ภาพเรือนแถวไม้โย้เย้ริมคลอง หลังคาสังกะสีผุเก่า หากจะบอกว่าเป็นความสวยงามก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าเป็น “เสน่ห์” น่าจะเหมาะกว่า เพราะความเก่าแก่ใช่ว่าจะหมายถึงความทรุดโทรมผุพังเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านเรื่องราวมากมาย ที่หากมองข้ามความผุพังทรุดโทรมเข้าไปให้ลึกก็จะเห็นเสน่ห์ในความเก่านั้น
ฉันจึงรู้สึกดีใจ เมื่อได้ติดสอยห้อยตาม “กลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม” ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร แต่แสวงหาความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชนต่างๆ ให้คงอยู่ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและท้องถิ่น มาเที่ยวยัง “ตลาดเก่าริมคลองประเวศบุรีรมย์” เพื่อมาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชุมชน โดยตลาดเก่าที่ว่าก็คือ “ตลาดหัวตะเข้” และ “ตลาดหลวงแพ่ง” นั่นเอง
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึง “คลองประเวศบุรีรมย์” กันก่อน โดยคลองแห่งนี้เป็นลำคลองสายหลักที่ใหญ่และยาวที่สุดของเขตลาดกระบัง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นในปี 2421 โดยขุดต่อจากคลองพระโขนงยาวตรงถึงแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ความยาวรวม 46 กม. และต่อมายังได้ขุดคลองแยกจากคลองประเวศบุรีรมย์ อีก 4 คลอง คือ คลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม และคลองสี่
สำหรับ “ตลาดหัวตะเข้” ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบังของกรุงเทพฯ ที่นี่เป็นตลาดโบราณริมน้ำอายุร้อยกว่าปี มีบรรยากาศของเรือนแถวไม้เรียงรายริมสองฟากฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ เหตุที่ชื่อว่า "หัวตะเข้" ก็เพราะแต่ก่อนนี้มีจระเข้ชุกชุม ตลาดแห่งนี้ก็เหมือนตลาดโบราณหลายๆ แห่ง ที่เคยมีร้านรวงคึกคักมีชีวิตชีวา มีร้านค้ากว่าร้อยห้องและเป็นสถานที่จอดเรือซื้อขายขนถ่ายสินค้า เนื่องจากแต่ก่อนยังใช้ลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก การค้าขายและวิถีชีวิตต่างๆ จึงเกิดขึ้นริมลำคลอง แต่เมื่อมีการตัดถนนเดินทางด้วยรถยนต์แล้ว ตลาดริมน้ำจึงค่อยๆ ซบเซา และล้มหายตายจากไปบ้าง แม้จะมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูขึ้นมาอีกแต่ก็ยังไม่เต็มร้อยนัก
ตลาดหัวตะเข้ ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความพยายามในการฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากชาว “ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม” ที่พยายามหาจุดเด่นของสถานที่มาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ โดยใกล้ๆ กับตลาดหัวตะเข้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น วิทยาลัยช่างศิลป์ ลาดกระบัง ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2521 รวมทั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรียกได้ว่าเป็นสถานศึกษาที่อยู่คู่กับชุมชนมาแต่ไหนไร ดังนั้นภาพที่คุ้นตาของคนในชุมชนคือภาพของนักเรียนนักศึกษาที่มาทำกิจกรรมในชุมชน ทั้งมานั่งวาดภาพที่ตลาดริมคลอง และหลายครั้งที่มีกิจกรรมด้านศิลปะ ชาวชุมชนเองก็ให้ความร่วมมือเป็นแบบวาดภาพบ้าง หรือคนเฒ่าคนแก่มาถ่ายทอดเรื่องราวเก่าๆ ให้ฟังบ้าง ทางชุมชนร่วมกับวิทยาลัยช่างศิลป์จึงใช้ความผูกพันนี้จัดทำเป็น “ตลาดนัดศิลปะ” ขึ้น โดยจะจัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ต้นเดือน
