xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยว เรียนรู้ “ดูนก ชมบึง ทัศนาบัว” ที่บึงบอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บึงบอระเพ็ดในมุมมองเห็นยอดเขาพนมเศษ
“เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ”

จากคำขวัญประจำจังหวัด“นครสวรรค์” จะเห็นได้ว่าบึงบอระเพ็ด คือหนึ่งในสถานที่สำคัญและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองปากน้ำโพแห่งนี้

บึงบอระเพ็ด เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อ.เมือง อ.ชุมแสง และ อ.ท่าตะโก

บึงบอระเพ็ดนั้นได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ในปี พ.ศ. 2518 และมีการค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (White-eyed River-Martin : Pseudochelidon sirintarae) เป็นครั้งแรกของโลก
ปลาเสือตอ
และด้วยศักยภาพทางการท่องเที่ยวอันโดดเด่นของบึงบอระเพ็ด ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ที่สวยงาม ความหลากหลายทางชีวภาพ และมีทั้งนกน้ำ นกประจำถิ่นมากมาย รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 190 ชนิด มีทุ่งดอกบัว พันธุ์ไม้น้ำจำนวนมาก และเป็นแหล่งรวมพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หายาก เช่น ปลาเสือตอ ปลากะโห้ เป็นต้น ทำให้บึงบอระเพ็ดได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองไทย

นั่นจึงทำให้ล่าสุดทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้จัดทำเอกสารคู่มือ “ดูนกชมบึง บึงบอระเพ็ด”ขึ้น โดยคู่มือฉบับนี้ได้แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวดูนกชมบึงบอระเพ็ดที่น่าสนใจไว้ 2 เส้นทางด้วยกัน

มหัศจรรย์แห่งบึงน้ำ

เส้นทางแรกเป็นเส้นทาง “มหัศจรรย์แห่งบึงน้ำ” เป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้และสัมผัสระบบนิเวศของที่ลุ่มชุ่มน้ำของบึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบึง
นกยางโทน
เส้นทางนี้เริ่มต้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฯ ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ 1 ชั่วโมง แบ่งจุดชมเที่ยวชมบึงหลัก 4 จุดด้วยกัน ได้แก่

เกาะแห่งชีวิต : เกาะวัด-เกาะดร.สมิธ เป็นเกาะใหญ่กลางบึงน้ำปกคลุมด้วยกอพืชและป่าละเมาะ เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำตลอดทั้งปี สามารถเที่ยวชมนกได้อย่างไม่ยากเย็นไม่ว่าจะเป็น นกยางควาย ยางเปีย นกยางโทน นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการค้นพบนกหายากอย่าง “นกช้อนหอยดำเหลือบ”อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ และมีนกกาน้ำขนาดใหญ่ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อย่าง นกอ้ายงั่ว และนกน้ำชนิดต่างๆอีกมากมาย
ชาวบ้านพายเรือเก็บบัวหลวง
ทะเลบัวสาย : อาณาจักรพรรณไม้น้ำ บนพื้นน้ำที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งบัวสายหรือบัวแดงที่ออกดอกสีชมพูสดสวยงาม พันธุ์ไม้น้ำอีกหลากหลายกว่า 50 ชนิด ที่มีคุณค่าต่อสรรพชีวิตของที่นี่ เพราะเป็นทั้งแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน แหล่งผลิตออกซิเจน แหล่งอนุบาลลูกปลา เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ นอกจากนี้บรรดาไม้น้ำที่ปกคลุมเหนือผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็น บัวสาย บัวหลวง ผักตบชวา สาหร่ายและสันตะวาต่างๆ ยังเป็นแหล่งทำรังของนกนานาชนิด ซึ่งทั้งหมดล้วนต่างช่วยรักษาสมดุลให้ระบบนิเวศแห่งนี้

