โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัด “บึงกาฬ”
ที่ผ่านมาเคยแต่ไปอำเภอบึงกาฬ(เมื่อครั้งสมัยอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย) แต่ยังไม่เคยไปจังหวัดบึงกาฬเลยสักครั้ง
บึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของไทย ยกฐานะมาจากอำเภอในจังหวัดหนองคาย ที่แม้จะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักของภาคอีสาน แต่ก็เป็นเมืองสงบงามริมฝั่งโขงที่มีสิ่งน่าสนใจให้สัมผัสกันพอตัว
โดยเฉพาะกับผู้ที่ชื่นชอบในรูปแบบการทัวร์ธรรมะ ไหว้พระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ทางจังหวัดบึงกาฬได้จัดกิจกรรมสักการะ “7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์มิ่งมงคล เมืองบึงกาฬ”ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ที่มาเยือนจังหวัดนี้
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ล้วนตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองทั้งหมด มีระยะห่างไม่ไกลกัน สามารถเดินทางไปสักการะให้ครบได้อย่างไม่ยากเย็น โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ไล่เรียงไปตามเส้นทางแบบไม่ย้อนไปย้อนมาเหมือนในโบชัวร์ที่ทำแจก ซึ่งผมขอเริ่มต้นด้วยการไปไหว้“หลวงพ่อพระใหญ่” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” ที่วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ ต.บึงกาฬ
หลวงพ่อพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยล้านช้าง หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว(5 ฟุต 4 นิ้ว) ดั้งเดิมเป็นพระพุทธรูปทองสำริดที่มีความงดงาม แต่ต่อมามีการพอกปูนฉาบไว้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการอำพรางจากเหตุการณ์สงคราม
ตามประวัติไม่มีหลักฐานระบุชัดว่าหลวงพ่อพระใหญ่สร้างขึ้นในสมัยใด มีเพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านระบุว่า ได้มีการพบองค์หลวงพ่อพระใหญ่ในบริเวณป่าทึบเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว(บางความเชื่อก็ว่าท่านลอยน้ำมาติดที่ริมน้ำโขง)
หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองศูนย์รวมจิตใจของชาวบึงกาฬ และชาวจังหวัดใกล้เคียงรวมไปถึงในสปป.ลาว ที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงแถบนี้
ทุกๆปีจะมีการจัดงานประเพณีทำบุญหลวงพ่อพระใหญ่ขึ้น ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นงานประเพณีบุญเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ที่จะมีการถวายปราสาทผึ้งด้วย ครั้งที่สองเป็นประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ จัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์
ปัจจุบันโบสถ์วัดโพรารามที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่กำลังอยู่ในช่วงการบูรณะ โบสถ์แห่งนี้ให้เฉพาะผู้ชายเข้าได้เท่านั้น ส่วนผู้หญิงให้กราบไหว้สักการะบูชาที่หน้าโบสถ์
สำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อพระใหญ่นั้นมีมากหลาย โดยผู้ที่มากราบไหว้องค์หลวงพ่อพระใหญ่ มีความเชื่อว่าจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีตำแหน่งการงานที่ใหญ่ขึ้น มีโชคลาภแคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านที่นี่หลังบนบานสมหวังแล้ว มักนิยมแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟน้อย(บั้งไฟลูกเล็ก) 9 ลูก ยิงข้ามไปยังฝั่งโขง นับเป็นการแก้บนที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอึกแห่งหนึ่ง
จากวัดโพธารามผมเข้าเมืองมามาสักการะ“ศาลเจ้าแม่สองนาง”ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ
ศาลเจ้าแม่สองนาง เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองบึงกาฬเคียงคู่กับหลวงพ่อพระใหญ่ ดังที่ปรากฏใน 2 วรรคแรกของคำขวัญจังหวัดบึงกาฬว่า “สองนางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อใหญ่...”
