xs
xsm
sm
md
lg

สพร. หวั่นน้ำท่วมทำลายโบราณวัตถุแนะห้ามทิ้ง ยินดีซ่อมแซมให้ฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพร.แนะนำวิธีการช่วยเหลือในเบื้องต้นให้หน่วยงานหรือประชาชนที่มีโบราณวัตถุรีบขนย้ายในทันทีเพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น และห้ามทิ้ง เพราะยังสามารถทำการอนุรักษ์ (ซ่อมแซม) ได้

เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด สร้างความเสียหายแก่โบราณวัตถุมากมาย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ภายใต้สำหนักงานบริหารและจัดการความรู้ (สบร.) สำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในนโยบายหลักคือทำหน้าที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดตั้ง ดูแลรักษา และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ จึงมีแผนการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ถูกน้ำท่วมในปัจจุบัน โดยแนะนำวิธีการช่วยเหลือในเบื้องต้นให้หน่วยงานหรือประชาชนที่มีโบราณวัตถุรีบขนย้ายในทันทีเพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น และห้ามทิ้ง เพราะยังสามารถทำการอนุรักษ์ (ซ่อมแซม) ได้

โดยสถาบันฯ ยินดีให้คำปรึกษาและซ่อมแซมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียง ระบุชนิด จำนวน สภาพความเสียหาย (แนบรูปถ่ายจะดีมาก) ติดต่อเข้ามาที่โทรศัพท์ 02-2252777 ต่อ 402 และ 109 (จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.30 - 17.30 น.) โทรสาร 02-2252776 อีเมล์ jullada@ndmi.or.th หรือดูเพิ่มเติมที่ www.museumsiam.com

สำหรับการช่วยเหลือโบราณวัตถุในเบื้องต้น โบราณวัตถุเมื่อเปียกน้ำ อย่าทิ้ง เพราะสามารถทำการอนุรักษ์ (ซ่อมแซม) ได้ ให้ติดต่อเข้ามาที่ สพร. ว่าเป็นโบราณวัตถุชนิดใด มีจำนวนเท่าไหร่ สภาพเป็นอย่างไร (ถ้ามีรูปถ่ายจะดีมาก)

ส่วนเมื่อวัตถุพิพิธภัณฑ์เปียกน้ำ ให้ปฏิบัติดังนี้

1. จับต้องเคลื่อนย้ายอย่างระมัดระวัง

2. ทำให้อาคารแห้ง ไม่อับชื้น เปิดหน้าต่าง พัดลม เครื่องดูดความชื้น

3. เคลื่อนย้ายวัสดุที่เปียกน้ำ เช่น พรม ผ้าม่าน ออกไปจากอาคาร

4. มองหาจุดที่มีน้ำสะสม แล้วซับหรือสูบออกไปให้แห้ง

5. ซับน้ำออกให้มากที่สุด

6. ผึ่งให้แห้งภายใน 24 ชั่วโมง

7. ส่วนที่ทำให้แห้งไม่ทัน ให้แช่แข็ง

สำหรับการดูแลเบื้องต้น วัตถุ ประเภท หนังสือ กระดาษที่เคลือบผิวมัน สมุดไท ให้ใช้กระดาษไขคั่นแต่ละหน้าวางบนชั้นวางของที่มีลักษณะเป็นตะแกรงโปร่ง ติดต่อผู้เชี่ยวชาญไปทำการอนุรักษ์

ภาพถ่ายและเอกสารขนาดเล็ก-1. เอาออกจากซองหรือกรอบ 2. เคลื่อนย้ายด้วยตะกร้าหรือตะแกรงหรือถาดพลาสติก 3. หากสกปรก ล้างด้วยน้ำ ห้ามใช้กระดาษซับบนผิวของภาพ 4. แขวนหรือห้อยบนราวหรือเชือก หรือวางเรียงในแนวราบ 5. ระมัดระวังไม่ให้ผิวหน้าของภาพสัมผัสกัน 6. ทำให้แห้งโดยใช้พัดลม และเครื่องดูดความชื้น 7. หากมีจำนวนมากให้แช่แข็ง 8. ติดต่อผู้เชี่ยวชาญไปทำการอนุรักษ์

ฟิล์มกระจก- 1. ห้ามแช่แข็ง 2. วางบนกระดาษซับให้ด้านที่มีเยื่อไวแสงอยู่ด้านบน 3. หรือวางในแนวตั้งในตะแกรงโปร่งๆ 4. ทำให้แห้ง 5. ติดต่อผู้เชี่ยวชาญไปทำการอนุรักษ์

เทป/แถบบันทึกเสียง - 1. ใส่ถุงมือขณะจับต้องเคลื่อนย้าย 2. ห้ามใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติแม่เหล็ก 3. ถ้ากล่องเปียกหรือฉีกขาด รีบแยกกล่องออก 4. หากสกปรกล้างในน้ำอุ่น (อุณหภูมิประมาณปัสสาวะของคน) 5. วางในแนวตั้งบนผ้าหรือกระดาษซับ 6. ทำให้แห้งช้าๆ 7. ติดต่อผู้เชี่ยวชาญไปทำการอนุรักษ์

แผ่นดิสเก็ต - 1. ใส่ถุงมือขณะจับต้องและเคลื่อนย้าย 2. ห้ามใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติแม่เหล็ก 3. นำแผ่นดิสเก็ตออกจากซองหรือกล่อง 4. ล้างด้วยน้ำสะอาด 5. ซับให้แห้งด้วยผ้า 6. ห้ามแช่แข็ง 7. ติดต่อผู้เชี่ยวชาญไปทำการอนุรักษ์

แผนที่ แบบแปลนและภาพโปสเตอร์ - 1. หากมีแนวโน้มที่จะมีการตกสี ใช้กระดาษคั่นแล้วห่อด้วยพลาสติกนำไปแช่แข็งทันที 2. หากเป็นกระดาษเคลือบผิวมัน ป้องกันการติดกันด้วยผ้าใยสังเคราะห์โปร่งๆ หรือวางให้แห้งในแนวราบ 3. กระดาษที่ไม่เคลือบ คั่นด้วยกระดาษซับที่มีขนาดใหญ่กว่า 4. ทับด้วยของหนัก 5. เปลี่ยนกระดาษซับบ่อยๆ 6. ติดต่อผู้เชี่ยวชาญไปทำการอนุรักษ์

ประเภทไม้ โลหะ เครื่องปั้นดินเผา เซรามิค - 1. เคลื่อนย้ายให้พ้นจากการแช่น้ำ 2. ผึ่งลมให้แห้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น