วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม เป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 กษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักของราษฎรและมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ ทั้งในการพัฒนาและปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึงกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำตลอดรัชกาลก็คือการเสด็จเยี่ยมเยียนทุกข์สุขราษฎรตามหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จประพาส หรือเสด็จประพาสต้น (การเสด็จประพาสโดยไม่แจ้งหมายกำหนดการ) ซึ่งทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่และทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรได้โดยง่าย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสหัวเมืองประมาณ 24 ครั้ง ด้วยกัน และในการเสด็จประพาสทั้ง 24 ครั้งนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าพระองค์เสด็จประพาสเมืองตราด โดยเฉพาะ “เกาะช้าง” ถึง 12 ครั้งเลยทีเดียว
ข้อมูลดังกล่าวมาจากหนังสือ “ตามรอยเสด็จฯ เกาะช้าง จังหวัดตราด” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ จัดทำโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล โดยในหนังสือได้กล่าวถึงสาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองตราดถึง 12 ครั้งว่า เนื่องจากมีพระราชประสงค์ส่วนใหญ่คือเพื่อทรงตรวจตราความสงบเรียบร้อยของหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกในฐานะเป็นเมืองชายแดน ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร รวมถึงทรงพักผ่อนเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถและรักษาพระอาการประชวร
พระองค์เสด็จมายังเกาะช้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2416 ซึ่งนับเป็นปีแรกหลังจากทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ และนับเป็นปีที่ 5 ในรัชกาล เมื่อนับจนถึงปี 2450 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่พระองค์เสด็จมายังเมืองตราดแล้ว พบว่าพระองค์ได้เสด็จประพาสเกาะช้างรวม 12 ครั้ง เกาะกระดาดรวม 10 ครั้ง ตัวเมืองตราดรวม 4ครั้ง แหลมงอบรวม 2 ครั้ง เกาะหมากรวม 2 ครั้ง และเกาะกูดรวม 2 ครั้ง
สาเหตุประการหนึ่งที่ชวนให้ ร.5 เสด็จประพาสเกาะช้าง เมืองตราดอยู่เป็นนิจ เนื่องจากมีพระราชดำริว่าเกาะช้างมีน้ำตกที่งามกว่าแห่งอื่นๆ ดังความปรากฏในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสจันทบุรี ความตอนหนึ่งว่า
“...โดยน้ำตก 4 ตำบลที่เราเห็นคราวนี้แล้ว ที่เกาะช้างเป็นที่งามกว่าทุกแห่ง บางคนว่าพลิ้วงามกว่า ความเห็นข้างที่ว่าพลิ้วนั้นน้ำงามนัก เพราะไม่มีที่น้ำไหลเป็นเกลียวเลย ดูเป็นฝอยจนน้ำนั้นขาวเหมือนกับนมวัว ที่ก็สูงน้ำก็มาก แต่ที่เกาะช้างนั้นที่ศิลาที่น้ำตกงาม ถึงที่สีพยานั้นก็งาม แต่ไพร่ไป...”
น้ำตกที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสบ่อยครั้งคือ “น้ำตกธารมะยม” ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น ธารน้ำไหลผ่านลงมาเป็นชั้นๆ ตามร่องหินแกรนิตสีดำ มีหน้าผาสูงชันจนเกือบตั้งฉาก โอบรอบป่าดงดิบ พระองค์เสด็จมาธารน้ำตกแห่งนี้กว่า 10 ครั้ง และได้ทรงปีนเขาเพื่อทอดพระเนตรน้ำพุคลองมะยม ซึ่งเป็นน้ำพุเตี้ยๆ ที่พุ่งมาใต้น้ำ ปัจจุบันจะมีให้เห็นเฉพาะฤดูฝน และพบบนน้ำตกชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นยอดเขาเท่านั้น
นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ไว้บนศิลาถึง 4 รอย ด้วยกัน และได้ทรงทำเกรน หรือกองศิลาเป็นที่ระลึกไว้ที่บริเวณน้ำตก โดยทรงพระราชหัตถเลขาว่า “เราสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม รัชกาลที่ 5 ได้มาถึงที่นี้ 2 ครั้งๆ หนึ่งเมื่อปีระกา เบญจศก จุลศักราช 1235 กับครั้งนี้วัน 4 ฯ12 2 ค่ำ ปีชวดอัฐศกศักราช 1238 เราทั้งปวงบรรดาที่มาพร้อมกันได้ลงชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้” พร้อมทั้งลงพระนามของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ อีกทั้งยังได้นำพระราชหัตถเลขานั้นบรรจุในกล่องตลับยาสูบเงินนอก แล้วใส่ลงในถ้วยน้ำชาที่มีตราประจำพระองค์ พร้อมเอาจานปิดทับข้างบนไว้ วางถ้วยลงบนพื้นหินและเอาหินก้อนเล็กก้อนใหญ่วางทับไว้ นับได้ว่านอกจากจะมีความงดงามตามธรรมชาติแล้ว น้ำตกธารมะยมก็ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
