xs
xsm
sm
md
lg

“แห่ครัวทานงานปอยหลวง” ศูนย์รวมศรัทธา สายใยไทย-กะเหรี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเพณีแห่ครัวทานงานปอยหลวง ณ เจดีย์ศรีเวียงชัย วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ประเทศไทยเป็นเมืองที่มีหลากหลายอารยธรรม ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่นนั้น เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละที่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่งดงามไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

และในแต่ละประเพณีของไทยนั้น ล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนกลุ่มนั้นๆ แต่ก็มีประเพณีที่เป็นเสมือนศูนย์รวมพลังศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของ 2 ชนชาติเข้าไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ “ประเพณีแห่ครัวทาน งานปอยหลวง” ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญที่สืบต่อมาตั้งแต่บรรพบุรุษของ “ชาวเขาเผ่าปาเกอะญอ” ในชุมชนพระบาทห้วยต้ม และพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศที่ศรัทธาในครูบาวงศาพัฒนาและองค์พระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

การจัดงานประเพณีแห่ครัวทานในปีนี้ เป็นการจัดงานที่นับว่ายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นการจัดงานเพื่อฉลองพระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี งานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค.2555 บริเวณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน
ต้นไทยทานที่ใช้ประกอบพิธี
“แห่ครัวทาน” เป็นประเพณีอันสวยงามของชาวปาเกอะญอ ที่จัดขึ้นหลังจากออกพรรษาของทุกปี การแห่ครัวทานของวัดพระบาทห้วยต้มจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งคือ วันประเพณีเปลี่ยนผ้าครูบาชัยยะวงศาพัฒนา และ วันทอดกฐิน

“ประเพณีแห่ครัวทาน หรือ ประเพณีตานแทน-ตานใช้” เป็นประเพณีมรามีการนำต้นไทยทาน (ครัวทาน) ขนาดใหญ่ แห่รอบองค์พระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ซึ่งจะจัดทำต้นไทยทานประจำครูบาทั้ง 5 องค์ และนอกจากนั้น ก็จะเป็นต้นไทยทานสำหรับห้อยแขวนเครื่องไทยทานที่ชาวบ้านร่วมกันมาทำบุญ ในวันแต่งดาและต้นเงิน ซึ่งเป็นการเน้นให้เห็นถึงการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดทำ มีความสูงใหญ่ แปลกตาและสวยงาม

ประเพณีแห่ครัวทาน ยังถือเป็นพิธีถวายสังฆทานรวมใหญ่ มีการจัดข้าวของเครื่องใช้ตามประเพณีดั้งเดิม ได้แก่ ก่อเจดีย์ทราย มีของใช้ในพิธี ประกอบด้วย ของถวายพระสงฆ์และปูชนียสถาน ของถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ของทิ้งลงหลุม (เพื่อตัด/ทิ้งสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัว) เป็นต้น
ชาวปกาเกอะญอกำลังแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ
โดยมีความเชื่อว่าพิธีนี้ เป็นวิธีการที่ทำให้คนได้ตระหนักถึงการทำคุณความดี กุศลกรรมใหญ่เพื่อทดแทนอกุศลกรรมเก่าที่หนักและแรงกว่าในอดีต เพื่อให้คนในสังคมเชื่อในเรื่องผลแห่งกรรม หรือกฎแห่งกรรม

สิ่งที่สำคัญในงานพิธีนี้ ก็คือ “ต้นไทยทาน หรือ ครัวทาน หรือ ต๊าบุ๊เดอ” เป็นสิ่งที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น โดยการใช้ถ้วยชาม สมุดดินสอ ของใช้ต่างๆ รวมถึงข้าวสารอาหารแห้งมาแขวนจัดแต่งเป็นหลักต้นผ้าสีสันต่างๆ และมีชองอ้อย หรือกระบะที่มีขาสูงเสมอเอวและมีขาตั้งสี่ขา ซึ่งในกระบะนั้นบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผักผลไม้และมีต้นดอกหรือพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ที่มียอดคือไม้ตับหนีบเงินเสียบไว้ด้านบน

สำหรับในวันงานแห่ครัวทาน ช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตร แจกโรงทานตลอดวัน เสร็จพิธีชาวบ้านจะแต่งชุดประจำเผ่าอันสวยงามเข้าร่วมขบวน โดยมีประชาชนพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศ เข้าร่วมขบวนแห่ตุง ธง ผ้าห่มองค์พระมหาธาตุ และต้นไทยทาน จากวัดพระบาทห้วยต้ม ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน และมาสิ้นสุดที่บริเวณองค์พระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย นับว่าเป็นภาพอันงดงาม น่าประทับใจ เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒธรรมของภาคเหนือที่ล้ำค่า และที่สำคัญ เป็นการแสดงถึงความสามัคคีของชาวเขาเผ่าปาเกอะญอในชุมชนพระบาทห้วยต้ม และพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาร่วมกันแห่ต้นไทยทานและห่มองค์พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยกันอย่างเนื่องแน่น
กำลังโหลดความคิดเห็น