โขดใหญ่ : ที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นสันดอนทรายกว้างใหญ่ริมบึงน้ำ มีกอกกและพงหญ้าขึ้นปกคลุม เป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำนานาชนิด และเป็นที่อำพรางตัวคอยดักกินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กของนกยางกรอก นกยางไฟ ส่วนนกน้ำขนาดใหญ่ขายาวอย่างนกกาบบัว ก็อาศัยพื้นที่บริเวณนี้เดินย่ำน้ำหากิน ใช้ปากควานหาปลากินเป็นอาหาร นอกจากนี้นกประจำถิ่นอีกหลายชนิดก็อาศัยบริเวณสันดอนนี้ ทำรัง วางไข่ เช่น นกกระแตแต้แว้ด ตีนเทียน และกระจาบทอง
นกเป็ดผี
สะดือบึง : เป็นจุดสำคัญใจกลางบึงบอระเพ็ดที่มีความลึกมากที่สุดเต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่เคยสำรวจพบว่ามีอยู่ถึง 148 ชนิด แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันเหลือเพียง 30 ชนิดเท่านั้น บริเวณนี้ยังเป็นจุดที่อยู่ของนกอพยพย้ายถิ่นต่างๆ เช่น นกสกัวขั้วโลกเหนือ ตะกรุม เป็ดหงส์ อีกทั้งยังมีการพบนกเป็ดผีเล็ก นกที่รูปร่างหน้าตาเหมือนเป็ด แต่สามารถหายตัวได้ราวกับผี เพราะมันดำน้ำได้เก่งมาก

ตามรอยนกเจ้าฟ้าฯ

อีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวในบึงบอระเพ็ดที่คู่มือเล่มนี้แนะนำคือ เส้นทาง “ตามรอยนกเจ้าฟ้าฯ” ที่อยู่ทางทิศใต้ของบึงบอระเพ็ด
นกอีแจว
เส้นทางสายนี้ ใช้เวลาล่องเรือชมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เริ่มต้นจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ล่องเรือเข้าไปในยังแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่านกน้ำหลากหลายชนิด บริเวณนี้เคยพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในโลก

เส้นทางตามรอยนกเจ้าฟ้าฯ แบ่งเป็นจุดหลักๆในการเที่ยวชมได้แก่

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร : บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งที่พบนกนางแอ่นชนิดใหม่ของโลก ใน ปี พ.ศ. 2511 โดย กิตติ ทองลงยา ซึ่งได้ตั้งชื่อให้นกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” ที่แม้ปัจจุบันจะไม่มีการพบนกชนิดนี้มาประมาณ 30 ปีแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าฯก็ยังเป็นตัวแทนบอกคุณค่าความสำคัญของบึงบอระเพ็ดอยู่เสมอมา

กอสนุ่นกลางน้ำ : บริเวณนี้จะพบกลุ่มพืชลอยน้ำนานาชนิดๆ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำและเป็นแหล่งหากินของนกที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะ นกอีแจว“ราชินีแห่งนกน้ำ” นกพริก นกอัญชันคิ้วขาว ที่จะออกมาเดินจิกกินแมลงบนกอสนุ่นลอยน้ำ ขณะที่บริเวณดงผักตบชวาก็เป็นจุดที่นกอีโก้งชอบออกมาหาหอยกินเป็นอาหาร
นกอีโก้ง
ผู้มาเยือน : ตั้งอยู่บริเวณแหลมตาเส็ง เป็นสันดอนใหญ่ขอบบึง มีไม้ยืนต้นร่มครึ้ม มีนกอพยพย้ายถิ่นหลากหลายชนิดชอบมาแวะพักอาศัยเกาะต้นไม้ เช่น นกเป็ดพม่า กิ้งโครงพันธุ์ยุโรป และคุดคู้ด่างดำขาว นอกจากนี้ยังมีนกกาน้ำมากางปีกผึ่งแดด รวมไปถึงนกอพยพอื่นๆและนกเป็ดน้ำอีกหลากหลายชนิดที่บินหนีหนาวมาอาศัยอยู่ชั่วคราวเป็นประจำทุกปี

ดงนกปากห่าง : ตั้งอยู่บริเวณแหลมนา เดิมทีนกปากห่างเป็นนกอพยพจากประเทศอินเดียเข้ามาทำรังวางขาบริเวณนี้เป็นประจำ จนกระทั่งบางส่วนปักหลักหากินอยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี ขณะที่ในฤดูหนาวจะมีนกอีกจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาอยู่รวมกัน ทำให้ปัจจุบันที่บึงบอระเพ็ดมีนกปากห่างอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนับหมื่นตัว ซึ่งพวกมันได้ช่วยกำจัดหอยเชอรี่ศัตรูพืชของเกษตรกรให้ลดน้อยถอยลงไปเป็นจำนวนมาก
นกปากห่าง
แหล่งกำเนิดสายพันธุ์ในบึงน้ำ

