xs
xsm
sm
md
lg

สีสัน “ปอยส่างลอง” อีกหนึ่งมุมมองของ “เมืองปาย” (+คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขบวนแห่ส่างลองของเมืองปาย
ถ้าให้เทียบบรรยากาศของอำเภอปายทั้งสามฤดู หลายคนอาจชอบปายฤดูหนาวตรงที่อากาศเย็นสบายเคล้าสายหมอก บางคนอาจชอบปายฤดูฝนอันเขียวชอุ่มสดชื่น แต่ถ้าชอบสีสันและความมีชีวิตชีวาแล้วละก็ ต้องมาเยือนปายฤดูร้อน ที่ทั้งมีสีสันและความสนุกสนานด้วยเทศกาล “งานประเพณีปอยส่างลอง” ประเพณีดีงามของชาวไทใหญ่ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้

ปกติแล้วงานประเพณีปอยส่างลองจะจัดงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แต่สำหรับงานปอยส่างลองที่อำเภอปาย ที่จัดขึ้นเมื่อ 4-6 เมษายน ที่ผ่านมา แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็น่ารักและมีสีสันจากความร่วมมือระหว่างคนในชุมชนไม่แพ้งานใหญ่ๆ เช่นกัน
ชาวปายร่วมฟ้อนรำในขบวนแห่กันอย่างคึกคัก
“ประเพณีปอยส่างลอง” คือการบวชเณรของชาวไทใหญ่ คำว่าปอยส่างลองเป็นภาษาไทใหญ่ โดย “ปอย” หมายถึง งาน “ส่าง” เพี้ยนมาจาก สางหรือขุนสาง หมายถึง พระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่าเจ้าส่าง ซึ่งหมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจาก “อลอง” หมายถึง หน่อกษัตริย์ หรือราชบุตร

โดยรวมแล้วปอยส่างลองหมายถึงการบวชเณรโดยเลียนแบบพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช ดังนั้นการกระทำทุกอย่างในช่วงที่เป็นส่างลองก็จะเสมือนว่าเป็นการปฏิบัติต่อกษัตริย์ ตั้งแต่การแต่งกายที่แต่งตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดาทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศีรษะสวมชฎายอดแหลมหรือโพกด้วยผ้าแพรและประดับด้วยดอกไม้ จะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องเดินเอง เพราะจะมี “ตะแปส่างลอง” หรือ “ตะแป” เป็นพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลให้ส่างลองขี่คอไม่ยอมให้เท้าแตะดิน มีคนคอยกางร่ม หรือ “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกันแดดให้ ทั้งนี้คงเป็นกุศโลบายเพื่อไม่ให้ส่างลองซึ่งยังเป็นเด็กน้อยซุกซนจนได้รับอันตรายก่อนที่จะได้บวช
ครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชาย ก็ได้แต่งหน้าสวยๆบ้างเหมือนกัน
ลุงยอด จองซอย ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวถึงงานประเพณีปอยส่างลองว่า ชาวไทใหญ่เชื่อกันว่าการบวชส่างลองนั้นมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระ เพราะเด็กที่บวชนั้นยังมีจิตใจที่บริสุทธิ์ และการบวชส่างลองถือเป็นการสนับสนุนบุตรหลานได้บรรพชาในพุทธศาสนา พ่อแม่จึงยอมเสียสละสิ่งของเงินทองอันเป็นโลกียทรัพย์สนับสนุนให้บุตรหลานพบกับอริยทรัพย์ในพุทธศาสนา

ค่าใช้จ่ายในการบวชปอยส่างลองนั้นก็ไม่ใช่น้อยๆ ทำให้ครอบครัวคนยากจนที่มีลูกชาย แม้อยากบวชก็ไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ครอบครัวฐานะดีแต่ไม่มีลูกชายให้บวชก็มีเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงเกิดมี “พ่อข่าม” “แม่ข่าม” หรือผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์ในการบวชให้แก่เด็กชายที่ไม่มีทุนทรัพย์แต่ต้องการบวชส่างลอง เรียกง่ายๆ ว่า ฝ่ายหนึ่งได้บวช ฝ่ายหนึ่งได้บุญ วิน-วิน แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย
พ่อแม่พี่น้องช่วยกันแต่งตัวให้ส่างลอง
สำหรับงานประเพณีปอยส่างลองที่อำเภอปายในครั้งนี้ มีส่างลองมาร่วมบวชมากถึง 42 องค์ บ้างเป็นเด็กชายในอำเภอปาย บ้างเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง และบ้างก็เดินทางมาไกลจากฝั่งประเทศพม่า มาร่วมพิธีปอยส่างลองกันที่วัดป่าขาม ในตัวอำเภอปาย

