โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
กลับจากออกทริปคราวนี้ ผมถูกมองว่าเปลี๊ยนไป๋ กลับตัว กลับใจ กลายเป็นคนธรรมะธัมโมขึ้นมาแบบเข็มขัดสั้น-คาดไม่ถึง
เพราะเมื่อถูกใครๆถามว่า “ไปไหนมา?” ผมก็ตอบไปตามประสาซื่อว่า
“ไปพบพระมา”
งานนี้เลยทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจผิดคิดว่าผมไปพบพระพบเจ้า เข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรม
แต่ประทานโทษ!!! เปล่าเลย ที่ว่าไปพบพระน่ะ ผมไป“อำเภอพบพระ” ที่จังหวัดตากมาต่างหาก
เพราะ อ.พบพระ วันนี้กำลังจะใช้การท่องเที่ยวมาเป็นหนึ่งในธงนำของการพัฒนาพื้นที่ โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักๆนั้นก็เป็นธรรมชาติอันสวยงามน่าสนใจในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตกพาเจริญ ต้นไทรยักษ์ น้ำตกป่าหวาย บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก จุดชมวิวดอยเกี๊ยะ
ขณะที่นอกพื้นที่อุทยานฯก็ยังมีน้ำตกนางครวญ วิถีการเกษตร และวิถีชุมชนของชาวบ้านในบางหมู่บ้านที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้กัน โดยหนึ่งในชุมชนที่เปิดหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็คือ “บ้านป่าคาใหม่” ที่ตั้งอยู่ใน ต.คีรีราษฎร์
ม้งป่าคาใหม่
บ้านป่าคาใหม่มีประชากรหลักเป็นชาวม้ง ซึ่งตามประวัติเล่าว่าชาวม้งที่ ต.คีรีราษฎร์ ได้อพยพมาจากอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ก่อนมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่
พี่มานพ ท้าววัฒนากุล ผู้นำชาวม้งบ้านป่าคาใหม่ บอกกับผมว่าชาวม้งแบ่งเป็น ม้งขาวกับม้งดำหรือม้งเขียว ม้งที่บ้านป่าคาใหม่เป็นม้งดำ ซึ่งชุดแต่งกายจะมีสีสันสวยงามกว่าม้งขาวที่สวมชุดเรียบๆ พื้นๆ
สำหรับการเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แม้จะเป็นมือใหม่ อยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่ว่าพวกเขาก็มีความตั้งใจสูง โดยมี“กลุ่มพิทักษ์พืชไร่หมุนเวียน” เป็นกำลังหลัก มุ่งเน้นในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ต้องการให้คนภายนอกเข้ามาสัมผัสกับวิธีวัฒนธรรม ประเพณี และของดีของบ้านป่าคาใหม่ในแบบเป็นธรรมชาติ ไม่จัดฉาก ไม่ปรุงแต่ง ไม่ดราม่า ซึ่งถ้าใครมาถูกฤดูกาล ถูกช่วง ถูกจังหวะเวลา ก็จะได้สัมผัสกับของดีชุมชนแบบไม่มีกั๊ก ดังเช่นช่วงที่ผมไป เพราะตรงกับช่วงกินข้าวใหม่พอดี งานนี้นอกจากผมจะได้กินข้าวใหม่ รู้จักกับพันธุ์ข้าวที่กำลังมาแรง และยังได้สัมผัสกับการต้อนรับที่ไม่มีใครเหมือนของชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
ต้นตำรับ ข้าวลืมผัว
ชาวบ้านป่าคาใหม่มีอาชีพหลักคือการทำเกษตร โดยมีกฎ กติกา ประจำชุมชน ว่าจะช่วยกันพิทักษ์ป่า ทำแนวกันไฟป่า ทำไร่หมุนเวียนเฉพาะพื้นที่ที่ทางการอนุญาต ปลูกป่าชดเชย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งหากมีใครในหมู่บ้านละเมิดกติกาก็จะมีมาตรการ(ชุมชน)จัดการเป็นลำดับขั้นไป
สำหรับพืชผักที่ปลูกนั้นก็มีหลากหลายตามฤดูกาล โดยหนึ่งในผลิตผลขึ้นชื่อประจำหมู่บ้านก็คือ “ข้าวลืมผัว” พันธุ์ข้าวที่ถือว่ามาแรงสุดๆในยุคนี้ พ.ศ.นี้