ฉันได้มีโอกาสไปชมตลาดนัดศิลปะที่ตลาดหัวตะเข้มาแล้วพบว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยบรรดานักเรียนนักศึกษาจะนำเอาผลงานศิลปะของตนมาจัดแสดง หรือวางขายของที่ระลึกทำมือแบบเก๋ๆ และมีชิ้นเดียวในโลก การจัดวางผลงานก็เน้นความสบายๆ โดยขอความร่วมมือจากชุมชนในตลาด บ้านไหนว่างก็ขอใช้พื้นที่ ฝาบ้านไหนว่างก็ขอแขวนภาพวาด ที่ตรงไหนว่างนักศึกษาก็ขอเอาสินค้าแฮนด์เมดไปวางขาย ไม่เพียงนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีศิลปินมืออาชีพมาแฝงตัวสร้างผลงานอยู่ที่นี่อีกมาก สร้างความมีชีวิตชีวาให้เกิดกับชุมชน และยังเป็นการปลูกฝังความรักศิลปะให้เกิดแก่เด็กๆ ในชุมชนอีกด้วย ขอแจ้งไว้ตรงนี้ว่าตลาดนัดศิลปะจะจัดขึ้นครั้งถัดไปในวันที่ 3-4 พฤศจิกายนนี้ ใครสนใจต้องจดลงปฏิทินไว้เลย
ไม่เพียงแค่ผลงานศิลปะเท่านั้น ที่นี่ฉันยังได้ชิมอาหารอร่อยๆ ที่ชาวชุมชนตั้งใจทำให้นักท่องเที่ยวได้ชิม ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย หอยทอด ยำแหนม สาคู ขนมปากหม้อ ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ฉันลองชิมดูจนอิ่มก่อนจะเดินชมบรรยากาศในตลาดหัวตะเข้ ที่นี่ยังมีร้านรวงเก่าๆ เปิดให้บริการ ทั้งร้านขายเครื่องเขียนเก่าแก่อย่างร้านไทยสามัคคี ที่ยังเป็นร้านประจำของนักเรียนนักศึกษาในละแวกนี้ นอกจากขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะแล้วมีหนังสืออ่านนอกเวลาเก่าๆ น่าซื้อหาไปสะสมกันอีกด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีร้านขายของชำ ร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ให้ได้ซื้อหากันเพลินๆ ในบรรยากาศของห้องแถวไม้ริมน้ำ
มาเที่ยวที่ตลาดหัวตะเข้แล้ว ยังสามารถมากราบไหว้องค์เซียน หรือพระโพธิสัตว์แป๊ะโค้ว ที่โรงเจฮะเฮงตั้ว ทางฝั่งตลาดใหม่ได้ สำหรับประวัติขององค์เซียนมีอยู่ว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อนท่านได้เดินทางมาจากเมืองจีนมาพำนักอยู่ในแถบลาดกระบังนี้ ท่านเป็นผู้ยึดมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการถือศีลกินเจ สวดมนต์ภาวนาอยู่ในโรงเจแห่งนี้จนได้ฌานสมาบัติ ละสังขารไปในขณะกำลังนั่งสมาธิอยู่ ร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านยังคงมีผู้มาเคารพกราบไหว้กันที่โรงเจแห่งนี้
จากตลาดหัวตะเข้ หากนั่งเรือล่องคลองประเวศฯ มาทางทิศตะวันออก ราวๆ 8 กม. ก็จะมาถึง “ตลาดหลวงแพ่ง” ตลาดเก่าแห่งที่สองที่ฉันได้มาเยือน
แม้จะอยู่ริมคลองประเวศฯ แต่ตลาดหลวงแพ่งกลับได้ชื่อตาม “คลองหลวงแพ่ง” คลองขุดที่ตัดขวางมาบรรจบเป็นสามแยกที่คลองประเวศฯ เนื่องจากตลาดตั้งอยู่บริเวณสามแยกปากคลองหลวงแพ่ง จึงได้ชื่อว่า “ตลาดหลวงแพ่ง” ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าหลวงแพ่งคือผู้ที่ดำเนินการขุดคลองนั่นเอง นอกจากนั้น คลองหลวงแพ่งยังเป็นเส้นแบ่งระหว่างกรุงเทพฯ กับฉะเชิงเทราอีกด้วย