เราได้มีโอกาสเห็นพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้สัมผัสได้ถึงความรักและความชื่นใจของพ่อแม่และญาติพี่น้องของส่างลอง ผ่านทางการบรรจงตกแต่งใบหน้า เขียนคิ้วเขียนตา แต่งแต้มสีสันบนแก้มและปาก และช่วยกันแต่งตัวให้ส่างลองด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ ด้วยความตั้งใจ จนเด็กชายกลายเป็นกษัตริย์ตัวน้อยเตรียมบวชให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์
พ่อแม่ป้อนข้าวให้ส่างลองด้วยกับข้าว 32 อย่าง
นางแสง หม่องแสง แม่ของ ด.ช.ตะวัน หม่องแสง อายุ 8 ขวบ หนึ่งในส่างลองที่มาร่วมบวช กล่าวด้วยความปีติว่า “มีความสุขมากที่เห็นลูกได้บวช ได้มาแต่งตัวให้ลูกก็รู้สึกมีความสุข และครั้งนี้ลูกเป็นคนขอว่าอยากบวชเอง เพราะทุกปีจะถามลูกว่าอยากบวชไหม? ลูกจะบอกว่าไม่อยากเพราะกลัวตอนต้องขึ้นขี่คอตะแป เราต้องถามความสมัครใจ ถ้าไม่อยากบวชก็ไม่บังคับ แต่ปีนี้ลูกบอกเองว่าอยากบวช ซึ่งคนไทใหญ่ถ้ามีลูกชายก็จะให้บวชทุกคน หรือบางคนไม่มีเงินแต่อยากบวชก็จะให้คนอื่นช่วยอุปถัมภ์”

ส่วนมือแต่งหน้าให้ ด.ช.ตะวัน คือน้องนุ้ย พี่สาวซึ่งเป็นญาติ โดยวันนี้ได้นำเครื่องสำอางมาเองครบชุด และตั้งใจแต่งหน้าในโทนสีชมพูให้เข้ากับชุด ครั้งนี้เพิ่งเคยแต่งหน้าให้ส่างลองเป็นครั้งแรก และรู้สึกว่าแต่งหน้าส่างลองยากกว่าแต่งหน้าตัวเอง เพราะต้องแต่งให้มากกว่าปกติ คิ้วก็ต้องโก่ง ตาต้องกรีด

ด้าน ด.ช.ตะวัน ที่ตอนนี้ถูกจับแต่งหน้าแต่งตัวจนสวยงาม พูดอย่างอายๆ ว่ารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่างลองในวันนี้
ส่างลองตัวน้อยกำลังถูกแต่งแต้มลวดลายบนใบหน้า
หลังจากแต่งหน้าแต่งตัวเสร็จ ส่างลองจะต้องเข้าพิธีอีกหลายอย่างก่อนจะได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยจะมีพิธีต่างๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนบวช 3 วัน การแต่งตัวในวันแรกถือเป็น “วันรับส่างลอง” จะมีพิธีการอาบน้ำเงิน อาบน้ำทอง แต่งหน้าแต่งตัวกันตั้งแต่เช้ามืดอย่างที่กล่าวมาแล้ว ก่อนที่ส่างลองทั้งหมดจะขึ้นขี่คอตะแปแห่ไปยังวัดหลวงเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกราบคารวะขอขมาลาโทษศาลเจ้าเมือง รวมถึงต้องไปนมัสการพระผู้ใหญ่ในเมือง อีกทั้งในวันนี้ ส่างลองยังจะได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านญาติเพื่อขอขมาลาโทษ ส่วนบ้านใดที่ส่างลองมาเยี่ยมก็จะถือว่าเป็นโชคเป็นบุญ จึงมีการเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารเครื่องดื่ม รวมทั้งมีการผูกข้อมือสู่ขวัญส่างลอง

วันที่สอง คือ “วันข่ามแขก” หรือวันรับแขก ซึ่งในวันนี้จะมีพิธีสำคัญคือพิธีการแห่ครัวหลู่ หรือการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่างๆ โดยบรรดาญาติพี่น้องและผู้ที่มีศรัทธาจะมาร่วมกันถือร่วมกันหามเครื่องไทยธรรมเดินนำหน้าขบวนส่างลองที่ขี่คอตะแป ส่วนบรรดาตะแปต่างก็เดินโยกย้ายไปตามจังหวะดนตรีของกลองและฆ้องที่บรรเลงอย่างคึกคัก ทำเอาส่างลองต้องใช้ความสามารถพิเศษในการทรงตัวบนคอของตะแป ส่างลองบางคนสนุกสนานยิ้มร่าอยู่บนคอตะแป แต่บางคนก็หน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความจุกเมื่อตะแปเขย่าตัวแรงเกินไป
ตะแปฝรั่งขอลองแบกส่างลองขึ้นคอ
ขบวนแห่ครัวหลู่นี้เป็นขบวนใหญ่และจะเดินแห่วนรอบเมือง ตลอดทางจะมีผู้คนออกมาต้อนรับทักทายขบวนแห่ส่างลอง บางคนหยิบกล้องมาถ่ายรูป บางคนเตรียมข้าวตอกดอกไม้มาโปรยรับส่างลอง บางคนออกมาร่วมฟ้อนรำไปกับขบวนอย่างสนุกสนาน ไม่เพียงคนปายเท่านั้นที่สนุกสนานกับเทศกาลนี้ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองปายก็ยังเข้ามาร่วมขบวนกันอย่างสนุกสนาน ต่างชี้ชวนกันดูและถ่ายรูปความน่ารักแปลกตาของส่างลอง หลายคนมาร่วมฟ้อนรำในขบวน และบางคนที่ประทับใจกับประเพณีนี้มากจนต้องขอมีส่วนร่วมเป็นตะแปรับเชิญแบกส่างลองขึ้นขี่คอร่วมขบวนด้วย ซึ่งภาพเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์ของเทศกาลปอยส่างลองของเมืองปายที่หาไม่ได้จากที่อื่น

นอกจากนั้น ในวันนี้ยังมีการการเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบด้วยกับข้าว 32 อย่าง โดยพ่อแม่จะต้องป้อนข้าวและกับทั้ง 32 อย่างนี้ให้ครบ จากนั้นจึงให้ส่างลองกินข้าวเองจนอิ่ม เหตุที่ต้องมีกับข้าว 32 ชนิด นั้นเชื่อว่าให้เท่ากับขวัญของคนเราซึ่งมี 32 ขวัญนั่นเอง ส่วนในช่วงค่ำนั้นจะมีอีกหนึ่งพิธีที่สำคัญ นั่นคือการทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง คล้ายกับการทำขวัญนาค เพื่อเป็นการเรียกขวัญให้ศีลให้พรแก่ส่างลอง
พระอุปัชฌาย์ช่วยเณรน้อยห่มจีวร
และแล้วก็มาถึงพิธีอันสำคัญในวันสุดท้ายคือการบรรพชาเป็นสามเณร บรรดาส่างลองจะเปล่งวาจาขอบรรพชากับพระอุปัชฌาย์ ก่อนจะเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มจากชุดกษัตริย์มาเป็นจีวร น่าแปลกที่เมื่ออยู่ในผ้าเหลือง ความซุกซนแบบเด็กๆ ของส่างลองก็เปลี่ยนมาเป็นความสงบนิ่ง สร้างความปลื้มปิติให้แก่พ่อแม่ได้อิ่มบุญกันถ้วนหน้า

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเพณีดีงามของเมืองปายที่ยังคงรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ปีนี้งานจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน แต่ความประทับใจนั้นมีมากจนอยากจะชวนทุกคนไปร่วมงานปอยส่างลองอีกครั้งในหน้าร้อนปีหน้านี้
สงบนิ่งเมื่ออยู่ในผ้าเหลือง
* * * คลิกชมสีสันปอยส่างลองในขบวนแห่จาก Clip Video ได้ที่นี่


ชมภาพบรรยากาศน่ารักๆ ของส่างลองเพิ่มเติมได้ใน
* * * สีสันจากส่างลองตัวน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น