ก่อนไปพบพระผมได้ยินชื่อข้าวลืมผัวมาบ้าง แต่ยังไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติของข้าวพันธุ์นี้ รู้แต่ว่าด้วยความแรงของข้าวพันธุ์นี้ทำให้หลายๆที่ ต่างออกตัวว่าเป็นต้นตำรับ เป็นต้นกำเนิดของข้าวลืมผัว
ที่บ้านป่าคาใหม่นี้ก็เช่นกัน เขาบอกว่าเป็นต้นกำเนิดข้าวลืมผัว งานนี้ไม่ใช่บอกเปล่าๆ แต่เขามีตัวเป็นๆของบุคคลผู้ปิ๊งไอเดียตั้งชื่อข้าวลืมผัวมายืนยัน นั่นก็คือ พี่ “สมเดช ท้าววัฒนากุล” ประธานสภา อบต.คีรีราษฎร์
พี่สมเดชบอกกับผมว่า ข้าวลืมผัว อันนี่จริงมันก็คือข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ แต่เป็นข้าวเหนียวสายพันธุ์โบราณที่มีมาแต่บรรพบุรุษ
ข้าวพันธุ์นี้เปิดตัวครั้งแรกโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านป่าคาใหม่ที่นำมาจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในงานประเพณีกินข้าวใหม่ขององค์การบริหารส่วน ต.คีรีราษฎร์ ในปี พ.ศ.2548หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ก่อนกลายเป็นข้าวชื่อดังในปัจจุบัน
เดิมชาวบ้านเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่าข้าวก่ำหรือข้าวเหนียวดำเหมือนทั่วๆไป ขณะที่ชาวม้งที่นี่จะเรียกว่า “หม่อบล่าวล้า” ที่แปลว่าข้าวเหนียวแดง แต่หลังจากเปิดตัวก็ได้รับคำแนะนำว่าควรจะตั้งชื่อพันธุ์ข้าว
พี่สมเดชจึงนำเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าถึงความพิเศษของข้าวพันธุ์นี้มาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ โดยเรื่องเล่านั้นมีอยู่ว่า สมัยก่อนมีสามีภรรยาชาวม้งคู่หนึ่ง สามีออกไปทำธุระ ให้ภรรยาหุงข้าวรอ เมื่อข้าวสุกระหว่างรอสามีกลับ ภรรยาก็หยิบข้าวมาปั้นกินเล่นๆ กินไปกินมา ข้าวที่หุงหมดแบบไม่รู้ตัว
เรื่องเล่านี้ทำให้พี่สมเดชปิ๊งไอเดีย จึงตั้งชื่อข้าวพันธุ์นี้ว่า “ข้าวลืมผัว”
ข้าวลืมผัว อร่อยเพลิน จน(แทบ)ลืมตัว
แม้จะมีชื่อเรียกที่โดดเด่นสะดุดหู แต่ถ้าตัวข้าวขาดคุณสมบัติเด่น รสไม่อร่อย ข้าวลืมผัวก็คงไปไม่ไกลถึงไหน แต่ที่ข้าวลืมผัวโด่งดัง เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกวันนี้ มาจากรสชาติและคุณสมบัติพิเศษของข้าวชนิดนี้ ซึ่งพี่สมเดชได้พูดถึงคุณสมบัติของข้าวลืมผัวที่ปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระ ว่า
“ข้าวลืมผัวเมื่อตำหรือสีออกมาแล้ว เม็ดข้าวจะมีสีไม่สวย ดูกระดำกระด่าง แต่เมื่อหุงหรือนึ่งออกมาแล้วข้าวกลับให้สีสวย เป็นคนละเรื่องกลับก่อนหุง ส่วนที่เป็นลักษณะพิเศษของข้าวลืมผัวพบพระ คือ รสชาติจะหอม นุ่ม มีความหวานอยู่ในตัว กินอร่อย ไม่ติดมือ สมัยก่อนคนโบราณ มักจะปั้นให้เด็กกินเล่นๆแทนขนม”
พี่สมเดชตั้งข้อสันนิษฐานว่า เหตุที่ข้าวลืมผัวพบพระมีรสชาติดี กินอร่อยกว่าที่อื่นๆ น่าจะมาจากที่พบพระมีอากาศดี มีดินดี ในดินมีแร่ธาตุเหมาะต่อการปลูกข้าวพันธุ์นี้ และข้าวลืมผัวที่ปลูกก็เป็นข้าวไร่ ไม่ใช่ข้าวนา คือปลูกบนที่ดอน ไม่ใช้น้ำมาก โดยชาวบ้านที่นี่จะทำนาปี ปลูกข้าวลืมผัวกันปีละครั้ง เริ่มปลูกในเดือน พ.ค.-มิ.ย. และเก็บเกี่ยวเดือน พ.ย.-ธ.ค.
