xs
xsm
sm
md
lg

25 ปี หลักฐานมีชีวิตอุบัติภัย "เชอร์โนบิล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหยื่อของหายนะเชอร์โนบิล “แอนย่า” เด็กสาววัย 4 ขวบ เธอเป็นเนื้องอกในสมองและต้องผ่าตัด จนทำให้สูญเสียความรู้สึกด้านขวาและต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด  เป็นหนึ่งภาพจากนิทรรศการภาพถ่าย รำลึก 25 ปี เชอร์โนบิล ที่จัดขึ้น ณ ชั้น 1 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ
ฝันร้ายจากเหตุการณ์ “เชอร์โนบิล” ได้ผ่านมา 25 ปี แต่ดูเหมือนว่าผลกระทบต่างๆ จะยังไม่จบสิ้น เด็กๆ ที่เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยร่องรอยอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ ทั้งในอาหาร น้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งในอากาศ พวกเขาจะมีชีวิตเป็นอย่างไร?

โรเบิร์ท นอธ (Robert Knoth) ช่างภาพมืออาชีพของกรีนพีซ ได้ถ่ายทอดชะตากรรมของเด็กๆ ที่เกิดมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl) ระเบิดเมื่อ 25 ปีก่อน ผ่านภาพถ่ายจากการลงพื้นที่เมื่อ 1 มี.ค.54 และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้นำมาเผยแพร่อีกทอดผ่านนิทรรศการ "รำลึก 25 ปี เชอร์โนบิล"สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม

ภายในห้องจัดแสดงภาพถ่ายดังกล่าว ได้ออกแบบให้คล้ายสุสานของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย โดยภาพที่จัดแสดงทั้งหมด 25 ภาพได้จำลองให้เป็นป้ายหน้าสุสาน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พบว่าแต่ละภาพนั้นได้วางดอกไม้ไว้เหมือนการแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิต

เบื้องหลังภาพเด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นภายในหมู่บ้านดรอสดิน ซึ่งมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แท้จริงแล้วเด็กเกือบทุกคนเกิดมาพร้อมความผิดปกติ เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ ตามคำบอกของ ทามาร่า โวโลดิมิริฟน่า โอกิวิช ผู้จัดการของจุดบริการทางการแพทย์ในดรอสดิน

"เด็กเกือบทุกคนเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติ เช่น ในหมู่บ้านไม่มีเด็กที่มีสุขภาพดีเลยแม้แต่คนเดียว นี่เป็นหลักฐานของอุบัติเหตุเชอร์โนบิล เด็กๆ 31 คนในหมู่บ้านกำลังป่วยหนัก ฉันเชื่อว่านี่เป็นผลของเชอร์โนบิล ไม่มีใครเลยสามารถพูดได้ว่า ผลกระทบของเชอร์โนบิลลดลง” โอกิวิชกล่าว

อีกภาพเป็นเรื่องราวของเด็กสาว "แอนย่า" วัย 4 ขวบ ที่เธอมักจะหมดสติและล้มพับลงบนโต๊ะ แอนย่าไม่สามารถอธิบายได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเธอ ขณะที่ "วาเลนติน่า" แม่ของเธอกังวลมากจึงพาเธอไปหาหมอ ปรากฏว่าเธอเป็นเนื้องอกในสมองและต้องผ่าตัดในทันที แต่ 2 เดือนหลังจากผ่าตัดเธอต้องรู้สึกสูญเสียความรู้สึกด้านขวาและต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด

เธอหวาดกลัวทุกครั้ง ที่เห็นเสื้อโค้ตสีขาว และมีประกาศนียบัตรหมายเลข 000358 ซึ่งมีข้อความว่า “บุคคลนี้มีสิทธิพิเศษที่มอบให้โดยรัฐบาลของสาธารณรัฐเบลารุส สำหรับเหยื่อของหายนะเชอร์โนบิล ดังที่ระบุในมาตรา 18 ของกฎหมายที่ออกโดยเทศบาลเมืองโกเมล”

3 ปี ผ่านมา "วาเลนติน่า" แม่ของแอนย่า กำลังเผชิญโรคไขข้ออักเสบตามมา จนทำให้สามีของเธอต้องเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อมาดูแลลูกและภรรยาของเขา ไม่ต่างกับเรื่องราวของ "วิคตอเรียย่า" ลูกสาววัยขวบครึ่งของ นาตาเลีย มิโคไลฟ์นา โอกิวิช

โอกิวิช ผู้จัดการของจุดบริการทางการแพทย์ในดรอสดิน และเป็นหมอของวิคตอเรียย่ากล่าวว่า วิคตอเรียย่า โอกิวิช เกิดวันที่ 11 มี.ค.52 และมีความผิดปกติของทารกแรกเกิด นั่นคือความผิดปกติของหัวใจอย่างร้ายแรง และซึ่งเขาฟันธงว่าเป็นเพราะเหตุการณ์เชอร์โนบิล

