xs
xsm
sm
md
lg

ชื่นชมสถาปัตยกรรม “วัดดัง วังเก่า” เมืองนครปฐม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์พระปฐมเจดี
"จังหวัดนครปฐม"เป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยประเพณี วัฒนธรรม มาตั้งแต่อดีตกาล และปัจจุบันยังคงมีสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงอดีตอันรุ่งเรืองหลงเหลืออยู่ให้เราได้ไปสัมผัสและเรียนรู้กัน และนครปฐมอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก การเดินทางก็สะดวกสบาย สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอด วันนี้เราจะพามาเที่ยวทั้งวัดดัง-วังเก่าขึ้นชื่อของจังหวัดนครปฐม ซึ่งนอกจากจะเที่ยวได้เพลินๆ แล้วก็ยังมีร้านอาหารขึ้นชื่อให้ได้ลองลิ้มชิมรสกันอีกด้วย (คลิกอ่านร้านอาหารแนะนำในตัวเมืองนครปฐมได้ที่นี่)

โดยจุดแรกที่ขอพามาเที่ยวและถือเป็นไฮไลท์นั้นก็คือ “วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร” เป็นที่ประดิษฐานองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันเป็นที่มาของตราประจำจังหวัดนครปฐม องค์เจดีย์สูงเด่นเป็นสง่าสามารถมองเห็นได้แต่ไกล พระเจดีย์สีไข่ไก่องค์นี้แต่เดิมนั้นไม่ได้สร้างให้มีขนาดใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน เดิมเป็นพระเจดีย์ทรงโอคว่ำ (หรือ ทรงมะนาวครึ่งซีก) มียอดปรางค์อยู่ด้านบน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตรงกับปี 2396 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระเจดีย์องค์เก่า โดยสร้างให้มีลักษณะทรงกลมรูประฆังคว่ำแบบลังกา สูงประมาณ 120.5 ม. วัดฐานโดยรอบได้ประมาณ 233 ม. ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะให้สง่างามมากขึ้น ชาวบ้านละแวกนี้จะเรียกกันสั้นๆว่า “องค์พระ”
พระร่วงโรจนฤทธิ์
หากมาสักการะพระปฐมเจดีย์แล้ว ต้องไม่พลาดมากราบ “พระร่วงโรจนฤทธิ์”องค์พระประธานในซุ้มวิหารทิศเหนือด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ อันเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก พระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย) และโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะองค์พระขึ้นใหม่ และนำมาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มวิหารด้านทิศเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” แต่มักเรียกสั้นๆว่า “หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์”ตลอดทั้งปีจะมีพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลมาสักการบูชาไม่ขาดสายและทางวัดจะมีการจัดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืนในทุกๆปี
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
ไหว้พระในวัดดังของนครปฐมเป็นสิริมงคลอิ่มบุญอิ่มใจกันแล้ว เรามาเที่ยววังเก่ากันบ้าง จากพระปฐมเจดีย์เราใช้เส้นทางหน้าสถานีตำรวจนครปฐม วิ่งตรงไปก่อนถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกสนามจันทร์ไปไม่กี่ร้อยเมตร ก็จะพบกับสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รวบรวมสถาปัตยกรรมคลาสสิกแม้เวลาจะล้วงเลยมาถึง 150 ปีแล้ว นั่นก็คือ ”พระราชวังสนามจันทร์” พระราชวังที่ความงามไม่เคยเสื่อมคลาย ยังคงมีกลิ่นอายของชาววังให้เราเข้าไปสัมผัส

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์สร้างพระราชวังขึ้นเพื่อประทับแปรพระราชฐานในโอกาสมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์และประทับพักผ่อน ทรงเห็นว่าเป็นที่ทำเลเหมาะสม มีชัยภูมิที่ดีจึงเลือกใช้เป็นสถานที่ซ้อมรบเสือป่า วังแห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีจึงแล้วเสร็จในปี 2454 มีเนื้อที่รวม 888 ไร่ 3 งาน 24 วา ทรงพระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์”
สะพานเชื่อมสู่พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ปัจจุบันพระราชตำหนักต่างๆ และเรือนข้าราชบริพารอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง ส่วนที่เปิดให้เข้าชมได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม, พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์, พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์, พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์, เทวาลัยคเณศร์, พระที่นั่งทับขวัญ, พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งรถม้าและอนุสาวรีย์ย่าเหล

พระที่นั่งซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ของพระราชวังสนามจันทร์ก็คือ “พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์” พระตำหนัก 2 ชั้นสีไข่ไก่ หลังคาสีแดง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส ผสมผสานกับแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ ตั้งอยู่อย่างสง่างามราวกับหลุดออกมาจากเทพนิยาย ชั้นบนของพระตำหนักนี้เปิดให้เข้าชมข้าวของเครื่องใช้โบราณ ประกอบไปด้วย ห้องบรรทม และห้องสรง ส่วนชั้นล่างจะเป็นห้องรอเฝ้าฯ

