆ จากที่อื่นๆ เพราะตั้งไว้ค่อนข้างกลางพระวิหาร
พระเหมชาลาและธนกุมาร : ตั้งอยู่หน้าพระวิหารตรงหน้าซุ้มประตูเยาวราช ตามตำนานระบุว่าพระธนกุมารเป็นเจ้าชายอินเดีย พระนางเหมชาลาเป็นพี่สาวพระธนกุมาร ทั้งคู่เป็นผู้อัญเชิญพระทันตธาตุมายังดินแดนนี้ ก่อนจะอัญเชิญต่อไปยังลังกา โดยได้แบ่งบางส่วนกลับมาประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเมืองนคร
ซุ้มพระเจดีย์-พระวิหารคด : เป็นซุ้มเจดีย์หน้าทางเข้าวิหารคด ศิลปะศรีวิชัยมีหลายเรือนยอด(แบบเดียวกับพระธาตุไชยา) เชื่อว่าอาจจะเป็นแบบดั้งเดิมขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ส่วนพระวิหารคดนั้นน่ายลไปด้วยพระพุทธรูปจำนวนมากที่ประดิษฐานอยู่เรียงราย และมีบาตรพระให้ทำบุญกันตามศรัทธา
ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ : ในวิหารพระม้าที่เป็นบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ ด้านซ้าย-ขวา มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์คือ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ เป็นเทพที่เชื่อว่าคือท้าวจตุคามรามเทพ อันลือลั่นแห่งเมืองนคร นอกจากเทพทั้งสองแล้วที่นี่ยังมีผู้พิทักษ์อื่นๆ อาทิ ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น
ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุ : ชาวใต้ต่างเชื่อกันว่าการได้ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุถือว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต โดยที่วัดพระมหาธาตุได้มีการจัดงานใหญ่ “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา อย่างไรก็ดีชาวพุทธสามารถมาทำบุญห่มผ้าพระบฏบนลานประทักษิณบูชาองค์พระธาตุในช่วงวาระไหนก็ได้
ภาพพระม้า : อยู่ในวิหารพระม้าบริเวณฐานข้างบันไดทั้งสองข้าง ภาพพระม้าเป็นขนาดใหญ่ สร้างทำอย่างประณีตสวยงามในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเรื่องราวการละโลกออกแสวงหาทางธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ
เส้นทางพระเจ้าตาก : อยู่ที่วิหารทับเกษตร เป็นเส้นทางที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยมาเดินปฏิบัติธรรมที่นี่ ภายในมีพระพุทธรูปยืน-นั่ง ประดิษฐานอยู่มากมาย รวมไปถึงภาพจิตรกรรม รูปเคารพเกจิ ซึ่งหากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ามีพระพุทธรูปองค์หนึ่งนิ้วมือข้างหนึ่งมี 6 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าชู้ที่ถูกหลักเสียบไว้พร้อมกับมือที่ถูกตัด เนื่องจากไปแอบลักลอบมีชู้กับภรรยาผู้อื่น
วิหารโพธิ์ลังกา : เป็นวิหารสัญลักษณ์แห่งการตื่นตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีส่วนหนึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มากไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย
พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุ : ถือเป็นแหล่งรวมของดี ของหายาก(มาก)ประมาณค่าไม่ได้ จัดแสดงไว้ใน 3 วิหารใหญ่ คือ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา และวิหารคด(ต่อเติม)
พระมหากัจจายนะ : ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระมหากัจจายนะ(วิหารพระแอด) มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า “พระแอดเมืองนคร” มีองค์สีทองอร่าม เชื่อกันว่าท่านสามารถดลบันดาลความสำเร็จสารพัด โดยเฉพาะการขอลูก จึงมีรูปเด็กๆ มารายงานผล ขอพรพร้อมกับการฝากเนื้อฝากตัวมากมาย
มณฑปพระพุทธบาท : เป็นมณฑปตั้งอยู่บนเนิน ภายในประดิษฐาน รอยจำลองพระพุทธบาท ยาว 74 นิ้ว กว้าง 44 นิ้ว ตรงบันไดทางขึ้นมีพระบุญมากพระพุทธรูปหินทรายที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านนิยมไปบนบานขอบุตรและโชคลาภ นอกจากนี้บนมณฑปยังเป็นจุดชมองค์พระธาตุในมุมสูงอีกด้วย
เจดีย์ศิลาในดงหว้า-พระปัญญา : เจดีย์ศิลาในดงต้นหว้าทั้ง 6 ตั้งอยู่ที่ข้างพระวิหารธรรมศาลาด้านหน้า สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวเนื่องกับผู้ทรงศักดิ์ระดับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เชื่อกันว่าอาจจะหนีราชภัยมายัง จ.นครศรีธรรมราช จึงกลายเป็นสถานบูชาถึงพระองค์ท่านมาจนถึงบัดนี้ ส่วนเจดีย์พระปัญญาตั้งอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์พระวิหารเขียน มีเรื่องเล่าว่าได้มีการผูกแทงลายห้ามไว้ว่า “ถอยหลังเข้าไปเหล็กในแทงตา หันหน้าออมากาขี้ใส่หัว” แต่มีผู้มีปัญญามาแก้ เพราะเห็นว่าเป็นคำห้ามที่ขาดเหตุผล จึงลองเดินถอยหลังเข้าไปแล้วหันหน้าออกมา จึงได้เห็นกรุสมบัติซ่อนอยู่ในหลืบเฝ้าทางเดิน จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดสอยปริศนาธรรมเรื่องกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าเชื่อด้วยเหตุประการต่างๆ นอกจากลงมือทำเองแล้วเท่านั้น
นั่นก็คือ 12 สิ่งน่าสนใจของวัดพระมหาธาตุเมืองนคร ที่มีทั้งสิ่งที่เป็นไฮไลต์หลายคนรู้จักกันดี สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้จัก และสิ่งที่เป็นอันซีนอันน่าสนใจ ซึ่งนี่ถือเป็น 12 สิ่งไม่ควรพลาดสำหรับผู้มีโอกาสได้เดินทางไปกราบไว้สักการะองค์พระบรมธาตุเมืองนคร ที่วันนี้ถือเป็นว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของบ้านเรา