xs
xsm
sm
md
lg

ตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบาง มนต์ขลังที่เปลี่ยนไป/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
ตักบาตรข้าวเหนียวประเพณีอันเลื่องชื่อของหลวงพระบาง
แม้เมื่อคืนจะ“ดึก”และ“หนัก”ไปหน่อย

เพราะนานๆจะเจอเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ที่จากเมืองไทยมาทำงานอยู่ที่หลวงพระบางหลายปีดีดัก เมื่อเราเจอกันตามประสาคนชอบดื่ม มันจึงพาผมไปตะลุยราตรีเมืองหลวงพระบางเริ่มตั้งแต่อุ่นเครื่องที่ร้านในตัวเมืองยามค่ำ แล้วไปเต้นบาสโลบที่ราตรีเมืองซัว แล้วไปแด๊นซ์ต่อที่ดาวฟ้าจนเธคปิด ก่อนที่ปิดท้ายกันด้วยบะหมี่รอบดึกก่อนกลับที่พักเข้านอน

แต่กระนั้นในเช้าวันใหม่ผมก็ไม่รีรอที่จะตื่นแต่เช้าตรู่ สลัดไล่ความมึนเมาทั้งมวลออกไป เพื่อไปเฝ้ารอตักบาตรเข้าเหนียว ซึ่งหลังจากเมื่อคืนพวกเราไปทัวร์ทางโลกในเรื่องของ รูป รส กลิ่น เสียง มาแล้ว

เช้าวันนี้ขอสัมผัสกับเรื่องราวทางธรรมที่ช่วยจรรโลงให้จิตใจสดใสผ่องแผ้วบ้าง

1...

ในคู่มือนำเที่ยวไม่ว่ากี่เล่มต่อกี่เล่มต่างระบุตรงกันว่า “การตักบาตรข้าวเหนียว” เป็นหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของหลวงพระบางแห่งสปป.ลาวที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ไม่ควรพลาดเช่นเดียวกับการเที่ยววัดเชียงทองและการขึ้นยอดพูสี

สำหรับการตักบาตรข้าวเหนียวนั้น นับแต่อดีตมาจนถึงช่วงก่อนที่การท่องเที่ยวจะบูมสุดๆเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนวิถีชีวิตของลาวเมืองหลวงพระบางได้เป็นอย่างดี จนหลวงพระบางได้รับการขนานนามให้เป็น “ธรรมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” เพราะถึงแม้ สปป.ลาว จะเป็นประเทศสังคมนิยมแต่ชาวหลวงพระบางกับมีความผูกพันในศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น

ทุกๆวันชาวหลวงพระบางจะตื่นกันมาแต่เช้ามือเพื่อมาเตรียมข้าวของไว้สำหรับตักบาตร

จากนั้นพอได้เวลาฟ้าเริ่มสาง แต่ละวัดก็จะย่ำ(ตี)“กะลอ”(เครื่องเคาะของลาวมีลักษณะคล้ายกลอง) ดังตุ๊มๆๆ...เป็นสัญญาณว่าพระเณรจะออกบิณฑบาต ให้บรรดาญาติโยมเตรียมพร้อม นำเสื่อ นำกระติ๊บข้าวเหนียวมารอพระเดินผ่านมา โดยแม่หญิงลาวจะมานั่งพับเพียบรออย่างสงบเสงี่ยม ชุดใส่บาตรของพวกเขา ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าซิ่น มีผ้าแพรเบี่ยงหรือผ้าสไบพาดไหล่ไว้สำหรับกราบพระ แต่ในยุคนี้ก็มีบ้างที่แม่หญิงลาวจะตามสมัยนิยมด้วยการใส่กางเกง นุ่งยีนส์ มารอใส่บาตร (และบางคนระหว่างรอก็อาจจะโทร.คุยมือถือไป) ส่วนประเภทนุ่งสั้นจู๋โชว์ขาขาวๆหรือขากระดำกระด่างแบบสาวๆบ้านเรานั้นผมยังไม่เห็นภาพเหล่านี้จากแม่หญิงลาว(แต่เห็นจากแม่หญิงไทยที่ไปเที่ยวนี่แหละ)

ขณะที่ผู้ชายก็จะมายืนรอใส่บาตร พร้อมกับมีผ้าเบี่ยงพาดไว้ที่ไหล่เช่นกัน

นับเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน
ป้ายรณรงค์เรื่องการตักบาตรข้าวเหนียว
ครั้นพอสิ้นเสียงย่ำกะลอได้ไม่นาน เหล่าพระภิกษุ สามเณร ก็จะเดินเรียงแถวมาเป็นขบวนให้ญาติโยมได้ตักบาตรข้าวเหนียวกันอย่างทั่วหน้า