ถัดมาที่ภาพของ นาเดีย โอกิวิช เธอกล่าวว่า หายนะเชอร์โนบิลเปลี่ยนชีวิตของเธออย่างยิ่งยวด ข้อแรกมันส่งกระทบต่อลูกทั้ง 3 คนของเธอที่กำลังป่วยหนัก และเมื่อครอบครัวได้เดินทางไปยังเมืองโรกิตเน่อะ เพื่อตรวจวัดระดับสารกัมมันตรังสีในร่างกาย พบว่าระดับรสารกัมมันตรังสีเกินระดับสูงสุดเสมอ

สำหรับโรงเรียนในเมืองลูกินิ ตั้งอยู่ในเขตปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล และภาพถ่ายของช่างภาพกรีนพีซได้สื่อถึงอันตรายที่อยู่ใกล้เด็กๆ ในโรงเรียนแห่งนี้ โดย "มาช่า" นักเรียนของเมืองนี้บอกว่า ในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นฤดูที่เต็มไปด้วยเห็ดและบลูเบอร์รี เธอและเพื่อนๆ อยากเก็บเห็ดและบลูเบอร์รี แม้ว่าจะกลัวและรู้ว่ามีสารกัมมันตรังสีในระดับสูง แต่ก็ห้ามใจไม่ได้

นอกจากการถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กที่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีภาพที่สื่อให้เห็นฟาร์มในหมู่บ้านดรอสดิน ที่มีหญ้าแห้งสำหรับเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มของ นาเดีย โอกิวิช และมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับสูง

นี่เป็นแห่งเดียวที่เราสามารถเก็บหญ้าแห้งมาได้ เรารู้ว่ามันถูกปนเปื้อน แต่เราไม่มีที่อื่นใดสำหรับเก็บหญ้าแห้งมาเลี้ยงวัวในฤดูหนาว” นาเดีย โอกิวิช กล่าว

ภายในนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์เชอร์โนบิล จัดแสดงภาพของโรเบิร์ท นอธ จำนวน 23 ภาพ และมีอีก 2 ภาพของ "แจน กรารับ" (Jan Grarup) ช่างภาพจากมูลนิธินูร์ (NOOR) และกรีนพีซ โดยได้เดินทางไปบันทึกภาพเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 มี.ค.54

ภาพที่บันทึกชุดหลังเป็นของ โทเบียส มินช์เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของกรีนพีซ ขณะกำลังตรวจวัดรังสีนิวเคลียร์ ณ โรงหิน ที่สร้างขึ้นครอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล พร้อมกับภาพการเข้าไปตรวจวัดรังสีทางนิวเคลียร์ที่บ้านของ อีวาน โชลยารุก วัย 75 ปี ซึ่งกลับไปอยู่บ้านของเขา ที่ตั้งอยู่นอกเขตอันตรายห่างจากโรงไฟฟ้าเพียง 30 กิโลเมตร

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการภาพถ่าย "รำลึก 25 ปี เชอร์โนบิล" ได้ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.- 8 พ.ค.54 เวลา 10.00 - 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ ชั้น 1 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย.
ภาพเด็กที่อยู่ในหมู่บ้านดรอสดิน ซึ่งมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในหมู่บ้านไม่มีเด็กที่มีสุขภาพดีเลยแม้แต่คนเดียว นี่เป็นหลักฐานของอุบัติเหตุเชอร์โนบิล
เด็กในโรงเรียนในเมืองลูกินิ ตั้งอยู่ ณ แห่งหนึ่งในเขตที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากเชอร์โนบิล
“วิคตอเรียย่า” ลูกสาววัยขวบครึ่งของ “นาตาเลีย มิโคไลฟ์นา โอกิวิชที่มีความผิดปกติของทารกแรกเกิด นั่นคือความผิดปกติของหัวใจอย่างร้ายแรงและเป็นผลมาจากเชอร์โนบิล
ภาพแสดงการทดสอบอาหาร ณ สถานีทดสอบอาหารในเมืองโรกิตเน่อะ ในเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา
ภาพของ นาเดีย โอกิวิช  ที่เธอบอกว่า หายนะเชอร์โนบิลมันส่งกระทบต่อลูกของฉันทั้ง 3 คน ที่กำลังป่วยหนัก
นี่เป็นแห่งเดียวที่เราสามารถเก็บหญ้าแห้งมาได้ เรารู้ว่ามันถูกปนเปื้อน แต่เราไม่มีที่อื่นใดสำหรับเก็บหญ้าแห้งมาเลี้ยงวัวในฤดูหนาว
นิทรรศการภาพถ่าย รำลึก 25 ปี เชอร์โนบิล จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.– 8 พ.ค.54 เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ ชั้น 1 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ ชมฟรี
กำลังโหลดความคิดเห็น