xs
xsm
sm
md
lg

สัมพันธ์“ไทย-อิหร่าน” 400 กว่าปี...มีดีให้สัมผัสที่อยุธยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดเปอร์เซียกับข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย
อิหร่าน”(หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”) เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำแห่งตะวันออกกลางที่ในอดีตครองความยิ่งใหญ่ในภูมิภาค และรู้จักกันดีในฐานะอาณาจักร “เปอร์เซีย

ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเปอร์เซียกับสยามประเทศน่าจะมีสัมพันธ์ทำการค้ากันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย โดยจากข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งนักปราชญ์ด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า “บอซัร” หรือ “บาซาร์” ที่แปลว่า “ตลาด” และคำว่า “เหรียญ” ที่ไทยและเขมรใช้เรียกเงินตรานั้นก็มาจากคำว่า “เรียล” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย

นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบ บ่งบอกว่าพ่อค้าชาวเปอร์เซียเคยติดต่อค้าขายกับอาณาจักรจามปาและลังกาสุกะ ตลอดทั้งหมู่เกาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ศิลปวัตถุแบบเปอร์เซีย
อย่างไรก็ดีจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีข้อมูลชัดเจนได้ระบุวล่า อาณาจักรเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กับสยามประเทศมากว่า 400 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – 2148) เมื่อเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของ เฉกอะหมัด กูมี และน้องชายคือ มะหะหมัด ซาอิด ได้เข้ามาเทียบท่าที่ป้อมเพชร ตำบลท้ายคู โดยในจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค ระบุว่า “เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศ เมี่อจุลศักราช 964 ปีขาล จัตวาศก” ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2145 ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับอิหร่านนั้นได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

อนึ่งการผูกสัมพันธ์กับเปอร์เซียนั้น ชาวเปอร์เซียได้เข้ามาอาศัยขยายชุมชนและมีบทบาททางการค้า-การเมืองในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น บางคนดำรงตำแหน่งขุนนางระดับสูง และได้เป็นเจ้าเมืองสำคัญหลายเมืองพร้อมกันนั้น วัฒนธรรมเปอร์เซียก็มีอิทธิพลต่อคนไทยไม่น้อย โดยเฉพาะในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาทิ ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์ หรือเสื้อครุยของขุนนางในราชสำนักอยุธยา, “ลอมพอก” หรือหมวกยอดแหลมสูง และฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นรูปแบบที่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาโดยชาวเปอร์เซีย และยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
อยุธยา เมืองมรดกโลกที่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซียมากว่า 400 ปี
และด้วยความสัมพันธ์อันยาวนานของ 2 ประเทศ ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงกำหนดจัดงาน“อยุธยามรดกโลก เทศกาลความสัมพันธ์อยุธยา-เปอร์เซีย” ขึ้นที่ลานหน้าหอศิลป์แห่งชาติหรือศาลากลางหลังเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 22 - 24 มิถุนายน ศกนี้ ตั้งแต่เวลา 11.00 - 22.00 น.

งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อย้อนรำลึกถึงความสัมพันธ์อันยาวนานและแน่นแฟ้นที่มีต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ ในการจัดการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ นำคณะนักดนตรี นักแสดงที่มีชื่อเสียง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญสาธิตงานหัตถกรรมจากประเทศอิหร่านราว 50 คนมาร่วมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกที่ขึ้นชื่อ อาหารหลากประเภท การจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชนเผ่าต่างๆ นิทรรศการประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว ฯลฯ

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้รายละเอียดว่า “ภายในงานจะผสมผสานบรรยากาศของอยุธยาและเปอร์เซียอย่างกลมกลืน โดยมีการแสดงต่างๆ มากมายที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของทั้งสองชาติ จัดให้แสดงสลับกันไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้มาร่วมงาน
วิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าฯอยุธยา
“ไฮไลท์ของงานมีทั้งการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด “เฉกอะหมัด ราษฎร์รัฐสัตย์ซื่อถือความภักดี” ที่นำเสนอเรื่องราวของเฉกอะหมัด กุมมี หรือออกญาบวรราชนายก ผู้เป็นต้นตระกูล “บุนนาค” ที่มีเกียรติประวัติในการสร้างคุณประโยชน์และรับใช้บ้านเมืองตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน การแสดงดนตรีพื้นเมือง และการแสดงทางวัฒนธรรมประจำชาติของอิหร่าน พร้อมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมของอยุธยา เช่น การละเล่น กลองยาว ศิลปะการต่อสู้โดยสำนักดาบวังหน้า แม่ไม้มวยไทย การแสดงหุ่นสาย โดยคณะหุ่นสายเสมาที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหุ่นโลกที่สาธารณรัฐเช็กถึง 2 ปีซ้อน