อีกทั้งด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ยังมี "อนุสาวรีย์ย่าเหล" สุนัขทรงเลี้ยงที่รัชกาลที่ 6 โปรดมาก เมื่อย่าเหลตาย พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้นบริเวณด้านหน้าพระตำหนักแห่งนี้ และทรงพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยไว้บนแผ่นทองแดงใต้อนุสาวรีย์ด้วย

ด้านหลังพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์มีสะพานฉนวนเป็นทางเดินเชื่อมทอดข้ามคูน้ำมายัง “พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์” พระตำหนักองค์นี้เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทองทาสีแดงตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แรงบันดาลพระราชหฤทัยในการสร้างขึ้นจากบทละครเรื่อง “My friend Jarlet” และพระองค์ก็ทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า “มิตรแท้” และชื่อตัวละครมาตั้งเป็นชื่อของพระตำหนัก
พระที่นั่งพิมานปฐม
มาชมกันต่อที่ “พระที่นั่งพิมานปฐม” พระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นแบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน เป็นอาคารสีเขียวและครีมอ่อน ดูร่มรื่นสบายตา มีช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงฉลุเป็นลวดลายประณีตสวยงาม พระที่นั่งชั้นบน มีห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องเสวย และห้องพระเจ้า พระองค์มักใช้พระที่นั่งนี้เป็นที่ทรงพระอักษรและที่รับรองพระราชอาคันตุกะมากกว่าพระที่นั่งหรือตำหนักอื่น

ส่วน ”พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์” เป็นพระที่นั่งโถงใหญ่ในพระราชวังสนามจันทร์ ใช้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญเช่น งานสโมสรสันนิบาต และเป็นสถานที่เสด็จออกพบปะขุนนาง เป็นสถานที่ฝึกอบรมกองเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่างๆ และยังมีส่วนเชื่อมต่อไปยัง "พระที่นั่งวัชรีรมยา" อีกด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมี "พระตำหนักทับแก้ว" อาคารแบบตะวันตก 2 ชั้น เคยใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว ภายในอาคารมีเตาผิงและหลังคา มีปล่องไฟตามแบบตะวันตกพระตำหนักทับขวัญ ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม ส่วน "พระตำหนักทับขวัญ" เป็นเรือนไทยภาคกลาง พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์ ปัจจุบัน ภายในพระตำหนักใช้จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจด้านไทยศึกษาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และอย่าลืมไปสักการะ "เทวาลัยคเณศร์" เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างและเป็นเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ การประพันธ์แลพผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของบรรดานักศึกษา รวมไปถึงประชาชนในละแวกนั้น
เทวาลัยคเณศร์
ช่วงวันหยุดนี้หากใครไม่อยากไปเที่ยวที่ไหนไกล ลองมาที่นครปฐม มาเที่ยวชมความงดงามของ “วัดดัง วังเก่า” เชื่อแน่ว่าจะได้ความประทับใจกลับไปแน่นอน

***************************************************************************************************************************

“พระราชวังสนามจันทร์” เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าตั๋วเข้าชมพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ราคา ชาวไทย (ผู้ใหญ่) 30 บาท / ชาวต่างประเทศ 50 บาท / เด็กนักเรียน, นักศึกษา, พระภิกษุ, สามเณร, แม่ชี 10 บาท โปรดแต่งกายให้สุภาพ ใส่กางเกงหรือกระโปรงยาว และเสื้อมีแขน, มีบริการให้เช่ารถไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 300 บาท ติดต่อสอบถาม โทร.0-3424-4235

การเดินทางไปพระปฐมเจดีย์
ทางรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม หรือใช้ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม
ทางรถไฟ : การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟไปจังหวัดนครปฐมทุกวัน วันละหลายเที่ยว โดยเริ่มต้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือ สถานีรถไฟบางกอกน้อย มาลงที่สถานีรถไฟนครปฐม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 (ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th
รถโดยสารประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-นครปฐม ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 05.30-23.15 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือwww.transport.co.th

การเดินทางไปพระราชวังสนามจันทร์
ทางรถยนต์ : เมื่อเดินทางถึงพระปฐมเจดีย์ ให้ใช้เส้นทางถนนหน้าสถานีตำรวจนครปฐม ระยะทาง 1 กม. ก่อนถึงม.ศิลปากร เลี้ยวขวาที่สี่แยกสนามจันทร์ ตรงไปอีก ประมาณ 300 ม.ถึงที่หมาย
รถโดยสารประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ราชบุรี, สุพรรณ, ราชดำเนิน, กาญจนบุรี ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 05.30-23.15 น. แล้วลงที่สี่แยกสนามจันทร์ เดินเข้าซอยฝั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ประมาณ 300 ม.ถึงที่หมาย หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือwww.transport.co.th

คลิกอ่านร้านอาหารแนะนำในตัวเมืองนครปฐม "อร่อยลิ้นถิ่นนครปฐม ชิมข้าวหมูแดง-ข้าวมันไก่ และอีกสารพัดจานเด็ด" ได้ที่นี่

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น