xs
xsm
sm
md
lg

“เมืองอัญมณี” จ.ตราด ที่รำลึกตำนานพลอยงามเมื่อครั้งอดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิธีการขุดเป็นหลุมกลม” การหาแร่ที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก
“พลอย” สิ่งของมีค่าที่งดงาม มีสีสันต่างๆ เป็นที่ต้องการของใครหลายคน เมื่อครั้งอดีตเคยมีอุตสาหกรรมทำเหมืองพลอยหรือทำบ่อพลอยตามภาษาชาวบ้านที่เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทย เช่น ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี-ตราด โดยเฉพาะในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราดซึ่งเคยอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ ความงดงามที่มีค่านี้กลายเป็นที่ต้องการของตลาดและเรียกเหล่านักแสวงโชคให้เดินทางมาค้นหา แต่กาลเวลาได้พรากสิ่งที่มีอยู่ให้จากไปอย่างรวดเร็ว พื้นที่สัมปทานเริ่มหมดความรุ่งเรือง จึงกลายเป็นอดีต “พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณี”
หุ่นขี้ผึ้งจำลองวิธีการร่อนหาพลอย
“พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณี” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติในการทำเหมืองพลอยที่สูญหายไปแล้ว โดยมีการเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณีแห่งนี้จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งเสมือนจริงในอิริยาบถต่างๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการหาพลอยและขั้นตอนต่างๆ ในการทำเหมืองพลอย การคัดพลอย การเผาพลอยอันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพลอย จนถึงการจัดแสดงขั้นตอนสุดท้ายแห่งความสวยงาม นั่นก็คือการเจียระไนพลอยนั่นเอง นอกจากหุ่นขี้ผึ้งจำลองแล้วแต่ละมุมจะมีภาพประกอบและคำบรรยายให้ความรู้ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ
อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณี
คุณมนตรี จำปาเงิน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ่อพลอย กล่าวว่าได้เริ่มมีการทำเหมืองพลอยหรือบ่อพลอยตามภาษาชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 สายแร่ทอดยาวมีมากมายอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร แต่ในขณะนั้นการทำเหมืองยังเป็นการทำในแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน นั่นคือหาแร่โดยใช้วิธีการขุดเป็นหลุมกลมซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และในเวลาต่อมาก็เริ่มมีเหล่านักแสวงโชคได้เดินทางเข้ามา ซึ่งนักแสวงโชคเหล่านั้นส่วนมากจะใช้วิธีการร่อนหาพลอย โดยวิธีการจะทำการขุดแร่ขึ้นมาจากดินและนำมาร่อนหาพลอยในแหล่งน้ำ
หุ่นขี้ผึ้งจำลองขั้นตอนสุดท้ายแห่งความงาม “การเจียระไนพลอย”
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทำให้พบพลอยได้ง่ายในช่วงเวลานั้น อีกทั้งความงดงามในสีสันจึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น และเหตุผลนี้เองเหล่านักแสวงโชคจึงหลั่งไหลเข้ามายังตำบลบ่อพลอยแห่งนี้ จึงได้เกิดการทำสัมปทานเหมืองและมีการใช้เครื่องจักรในการทำเหมืองโดยมีการใช้เครื่องสูบน้ำฉีดพ่นให้ถล่มหรือใช้รถตักดินมากองไว้แล้วใช้เครื่องสูบน้ำฉีดให้ดินกับพลอยไหลไปตามทางน้ำผ่านเครื่องดูดตามรางน้ำที่กำหนด โดยทั้งหมดจะผ่านเครื่องร่อนแร่แบบแยกแร่ ระหว่างที่แร่ไหลผ่านตัวแย็กจะมีจังหวะดูดพลอยมีน้ำหนักมากกว่าดินจะจมลงในร่องของตัวแย็กส่วนหิน ดินและทรายที่มีน้ำหนักเบากว่าพลอยจะไหลไปกับน้ำซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นตัวการในการทำให้พลอยลดลงอย่างรวดเร็ว
“ ซากเครื่องร่อนแร่” ตั้งอยู่บนบ่อพลอยเก่าหลังอาคารพิพิธภัณฑ์
คุณมนตรีกล่าวเสริมอีกว่า ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2524-2532 โดยในปี 2530 เป็นปีที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด รายได้มากว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นพื้นที่แห่งนี้มีบ้านเรือนร้านค้ามากมาย แต่ผู้ที่อยู่อาศัยส่วนมากเป็นนักแสวงโชคที่มาจากต่างถิ่น หลังจากการทำเหมืองแร่อย่างหนักหน่วงโดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรที่มี ถึงแม้จะมีอยู่มากก็ตามแต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการทางโลกจึงทำให้สิ่งล้ำค่าเหล่านี้เริ่มลดลง การทำเหมืองเริ่มไม่มีกำไร ความซบเซาและความเงียบเหงาจึงได้เข้ามาเยือนตำบลบ่อพลอยแห่งนี้ นักแสวงโชคทั้งหลายจึงได้ลากลับถิ่นเกิดหลังจากกอบโกยความมั่งคั่งกันมาหลายทศวรรษ พื้นที่แห่งนี้จึงเหลือแต่ความทรงจำ ในที่สุดทั้งหมดหยุดลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
คุณมนตรี จำปาเงิน ผู้เล่าเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของตำนานในการทำเหมืองพลอยและความเจริญรุ่งเรืองที่มีเมื่อครั้งอดีตที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับมา เหล่าคนในชุมชนที่ยังคิดถึงคืนวันเหล่านั้นและยังต้องการสืบทอดเรื่องราวที่น่าประทับใจนี้ไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รับรู้ จึงเกิดเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณี” ขึ้นมา นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก ในการมารับรู้เรื่องราวความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตของความอุดมสมบูรณ์ของแร่พลอยสิ่งมีค่าอันสวยงามที่จากไปแล้ว
*******************************************************************************************************************************
พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณี ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมณี โทร.0-3959-1111 กด 0 ต่อ 15

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น