“นอกจากนี้ยังมีการสาธิตงานศิลปหัตถกรรม เช่น การทอพรม การแกะสลักงานไม้-งานหิน การวาดภาพจิตรกรรมแบบอิหร่าน ส่วนของอยุธยามีการสาธิตการสักยันต์ การตีดาบ การร้อยมาลัย และการสานปลาตะเพียน เป็นต้น พร้อมทั้งบูธฉายภาพยนตร์ของอิหร่าน เช่น ‘7 โฉมหน้าแห่งอารยธรรมอิหร่าน’ เป็นสารคดีย้อนยุคสู่อดีตเมื่อหลายพันปีก่อน และ ‘อิหร่านวันนี้’ รวมถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้า ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก อาหารเครื่องดื่มนานาชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองชนชาติ”
มุศฏอฟา นัจญาริยอน ซอเดะห์
ด้าน มุศฏอฟา นัจญาริยอน ซอเดะห์ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม และผู้อำนวยการ ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า

“เราได้คัดสรรคณะศิลปิน นักแสดง และผู้เชี่ยวชาญการแสดงศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของอิหร่านมาร่วมงานนี้เป็นพิเศษเพื่อให้งานนี้มีคุณค่าและสมบูรณ์แบบในทุกด้าน โดยเตรียมการแสดงที่ ไม่เคยจัดมาก่อนในประเทศไทย เช่น “ซาราคส์” (Sarakhs) ที่เป็นการแสดงเต้นรำแบบพื้นบ้าน “ซูร์คาเนฮ์” (Zurkhaneh) กีฬาพื้นเมืองที่เป็นการออกกำลังกายตามประเพณีดั้งเดิม มีการให้จังหวะด้วยการตีกลองและขับร้องบทกวีประกอบการใช้ศิลปะมวยปล้ำ พร้อมทั้งมีอุปกรณ์หลายประเภท เช่น ไม้ โล่ สายเหล็กร้อย กระบองขนาดต่างๆ เพื่อฝึกร่างกายให้แข็งแรงอดทน เป็นนักต่อสู้ที่ดีเช่นเดียวกับนักรบผู้มีชื่อเสียงของเปอร์เซียในอดีต”

ในส่วนของดนตรีพื้นเมือง จะนำมาแสดง 2 วงที่มีชื่อเสียงจากการประกวดในต่างประเทศ ได้แก่ “ซะห์รอ” (Sahra) เน้นการตีกลองแบบต่างๆ และ “บอมดาด มัชชาด” (Bamdad Mashad) เป็นวงเครื่องสายผสม เครื่องดนตรีของเปอร์เซีย เช่น “ไน” (Nay) หรือขลุ่ย “ทาร์” (Tar) มีลักษณะคล้ายพิณ “ซันตูร์” (Santur) ให้เสียงคล้ายขิม และกลอง “ทอมบัค” (Tombak) เป็นต้น บทเพลงที่ร้องประพันธ์โดยศิลปินแห่งชาติของอิหร่านมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า และพระเจ้าทรงให้ความเมตตาแก่มนุษย์ โดยประทานธรรมชาติและทรัพยากรต่างๆ
ลวดลายวิจิตรในพรมเปอร์เซียที่มีชื่อก้องโลก
สำหรับงานศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ พรมเปอร์เซีย ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดในโลก และมีประวัติอันยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 การทอพรมด้วยมือเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำกันอย่างแพร่หลาย มีกรรมวิธีในการทอแตกต่างกันไปและมีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่ โดยถือเป็นสัญลักษณ์และภูมิปัญญาด้านศิลปะของชาวเปอร์เซีย เครื่องปั้นและเครื่องเคลือบดินเผา งานแกะสลักไม้ การฝังลวดลายลงในเนื้อไม้ การประดิษฐ์ลวดลายลงบนภาชนะโลหะ การทำภาพดุนนูนบนทองเหลือง นอกจากนี้ยังมีงานหล่อโลหะขึ้นสายลายเส้นโดยใช้ลวดเงินเป็นส่วนประกอบ ที่เรียกว่า “ฟิลิครี” (Filigree)
เชโลกะบาบ
ส่วนภาพจิตรกรรมของศิลปินชาวอิหร่านก็มีความประณีตงดงามมาก ซึ่งงานศิลปหัตถกรรมดังกล่าวจะมีทั้งการสาธิต การจัดแสดง และออกร้าน หนึ่งในอาหารยอดนิยมของอิหร่านที่จะมีให้ลิ้มรสในงานนี้ คือ “เชโลกะบาบ” (Jhelo Kabab) เป็นข้าวบัสมาติที่รับประทานกับเนื้อแกะย่างปรุงรสคลุกเคล้ากับเครื่องเทศ สินค้าขึ้นชื่อที่นำมาจำหน่ายได้แก่ คาเวียร์ ซึ่งเป็นผลิตผลจากปลาสเตอร์เจียน 3 ชนิด คือ เบลูกา อสิตรา และเชฟโรกา ทางชายฝั่งทะเลตอนใต้ของทะเลแคสเปียน อินทผาลัม ลูกเกด อัลมอนด์ พิสตาชิโอ ส่วนชาของอิหร่านมีความพิเศษด้วยการอบกลิ่นหอมของสมุนไพรและเครื่องเทศ

“อยุธยากับเปอร์เซียไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตหรือการค้าเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดและหล่อหลอมทางศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี ฯลฯ ที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนในวิถีชีวิตของชาวเปอร์เซียที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนาน โดยร่วมช่วยรักษาราชบัลลังก์และสร้างความรุ่งเรืองให้แผ่นดินไทยด้วย” ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น