xs
xsm
sm
md
lg

กระซิบรักฝากใจ หยุดเวลาไว้ที่เมืองน่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิถียามเช้าในเมืองน่านบริเวณวัดภูมินทร์
ไม่ได้ตั้งใจจะให้เข้ากับเทศกาลวันแห่งความรัก 14 กุมภา วันวาเลนไทน์ แต่ “ตะลอนเที่ยว” กลับตกหลุมรัก “เมืองน่าน” เข้าอย่างจังเมื่อได้ไปสัมผัสเมืองน่ารักแห่งนี้อย่างใกล้ชิด อาจเป็นเพราะความเงียบสงบสวยงามของบ้านเมืองที่ยังคงรักษาสภาพอันคลาสสิคเหมือนกับหยุดเวลาไว้ไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วนัก บวกกับวัดวาอารามเก่าแก่งดงามหลายแห่งที่แสดงให้เห็นถึงศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ยังคงเหนียวแน่นของคนเมืองน่าน รวมถึงวิถีชีวิตที่ไม่รีบเร่งรีบร้อนเหมือนคนในเมืองหลวง รวมกันแล้วทำให้น่านเป็นเมืองน่ารักที่แม้ไม่มีแสงสีหรือความทันสมัยไฮเทค แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสน่ห์เหล่านี้ลดลงไปแต่อย่างใด

เพื่อให้เหมาะสมกับสไตล์ของเมืองน่าน “ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำยานพาหนะที่เหมาะสมที่สุดในการชมเมือง นั่นก็คือ “จักรยาน” และ “รถราง” สำหรับจักรยานนั้นมีให้เช่าทั่วไปทั้งในเมือง ตามโรงแรมที่พักและที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ส่วนรถรางนั้นจะให้บริการเป็นรอบ วันจันทร์-ศุกร์วันละ 1 รอบ และเสาร์อาทิตย์ วันละ 2 รอบ ติดต่อซื้อตั๋วได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยรถรางจะพาชมตัวเมืองบริเวณรอบนอก ทั้งย่านการค้า ย่านตลาด พาชมวัดงามๆ รอบตัวเมือง และชมวิวริมแม่น้ำน่าน
พระประธานจตุรทิศหนึ่งเดียวในเมืองไทยในวัดภูมินทร์
วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพาชมย่านเมืองเก่าและวัดสำคัญของเมืองน่าน ในย่านเมืองเก่านี้เรียกว่าเป็น “หัวแหวนเมืองน่าน” หรือหมายถึงบริเวณสี่แยกข่วงเมือง อันเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดหัวข่วง เป็นต้น ในย่านเมืองเก่านี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนน่านเพราะได้รับการประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่าตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2540 เป็นแห่งที่สองรองจากเกาะรัตนโกสินทร์ และมีเพียงสองแห่งในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับการประกาศ บริเวณนี้จึงได้รับการดูแลอย่างดี ถนนหนทางสะอาดเรียบร้อย มองบนฟ้าไม่มีสายไฟเกะกะสายตาเพราะนำสายไฟลงดินเรียบร้อยแล้ว

“ตะลอนเที่ยว” เริ่มชมวัดแรกที่ “วัดภูมินทร์” เพราะอยากจะชมภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นถิ่นอันลือเลื่อง แต่แค่เห็นเพียงตัววัดก็สัมผัสได้ถึงความงามอันประณีต วัดภูมินทร์มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกัน สร้างในรูปทรงจัตุรมุขที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว ซึ่งเทินพระอุโบสถไว้บนหลังกลางลำตัว เมื่อเข้าไปด้านในก็ต้องอัศจรรย์ใจ เมื่อเห็นพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์นั่งหันเบื้องปฤษฎางค์(หลัง)ชนกัน หันพระพักตร์ออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ งามแปลกแตกต่างเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ
ภาพปู่ม่านย่าม่านกระซิบรักอันลือเลื่อง
วัดแห่งนี้เดิมชื่อวัดพรหมมินทร์ สร้างโดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าเมืองน่าน เมื่อปี 2139 ภายหลังชื่อได้เพี้ยนมาเป็นวัดภูมินทร์ ต่อมาได้บูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อปี 2410 ในครั้งนั้นเองที่ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” วัดภูมินทร์ได้เกิดขึ้น สันนิษฐานว่า “หนานบัวผัน” ศิลปินพื้นเมืองชาวไทลื้อเป็นผู้วาดขึ้น ซึ่งภาพวาดได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการแต่งกายของชาวเมือง ซึ่งถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นเยี่ยมเลยทีเดียว