ที่นี่ฉันได้เจอ “เจ๊ไฝ” เพ็ญจันทร์ วัฒนกิจ ทายาทเจ้าของตลาดโรงกระดาน 33 ห้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลวงแพ่ง เจ๊ไฝเล่าว่า ตลาดหลวงแพ่งเรียกรวมตลาดห้องแถวทั้งสองฝั่งคลองประเวศฯ ฝั่งตลาดทางทิศใต้มีร้านค้ามากมายกว่า 100 ห้อง ค้าขายทั้งของกินของใช้ เคยเฟื่องฟูถึงขนาดมีร้านทองนับสิบร้าน มีเรือมาจอดต่อๆ กันกว่าครึ่งคลอง คึกคักทั้งกลางวันกลางคืน ส่วนตลาดฝั่งทิศเหนือ มีห้องแถว 33 ห้อง เรียกตลาดโรงกระดาน 33 ห้อง อากงหรือคุณปู่ของเจ๊ไฝเป็นคนสร้างขึ้น โดยเปิดเป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ทั้งเสา ไม้รวก ไม้ไผ่ ตะปู ฯลฯ ชื่อว่าโรงกระดาน ชือเต็กจือ ปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ในสภาพร้าง แต่ยังหลงเหลือป้ายชื่อและโครงสร้างไว้ให้ระลึกถึง
เจ๊ไฝเล่าต่อว่า อายุอานามของตลาดหลวงแพ่งก็ราว 60-70 ปี ผ่านยุครุ่งเรืองมาจนถึงยุคซบเซาหลังจากที่โรงไม้แปรรูปปิดกิจการไป อีกทั้งมีการคมนาคมทางบกที่สะดวกสบายกว่าเข้ามาแทน คนจึงใช้เรือสัญจรน้อยลง เป็นเหตุให้ตลาดต้องเงียบเหงา แต่ชาวชุมชนคลองหลวงแพ่งที่อยู่อย่างเงียบเหงามานานต่างอยากเห็นความมีชีวิตชีวา จึงช่วยกันฟื้นฟูตลาดกลับคืนมาดังเดิม แม้ไม่ถึงกับคึกคักอย่างแต่ก่อน แต่ก็ขอให้มีคนมาเยี่ยมเยียนบ้างก็พอใจ
สำหรับฉันแล้วตลาดหลวงแพ่งนับว่าเป็นตลาดที่น่ารักไม่น้อย บรรยากาศเป็นเรือนไม้ห้องแถวริมน้ำแบบเดียวกับตลาดหัวตะเข้ ความคึกคักอาจจะยังสู้ไม่ได้เพราะเพิ่งเริ่มฟื้นฟูกันได้ไม่นาน แต่ก็มีความน่ารักซ่อนอยู่ในความเก่า ฉันเดินเล่นอยู่ที่ฝั่งตลาดโรงกระดาน ได้ชิมของอร่อยราคาน่าประทับใจอย่าง “ก๋วยเตี๋ยวเตี่ย” ก๋วยเตี๋ยวหมูรสเด็ดที่ขายราคา 15 บาท มาแต่ไหนแต่ไร ได้ชิมเต้าหู้ทอด เผือกทอด บ๊ะจ่างสดรสชาติดี ได้ชมบ้านเจ๊ไฝทีเปิดเรือนไม้ริมน้ำเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้มาพักกันด้วย และเมื่อเดินข้ามสะพานมายังฝั่งตรงข้ามก็ได้เห็นร้านขายยาเก่าแก่ที่ขายทั้งยาจีน ยาไทย แผนโบราณและแผนปัจจุบัน แถมยังมีเครื่องบดยาแบบโบราณที่ยังใช้อยู่จนปัจจุบันอยู่ด้านหลังร้านอีกด้วย
นอกจากจะได้เดินเล่นถ่ายรูปสบายๆ แล้ว หากใครอยากชมทิวทัศน์สองฝั่งคลอง ที่นี่ก็มีบริการนั่งเรือเที่ยว แถมยังเป็นเรือแบบพิเศษคือ “เรือกอและ” ที่นำมาดัดแปลงให้มีหลังคา และเปลี่ยนลวดลายของภาคใต้ เป็นแบบภาคกลาง ด้วยสีทองที่ใช้ในงานเบญจรงค์ ล่องกันแบบชิลๆ ชมวิวบ้านเรือนริมคลองในราคาเบาๆ เพียงคนละ 50 บาท
ทั้งสองแห่งเป็นตลาดเก่าที่ค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาด้วยแรงกำลังของคนในชุมชน แต่จะกลับคืนมีชีวิตได้มากแค่ไหนนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ มีส่วนช่วยอย่างมาก ดังนั้นใครที่ชื่นชอบบรรยากาศเก่าๆ ของตลาดโบราณริมน้ำต้องลองไปสัมผัสกันดูสักครั้ง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชุมชนต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“ตลาดหัวตะเข้” ตั้งอยู่บนถนนลาดกระบัง ซอยลาดกระบัง 17 ด้านหลังตลาดสดอุดมผล แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 10.00-16.00 น. และทุกวันเสาร์อาทิตย์ต้นเดือนจะมีตลาดนัดศิลปะ ส่วน “ตลาดหลวงแพ่ง” ตั้งอยู่บนถนนหลวงแพ่ง ซอยหลวงแพ่ง 5 เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 10.00-16.00 น.