“ข้าวลืมผัว รวงข้าวจะสั้น เม็ดจะห่าง ให้ผลผลิตต่อรวงไม่มาก แต่ขายได้ราคาดี” พี่สมเดชบอก
ปัจจุบันชาวบ้านป่าคาใหม่ปลูกข้าวลืมผัวแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือปลูกไว้กิน ขายในชุมชน ก่อน เมื่อเหลือจึงส่งขาย ส่วนในอนาคตนั้นยังมิอาจคาดเดาได้ แต่ที่รู้ก็คือกิจการการปลูกข้าวลืมผัวของชุมชนบ้านป่าคาใหม่กำลังไปได้สวย สวนทางกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มีแต่ย่ำแย่ เจ๊งทั้งในและนอกประเทศ
ต้มไก่บ้านสมุนไพรเพิ่มสมรรถภาพ
ด้วยความโดดเด่นของข้าวลืมผัว บ้านป่าคาใหม่จึงใช้จุดนี้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ดดยจัดชุดอาหารพื้นบ้าน กินข้าวลืมผัวร่วมกับเมนูพื้นบ้านอันมีลักษณะเฉพาะ นำโดย 2 เมนูเด่น ประจำหมู่บ้าน คือ “ต้มหมื่นปี” เป็นผักกาดม้ง(คล้ายผักกวางตุ้งแต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ใช่ผักกวางตุ้ง)ต้มกับกระดูกหมูคล้ายการทำผักกาดจอ
ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ “ต้มไก่บ้านสมุนไพร” ซึ่งถือเป็นเมนูพิเศษ เพราะชาวบ้านที่นี่บอกว่าเมนูนี้มีการใส่สมุนไพรที่(เชื่อว่า)ช่วยเพิ่มพลังทางเพศลงไป แม้จะไม่เทียบเท่ากับไวอากร้า แต่ถ้ากินบ่อยๆก็จะดีต่อสมรรถภาพทางเพศ ดีต่อสุขภาพ ร่างกาย และไม่มีผลกระทบข้างเคียง ถึงขนาดมีเรื่อง(โจ๊ก)เล่าว่า มื้อเย็นวันไหน ถ้าแม่บ้านทำต้มไก่สมุนไพรให้สามีกิน และทำอร่อยจนสามีกินเพลินคืนนั้นต้องเจอศึกหนักแน่นอน
เหล้าเขาวัว 1 เขา
แน่นอนว่าทั้งข้าวลืมผัว ต้มหมื่นปี และต้มไก่บ้านสมุนไพร ถูกยกมาเป็นชุดอาหารต้อนรับอาคันตุกะอย่างผมและคณะในค่ำวันนั้น
แต่เท่านั้นยังไม่พอ ที่นี่ยังมีประเพณีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นก็คือ การดื่ม“เหล้าเขาวัว” ร่วมกันระหว่างแขกกับเจ้าบ้าน โดยทางเจ้าบ้านจะอุ่นเครื่องด้วยการให้กระดกเหล้าข้าวเหนียวเพียวๆ(ประมาณ 60-70 ดีกรี)แบบวนรอบวง ทั้งแขกและเจ้าบ้าน ก่อน 3 จอก พร้อมกับมีน้ำข้าวให้ดื่มล้างคอ
จากนั้นจะเป็นช่วงเวลาอันแสนสาหัสกับการ “ชนเขา” ที่เปลี่ยนจากการชนแก้ว มาเป็นการดื่มเหล้าที่รินใส่ในเขาวัวขนาดย่อม เป็นเขากลวง จุเหล้าได้ประมาณ 1 แก้วมาตรฐานเต็มๆ(เกินกว่า 3 จอกที่กระดกไปในช่วงแรก) ก่อนจะนำด้านแหลมของเขามาชนกันระหว่างเจ้าบ้านกับอาคันตุกะ แล้วดื่มให้หมดรวดเดียว(แต่ถ้าใครไม่ไหวสามารถบอกผ่านได้)แล้วจึงคว่ำเขา เพื่อให้รู้ว่าได้ดื่มเหล้าเขาวัวไปเรียบร้อยแล้ว
ครับ แค่เหล้าจอกเดียวก็หน้าตึง ท้องร้อนวูบวาบ เพราะดีกรีมันสูงซะขนาดนั้น แต่นี่เล่น 3 จอก บวกกับอีกหนึ่งเขา ซึ่งหลังดื่มคว่ำเขาแล้ว ผมบอกได้คำเดียวว่าการต้อนรับด้วย ข้าวลืมผัวกับเหล้า 1 เขาวัว เล่นผมเกิดอาการธาตุสุราแทรก ชนิดที่หากขอ 3 คำตามประสาวัยรุ่น งานนี้ผมขอบอกว่า
