ในภาวะที่คนไทยส่วนหนึ่งประสบอุทกภัย คนไทยอีกส่วนหนึ่งที่ยังปลอดภัยได้ยังส่งแรงใจ และแรงกายมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องของปากท้องที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งนั้น ได้มีหลายๆ ภาคส่วนที่เข้ามาช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ อย่างเช่นชาวภาคใต้ ที่มาตั้งจุดประกอบอาหารจ่ายแจกไปยังชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่เดือดร้อน
สำหรับบริเวณใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีอาหารไว้บริการสำหรับผู้ประสบภัย โดยบริเวณนี้เป็นสถานที่ตั้งของครัวชาวใต้ จาก จ.สุราษฎร์ธานี ที่ตั้งเป็นจุดประกอบอาหาร และแจกจ่ายอาหารเมนูปักษ์ใต้ให้ชาวบ้านในละแวกบางพลัดได้อิ่มท้องกันในยามยากเช่นนี้
สตางค์ วงศ์รอด หนึ่งในอาสาสมัครครัวสุราษฎร์น้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม เล่าว่า กลุ่มชาวสุราษฎร์ที่มาตรงนี้ ก็เป็นผู้ประภัยน้ำท่วมเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยในตอนนั้นชาวกรุงเทพฯ ก็ได้ลงไปช่วยชาวใต้ พอมาครั้งนี้ เมื่อรู้ข่าวน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ ก็เลยมีการรวมตัวกัน โดยมี สส. ของจังหวัดเป็นแม่งานหลัก
“เรามาอยู่ตรงนี้ก็ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคมแล้ว ตั้งแต่น้ำยังไม่ขึ้นเต็มที่ มาอยู่ตรงใต้สะพานแยกบางพลัด ครัวชาวใต้แบบนี้มีสามสิบกว่าจุด แล้วแต่จังหวัดแล้วแต่พื้นที่ที่มาดูแล ทางเราได้รับเลือกให้มาอยู่บางพลัดเราก็เลยมาอยู่ตรงจุดนี้ ที่บอกว่าสามสิบกว่าจุดก็จะมีทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีปัญหาเรื่องอุทกภัย ถ้าเราเข้าถึงเราก็จะไปทุกย่าน อย่างเช่นแถวบางบอน บางแค หรือดอนเมือง ก็มีครัวแบบนี้อยู่แทบทุกจุด”
“คนที่มาตรงนี้ก็มีทั้งมาจากสุราษฎร์ธานีเลย ประมาณ 20 คน ส่วนที่เหลือก็เป็นอาสาสมัครของที่นี่ เป็นพวกพ่อค้าแม่ค้าที่เขาไม่สามารถจะประกอบกิจการได้ แล้วก็เป็นคนในชุมชนละแวกบางพลัดที่มาช่วย เขาก็จะสามารถดูแลคนที่อยู่ตามตรอกซอกซอยได้ อย่างเช้ามาเราก็รีบผลิตข้าวกล่องให้อาสาสมัครเขาเอาไปส่งให้ตามซอย”
สำหรับอาหารที่ทำในจุดนี้ ก็จะเป็นอาหารปักษ์ใต้ เน้นที่เครื่องแกง เน้นที่ความอร่อย ส่วนวัตถุดิบพวกเนื้อสัตว์ก็จะเน้นที่กุ้งเป็นหลัก เพราะได้รับการสนับสนุนมาจากทาง จ.สุราษฎร์ธานี นำขึ้นมาส่งทุกวัน
“ตัวอย่างเมนูของเราก็อย่างเช่น ในตอนเช้าเป็นข้าวผัด ส่วนมื้ออื่นๆ ก็สลับกันไป มีทั้งแกงส้ม แกงไตปลา ผัดเผ็ด ฉู่ฉี่ และเมนูปักษ์ใต้อื่นๆ แล้วแต่วัตถุดิบที่เรามี แล้วก็เปลี่ยนเมนูไม่ให้ซ้ำกัน เพราะคนกินเป็นกลุ่มเดิม จะได้ไม่เบื่อกัน เราเน้นที่ความอร่อย เน้นความเข้มข้นของเครื่องแกง แต่ลดความเผ็ดลงมาบ้าง”
“ในส่วนของวัตถุดิบนั้น มีทั้งสั่งตรงมาจากสุราษฎร์เลย แล้วก็มีทั้งคนที่มีจิตอาสานำมาบริจาคให้ ในวันหนึ่งเราจะทำอาหาร 3 มื้อ มื้อหนึ่งก็ประมาณ 5,000 คน แต่ถ้ายังมีคนเหลือที่ยังไม่ได้กิน เราก็สามารถทำเพิ่มเติมได้ ส่วนเรื่องการแจกจ่ายไปนั้น อาสาสมัครในพื้นที่ที่มาช่วยจะนำไปแจกจ่ายให้ตามตรอกซอกซอยต่างๆ แล้วก็ยังมีตั้งโต๊ะให้มากินตรงจุดนี้ด้วย คนที่อยู่ใกล้ๆ ก็เดินมากินที่นี่ได้”