สำหรับภาพเขียนรูปคนที่โดดเด่นเป็นพิเศษและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดในวัดภูมินทร์ ต้องยกให้ภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูทิศตะวันตก เป็นภาพขนาดใกล้เคียงกับขนาดคนจริงของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ในอิริยาบถยืนเคียงกัน ฝ่ายชายจับบ่าหญิงสาวและใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างข้างๆ หู ซึ่งไม่มีใครทราบว่ากระซิบว่าอย่างไร แต่ด้วยสายตาของทั้งคู่นั้นมีแววกรุ้มกริ่มแฝงนัยบางอย่างที่น่าคาดเดาไปในทางโรแมนติก จนอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ปราญช์เมืองน่าน ได้แต่งคำกลอนอันสุดแสนโรแมนติกเป็นภาษาเหนือเพื่อบรรยายถ้อยคำกระซิบของปู่ม่านย่าม่านนี้ว่า
ภาพจิตรกรรมฝาผนังอลังการแห่งวัดภูมินทร์
“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา...”

แปลได้ว่า “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น” เมื่อภาพอันสุดคลาสสิคมาเจอกับคำบรรยายแสนโรแมนติกนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ภาพปู่ม่านย่าม่านนี้ได้ชื่อว่าเป็น “ภาพกระซิบรักบันลือโลก”
ทิวทัศน์ของวัดพระธาตุช้างค้ำยามเย็น มองจากข่วงเมืองน่าน
บริเวณหน้าวัดภูมินทร์มีลานกว้างเรียกว่า “ข่วงเมือง” ซึ่งเป็นลานกว้างใจกลางเมืองที่ใช้ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้าน ว่าง่ายๆ ก็คล้ายท้องสนามหลวงในกรุงเทพฯ นั่นเอง ปัจจุบันช่วงยามเย็นแดดอ่อนๆ ชาวน่านก็จะมาเดินออกกำลังกายหรือมานั่งพูดคุยพบปะกันที่ลานข่วงเมือง
เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำอันงดงามคู่เมืองน่าน
เยื้องกับข่วงเมืองคือ “วัดช้างค้ำ” เดิมชื่อวัดกลางเวียง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ภายในมีวิหารขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงามนามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี” ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่ในลักษณะของฐานรองรับไว้รอบด้าน คาดกันว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากศิลปะของสุโขทัย เช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย ในขณะนี้พระอุโบสถของวัดกำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซมแต่ยังสามารถชมพระธาตุและพระวิหารได้ตามปกติ
สักการะศาลหลักเมืองที่วัดมิ่งเมือง
“วัดมิ่งเมือง” เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาด วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองน่านขนาดสูง 3 ม. ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง ใครที่มาจ.น่านก็อย่าลืมแวะมาสักการะเสาหลักเมืองน่านที่วัดแห่งนี้ให้ได้ นอกจากนั้นความงามโดดเด่นของวัดมิ่งเมืองยังอยู่ที่ลวดลายปูนปั้นสีขาวของพระอุโบสถซึ่งมองเผินๆ อาจคล้ายกับวัดร่องขุ่น แต่ถ้าสังเกตอย่างละเอียดก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป โดยเป็นงานฝีมือตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านอย่างน่าสนใจ
รู้จักเมืองน่านผ่านพิพิธภัณฑ์
คั่นรายการชมวัดมาชมพิพิธภัณฑ์กันบ้าง สำหรับตัวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านนั้นตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า "หอคำ" โดยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่านสร้างขึ้นเป็นที่ประทับเมื่อปี 2446 ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์มีอนุสาวรีย์ของพระองค์ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้
งาช้างดำคู่เมืองน่าน
ภายในพิพิธภัณฑ์มีสิ่งที่ไม่ควรพลาดชมคือ “งาช้างดำ” ปูชนียวัตถุคู่เมืองน่านที่ได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ทายาทจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลี ยาว 94 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนา กำกับไว้ว่ากิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน หรือประมาณ 18 ก.ก. นั่นเอง
ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองน่าน
นอกจากนั้นภายในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมือง และโบราณสถานที่สำคัญ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่พบในเมืองน่านและบริเวณใกล้เคียง รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยที่ค้นพบในเมืองน่าน

อันที่จริงก็ยังมีอีกหลายวัดในเมืองน่านที่น่าสนใจ เช่น วัดหัวข่วง วัดศรีพันต้น วัดไผ่เหลือง วัดพญาภู ฯลฯ ซึ่งสามารถปั่นจักรยานชมและกราบพระได้ตามอัธยาศัย แต่ตอนนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปไหว้พระนอกเมืองแต่เป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดอย่างวัดพระธาตุแช่แห้งกันบ้าง
พระธาตุแช่แห้งทองอรามงดงามคู่เมืองน่าน
“วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ใน อ.ภูเพียง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน คนละฝั่งกับตัวเมืองน่านแต่ห่างกันเพียง 3 ก.ม. วัดพระธาตุแช่แห้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองน่าน มีองค์พระธาตุอายุกว่า 600 ปี ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าพญาการเมืองโปรดทรงให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.1891-1901 องค์เจดีย์สีทองอร่ามบุด้วยทองเหลืองหรือทองจังโก เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ

ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างวิหารหลวงที่ตั้งอยู่ด้านข้างองค์พระธาตุ เหนือซุ้มประตูทางเข้าวิหารมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปพญานาค 8 ตัว เกี่ยวกระหวัดกันเป็น 3 ชั้นเป็นศิลปกรรมที่งดงามและยังเป็นปริศนาธรรมอีกด้วย
บรรยากาศอันอบอุ่นยามเช้าบนวัดพระธาตุเขาน้อย
และอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือ “วัดพระธาตุเขาน้อย” วัดงามบนเขาใกล้กับตัวเมืองน่าน ด้านบนมีพระธาตุศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากมีชัยภูมิอยู่บนยอดเขา ทางวัดจึงทำจุดชมวิวตัวเมืองน่านไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมบรรยากาศของเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขา บริเวณจุดชมวิวนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ซึ่งหันพระพักตร์ไปทางตัวเมืองน่านเหมือนจะคอยปกป้องบ้านเมือง ที่วัดแห่งนี้จึงมีผู้คนมาไหว้พระและชมวิวกันไม่ขาดสาย หากมาช่วงเย็นก็จะได้เห็นแสงอาบไล้เมืองน่านเป็นสีทอง พร้อมๆ กับที่ไฟในตัวเมืองค่อยๆ ถูกจุดขึ้นทีละดวง หรือหากมาช่วงเช้าก็จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นด้านหน้าองค์พระ รวมทั้งสายหมอกที่ปกคลุมเมืองดูงดงามไปคนละแบบ
ชมแสงไฟในเมืองน่านมุมสูงบนวัดพระธาตุเขาน้อย
เชื่อว่าหากใครได้มาเยือนเมืองน่านและใช้เวลาเที่ยวชมเมืองแบบไม่รีบร้อน ค่อยๆ ชม ค่อยๆ สัมผัสกับเมืองน่าน ก็จะตกหลุมรักเมืองน่ารักแห่งนี้แบบที่ “ตะลอนเที่ยว” เป็นอยู่เช่นกัน

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเมืองน่านได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบจ.แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร.0-5452-1118-9, 0-5452-1127 และ 0-5452-1119 หรือที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โทร.0-5475-1169, 0-5475-0247

คลิกอ่านเรื่องท่องเที่ยวธรรมชาติในเมืองน่านได้ที่นี่ >> "เต็มอิ่มธรรมชาติเมืองน่าน ยลซากุระบานขุนสถาน ทะเลหมอกละลานดอยเสมอดาว เสาดินคอกเสือน่ามหัศจรรย์"

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น