xs
xsm
sm
md
lg

“ปิดทองหลังพระ” ฟื้นฟู “เขาหัวโล้น” จ.น่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพเขาหัวโล้นใน จ.น่าน
เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดน่าน เราคงนึกถึงภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เขียวขจี ซ้อนทับกันลูกแล้วลูกเล่า จนกลายเป็นป่าที่สวยงามอยู่เบื้องหน้ามองอย่างไม่รู้จบ แต่นั่นคงเป็นภาพ “น่าน” ในครั้งอดีต

หากในความเป็นจริงแล้วภาพป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์นั้น คงจะเป็นเพียงความทรงจำเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดน่านได้เปลี่ยนไปมาก จากภูเขาสีเขียว กลายเป็นสีดำ ภูเขาที่เต็มไปด้วยต้นไม้ กลายเป็น “เขาหัวโล้น” ไร้ซึ่งเงาต้นไม้ให้เห็น
ป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกทำลายกลายเป็นเขาหัวโล้น
เนื่องจากจังหวัดน่านมีเนื้อที่ป่าและภูเขาคิดเป็นร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าพื้นที่ราบ ที่มีเพียงร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด และลักษณะดังกล่าวทำให้จังหวัดน่านมีพื้นที่ราบในการทำเกษตรกรรมน้อย จึงทำให้เกิดปัญหาการเผาป่าเพื่อนำพื้นที่มาทำกิน

ปัจจุบันจังหวัดน่าน นับว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีปัญหาในเรื่องของการถูกเผาทำลายพื้นที่ป่าไม้ เพื่อทำไร่ ปลูกข้าวโพด และปลูกพืชต่างๆ ทำให้จังหวัดน่านมีพื้นที่เขาหัวโล้น และมลพิษที่เกิดจากการเผาป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้ป่าไม้ในจังหวัดน่านลดลงไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากปัญหาป่าไม้ที่ถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
ภูเขาที่ถูกเผา ถูกนำมาเป็นที่ดินทำกิน
โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้เขียนบรรยายในบทความ “น่านรำลึก” (บทความจากเว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม) ในตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ผมได้เห็น คือการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมโหฬาร และเลวร้ายที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะจังหวัดไหนก็ไม่เคยเห็นถึงขนาดนี้ เขาโล้นเป็นลูกใหญ่ สุดลูกหูลูกตา เผาทั้งหญ้าทั้งไม้จนเหลือแต่ตอ อากาศเต็มไปด้วยเขม่าควันกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ผ่านไปทางไหนก็ตัดเผา ถ้าหากประเทศไทยขาดป่าต้นน้ำเอาไว้เพื่อเป็นฟองน้ำไว้ซับน้ำแล้ว ฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติ ในยุคที่อากาศค่อนข้างวิปริตแบบนี้จะไหลลงสู่พื้นที่เบื้องล่างเป็นก้อนใหญ่อย่างรวดเร็ว ทำลายระบบนิเวศในน้ำหลายแห่งที่ผ่านไป ก่อนที่จะท่วมพื้นที่ด้านล่างเสียหาย อย่างช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างเขื่อน แก้มลิง หรือแหล่งรับน้ำใดๆ รองรับน้ำจำนวนมหาศาลที่ตกลงแล้วไม่มีการดูดซับไว้โดยพื้นดินต้นน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่เบื้องล่าง ไม่นับรวมอากาศเสีย เขม่าฝุ่นควันอันตราย ซึ่งทำร้ายทุกคน ทั้งคนเผาและคนที่ไม่ได้เผา”

จากบทความของนณณ์ ชี้ให้เห็นว่าหากฝนตกลงภูเขาโล้นๆ จะทำลายหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ และทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยและสารเคมีบำรุงดิน ส่วนหน้าดินที่ถูกชะลงไปยังแหล่งน้ำก็จะทำให้คุณภาพน้ำแย่ลง ส่งผลให้ปลาตายหรือหากินไม่ได้ และลดจำนวนลง ทำให้ชาวบ้านขาดอาหารจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้เมื่อฝนชะหน้าดินมากๆ ก็จะทำให้เกิดตะกอนทับถมตามแหล่งน้ำจนตื้นเขิน ซึ่งในกรณีของแม่น้ำน่านนั้นตะกอนจะไปตกที่เขื่อนสิริกิติ์ ทำให้กักเก็บน้ำได้น้อยลงและเขื่อนอาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
เขาหัวโล้นมองไปจนสุดสายตา
ในปี พ.ศ. 2551 เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ ทำให้ไร่นา สัตว์เลี้ยง ของชาวบ้านในหมู่บ้านน้ำป้าก และบ้านห้วยธนู เสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากป่าที่ถูกทำลายไป ทำให้ไม่มีป่าอุ้มน้ำคอยซับน้ำไว้ ทำให้น้ำไหลสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มี “โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เข้ามาช่วย ทำให้จังหวัดน่านเป็นต้นแบบนำร่อง ดำเนินโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ อำเภอสองแคว หมู่บ้านยอด อำเภอท่าวังผา บ้านน้ำป้าก และตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