ผู้เฝ้าศาลหรือจ้ำเล่าตำนานความเชื่อท้องถิ่นให้ผมฟังว่า เจ้าแม่สองนางเป็น 2 พี่น้องธิดาของกษัตริย์ประเทศลาว มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นว่า “บัวบน”(พี่)กับ “บัวบาน”(น้อง) ทั้งคู่อพยพหนีภัยสงครามมาตามลำน้ำโขงและประสบอุบัติเหตุเรือล่มเสียชีวิต ก่อนที่ทั้งคู่จะได้กลายเป็นพญานาคีทำหน้าที่คอยปกปักรักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง
“เชื่อกันว่าพญานาคจับ 2 พี่น้องเอาไปทำเมีย”
จ้ำบอกอย่างนั้น ก่อนที่ผมจะยิงคำถามกลับไปด้วยความฉงนในรูปสลักหินปิดทองของเจ้าแม่ 2 นางภายในศาลว่า “องค์ไหนคือองค์พี่ องค์ไหนเป็นองค์น้อง”
“อ๋อ องค์ขวามือเป็นพี่(องค์ซ้ายมือเมื่อมองเข้าไป) ส่วนองค์ซ้ายมือเป็นน้อง(องค์ขวามือเมื่อมองเข้าไป)”
ทุกๆปีในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายนจะมีการจัดงานสักการะเจ้าแม่สองนางขึ้น ส่วนใครที่มาสักการะเจ้าแม่สองนาง เชื่อว่าจะทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย โดยเฉพาะกับผู้ที่เดินทางทางน้ำ เพราะเจ้าแม่สองนางได้ชื่อเป็นเจ้าแม่แห่งลุ่มน้ำโขงไล่ไปตั้งแต่บึงกาฬ หนองคาย ถึงมุกดาหาร
จากนั้นผมเดินทางไปสักการะ “พระพุทธโสภณมงคลใต้”สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่สามกันต่อที่ “วัดศรีโสภณธรรมทาน” หรือ “วัดใต้” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับที่ทำการเทศบาลตำบลบึงกาฬ
พระพุทธโสภณมงคลใต้ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยล้านช้าง ปางมารวิชัยเนื้อทองสำริดที่มีพุทธลักษณะงดงาม(ลักษณะเดียวกับหลวงพ่อพระใสพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย) ชาวบ้านต่างเรียกขานท่านว่า “พระสุก” ที่มาจากความผาสุก ทุกๆปีในช่วงสงกรานต์จะมีการแห่พระสุกรอบเมืองเพื่อให้ชาวบ้านสรงน้ำ
นอกจากพระสุกแล้วในโบสถ์วัดใต้ยังมีพระพุทธรูปโลหะสมัยล้านช้าง อีก 3 องค์ประดิษฐานอยู่ในบุษบก(พระสุกอยู่ด้านหน้านอกบุษบก) ซึ่งต่างมีพุทธลักษณะงดงามเทียบเคียงกัน โดยองค์พระสุกนั้นมีความเชื่อว่าหากใครได้มากราบไหว้ จะอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและมีโชคลาภ
จากวัดใต้ผมมาต่อยัง “วัดกลาง” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน วัดกลาง มีชื่อทางการว่า “วัดบุพราชสโมสร” ภายในวัดแห่งนี้มี “หลวงพ่อวัดกลาง” พระประธานในโบสถ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 4
หลวงพ่อวัดกลาง เป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะล้านช้าง องค์พระก่ออิฐถือปูน มีหน้าตักกว้าง 59 นิ้ว เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ชาวบึงกาฬเคารพเลื่อมใสมาก โดยมีความเชื่อว่าจะประสบความเจริญก้าวหน้าในการงาน และแคล้วคลาดปลอดภัย
หลังไหว้หลวงพ่อวัดกลางแล้วผมเดินทางต่อไปยัง “วัดสามัคคีอุปถัมภ์” หรือ “วัดภูกระแต” ที่ปัจจุบันมีหลวงพ่อทองพูล สิริกาโม(พระญาณสิทธาจารย์)เป็นเจ้าอาวาส
หลวงพ่อทองพูล เป็นหนึ่งในเกจิดังแห่งภาคอีสาน ท่านเป็นพระสายกรรมฐานรุ่นแรก ศิษย์อาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ เป็นพระที่มีเมตตาบารมีสูงที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพศรัทธา ซึ่งผมโชคดีมากที่ในวันนั้นไปแล้วได้พบท่าน อีกทั้งยังได้รับการประพรมน้ำมนต์จากท่านอีกนับเป็นสิริมงคลอย่างสูงทีเดียว
ขณะที่ภายในศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอยู่หลายองค์ หนึ่งในนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 5 อยู่นั่นก็คือ “พระสังกัจจายน์” หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ที่มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นแตกต่าง ซึ่งหลวงพ่อทองพูลบอกว่าในเมืองไทยมีพระสังกัจจายน์แบบนี้เพียง 4 องค์เท่านั้น