พระแต่ละวัดจะใช้เส้นทางบิณฑบาตประจำของวัดตนเอง บางเส้นทางอาจมีพระเดินมาจาก 3 วัด บางเส้นทางอาจมีถึง 6-7 วัดก็มี ส่วนขบวนพระ-เณรที่ออกเดินนี้ก็ไม่ใช่ได้มีแค่จำนวนสิบยี่สิบ หากแต่เป็นหลักสองร้อยสามร้อยรูป เดินเป็นแถวยาวเหยียดดูเหลืองอร่ามเปี่ยมศรัทธาไปทั่วเมือง

สำหรับการตักบาตรข้าวเหนียวของชาวหลวงพระบางนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าตักบาตรข้าวเหนียว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ใส่ไปในบาตรจะมีแต่ข้าวเหนียวสุกอย่างเดียว ไม่มีอาหารอย่างอื่นใส่ผสมปนเข้าไป

เรื่องนี้เมื่อแรกที่ไปหลวงพระบาง ผมก็ยังเคยอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อชาวบ้านใส่แต่ข้าวเหนียวอย่างเดียว แล้วพระท่านจะต้องฉันแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียวหรือไร แต่ประทานโทษ มันหาใช่อย่างนั้นซะเมื่อไหร่ เพราะหลังจากการตักบาตรข้าวเหนียวผ่านพ้น พระเณร-เดินกลับวัดหมดแล้ว

พอถึงเวลาฉัน แต่ละวัดจะเคาะเกราะเป็นสัญญาณให้รู้ ชาวบ้านที่เป็นโยมอุปฏฐากหรือคนที่ในคุ้มวัดนั้นๆที่เป็นเวรถวายอาหาร ก็จะนำสำหรับอาหารคาวหวานไปถวายที่วัด หรือที่เรียกกันว่า “การถวายจังหัน”

ด้านญาติโยมส่วนหนึ่งหลังตักบาตรข้าวเหนียวแล้ว เขายังมีการนำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเล็กๆไปวางไว้ตามกำแพงวัด กำแพงสิม หรือตามจุดต่างๆในวัด เพื่ออุทิศให้แก่แก่วิญญาณเร่ร่อนหรือผู้ที่ล่วงลับ

และนั่นก็คือเสน่ห์มนต์ขลังของประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบาง ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือขจรไกล โดยเฉพาะกับคนไทยที่ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน มีประเพณีตักบาตรเหมือนกัน(แต่ต่างในรายละเอียด) การตักบาตรข้าวเหนียวนับเป็นสิ่งที่ดูจะคุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี

แต่ด้วยความที่เวลาตักบาตร นักท่องเที่ยวไทยหลายๆคนไม่ได้ใส่ข้าวเหนียวลงไปอย่างเดียว หากแต่ใส่ความคุ้นเคยจากการตักบาตรแบบวิถีไทยลงไปด้วย มันก็ทำให้ประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวของหลวงพระบางในวันนี้เลยเปลี่ยนเพี้ยนไป จนถึงขนาดทางการลาวต้องติดป้ายประกาศเป็นหลายภาษา รณรงค์ให้ช่วยกันเคารพประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวกันเลยทีเดียว

2...

“ช่วยเราเคารพประเพณีการตักบาตร”

นี่คือข้อความจากป้ายรณรงค์เรื่องการตักบาตรข้าวเหนียวที่ติดในหลายจุดของเมืองหลวงพระบาง ที่ผมได้พบเห็นจากการไปเที่ยวมาหนล่าสุดเมื่อช่วงหนาวของปีที่แล้ว

ไอ้เพื่อนเก่าที่ทำงานอยู่หลวงพระบางมานานปีและเป็นคนพาผมไปท่องราตรี มันเชื่อว่าผู้ที่ทำให้ประเพณีตักบาตรหลวงพระบางเพี้ยนไป มาจากคนไทยนั่นแหละ โดยมันบอกว่าเริ่มมาจากความหวังดีและความคุ้นเคยของนักท่องเที่ยวชาวไทย(มันย้ำว่าจำนวนหนึ่ง)
ตักบาตรข้าวเหนียวแบบไม่พลุกพล่านบนถนนสายรอง
“คนไทยเราเห็นคนลาวใส่แต่ข้าวเหนียว เลยนึกว่าพระจะต้องฉันแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียวอย่างที่มึงเคยคิด ก็เลยหวังดีใส่อาหารแห้ง ขนมเข้าไปด้วย จากนั้นก็เริ่มเป็นความคุ้นเคย ที่พอทัวร์ไทยมา ทางบริษัททัวร์ก็จัดให้ จนตอนหลังถึงขนาดมีคนจัดทำเป็นข้าวเหนียวกับขนมสำหรับใส่บาตรจัดเป็นชุดๆขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันเลยทีเดียว”

เพื่อนผมมันเล่าให้ฟังพร้อมๆกับให้คำเรียกขานว่านี่คือ

“ประเพณีตักบาตรแบบไทยๆในหลวงพระบาง”

3...