โดยโครงการปิดทองหลังพระฯ กำเนิดขึ้นโดยมีเป้าหมายสูงสุดของโครงการคือ กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมพัฒนาตนเองตามแนวพระราชดำริทั่วประเทศ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 พร้อมทั้งการปลูกป่าเพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555
หมอกควันปกคลุมทำให้ท้องฟ้าไม่แจ่มใส
โครงการปิดทองหลังพระทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการให้เปิดการบูรณาการองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริใน 6 มิติหลัก ได้แก่ มิติเรื่องน้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาระบบความร่วมมือกับองค์กรรัฐ สถาบันวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 23 ข้อ มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินโครงการอีกด้วย

ที่บ้านน้ำป้าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นหมู่บ้านนำร่องอีกพื้นที่หนึ่งของโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บ้านน้ำป้ากเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขาริมลำห้วยสาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน หลังจากในปี พ.ศ. 2551 ที่เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ ทำให้ไร่นา สัตว์เลี้ยงเสียหายเป็นจำนวนมาก มูลนิธิปิดทองหลังพระได้เข้ามาช่วยเหลือ และนำชาวบ้านไปศึกษาดูงานที่หมู่บ้านดอยตุง
ฝายน้ำในโครงการ ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
โดยสิ่งแรกที่ชาวบ้านต้องทำคือ เริ่มจากการฟื้นฟูดินและน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นเครื่องมือทำกินที่ชาวบ้านมีอยู่ ซึ่งปัญหาเดิมก่อนเกิดน้ำท่วมคือมีน้ำ แต่ไม่สามารถเก็บได้ หลังจากการประชุมชาวบ้านได้มีการจัดทำฝายและบ่อเก็บน้ำกระจายไปยังไร่นาต่างๆ โดยมีชาวบ้านเป็นผู้ลงแรง และมีโครงการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน เช่นเดียวกับการปรับปรุงพื้นที่ดิน

เมื่อระบบนิเวศเริ่มกลับคืน ขั้นตอนต่อมาคือส่งเสริมอาชีพ โดยทำเป็นกองทุน จากที่เมื่อก่อนชาวบ้านต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุน ต้องเสียเงินหลายบาท ตอนนี้ก็มีกองทุนเมล็ดพันธุ์ สามารถนำไปปลูกก่อน เมื่อได้ผลผลิตแล้วค่อยจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ให้แก่กองทุน ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อใช้เป็นกองทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ครั้งต่อไป ทำให้ชาวบ้านทำกินอย่างถูกวิธีมากขึ้น โดยใช้พื้นที่เท่าเดิม แต่สามารถได้ผลผลิตที่มากขึ้น นอกจากนี้ผลผลิตที่เหลือจากขายและเก็บไว้เป็นอาหารแล้ว ยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
นายดนุพล สุปัน บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ ม.นเรศวร
นายดนุพล สุปัน หรือ แอม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ ม.นเรศวร ที่หันมายึดอาชีพเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ บอกกับเราว่า หลังจากที่มีโครงการพระราชดำริเข้ามาฟื้นฟูการเกษตรในหมู่บ้าน ทำให้ทางบ้านของตนทำการเกษตรได้ถูกทางมากขึ้น สร้างรายได้ให้ครอบครัวจากเดิมมากขึ้นโดยใช้พื้นที่เท่าเดิม นอกจากการทำนาข้าวแล้วยังสามารถทำการเกษตรอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยได้

นายดนุพลกล่าวต่อว่า นอกจากทำการเกษตรในแบบถูกทางแล้ว ปัจจุบันยังได้เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคด้วย นอกเหนือจากการบริโภคยังสามารถนำมาจำหน่ายได้อีก ทำให้มีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์อีกทางหนึ่ง และโครงการพระราชดำริก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตนกลับมาอยู่บ้านทำการเกษตร แทนการเข้ามาทำงานในเมืองหลวง นอกจากจะไม่ต้องไปทำงานไกลบ้านแล้ว ยังใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอีกด้วย
สัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ สามารถสร้างรายได้ให้อีกด้วย
จากผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำน่าน และเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อผืนป่าหายไปเท่ากับแหล่งต้นน้ำหายไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราจะนิ่งเฉย หรือช่วยกันฟื้นฟูให้ป่าที่สมบูรณ์กลับมาดังเดิม

****************************************************************************************

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 
กำลังโหลดความคิดเห็น