พระสังกัจจายน์ องค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านนิยมมาบนบานขอพร ให้เจริญรุ่งเรืองในด้านการค้าขาย อยู่เย็นเป็นสุข
ไปต่อกันที่ “วัดป่าบ้านพันลำ” (ต.วิศิษฐ์) วัดป่าที่น่ายลไปด้วยวิวทิซทัศน์ริมแม่น้ำโขง และร่มรื่นไปด้วยแมกไม้น้อยใหญ่ ต้นไม้หลากหลายต้นมีหลักธรรมคำสอนติดเป็นคติเตือนใจ
วัดป่าบ้านพันลำ เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ภายในมี “หลวงพ่อศิลา” ที่ประทับอย่างสง่าขรึมขลัง อย่างกลางแจ้งท่ามกลางแวดล้อมของต้นไม้ใหญ่ หลวงพ่อศิลา เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร แกะสลักจากหิน มีหน้าตักขนาด 40 นิ้ว เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนี้ โดยมีความเชื่อว่าใครที่มากราบไหว้สักการะบูชาองค์หลวงพ่อ จะได้โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย จากภัยอันตรายต่างๆ
มาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 7 ลำดับสุดท้าย ที่ “วัดอาฮงศิลาวาส” หรือ “วัดอาฮง”ที่ตั้งอยู่ที่บ้านอาฮง ต.ไคศี
วัดอาฮง เป็นวัดริมแม่น้ำโขงที่มีทิวทัศน์อันสวยงาม ตั้งอยู่ติดกับแก่งอาฮง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสะดือแม่น้ำโขงที่ถือเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเชื่อกันว่ามีเส้นทางของพญานาคหรือรูพญานาคอยู่บริเวณนี้
วัดอาฮง เป็นหนึ่งในจุดชมบั้งไฟพญานาคของจังหวัดบึงกาฬ ภายในวัดโดดเด่นไปด้วยการก่อสร้างวัดสอดรับไปกับสภาพพื้นที่ที่มีก้อนหินขนาดยักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับสุดท้ายที่วัดแห่งนี้ก็คือ “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” พระพุทธรูปที่งดงามลักษณะเดียวกันกับพระพุทธชินราช ซึ่งเชื่อกันว่าใครที่มาสักการบูชาจะประสบความสำเร็จด้านโชคลาภ และเมตตามหานิยม
นอกจากพระพุทธคุวานันท์ฯแล้ว บริเวณภายในผนังโบสถ์ด้านหลังองค์พระยังมี พระพุทธรูปทองคำศักดิ์สิทธิ์องค์เล็กประดิษฐานอยู่อีก 2 องค์ ซ้าย-ขวา ส่วนภายในบริเวณวัดก็มีรูปปั้นของเทพธิดาสะดือแม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านนิยมมาบนบานศาลกล่าว เพราะเชื่อว่าจะให้โชคดีด้านความรักและโชคลาภ
และนี่ก็คือ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเส้นทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 7 แห่ง ของบึงกาฬจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ซึ่งการเข้าวัดทำบุญไหว้พระนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากใครอยากประสบความสำเร็จสมหวังก็ต้องเพียรพยายามทำในสิ่งที่ขอ พร้อมกับต้องประพฤติดี คิดดี ปฏิบัติดี และละเว้นจากการทำบาป ประพฤติชั่วด้วยประการทั้งปวง
*****************************************
เนื่องจากมีบางวัดในโครงการ ไม่ได้เปิดโบสถ์ให้เข้าชมทุกวันเนื่องจากทางวัดต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะไปทัวร์ธรรมมะ สักการะ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่จะไปเป็นหมู่คณะควรแจ้งก่อนล่วงหน้าที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานอุดรธานี (รับผิดชอบพื้นที่ อุดรฯ หนองคาย บึงกาฬ) โทร.0-4232-5406-7 เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานให้
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัด “บึงกาฬ”
ที่ผ่านมาเคยแต่ไปอำเภอบึงกาฬ(เมื่อครั้งสมัยอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย) แต่ยังไม่เคยไปจังหวัดบึงกาฬเลยสักครั้ง
บึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของไทย ยกฐานะมาจากอำเภอในจังหวัดหนองคาย ที่แม้จะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักของภาคอีสาน แต่ก็เป็นเมืองสงบงามริมฝั่งโขงที่มีสิ่งน่าสนใจให้สัมผัสกันพอตัว
โดยเฉพาะกับผู้ที่ชื่นชอบในรูปแบบการทัวร์ธรรมะ ไหว้พระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ทางจังหวัดบึงกาฬได้จัดกิจกรรมสักการะ “7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์มิ่งมงคล เมืองบึงกาฬ”ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ที่มาเยือนจังหวัดนี้
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ล้วนตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองทั้งหมด มีระยะห่างไม่ไกลกัน สามารถเดินทางไปสักการะให้ครบได้อย่างไม่ยากเย็น โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ไล่เรียงไปตามเส้นทางแบบไม่ย้อนไปย้อนมาเหมือนในโบชัวร์ที่ทำแจก ซึ่งผมขอเริ่มต้นด้วยการไปไหว้“หลวงพ่อพระใหญ่” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” ที่วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ ต.บึงกาฬ
หลวงพ่อพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยล้านช้าง หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว(5 ฟุต 4 นิ้ว) ดั้งเดิมเป็นพระพุทธรูปทองสำริดที่มีความงดงาม แต่ต่อมามีการพอกปูนฉาบไว้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการอำพรางจากเหตุการณ์สงคราม
ตามประวัติไม่มีหลักฐานระบุชัดว่าหลวงพ่อพระใหญ่สร้างขึ้นในสมัยใด มีเพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านระบุว่า ได้มีการพบองค์หลวงพ่อพระใหญ่ในบริเวณป่าทึบเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว(บางความเชื่อก็ว่าท่านลอยน้ำมาติดที่ริมน้ำโขง)
หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองศูนย์รวมจิตใจของชาวบึงกาฬ และชาวจังหวัดใกล้เคียงรวมไปถึงในสปป.ลาว ที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงแถบนี้
ทุกๆปีจะมีการจัดงานประเพณีทำบุญหลวงพ่อพระใหญ่ขึ้น ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นงานประเพณีบุญเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ที่จะมีการถวายปราสาทผึ้งด้วย ครั้งที่สองเป็นประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ จัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์
ปัจจุบันโบสถ์วัดโพรารามที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่กำลังอยู่ในช่วงการบูรณะ โบสถ์แห่งนี้ให้เฉพาะผู้ชายเข้าได้เท่านั้น ส่วนผู้หญิงให้กราบไหว้สักการะบูชาที่หน้าโบสถ์
สำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อพระใหญ่นั้นมีมากหลาย โดยผู้ที่มากราบไหว้องค์หลวงพ่อพระใหญ่ มีความเชื่อว่าจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีตำแหน่งการงานที่ใหญ่ขึ้น มีโชคลาภแคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านที่นี่หลังบนบานสมหวังแล้ว มักนิยมแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟน้อย(บั้งไฟลูกเล็ก) 9 ลูก ยิงข้ามไปยังฝั่งโขง นับเป็นการแก้บนที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอึกแห่งหนึ่ง
จากวัดโพธารามผมเข้าเมืองมามาสักการะ“ศาลเจ้าแม่สองนาง”ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ
ศาลเจ้าแม่สองนาง เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองบึงกาฬเคียงคู่กับหลวงพ่อพระใหญ่ ดังที่ปรากฏใน 2 วรรคแรกของคำขวัญจังหวัดบึงกาฬว่า “สองนางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อใหญ่...”
