xs
xsm
sm
md
lg

“ภูสอยดาว”ป่าสนแสนสวย รุ่มรวยดอกไม้ สอยหัวใจให้หลงเคลิ้ม/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ป่าสนบนยอดภูสอยดาว
“สาวดอยจะไปสอยดาว เป็นเรื่องราวของความเป็นจริง สาวดอยเธอทิ้งทุกสิ่ง เข้ากรุงจะไปหางานทำ...”

แม้จะไม่ใช่คนดอย แต่หลังจากที่ผมหนีน้ำท่วมกรุงเทพฯเดินสวนทางกลับวิถีสาวดอย(ในเพลง) มาร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการผู้พิชิต“ภูสอยดาว” ที่จะเริ่มลงมือลงเท้าปฏิบัติการล่าฝันในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ในอารมณ์(พาไป)แบบนี้มันทำให้ผมอดที่จะฮัมเพลง “สาวดอย สอยดาว” ของเทียรี่-ธนิสร์-เป้า ขึ้นมาไม่ได้
ดอกไม้ในทุ่งดอกไม้
สอยขยะบนสอยดาว

ภูสอยดาว ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งทิวสน สายหมอก และดอกไม้งาม ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เป็นผืนป่าพรมแดนไทย-ลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-2,100 เมตร มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าหนาวอย่างนี้ บนยอดภูสอยดาวหนาวยะเยือก บางปีหนาวถึงขนาดมีแม่คะนิ้งเกาะตามยอดไม้ใบหญ้าในตอนเช้าตรู่กันเลยทีเดียว

ภูสอยดาว มีสภาพผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ 2 สายคือ ลำน้ำปาดและลำน้ำภาค ที่ไหลหล่อเลี้ยงจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกมาช้านาน สถานที่แห่งนี้นอกจากจะขึ้นชื่อในเรื่องความสวยงามแล้ว ยังขึ้นชื่อในเรื่องของการเข้าถึงว่าโหดหินเอาเรื่อง
ภูสอยดาวดินแดนแห่งป่าสน ดอกไม้งาม
“เดินขึ้นภูสอยดาวโหดกว่าภูกระดึง 3 เท่า”

“พี่ต๋อย : นุรักษ์ ทองสุวรรณ” เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว หนึ่งในผู้ที่รับอาสามานำขบวนพาผมกับคณะขึ้นไปพิชิตภูสอยดาวบอกกับผม ในระหว่างที่เรากำลังจัดเตรียมข้าวของให้ลูกหาบแบกนำขึ้นไปก่อน ส่วนพวกเราขอไปแบบชิลล์ ชิลล์ เนื่องเพราะรู้สังขารและสภาพร่างกายของตัวเองดี
ทางเดินริมผาบนยอดภุ
สำหรับผู้ที่จะขึ้นไปพิชิตภูสอยดาวในปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านๆมาตรงที่ ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางอุทยานฯเขาได้ริเริ่ม “โครงการอาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว โดยการนำขยะแลกกล้าไม้และดินปลูกขึ้น”

โครงการนี้แม้จะชื่อย้าว ยาว แต่หลักๆแล้วก็คือการลดขยะที่นำขึ้นไปบนยอดภูลงมาทิ้งข้างล่าง เพื่อไม่ให้เกิดปริมาณขยะสะสมบนยอดภูสอยดาวขึ้น เพราะนอกจากจะจัดเก็บนำลงมาทิ้งข้างล่างยากแล้วยังก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่อยอดภูสอยดาวอีกด้วย
นำขยะมาทิ้งข้างล่าง ช่วยลดปริมาณขยะสะสมบนยอดภูได้เป็นอย่างดี
พี่ต๋อยบอกว่านักท่องเที่ยวผู้มีจิตอาสาที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ก่อนขึ้นภูให้นำเงินจำนวน 150 บาทพร้อมบัตรประชาชนไปมัดจำขยะไว้ โดยทางเจ้าหน้าที่เขาจะมีถุงดำแจกให้สำหรับการนำขยะกลับลงมา เพื่อใช้แสดงเวลาแลกบัตรและเงินมัดจำคืนพร้อมกับรับแจกกล้าไม้(ฟรี)ที่ทางอุทยานฯเพาะจัดเตรียมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็น ต้นขนุน มะม่วง ดีปลากั้ง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกการช่วยเจ้าหน้าที่ในการเก็บขยะจากยอดภูลงมาอีกแรง

หลังเข้าร่วมโครงการฯ สำรวจน้ำและเสบียงที่จะต้องใช้กินระหว่างทางว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ผมก็ออกเดินมุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดภูสอยดาวแบบไม่เร่งรีบและไม่กลัวเหนื่อย เพราะรู้อยู่แล้วว่างานนี้เหนื่อยแน่นอน
น้ำตกภูสอยดาว
เดินชนะ “เนินมรณะ”

ก่อนเริ่มออกเดินเท้าขึ้นภูอย่างจริงจัง ผมแวะไปยล “น้ำตกภูสอยดาว” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับจุดเริ่มต้น เพื่อซึมซับในความชุ่มฉ่ำของสายน้ำที่ไหลฟูฟ่อง พร้อมกับวักน้ำเย็นๆลูบหน้าลูกตัวกระตุ้นพลัง จากนั้นจึงผนึกลงปราณออกเดินเท้ามุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดภูในทันที

สำหรับเส้นทางเดินขึ้นสู่ยอดภูนี้มีระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินขึ้นประมาณ 4-6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นสำหรับบางคน เพราะเส้นทางส่วนใหญ่มีสภาพสูงชัน

อ้อ!!! ถึงแม้การเดินขึ้นภูสอยดาวจะค่อนข้างโหด แต่งานนี้ยังไม่มีใครมาปั่นกระแสเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูสอยดาวให้เสียอารมณ์
จุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินขึ้นสู่ยอดภู
บนเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสายนี้ถ้าจะถามว่าโหดมั้ย ผมยอมรับว่าโหดเอาเรื่องแถมยังหินกว่าภูกระดึงตามที่พี่ต๋อยบอกไม่น้อย เพราะเพียงแค่ช่วงแรกเส้นทางก็ต้อนรับเราด้วยบันไดเหล็กแสนชันให้เดินขาสั่นกันในหลากหลายช่วง แต่กระนั้นบนเส้นทางช่วงนี้ก็ยังมีสิ่งน่าสนใจให้ทัศนาและพักเหนื่อยไปในตัวกับ กลุ่มต้นไม้ใหญ่ 3 ต้น คือ ไทร ตะแบก และลำพูป่า ที่ขึ้นตระหง่านเสียดแทงฟ้าอยู่ติดๆกัน ซึ่งทางอุทยานฯเขาตั้งชื่อกลุ่มต้นไม้นี้อย่างน่าฟังว่า “สามเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่” ก่อนที่เส้นทางจะลาดชันนำไปสู่ “เนินส่งญาติ” เนินแรกของทางขึ้นภู ที่เพียงแค่นี้ผมก็หอบลิ้นห้อยแล้ว

จากนั้นเมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวความตึงเปรี๊ยะของน่องเริ่มผ่อนคลาย ผมจึงค่อยๆเดินไต่กระดึ๊บๆ ผ่าน “เนินปราบเซียน”,“เนินป่าก่อ” และ“เนินเสือโคร่ง” ที่ไม่ได้เรียกตามชื่อสัตว์“เสือโคร่ง” หากแต่เรียกตามชื่อต้นไม้ “ต้นกำลังเสือโคร่ง” ที่มีขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณนี้
เส้นทางเดินในช่วงเนินมรณะ
ถัดจากเนินเสือโคร่งไปเป็นเนินสุดท้ายที่ฟังแค่ชื่อก็ชวนให้สะดุ้งไม่น้อยกับ “เนินมรณะ” ที่ถือเป็นเนินสุดโหดส่งท้าย เรียกชื่อตามสภาพพื้นที่ที่ชันดิก ไร้ต้นไม้ใหญ่ให้อาศัยร่มเงา มีแต่ทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆปกคลุมไปทั่วบริเวณ เนื่องจากบริเวณเนินมรณะแห่งนี้มีลมพัดแรงอยู่ตลอดเวลา แถมปีไหนที่ร้อนแล้วมากๆยังเกิดไฟป่าเผาผลาญอีกต่างหาก

ถึงแม้เนินมรณะจะโหดหินกินพลัง แต่วิวในเนินช่วงนี้ถือว่าน่ายลไปหยอก มองลงไปเห็นแนวทิวเขาและผืนป่าอันกว้างไกล ยิ่งพี่ต๋อยให้กำลังใจว่า พ้นจากเนินนี้ไปก็จะได้เป็นผู้พิชิตภูสอยดาวแล้ว งานนี้ผมจึงเหมือนไก่ได้น้ำ มวยได้อัดฉีด เดินแบบลืมเหนื่อยมุ่งหน้าสู่จุดหมายที่รออยู่ไม่ไกลในเบื้องหน้า
ป้ายผู้พิชิตภูสอยดาว
ป่าสน 2 แผ่นดิน

แล้วความเหนื่อยที่สะสมมาตั้งแต่เนินส่งญาติก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เมื่อผมพาตัวและหัวใจขึ้นมาถึงยังยอดภูสอยดาวที่มีป้าย “ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” บนระดับความสูง 1,633 เมตร จากระดับน้ำทะเลเขียนบอกไว้ ซึ่งยังความดี๊ด๊าแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่มาวนเวียนถ่ายรูปคู่กับป้ายแห่งนี้

ยอดภูสอยดาวมีลักษณะเป็นที่ราบยอดตัดบนภูเขาหินทรายคล้ายหลายๆภูในภาคอีสาน แต่ที่สร้างชื่อให้กับยอดภูสอยดาวอย่างมากก็เห็นจะเป็น “ลานสนภูสอยดาว” ที่หนาแน่นไปด้วยต้นสนสามใบกินอาณาบริเวณกว่าพันไร่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นลานสนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นลานสนสองแผ่นดิน เนื่องจากเป็นลานสนที่กินอาณาบริเวณคร่อม 2 ประเทศไทย-ลาว อีกด้วย
กางเต็นท์ใต้ร่มเงาป่าสน
ลานสน ลานสวย

หลังเดินเท้าเกือบๆ 5 ชั่วโมง จากจุดเริ่มต้นขึ้นมาถึงยอดภูสอยดาวในช่วงยามเย็นของวัน ผมใช้ช่วงเวลาที่เหลือก่อนท้องฟ้าจะสิ้นแสงจัดแจงกางเต็นท์ เก็บสัมภาระ ก่อนที่จะออกเดินไปถ่ายรูปทิวสน ดอกไม้น้อยใหญ่ และไปยืนคอยท่าเฝ้ารอดวงตะวันลาลับขอบฟ้าบริเวณจุดชมวิว ที่แม้เย็นวันนั้นพระอาทิตย์และท้องฟ้าจะไม่เป็นใจเท่าที่ควร แต่นี่ถือเป็นวิถีปกติของธรรมชาติที่สอนใจให้รู้ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นมนุษย์เราจึงไม่ควรที่จะมัวยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ ด้วยประการทั้งปวง
อาทิตย์อัสดงบนยอดภู
ครั้นแสงตะวันผ่านพ้น ม่านวิกาลได้แผ่สยายเข้ามาคลี่คลุมกลืนกินไปทั่งบริเวณ ก่อนที่อากาศหนาวเย็นและสายลมยะเยือกจะค่อยๆตามมาสมทบ ซึ่งในยามอาบน้ำนั้นมันช่างหนาวเหน็บเสียดแทงกระดูก แต่ว่ามันก็ช่วยล้างเหงื่อไคลและสร้างความสดชื่นให้กับร่างกายได้มากโข

หลังเสร็จสรรพจากอาบน้ำอาบท่า สบายกายสบายใจ ผมนั่งข้างกองไฟหม่ำอาหารที่พี่ต๋อยจัดเตรียมไว้ให้อย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเหนื่อย ความหิว หรือมาจากฝีมืออันยอดเยี่ยมของพ่อครัว รู้แต่ว่าเมนู “ไก่หลาม” คือเมนูเด็ด เพราะนานจะได้กินกันแบบธรรมชาติ สดๆใหม่ๆ แกะจากกระบอกไม้ไผ่หน้ากองไฟก็ตักใส่จานคลุกข้าวกินกันร้อนๆควันฉุย ชนิดไม่เบิ้ลไม่ได้
หลักเขต 2 แผ่นดิน ไทย-ลาว
จากนั้นด้วยความเหนื่อยล้ามันทำให้ค่ำคืนนั้นผมมุดเต็นท์นอนหลับแบบลืมตาย ก่อนที่จะตื่นมาในเช้าวันใหม่ด้วยความสดชื่นและพลังที่ชาร์จเติมกลับเข้ามา ซึ่งแม้ในเช้าวันนี้บริเวณ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” จะไม่ปรากฏสายหมอกให้เห็น แต่หลักเขตแห่งนี้ก็ยังเป็นแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปถ่ายรูปคู่กับมันเป็นจำนวนมาก

พี่ต๋อยบอกกับผมว่า หลักเขต 2 แห่งดินแห่งนี้ ไทยกับลาวตกลงการก่อสร้างกันอย่างเท่าเทียมสุดๆ คือแบ่งให้ทหารไทย 30 คน ลาว 30 คน มาช่วยกันก่อหลักเขตกันคนละครึ่ง โดยแต่ละชาติต้องขนปูนทรายมาเอง ซึ่งถึงจะก่อสร้างกันคนละครึ่ง แต่พวกเขาก็ทำออกมาเป็นแท่งเดียวกัน ไม่มีตำหนิร่องรอยให้ระคายตา
ทุ่งดอกหงอนนาคต้องไปให้ถูกช่วงจังหวะเวลา
นอกจากหลักเขต 2 แผ่นดินแล้ว บนลานสนอันกว้างไกลแห่งนี้ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติเป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร ให้เดินทอดน่องทัศนาความงามกันในเส้นทางสบายๆ รอบข้างแวดล้อมไปด้วยทุ่งสนสูงตระหง่าน สนหลายต้นดูสะดุดตาไปด้วยรูปทรงแปลกๆตามฝีมือของศิลปินธรรมชาติ โดยมีจุดน่าสนใจ อาทิ หลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า และจุดชมวิวเลาะเลียบผาที่สามารถมองลงไปเห็นทิวทัศน์ของผืนป่าและทะเลภูเขาอันสวยงามกว้างไกล

ในขณะที่จุดชมทุ่งดอกมณีเทวา ทุ่งดอกหงอนนาค-ดินแดนน้ำค้างกลางเที่ยง และกลุ่มดอกไม้หอมโบราณนั้น รวมถึงทุ่งดอกไม้เล็กดอกไม้น้อยอื่นๆนั้น ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล ซึ่งทุกๆปีในช่วงฤดูฝนราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ลานสนภูสอยดาวจะดารดาษไปด้วยทุ่ง “ดอกหงอนนาคสีม่วง” อ่อนที่ระบายสีม่วงอ่อนลงตัดกับสีเขียวสดของท้องทุ่งหญ้าใต้ลานสนแห่งนี้ นับเป็นช่วงเวลาทองที่เหล่านักเดินทางต่างยกให้ภูสอยดาวในช่วงนี้สวยที่สุดและโด่งดังที่สุด
อีกหนึ่งสีสันของทุ่งดอกไม้บนยอดภู
อย่างไรก็ตามหลังสายฝนผ่านพ้นเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวอย่างนี้ แม้สีม่วงอ่อนของดอกหงอนนาคที่บานเต็มแน่นจะค่อยๆโรยรา เหลือเพียงเว้าๆแหว่งๆแต่งแซมแต้มท้องทุ่งหญ้าอยู่เป็นหย่อมๆเป็นจุดๆ แต่ลานสนภูสอยดาวก็ยังมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางขึ้นไปสัมผัส ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานแพร่ ที่มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมอุตรดิตถ์ด้วยได้พยายามผลักดันภูสอยดาวในช่วงฤดูหนาวให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ และมีอากาศหนาวเย็นไม่แพ้บนดอยสูงในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน
ป่าสนภูสอยดาวมีเนื้อที่กว้างใหญ่ที่สุด
สำหรับมนต์เสน่ห์ของภูสอยดาวยามหน้าหนาวนั้นก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อากาศอันหนาวเหน็บกับบรรยากาศแคมป์ปิ้งยามราตรีที่บนฟากฟ้าเกลื่อนระยิบพริบพรายไปด้วยมวลหมู่ทะเลดาว แสงสีของตะวันและท้องฟ้าในยามอาทิตย์อัสดง สายหมอกขาวโพลนที่ไหลลอยอ้องอิ่งในยามเช้า แสงและเงาของต้นสนยามเช้า-เย็นที่ถูกโลมไล้ฉาบทอจากแสงแดดอ่อนๆ และเส้นทางพิชิตเนินจุดสูงสุดของภูสอยดาวบนระดับความสูง 2,102 เมตร(สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ) ซึ่งเปิดให้ขึ้นได้เฉพาะในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เท่านั้น (มีระยะทางไป-กลับ 8 กม. ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 8 ชม.)
เสน่ห์ดอกไม้ริมทาง
นอกจากนี้บนลานสนภูสอยดาวยังมีสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ มวลหมู่ดอกไม้เล็กดอกไม้น้อยและกล้วยไม้ป่าอันหลากหลายที่ต่างพากันผลิดอกเบ่งบานออกมาโต้ลมหนาว หลังดอกหงอนนาคนางเอกแห่งภูสอยดาวหลบไปเก็บตัวชั่วคราว เปิดโอกาสให้ดอกไม้ดาวเด่นอื่นๆได้แสดงตัวอวดโฉมความงามกันบ้าง

นับว่าธรรมชาติได้จัดสรรแบ่งบทบาทของกันและกันได้อย่างสมดุลและลงตัว ซึ่งกับความงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้างเหล่านี้ แม้จะต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ และความยากลำบากโหดหินของการเดินเท้าขึ้นไปพิชิตยอดภู แต่เมื่อเราได้อดทนเดินก้าวข้ามผ่านพ้นจากความยากลำบากเหล่านั้นไปเป็นหนึ่งในผู้พิชิตภูสอยดาว ความเหนื่อยยากต่างๆที่ผจญมามันต่างหายไปเป็นปลิดทิ้ง

ที่สำคัญคือการเป็นผู้พิชิตภูสอยดาว มันยังทำให้ผมได้เรียนรู้ที่จะพิชิตใจตนเองต่อการต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามไปในตัวอีกด้วย
ทิวทัศน์เมื่อมองลงมาจากจุดชมวิว
*****************************************

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดคืออุตรดิตถ์และพิษณุโลก เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปพิชิตยอดภูสอยดาวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.- 10 ม.ค. ของทุกฤดูกาลท่องเที่ยว โดยช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวนิยมที่สุดก็คือช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดอกหงอนนาคบานเป็นทุ่งสวยงาม

บนยอดภูสอยดาวมีลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ แต่ไม่มีไฟฟ้า ผู้ที่จะขึ้นค้างแรมต้องเตรียมอาหารและน้ำดื่มขึ้นไปให้เพียงพอกับจำนวนคืนที่ค้าง

อช.ภูสอยดาว กำหนดอัตราค่าบริการต่างๆไว้ดังนี้ เต็นท์ 1 หลัง/2 คน 150 บาท,ถุงนอน 30 บาท,ที่รองนอน 20 บาท,ค่าลูกหาบบริการกิโลกรัมละ 20 บาท ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยว การเดินทางและที่พักเพิ่มเติมได้ที่ อช.ภูสอยดาว โทร. 0-5543-6001-2,0-5543-6793

สำหรับผู้ที่ต้องการเที่ยวอช.ภูสอยดาวเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่(พื้นที่รับผิดชอบ แพร่,น่าน,อุตรดิตถ์) โทร. 0- 5452-1118
กำลังโหลดความคิดเห็น