“เมาอิ๊บอ๋าย”
...แต่ยังไงๆการเมาเหล้าย่อมดีกว่า การมัวเมาในอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นไหนๆ
*****************************************
บ้านป่าคาใหม่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 6 ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก เพิ่งทดลองเริ่มเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว หลายสิ่งหลายอย่างอาจยังไม่เข้าที่เข้าทาง โดยผู้ไปเยือนจะได้สัมผัสกับวิถีชนเผ่าม้ง การแสดงวัฒนธรรม ประเพณี วิธีเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งนอกจากสิ่งเด่นๆตามที่ได้กล่าวมาในเนื้อเรื่องแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งน่าสนใจในชุมชน เช่น การตีมีด ทำมีดแบบโบราณ การทำแคนแบบม้ง การตำข้าวแบบโบราณ ขนมพื้นบ้านที่ทำจากข้าวลืมผัว ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่แปรรูปจากใยกัญชง ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-4678-0875
กลับจากออกทริปคราวนี้ ผมถูกมองว่าเปลี๊ยนไป๋ กลับตัว กลับใจ กลายเป็นคนธรรมะธัมโมขึ้นมาแบบเข็มขัดสั้น-คาดไม่ถึง
เพราะเมื่อถูกใครๆถามว่า “ไปไหนมา?” ผมก็ตอบไปตามประสาซื่อว่า
“ไปพบพระมา”
งานนี้เลยทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจผิดคิดว่าผมไปพบพระพบเจ้า เข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรม
แต่ประทานโทษ!!! เปล่าเลย ที่ว่าไปพบพระน่ะ ผมไป“อำเภอพบพระ” ที่จังหวัดตากมาต่างหาก
เพราะ อ.พบพระ วันนี้กำลังจะใช้การท่องเที่ยวมาเป็นหนึ่งในธงนำของการพัฒนาพื้นที่ โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักๆนั้นก็เป็นธรรมชาติอันสวยงามน่าสนใจในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตกพาเจริญ ต้นไทรยักษ์ น้ำตกป่าหวาย บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก จุดชมวิวดอยเกี๊ยะ
ขณะที่นอกพื้นที่อุทยานฯก็ยังมีน้ำตกนางครวญ วิถีการเกษตร และวิถีชุมชนของชาวบ้านในบางหมู่บ้านที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้กัน โดยหนึ่งในชุมชนที่เปิดหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็คือ “บ้านป่าคาใหม่” ที่ตั้งอยู่ใน ต.คีรีราษฎร์
ม้งป่าคาใหม่
บ้านป่าคาใหม่มีประชากรหลักเป็นชาวม้ง ซึ่งตามประวัติเล่าว่าชาวม้งที่ ต.คีรีราษฎร์ ได้อพยพมาจากอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ก่อนมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่
พี่มานพ ท้าววัฒนากุล ผู้นำชาวม้งบ้านป่าคาใหม่ บอกกับผมว่าชาวม้งแบ่งเป็น ม้งขาวกับม้งดำหรือม้งเขียว ม้งที่บ้านป่าคาใหม่เป็นม้งดำ ซึ่งชุดแต่งกายจะมีสีสันสวยงามกว่าม้งขาวที่สวมชุดเรียบๆ พื้นๆ
สำหรับการเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แม้จะเป็นมือใหม่ อยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่ว่าพวกเขาก็มีความตั้งใจสูง โดยมี“กลุ่มพิทักษ์พืชไร่หมุนเวียน” เป็นกำลังหลัก มุ่งเน้นในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ต้องการให้คนภายนอกเข้ามาสัมผัสกับวิธีวัฒนธรรม ประเพณี และของดีของบ้านป่าคาใหม่ในแบบเป็นธรรมชาติ ไม่จัดฉาก ไม่ปรุงแต่ง ไม่ดราม่า ซึ่งถ้าใครมาถูกฤดูกาล ถูกช่วง ถูกจังหวะเวลา ก็จะได้สัมผัสกับของดีชุมชนแบบไม่มีกั๊ก ดังเช่นช่วงที่ผมไป เพราะตรงกับช่วงกินข้าวใหม่พอดี งานนี้นอกจากผมจะได้กินข้าวใหม่ รู้จักกับพันธุ์ข้าวที่กำลังมาแรง และยังได้สัมผัสกับการต้อนรับที่ไม่มีใครเหมือนของชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
ต้นตำรับ ข้าวลืมผัว
ชาวบ้านป่าคาใหม่มีอาชีพหลักคือการทำเกษตร โดยมีกฎ กติกา ประจำชุมชน ว่าจะช่วยกันพิทักษ์ป่า ทำแนวกันไฟป่า ทำไร่หมุนเวียนเฉพาะพื้นที่ที่ทางการอนุญาต ปลูกป่าชดเชย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งหากมีใครในหมู่บ้านละเมิดกติกาก็จะมีมาตรการ(ชุมชน)จัดการเป็นลำดับขั้นไป
สำหรับพืชผักที่ปลูกนั้นก็มีหลากหลายตามฤดูกาล โดยหนึ่งในผลิตผลขึ้นชื่อประจำหมู่บ้านก็คือ “ข้าวลืมผัว” พันธุ์ข้าวที่ถือว่ามาแรงสุดๆในยุคนี้ พ.ศ.นี้
ก่อนไปพบพระผมได้ยินชื่อข้าวลืมผัวมาบ้าง แต่ยังไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติของข้าวพันธุ์นี้ รู้แต่ว่าด้วยความแรงของข้าวพันธุ์นี้ทำให้หลายๆที่ ต่างออกตัวว่าเป็นต้นตำรับ เป็นต้นกำเนิดของข้าวลืมผัว
ที่บ้านป่าคาใหม่นี้ก็เช่นกัน เขาบอกว่าเป็นต้นกำเนิดข้าวลืมผัว งานนี้ไม่ใช่บอกเปล่าๆ แต่เขามีตัวเป็นๆของบุคคลผู้ปิ๊งไอเดียตั้งชื่อข้าวลืมผัวมายืนยัน นั่นก็คือ พี่ “สมเดช ท้าววัฒนากุล” ประธานสภา อบต.คีรีราษฎร์
พี่สมเดชบอกกับผมว่า ข้าวลืมผัว อันนี่จริงมันก็คือข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ แต่เป็นข้าวเหนียวสายพันธุ์โบราณที่มีมาแต่บรรพบุรุษ
ข้าวพันธุ์นี้เปิดตัวครั้งแรกโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านป่าคาใหม่ที่นำมาจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในงานประเพณีกินข้าวใหม่ขององค์การบริหารส่วน ต.คีรีราษฎร์ ในปี พ.ศ.2548หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ก่อนกลายเป็นข้าวชื่อดังในปัจจุบัน
เดิมชาวบ้านเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่าข้าวก่ำหรือข้าวเหนียวดำเหมือนทั่วๆไป ขณะที่ชาวม้งที่นี่จะเรียกว่า “หม่อบล่าวล้า” ที่แปลว่าข้าวเหนียวแดง แต่หลังจากเปิดตัวก็ได้รับคำแนะนำว่าควรจะตั้งชื่อพันธุ์ข้าว