“แม่ครัวของเราจะมาจากสุราษฎร์โดยตรงเลย ส่วนอาสาสมัครก็จะมาช่วยหั่น ช่วยเตรียมของ เราต้องการให้รสชาติเป็นปักษ์ใต้แท้ๆ จากรสมือของแม่ครัวคนใต้ เรียกว่าแม้จะน้ำท่วม แต่ก็ต้องได้กินของอร่อย สด สะอาด และถูกสุขลักษณะทุกอย่าง”
สำหรับระยะเวลาที่จะครัวตั้งอยู่ตรงนี้ สตางค์ กล่าวว่า จากที่พูดคุยวางแผนกันไว้ ก็จะทำไปจนกว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านแถบนี้เบาบางลงก่อน ช่วยให้คนหากินกันได้ แล้วจึงย้ายครัวชาวใต้แห่งนี้ไปยังจุดอื่นที่มีความเดือดร้อนมากกว่า จะได้ไปช่วยเหลือชาวบ้านที่อื่นที่เดือดร้อนให้มีของอร่อยกินกัน
ทางด้าน สุนันทา ใบแก้ว แม่ครัวของครัวแห่งนี้ก็เล่าให้ฟังว่า ครัวจะเริ่มทำตั้งแต่ 06.00 น. ไปจนถึง 19.00 น. ทุกวัน ทำอาหารกันวันละ 3 มื้อ วัตถุดิบที่ใช้ก็แล้วแต่ว่าจะได้อะไรมา จากนั้นก็จะนำมาดัดแปลงให้เป็นเมนูปักษ์ใต้อร่อยๆ
“อย่างเมื่อเช้านี้ก็เป็นข้าวผัด ผัดไปทั้งหมด 8 กระทะ วันนี้คนเยอะมาก คิวยาวเลย มีคนมากินจากทุกที่ เพราะว่าน้ำเริ่มแห้งแล้ว อีกอย่างนึงก็เป็นวันทำการ คนก็จะเยอะกว่าปกติ ทุกๆ วัน ก็จะมี 3 มื้อ มื้อกลางวัน มื้อเย็นก็จะมีกับข้าว 3 อย่าง เผ็ด 2 อย่าง จืดหนึ่งอย่าง คนจะได้กินได้ อย่างที่เห็นนี่ก็เป็นผัดผักใส่กุ้ง มีแกงไตปลา ส่วนอีกหม้อเป็นแกงส้มแบบปักษ์ใต้ ใส่หยวกกล้วย ฟัก แล้วก็หัวไชเท้า ส่วนบ่ายนี้ก็จะมีผัดไทยไชยากุ้งสด เพราะว่ามีคนเอาเส้นผัดไทยมาให้จากเยาวราช”
“ทำอาหารเยอะๆ แบบนี้ก็เหนื่อยมาก ทำแกงหม้อเบอร์ 50 วันละ 16 หม้อ ตั้งแต่เช้ายันเย็น หมดทุกวัน ไม่มีเหลือค้าง ทำวันต่อวัน ถึงจะเหนื่อยแบบนี้แต่เราก็ภูมิใจที่ได้มาช่วยคนอื่น พอรู้ว่าน้ำท่วม เราก็ขึ้นมาเลย อยากมาช่วยให้เขาได้กินของอร่อยๆ กัน”สุนันทา กล่าว
ซึ่งนอกจากจะมีครัวชาวใต้ มาตั้งจุดช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ทางกระทรวงมหาดไทยยังได้มีการจับคู่เขตที่ประสบภัยกับจังหวัดต่างๆ อีก 18 จังหวัด โดยจะส่งอาหารสำเร็จหรือตั้งโรงครัวประกอบอาหารในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยโดยตรง ประกอบด้วย จ.ตรังช่วยเขตบางพลัด จ.ราชบุรีช่วยเหลือเขตตลิ่งชัน จ.เพชรบุรีช่วยเหลือเขตทวีวัฒนา จ.อุดรธานีช่วยเหลือเขตบางแค จ.นครราชสีมาช่วยเหลือเขตดอนเมือง จ.เชียงรายช่วยเหลือเขตสายไหม จ.เชียงใหม่ช่วยเหลือเขตหลักสี่ จ.อุตรดิตถ์ช่วยเหลือเขตบางเขน
ส่วนจ.บุรีรัมย์ช่วยเหลือเขตหนองจอก จ.ภูเก็ตช่วยเหลือเขตคลองสามวา จ.อุบลราชธานีช่วยเหลือเขตลาดพร้าว จ.สุรินทร์ช่วยเหลือเขตวังทองหลาง จ.กาญจนบุรีช่วยเหลือเขตจตุจักร จ.พิษณุโลกช่วยเหลือเขตบางซื่อ จ.สงขลาช่วยเหลือเขตมีนบุรี จ.ปราจีนบุรีช่วยเหลือเขตลาดกระบัง จ.สระแก้วช่วยเหลือเขตคันนายาว และจ.นครพนมช่วยเหลือเขตบางกอกน้อย
สำหรับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ เป็นอีกหนึ่งครั้้งที่เราได้เห็นถึงน้ำมิตรจิตใจอันดีงามของคนไทย เพราะในขณะที่คนกรุงเทพฯและคนในพื้นที่ภาคกลางต้องทนทุกข์อยู่กับน้ำท่วม แต่คนไทยในจังหวัดอื่นๆ ก็ยังส่งแรงกายแรงใจมาช่วยเหลือ นี่เป็นอีกหนึ่งน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยทอดทิ้งกันในยามยาก