ไม่เพียงเกาะช้างเท่านั้น รัชกาลที่ 5 ยังโปรดที่จะเสด็จไปยังเกาะกระดาด โดยเสด็จมายังเกาะกระดาดควบคู่ไปกับเกาะช้างถึง 11 ครั้ง เพราะพระองค์โปรดการล่าสัตว์ โดยบนเกาะกระดาดนั้นมีกวางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ทรงเขียนว่า “เกาะกระดาด” น่าจะมาจากชื่อของต้นกระดาดที่พบมากบนเกาะ ลักษณะคล้ายต้นบอน ต้นเผือก ต่อมาพบในตราจองเขียนว่า “เกาะกระดาษ” ซึ่งน่าจะมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเกาะที่มีพื้นที่เกือบจะแบนราบทั้งเกาะ ไม่มีภูเขา
เกาะกระดาดนั้นเป็นเกาะประวัติศาสตร์เกาะหนึ่งของเมืองตราด เพราะเป็นเกาะแห่งแรกที่ออกโฉนดถูกต้องตามกฏหมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อป้องกันการรุกรานจากฝรั่งเศสเพราะเป็นพื้นที่ชายแดนทางน้ำระหว่างไทย-กัมพูชา นอกจากนี้ยังเป็นเกาะที่รัชกาลที่ 5 โปรดที่จะเสด็จมาอยู่บ่อยครั้งเพื่อทรงพักผ่อนและทรงปืนล่าเนื้อ ต่อมาทรงยกเกาะกระดาดให้กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ม.จ.สุมนมาลย์ พระชายา จึงทรงสร้างพระตำหนักอยู่ที่แหลมไข่กา เกาะกระดาด และภายหลังเมื่อขายเกาะแล้วจึงทรงย้ายไปอยู่ที่แหลมหินดำ เกาะกูด
นอกจากนั้นพระองค์ยังได้เสด็จไปยังเกาะหมาก เกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสวนมะพร้าว โดยรอบมีอ่าวและชายหาดที่สวยงามน้ำทะเลใสสะอาดหลายหาด รัชกาลที่ 5 เคยโปรดฯให้เรือพระที่นั่งจอดบริเวณอ่าวที่เกาะหมากเพื่อประทับแรม เพราะมีทัศนียภาพที่งดงาม เงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
และเกาะกูด ก็เป็นอีกหนึ่งเกาะที่พระองค์เคยเสด็จมาทอดพระเนตรความงดงาม และพระองค์ได้เสด็จมายังน้ำตกคลองเจ้า หรือน้ำตกธารสนุก และได้สลักพระปรมาภิไธยย่อไว้บนแผ่นหินที่น้ำตกแห่งนี้ด้วย
นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ยังได้เสด็จมายังพื้นที่บนชายฝั่งของเมืองตราดและแหลมงอบอีกด้วย โดยในการเสด็จประพาสเกาะช้างครั้งที่ 4 ใน พ.ศ.2424 พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสตัวเมืองตราด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ ตัวเมืองตราด และได้เสด็จไปทอดพระเนตรบ้านเรือนต่างๆ รวมถึงได้ทรงซื้อผ้าพื้นผ้าขาวผ้าลายผ้าเช็ดปากต่างๆ ซึ่งเป็นของพื้นเมืองตราด
จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราดหลายคราว จึงทำให้มีภูมินาม หรือชื่อของสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสหลายแห่ง ทั้งที่เป็นนามพระราชทานและนามที่ราษฎรเรียกขานเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการเสด็จประพาสของพระองค์ ได้แก่ “วัดวัชคามคชทวีป” ซึ่งเป็นนามที่พระองค์พระราชทานแก่วัดสลักคอกบนเกาะช้าง “แก่งทรงลุย” นามพระราชทานเมื่อคราวเสด็จน้ำตกธารมะยมเมื่อปี 2430 และในบริเวณนี้พระองค์ยังได้สลักตรา จปร.ไว้บนก้อนหินด้วย “แหลมพลับพลา” เป็นแหลมอยู่ที่ปลายเกาะกระดาด เหตุที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากเคยมีพลับพลาสร้างขึ้นสำหรับรับเสด็จรัชกาลที่ 5 “ท่าหลวง” ท่าเรือซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองตราด บริเวณตลาดบ้านล่าง ริมคลองบางพระ เป็นท่าเรือที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้เทียบเรือพระที่นั่งเมื่อคราวเสด็จขึ้นเมืองตราด โดยล่องเรือมาตามคลองบางพระ
การเสด็จประพาสเกาะช้างและเมืองตราดครั้งสุดท้ายของพระองค์ใน พ.ศ. 2450 นับเป็นครั้งที่มีความหมายและความสำคัญที่สุด เพราะเป็นครั้งแรกที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองตราดหลังจากที่เมืองตราดกลับคืนเป็นของไทย ภายหลังประสบวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งส่งผลให้เมืองตราดตกเป็นของฝรั่งเศสชั่วระยะหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นการเสด็จเมืองตราดครั้งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์อีกด้วย เพราะ 3 ปี ต่อมา พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ 23 ต.ค. 2453
การเสด็จประพาสเกาะช้างและเมืองตราดจึงเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองไทย และเป็นความทรงจำที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวเมืองตราดและชาวเกาะช้างเป็นที่ยิ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ภาพและข้อมูลจาก : หนังสือ “ตามรอยเสด็จฯ เกาะช้าง จังหวัดตราด” โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล