xs
xsm
sm
md
lg

“กาสรกสิวิทย์” โรงเรียนควาย สอนใจคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปักดำนา
ย้อนอดีตไปเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาพการทำนาโดยใช้ควาย เป็นภาพที่เห็นกันได้จนชินตา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ควายเหล็กก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ควายตัวจริงกลับกลายเป็นของหายากไป เด็กบางคนถึงกลับไม่เคยเห็นควายตัวเป็นๆ

สำหรับในพื้นที่ จ.สระแก้ว ก็เป็นเหมือนกับพื้นที่อื่นๆในสยามประเทศ ที่ชาวนาได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ควายเหล็กแทนควายจริงนานแล้ว แม้ว่าจะมีเกษตรกรบางคนยังคงใช้ควายตัวจริงมาไถนาอยู่ก็ตาม แต่ก็เป็นควายที่ต้องเช่ามาแทนที่จะเลี้ยงไว้ภายในบ้านเหมือนสมัยก่อน
ระหัดวิดน้ำ ภูมิปัญญาดั้งเดิม
แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงเล็งเห็นความเป็นจริงในข้อนี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการธนาคารโคกระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ จ.สระแก้ว ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีโคกระบือหรือวัวควายใช้งาน โดยจะมอบวัวควายให้เกษตรกรนำไปใช้งาน และเมื่อมีลูกตัวแรกออกมา ก็จะทำการส่งลูกกลับคืนให้แก่ธนาคาร ส่วนวัวควายที่ได้มาครั้งแรกนั้น เมื่อครบ 5 ปีแล้ว ก็จะมอบเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรไปเลย

อย่างไรก็ดีในยุคปัจจุบันการเลี้ยงควายกลายเป็นการเลี้ยงทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการใช้แรงงานจากควายอีกต่อไป ทำให้ทั้งชาวนาและควายในยุคนี้ใช้ควายไถนาไม่เป็น ประกอบกับควายของธนาคารก็เริ่มลดน้อยลง เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาในพื้นที่ จ.สระแก้ว และทอดพระเนตรเห็นปัญหาในเรื่องนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา โดยพื้นที่แห่งนี้เป็นของนายสมจิตต์ และนางมณี อิ่มเอิบ ซึ่งได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 110 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ใน ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา
ผู้ใหญ่นิด สมบูรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน
ทั้งนี้ทรงโปรดเกล้าให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการพระราชดำริ เป็นศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย พร้อมทั้งทำแปลงสาธิตด้านการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรทั่วไป โดยเสด็จไปเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 และยังทรงพระราชทานชื่อโรงเรียนแห่งนี้ว่า “กาสรกสิวิทย์” จากคำว่า “กาสร” ที่แปลว่าควาย และ “กสิวิทย์” ที่หมายถึงศาสตร์แห่งการทำกสิกรรม

วัตถุประสงค์ของโรงเรียนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกควายให้สามารถไถนาและทำงานด้านการเกษตรกรรม และสอนผู้ที่ต้องการใช้ควายทำการเกษตร ให้สามารถทำงานร่วมกับควายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลควายให้มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นสถานที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน รวมถึงการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
ฝึกไถนาในแปลงสาธิต
ผู้ใหญ่นิด สมบูรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน และหนึ่งในครูผู้ฝึก เล่าถึงกระบวนการฝึกควายของโรงเรียนแห่งนี้ว่า “เริ่มแรกมีการวางแผนไว้ว่าจะให้เวลาฝึก 15 วัน ให้ควายเป็นตั้งแต่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเดินหน้าถอยหลัง ผมก็มามีส่วนร่วมวางแผนการฝึก จึงขอให้เปลี่ยนเป็น 10 วัน เพราะ 15 วันอาจนานเกินไป ซึ่งหลักสูตร 10 วันนี้ ก็เป็นหลักสูตรที่พวกผมสอนมาตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นที่ 26 ปัจจุบันฝึกมาแล้ว 26 รุ่น ก็ประมาณ 200 กว่าคน 200 กว่าตัว คนที่ต้องการมาฝึก เราก็ยินดีสอนให้ฟรี แล้วก็มีค่ากับข้าวให้ 200 บาทต่อวัน เพราะว่าคนที่มาฝึกส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนยากจน ลูกเมียจะอยู่อย่างไรเมื่อเขามาฝึกที่นี่ ทางโรงเรียนเราก็จัดให้เป็นค่ากับข้าวค่าเบี้ยเลี้ยง ก็ทำให้มีรายได้อื่นจะได้ไม่เป็นภาระกับครอบครัว”

สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ภายในโรงเรียนของเกษตรกรที่เข้ามารับการฝึกทั้ง 10 วัน จะใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิถีแบบพื้นบ้าน ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเริ่มต้นฝึกควายตั้งแต่ 07.00-09.00 น. จากนั้นก็จะเรียนจนถึงเที่ยง พักกลางวัน แล้วเรียนต่อจนถึง 15.00 น. ก็จะกลับไปฝึกควายจนถึงเย็น หลังจากนั้นจึงจะมีเวลาพัก
ต้นแบบบ้านดินที่อาศัยได้จริง
“เราต้องให้เขาตั้งใจฝึก เพราะภายในสิบวันเขาต้องเป็นทุกอย่าง ควายจะแล้วซ้ายเลี้ยวขวาได้ การจะสอนควายเราก็จะใช้ภาษาที่เรียกกันว่าภาษาเชือก จะให้ควายเลี้ยวไปทางขวาก็ต้องกระตุก แต่ถ้าบอกขวาๆ ควายก็ไม่ไป เพราะควายไม่รู้จักซ้ายขวา แต่ควายรู้จักภาษาเชือกของเขา และก็ต้องฝึกแบบเข้าอุปกรณ์ จะฝึกทีเดียวพร้อมกันทั้งหมดเลย ถ้าเราไปฝึกทีละอย่างเราจะฝึกไม่ได้ ควายจะไม่ค่อยเข้าใจ เราต้องฝึกทีเดียวให้หมดทั้งขวาซ้ายหน้าหลัง ภายในสิบวันเขาก็จบหลักสูตรของเขาเลย เพราะฉะนั้นควายก็ไม่ได้โง่ ถ้าควายโง่ก็คงจะเรียนไม่ได้”

นอกจากการฝึกควาย และสอนคนให้ฝึกควายแล้ว โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ก็ยังสอนวิชาชีพอื่นๆ ให้กับเกษตรกรที่มาเข้ารับการฝึกอีกด้วย ทั้งการสอนทำบ่อแก๊สชีวภาพ ที่ใช้มูลควายมาเป็นตัวหมัก การทำบ้านดิน ที่จะสอนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำกลับไปสร้างได้จริงๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เป็นการประหยัดต้นทุนให้กับเกษตรกร และยังมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ที่จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ กรมประมง มาให้ความรู้ ในระยะเวลา 10 ที่เข้ารับการฝึกในโรงเรียน
เครื่องมือในการทำนาที่จัดแสดงไว้
ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้ารับการฝึก ก็ยังสามารถเข้าไปเรียนรู้ในส่วนต่างๆ ของโรงเรียนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำนาที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งทำขึ้นตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เครื่องมือทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่มีการเคลื่อนไหว และนำไปใช้จริงในพื้นที่เกษตรภายในโรงเรียน จากนั้นก็จะนำมาทำความสะอาดและเก็บเข้าที่เดิม จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีชีวิต

ส่วนด้านหลังของโรงเรียน ก็จะมีบ้านดิน ซึ่งเป็นที่พักของวิทยากร และเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรม โดยเป็นต้นแบบของที่อยู่อาศัยจริง ที่เหมาะสมกับจำนวนและสภาพของการพักอาศัย นอกจากนี้ ภายในบริเวณโรงเรียนก็ยังมีมุมต่างๆ ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้อีก อาทิ แปลงนาสาธิต สระมะรุมล้อมรัก ที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา โดยรอบบ่อจะปลูกหญ้าแฝก รวมถึงต้นไม้อีกหลายชนิด และต้นไม้ที่ปลูกอยู่ภายในโรงเรียนก็จะเป็นต้นไม้ที่กินได้ มีทั้งผัก ผลไม้ สมุนไพร และต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน
สระมะรุมล้อมรัก
สำหรับการเข้าไปเรียนรู้ในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับควายแล้ว ก็ยังเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านแบบดั้งเดิม ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่เดือดร้อนทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทยทั้งหลาย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 999 ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ผู้สนใจเข้าเที่ยวชมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทางโรงเรียนได้ที่ โทร.0-3743-5058 หรือสอบถามที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครนายก(พื้นที่รับผิดชอบ: นครนายก,ปราจีนบุรี,สระแก้ว) โทร.0-3731-2282, 0-3731- 2284
กำลังโหลดความคิดเห็น