ในคู่มือเล่มน้ำยังมีเส้นทางพิเศษ “แหล่งกำเนิดสายพันธุ์ในบึงน้ำ” สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนกเป็นพิเศษ นำเสนอแหล่งนกน้ำที่สำคัญ แบ่งเป็น 3 จุด ได้แก่

หนองกรวด : เป็นทุ่งหญ้าสลับพงอ้อ บริเวณนี้เป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำอพยพหายากของเมืองไทยที่ใช้เป็นแหล่งหากินและพักอาศัยเป็นประจำ อย่างนกเป็ดผี เป็ดเชลดัก รวมไปถึง เป็ดชนิดใหม่ของไทยคือ นกเป็ดดำหลังขาว
นกพริก
บ้านทุ่งแว่น : เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขังบางฤดู มีป่าละเมาะขึ้นเป็นหย่อมๆ เป็นจุดที่นกอพยพย้ายถิ่นขนาดเล็กชอบมาแวะพักอาศัย อย่าง นกคอทับทิม นกจาบคาหัวเขียว และนำอีเสือสีน้ำตาล นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ทำรังวางไข่ของนกประจำถิ่นหาดูยาก อย่าง นกกระแตผีเล็ก และนกโป่งวิดด้วย

เขาพนมเศษ : ภูเขารูปกรวยที่ยอดเรียวแหลม ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของบึง มีความสูงประมาณ 400 เมตร เป็นสถานที่เดียวที่สามารถมองเห็นสัณฐานของบึงได้ ที่นี่เป็นจุดพบนกน้ำขนาดใหญ่ที่สวยงามและหายากของเมืองไทย คือ นกช้อยหอยดำเหลือบ

และนี่ก็คือ 2 เส้นทางแนะนำ กับอีกจุดเที่ยวชมพิเศษในคู่มือ ดูนกชมบึง บึงบอระเพ็ด ที่ทาง ททท.จัดขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่นี่ โดยเล็งเห็นว่า คู่มือดูนกชมบึงบอระเพ็ดนี้ เป็นเครื่องมือสื่อความหมายธรรมชาติ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่มายังบึงบอระเพ็ดสามารถเข้าถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านมุมมองของการเรียนรู้เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ต่างๆในธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ในคุณค่า และก่อเกิดจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ต่อไป
*****************************************
นกอ้ายงั่ว
ปฏิทินท่องเที่ยวธรรมชาติบึงบอระเพ็ด

มกราคม-มีนาคม : ฤดูกาลอพยพของนกน้ำ ชมฝูงนกเป็ดน้ำชนิดต่างๆจำนวนมาก รวมทั้งนกหายาก คือ เป็ดเปีย เป็ดหัวดำ และเป็ดดำหัวสีน้ำตาล

เมษายน-มิถุนายน : ช่วงฤดูจับคู่ ทำรัง ของนกทุ่งนับสิบชนิดที่อาศัยอยู่รอบบึงบอระเพ็ด

กรกฎาคม-มิถุนายน : ฤดูนกน้ำทำรังกันมากที่สุด เช่น นกพริก นกอีโก้ง นกอีแจว นกช้อนหอยดำเหลือ และกลุ่มนกยาง

ตุลาคม-ธันวาคม : ช่วงฤดูหนาวบึงบอระเพ็ดจะมีทะเลบัวสายและไม้น้ำดอกสวยขนาดเล็กอีกมากมาย

นอกจากทุ่งดอกบัวและนกนานาพันธุ์แล้ว บึงบอระเพ็ดยังมี อาคารแสดงพันธ์สัตว์น้ำบึงบอระเพ็ด จัดแดงพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาเสือตอที่หาชมได้ค่อนข้างยากในเมืองไทย โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด โทร. 0-5627-4525 หรือที่ ททท.สำนักงานอุทัยธานี(รับผิดชอบพื้นที่อุทัยธานีและนครสวรรค์) โทร. โทรศัพท์.0-5651-4651-2
*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Nature Explorer ผู้จัดทำคู่มือ “ดูนกชมบึง บึงบอระเพ็ด”
กำลังโหลดความคิดเห็น