พี่สมเดชจึงนำเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าถึงความพิเศษของข้าวพันธุ์นี้มาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ โดยเรื่องเล่านั้นมีอยู่ว่า สมัยก่อนมีสามีภรรยาชาวม้งคู่หนึ่ง สามีออกไปทำธุระ ให้ภรรยาหุงข้าวรอ เมื่อข้าวสุกระหว่างรอสามีกลับ ภรรยาก็หยิบข้าวมาปั้นกินเล่นๆ กินไปกินมา ข้าวที่หุงหมดแบบไม่รู้ตัว
เรื่องเล่านี้ทำให้พี่สมเดชปิ๊งไอเดีย จึงตั้งชื่อข้าวพันธุ์นี้ว่า “ข้าวลืมผัว”
ข้าวลืมผัว อร่อยเพลิน จน(แทบ)ลืมตัว
แม้จะมีชื่อเรียกที่โดดเด่นสะดุดหู แต่ถ้าตัวข้าวขาดคุณสมบัติเด่น รสไม่อร่อย ข้าวลืมผัวก็คงไปไม่ไกลถึงไหน แต่ที่ข้าวลืมผัวโด่งดัง เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกวันนี้ มาจากรสชาติและคุณสมบัติพิเศษของข้าวชนิดนี้ ซึ่งพี่สมเดชได้พูดถึงคุณสมบัติของข้าวลืมผัวที่ปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระ ว่า
“ข้าวลืมผัวเมื่อตำหรือสีออกมาแล้ว เม็ดข้าวจะมีสีไม่สวย ดูกระดำกระด่าง แต่เมื่อหุงหรือนึ่งออกมาแล้วข้าวกลับให้สีสวย เป็นคนละเรื่องกลับก่อนหุง ส่วนที่เป็นลักษณะพิเศษของข้าวลืมผัวพบพระ คือ รสชาติจะหอม นุ่ม มีความหวานอยู่ในตัว กินอร่อย ไม่ติดมือ สมัยก่อนคนโบราณ มักจะปั้นให้เด็กกินเล่นๆแทนขนม”
พี่สมเดชตั้งข้อสันนิษฐานว่า เหตุที่ข้าวลืมผัวพบพระมีรสชาติดี กินอร่อยกว่าที่อื่นๆ น่าจะมาจากที่พบพระมีอากาศดี มีดินดี ในดินมีแร่ธาตุเหมาะต่อการปลูกข้าวพันธุ์นี้ และข้าวลืมผัวที่ปลูกก็เป็นข้าวไร่ ไม่ใช่ข้าวนา คือปลูกบนที่ดอน ไม่ใช้น้ำมาก โดยชาวบ้านที่นี่จะทำนาปี ปลูกข้าวลืมผัวกันปีละครั้ง เริ่มปลูกในเดือน พ.ค.-มิ.ย. และเก็บเกี่ยวเดือน พ.ย.-ธ.ค.
“ข้าวลืมผัว รวงข้าวจะสั้น เม็ดจะห่าง ให้ผลผลิตต่อรวงไม่มาก แต่ขายได้ราคาดี” พี่สมเดชบอก
ปัจจุบันชาวบ้านป่าคาใหม่ปลูกข้าวลืมผัวแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือปลูกไว้กิน ขายในชุมชน ก่อน เมื่อเหลือจึงส่งขาย ส่วนในอนาคตนั้นยังมิอาจคาดเดาได้ แต่ที่รู้ก็คือกิจการการปลูกข้าวลืมผัวของชุมชนบ้านป่าคาใหม่กำลังไปได้สวย สวนทางกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มีแต่ย่ำแย่ เจ๊งทั้งในและนอกประเทศ
ต้มไก่บ้านสมุนไพรเพิ่มสมรรถภาพ
ด้วยความโดดเด่นของข้าวลืมผัว บ้านป่าคาใหม่จึงใช้จุดนี้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ดดยจัดชุดอาหารพื้นบ้าน กินข้าวลืมผัวร่วมกับเมนูพื้นบ้านอันมีลักษณะเฉพาะ นำโดย 2 เมนูเด่น ประจำหมู่บ้าน คือ “ต้มหมื่นปี” เป็นผักกาดม้ง(คล้ายผักกวางตุ้งแต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ใช่ผักกวางตุ้ง)ต้มกับกระดูกหมูคล้ายการทำผักกาดจอ
ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ “ต้มไก่บ้านสมุนไพร” ซึ่งถือเป็นเมนูพิเศษ เพราะชาวบ้านที่นี่บอกว่าเมนูนี้มีการใส่สมุนไพรที่(เชื่อว่า)ช่วยเพิ่มพลังทางเพศลงไป แม้จะไม่เทียบเท่ากับไวอากร้า แต่ถ้ากินบ่อยๆก็จะดีต่อสมรรถภาพทางเพศ ดีต่อสุขภาพ ร่างกาย และไม่มีผลกระทบข้างเคียง ถึงขนาดมีเรื่อง(โจ๊ก)เล่าว่า มื้อเย็นวันไหน ถ้าแม่บ้านทำต้มไก่สมุนไพรให้สามีกิน และทำอร่อยจนสามีกินเพลินคืนนั้นต้องเจอศึกหนักแน่นอน
เหล้าเขาวัว 1 เขา
แน่นอนว่าทั้งข้าวลืมผัว ต้มหมื่นปี และต้มไก่บ้านสมุนไพร ถูกยกมาเป็นชุดอาหารต้อนรับอาคันตุกะอย่างผมและคณะในค่ำวันนั้น
แต่เท่านั้นยังไม่พอ ที่นี่ยังมีประเพณีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นก็คือ การดื่ม“เหล้าเขาวัว” ร่วมกันระหว่างแขกกับเจ้าบ้าน โดยทางเจ้าบ้านจะอุ่นเครื่องด้วยการให้กระดกเหล้าข้าวเหนียวเพียวๆ(ประมาณ 60-70 ดีกรี)แบบวนรอบวง ทั้งแขกและเจ้าบ้าน ก่อน 3 จอก พร้อมกับมีน้ำข้าวให้ดื่มล้างคอ
จากนั้นจะเป็นช่วงเวลาอันแสนสาหัสกับการ “ชนเขา” ที่เปลี่ยนจากการชนแก้ว มาเป็นการดื่มเหล้าที่รินใส่ในเขาวัวขนาดย่อม เป็นเขากลวง จุเหล้าได้ประมาณ 1 แก้วมาตรฐานเต็มๆ(เกินกว่า 3 จอกที่กระดกไปในช่วงแรก) ก่อนจะนำด้านแหลมของเขามาชนกันระหว่างเจ้าบ้านกับอาคันตุกะ แล้วดื่มให้หมดรวดเดียว(แต่ถ้าใครไม่ไหวสามารถบอกผ่านได้)แล้วจึงคว่ำเขา เพื่อให้รู้ว่าได้ดื่มเหล้าเขาวัวไปเรียบร้อยแล้ว
ครับ แค่เหล้าจอกเดียวก็หน้าตึง ท้องร้อนวูบวาบ เพราะดีกรีมันสูงซะขนาดนั้น แต่นี่เล่น 3 จอก บวกกับอีกหนึ่งเขา ซึ่งหลังดื่มคว่ำเขาแล้ว ผมบอกได้คำเดียวว่าการต้อนรับด้วย ข้าวลืมผัวกับเหล้า 1 เขาวัว เล่นผมเกิดอาการธาตุสุราแทรก ชนิดที่หากขอ 3 คำตามประสาวัยรุ่น งานนี้ผมขอบอกว่า
“เมาอิ๊บอ๋าย”
...แต่ยังไงๆการเมาเหล้าย่อมดีกว่า การมัวเมาในอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นไหนๆ
*****************************************
บ้านป่าคาใหม่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 6 ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก เพิ่งทดลองเริ่มเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว หลายสิ่งหลายอย่างอาจยังไม่เข้าที่เข้าทาง โดยผู้ไปเยือนจะได้สัมผัสกับวิถีชนเผ่าม้ง การแสดงวัฒนธรรม ประเพณี วิธีเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งนอกจากสิ่งเด่นๆตามที่ได้กล่าวมาในเนื้อเรื่องแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งน่าสนใจในชุมชน เช่น การตีมีด ทำมีดแบบโบราณ การทำแคนแบบม้ง การตำข้าวแบบโบราณ ขนมพื้นบ้านที่ทำจากข้าวลืมผัว ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่แปรรูปจากใยกัญชง ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-4678-0875