หลังท่องราตรีตื่นขึ้นมา ผมมาเฝ้ารอตักบาตรข้าวเหนียวในเช้าวันแรกของการไปเที่ยวหลวงพระบางหนล่าสุดที่จุดตักบาตรหลักของนักท่องเที่ยว บริเวณ 4 แยกใจกลางเมือง ถนนสีสะหว่างวง

เช้าวันนั้นมีทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มารอตักบาตร และบรรดาช่างภาพ คนถ่ายภาพที่มารอถ่ายรูปอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน
พระ-เณร เดินแถวบิณฑบาต
“ตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบาง เดี๋ยวนี้ฝรั่ง ญี่ปุ่นเขามาถ่ายรูปนักท่องเที่ยวชาวไทยใส่บาตรกันทั้งนั้น” ไอ้เพื่อนเก่าของผมมันพูดติดตลกให้ฟัง ก่อนจะมันพาผมเลี่ยงไปตักบาตรบนถนนเส้นรองไกลออกไป ที่มีความพลุกพล่านน้อยกว่า

ขณะที่พี่น้อยสารถีชาวหลวงพระบางที่ขับรถพาผมไปจอดใส่บาตรในเช้าวันนั้นทั้ง 2 จุดก็ได้ให้ข้อมูลว่า การที่คนมาตักบาตรข้าวเหนียวเยอะๆ ข้อดีมันก็คือการช่วยกระจายรายได้ให้ชาวบ้าน และการแสดงให้เห็นถึงศรัทธาของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเพณีตักบาตรข้าวเหนียว แม้จะมีหลายคนมองว่ามันเป็นแฟชั่นที่ต้องแห่ทำตามๆกันก็ตามที

“แต่ข้อเสียก็คือมันทำให้ประเพณีที่ดีงามดูไม่สงบ สำรวม จนพระ-เณร หลายๆรูปในตัวเมืองอยากจะย้ายออกไปอยู่วัดนอกเมืองเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายนี้ นอกจากนี้มันยังทำให้บางส่วนของประเพณีเปลี่ยนไปอีกด้วย”

ประโยคนี้ผมฟังแล้วต้องแอบอึ้งในใจไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าพี่น้อยจะไม่ได้บอกว่าประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ผมก็เชื่อในคำพูดที่เพื่อนผมเล่าให้ฟัง
หาบเร่ขายข้าวเหนียวสำหรับตักบาตร อาชีพที่ตามมาหลังความโด่งดังของประเพณีตักบาตรข้าวเหนียว
4...

ด้วยความที่การตักบาตรข้าวเหนียวเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้ปัจจุบันมีชาวหลวงพระบางจำนวนหนึ่ง จัดทำข้าวเหนียวใส่กระติ๊บ ขนม และแม้กระทั่งเสื่อ ผ้าเบี่ยง เตรียมไว้ให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาตักบาตรซื้อและเช่า มีทั้งที่วางข้าวเหนียวในกระติ๊บขายริมทางแบบเป็นเรื่องเป็นราวและพวกที่เร่หาบข้าวเหนียวกระติ๊บขาย ซึ่งหลายๆคน(รวมทั้งผม)เคยถูกแม่ค้าบางคนโก่งราคาแพงจนน่าตกใจ หรือไม่ก็มั่วนิ่ม(โกง)นับจำนวนกระติ๊บเกินจำนวนที่ขายจริงกันมาอยู่บ่อยๆ

ดังนั้นใครที่จะใช้บริการจำเป็นต้องสอบถามราคาให้เรียบร้อย จากนั้นเมื่อตกลงว่าจะซื้อกี่กระติ๊บก็จ่ายเงินสดๆกันทันที อย่าเชื่อคนขายว่าเอากระติ๊บไปตักบาตรก่อนแล้วค่อยมาจ่ายเงินทีหลัง มิฉะนั้นอาจจะมีปัญหายุ่งยากใจตามมา

สำหรับเรื่องนี้ถือเป็นสนิมเนื้อในที่ลดทอนมนต์เสน่ห์ของการตักบาตรข้าวเหนียวลง ซึ่งนักท่องเที่ยวในเชิงอุดมคติส่วนใหญ่ล้วนต่างไม่ชอบ แต่สำหรับผมถือว่านี่คือโลกแห่งความเป็นจริงที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนไปของเมืองหลวงพระบาง เมืองที่เปลี่ยนจาก “ธรรมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” เปลี่ยนจาก(อดีต)“ดินแดนยูโทเปียของนักอุดมคติ” เปลี่ยนมาเป็น

“เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น