ผู้เฝ้าศาลหรือจ้ำเล่าตำนานความเชื่อท้องถิ่นให้ผมฟังว่า เจ้าแม่สองนางเป็น 2 พี่น้องธิดาของกษัตริย์ประเทศลาว มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นว่า “บัวบน”(พี่)กับ “บัวบาน”(น้อง) ทั้งคู่อพยพหนีภัยสงครามมาตามลำน้ำโขงและประสบอุบัติเหตุเรือล่มเสียชีวิต ก่อนที่ทั้งคู่จะได้กลายเป็นพญานาคีทำหน้าที่คอยปกปักรักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง
“เชื่อกันว่าพญานาคจับ 2 พี่น้องเอาไปทำเมีย”
จ้ำบอกอย่างนั้น ก่อนที่ผมจะยิงคำถามกลับไปด้วยความฉงนในรูปสลักหินปิดทองของเจ้าแม่ 2 นางภายในศาลว่า “องค์ไหนคือองค์พี่ องค์ไหนเป็นองค์น้อง”
“อ๋อ องค์ขวามือเป็นพี่(องค์ซ้ายมือเมื่อมองเข้าไป) ส่วนองค์ซ้ายมือเป็นน้อง(องค์ขวามือเมื่อมองเข้าไป)”
ทุกๆปีในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายนจะมีการจัดงานสักการะเจ้าแม่สองนางขึ้น ส่วนใครที่มาสักการะเจ้าแม่สองนาง เชื่อว่าจะทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย โดยเฉพาะกับผู้ที่เดินทางทางน้ำ เพราะเจ้าแม่สองนางได้ชื่อเป็นเจ้าแม่แห่งลุ่มน้ำโขงไล่ไปตั้งแต่บึงกาฬ หนองคาย ถึงมุกดาหาร
จากนั้นผมเดินทางไปสักการะ “พระพุทธโสภณมงคลใต้”สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่สามกันต่อที่ “วัดศรีโสภณธรรมทาน” หรือ “วัดใต้” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับที่ทำการเทศบาลตำบลบึงกาฬ
พระพุทธโสภณมงคลใต้ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยล้านช้าง ปางมารวิชัยเนื้อทองสำริดที่มีพุทธลักษณะงดงาม(ลักษณะเดียวกับหลวงพ่อพระใสพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย) ชาวบ้านต่างเรียกขานท่านว่า “พระสุก” ที่มาจากความผาสุก ทุกๆปีในช่วงสงกรานต์จะมีการแห่พระสุกรอบเมืองเพื่อให้ชาวบ้านสรงน้ำ
นอกจากพระสุกแล้วในโบสถ์วัดใต้ยังมีพระพุทธรูปโลหะสมัยล้านช้าง อีก 3 องค์ประดิษฐานอยู่ในบุษบก(พระสุกอยู่ด้านหน้านอกบุษบก) ซึ่งต่างมีพุทธลักษณะงดงามเทียบเคียงกัน โดยองค์พระสุกนั้นมีความเชื่อว่าหากใครได้มากราบไหว้ จะอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและมีโชคลาภ
จากวัดใต้ผมมาต่อยัง “วัดกลาง” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน วัดกลาง มีชื่อทางการว่า “วัดบุพราชสโมสร” ภายในวัดแห่งนี้มี “หลวงพ่อวัดกลาง” พระประธานในโบสถ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 4
หลวงพ่อวัดกลาง เป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะล้านช้าง องค์พระก่ออิฐถือปูน มีหน้าตักกว้าง 59 นิ้ว เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ชาวบึงกาฬเคารพเลื่อมใสมาก โดยมีความเชื่อว่าจะประสบความเจริญก้าวหน้าในการงาน และแคล้วคลาดปลอดภัย
หลังไหว้หลวงพ่อวัดกลางแล้วผมเดินทางต่อไปยัง “วัดสามัคคีอุปถัมภ์” หรือ “วัดภูกระแต” ที่ปัจจุบันมีหลวงพ่อทองพูล สิริกาโม(พระญาณสิทธาจารย์)เป็นเจ้าอาวาส
หลวงพ่อทองพูล เป็นหนึ่งในเกจิดังแห่งภาคอีสาน ท่านเป็นพระสายกรรมฐานรุ่นแรก ศิษย์อาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ เป็นพระที่มีเมตตาบารมีสูงที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพศรัทธา ซึ่งผมโชคดีมากที่ในวันนั้นไปแล้วได้พบท่าน อีกทั้งยังได้รับการประพรมน้ำมนต์จากท่านอีกนับเป็นสิริมงคลอย่างสูงทีเดียว
ขณะที่ภายในศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอยู่หลายองค์ หนึ่งในนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 5 อยู่นั่นก็คือ “พระสังกัจจายน์” หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ที่มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นแตกต่าง ซึ่งหลวงพ่อทองพูลบอกว่าในเมืองไทยมีพระสังกัจจายน์แบบนี้เพียง 4 องค์เท่านั้น
พระสังกัจจายน์ องค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านนิยมมาบนบานขอพร ให้เจริญรุ่งเรืองในด้านการค้าขาย อยู่เย็นเป็นสุข
ไปต่อกันที่ “วัดป่าบ้านพันลำ” (ต.วิศิษฐ์) วัดป่าที่น่ายลไปด้วยวิวทิซทัศน์ริมแม่น้ำโขง และร่มรื่นไปด้วยแมกไม้น้อยใหญ่ ต้นไม้หลากหลายต้นมีหลักธรรมคำสอนติดเป็นคติเตือนใจ
วัดป่าบ้านพันลำ เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ภายในมี “หลวงพ่อศิลา” ที่ประทับอย่างสง่าขรึมขลัง อย่างกลางแจ้งท่ามกลางแวดล้อมของต้นไม้ใหญ่ หลวงพ่อศิลา เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร แกะสลักจากหิน มีหน้าตักขนาด 40 นิ้ว เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนี้ โดยมีความเชื่อว่าใครที่มากราบไหว้สักการะบูชาองค์หลวงพ่อ จะได้โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย จากภัยอันตรายต่างๆ
มาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 7 ลำดับสุดท้าย ที่ “วัดอาฮงศิลาวาส” หรือ “วัดอาฮง”ที่ตั้งอยู่ที่บ้านอาฮง ต.ไคศี
วัดอาฮง เป็นวัดริมแม่น้ำโขงที่มีทิวทัศน์อันสวยงาม ตั้งอยู่ติดกับแก่งอาฮง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสะดือแม่น้ำโขงที่ถือเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเชื่อกันว่ามีเส้นทางของพญานาคหรือรูพญานาคอยู่บริเวณนี้
วัดอาฮง เป็นหนึ่งในจุดชมบั้งไฟพญานาคของจังหวัดบึงกาฬ ภายในวัดโดดเด่นไปด้วยการก่อสร้างวัดสอดรับไปกับสภาพพื้นที่ที่มีก้อนหินขนาดยักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับสุดท้ายที่วัดแห่งนี้ก็คือ “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” พระพุทธรูปที่งดงามลักษณะเดียวกันกับพระพุทธชินราช ซึ่งเชื่อกันว่าใครที่มาสักการบูชาจะประสบความสำเร็จด้านโชคลาภ และเมตตามหานิยม
นอกจากพระพุทธคุวานันท์ฯแล้ว บริเวณภายในผนังโบสถ์ด้านหลังองค์พระยังมี พระพุทธรูปทองคำศักดิ์สิทธิ์องค์เล็กประดิษฐานอยู่อีก 2 องค์ ซ้าย-ขวา ส่วนภายในบริเวณวัดก็มีรูปปั้นของเทพธิดาสะดือแม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านนิยมมาบนบานศาลกล่าว เพราะเชื่อว่าจะให้โชคดีด้านความรักและโชคลาภ
และนี่ก็คือ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเส้นทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 7 แห่ง ของบึงกาฬจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ซึ่งการเข้าวัดทำบุญไหว้พระนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากใครอยากประสบความสำเร็จสมหวังก็ต้องเพียรพยายามทำในสิ่งที่ขอ พร้อมกับต้องประพฤติดี คิดดี ปฏิบัติดี และละเว้นจากการทำบาป ประพฤติชั่วด้วยประการทั้งปวง
*****************************************
เนื่องจากมีบางวัดในโครงการ ไม่ได้เปิดโบสถ์ให้เข้าชมทุกวันเนื่องจากทางวัดต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะไปทัวร์ธรรมมะ สักการะ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่จะไปเป็นหมู่คณะควรแจ้งก่อนล่วงหน้าที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานอุดรธานี (รับผิดชอบพื้นที่ อุดรฯ หนองคาย บึงกาฬ) โทร.0-4232-5406-7 เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานให้