xs
xsm
sm
md
lg

สืบสานงานศิลป์ล้ำค่า ผ่าน 3 ครูช่างเมืองเพชร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ. พิทยา ศิลป์ศร กำลังสาธิตวิธีตอกกระดาษ
“เพชรบุรี” นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวานแล้ว ยังเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยงานช่างศิลป์สกุลช่างเมืองเพชรอันเลื่องชื่อ ดังที่ปรากฏในวรรคหนึ่งของคำขวัญจังหวัดว่าเพชรบุรีเป็นเมืองซึ่ง “เลิศล้ำศิลปะ” โดยงานช่างศิลป์อันมีชื่อเสียงของเมืองเพชรฯ นั้นมีหลากหลาย ทั้งงานปูนปั้น งานแทงหยวก งานลงรักปิดทองลายรดน้ำ งานตอกกระดาษ งานแกะสลัก ฯลฯ

งานประณีตศิลป์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นงานศิลปะไทยอันทรงคุณค่า ซึ่งทาง “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)” จึงได้จัดกิจกรรม “เปิดบ้านครูช่างเมืองเพชรฯ” เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ทำให้งานช่างศิลป์ของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเพื่อสืบสานสกุลช่างเมืองเพชรเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน โดยได้พาไปสัมผัสกับงานช่างของเมืองเพชรฯ ใน 3 รูปแบบ คืองานตอกกระดาษ งานลายรดน้ำ และงานปูนปั้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในงานช่างสิบหมู่ ซึ่งเป็นงานศิลปะไทยอันเก่าแก่และทรงคุณค่าทั้งสิ้น
งานตอกกระดาษเป็นลายนักษัตร
อ. พิทยา ศิลป์ศร ครูช่างงานตอกกระดาษ อธิบายถึงงานศิลปะแขนงนี้ว่าเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ งานตอกกระดาษคือการนำกระดาษมาสลักโดยการตอกด้วยสิ่วให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วนำไปปิดประดับตกแต่งสิ่งต่างๆ สำหรับเมืองเพชรบุรีนั้นจะใช้งานตอกกระดาษทำเป็นลายไทยแล้วนำมาติดประดับที่ “ลูกโกศ” ซึ่งเป็นโกศขนาดใหญ่บรรจุกระดูกที่ล้างทำความสะอาดแล้วสำหรับตั้งบำเพ็ญกุศล
พวงมะโหตร ที่มักนิยมนำไปประดับตกแต่งในงานบุญ
ไม่เพียงงานศพเท่านั้น แต่งานตอกกระดาษยังนำมาใช้ในงานบุญ เช่น งานบวชและงานแต่งงาน โดยมักใช้กระดาษสีสดใสทำเป็น “ธงราว” โดยมีลวดลายที่ตอกเป็นลายไทย หรือรูปสัตว์ทั้ง 12 นักษัตร แล้วนำมาแขวนเรียงราย สร้างสีสันและบรรยากาศภายในงาน และในงานบุญนี้เราก็มักจะเห็นธงราวอยู่คู่กับ “พวงมะโหตร” หรือเครื่องตกแต่งกระดาษอีกแบบหนึ่งที่ใช้วิธีการพับเป็นทบและตัด และเมื่อคลี่กระดาษออกมาก็จะกลายเป็นพวงระย้าสวยงาม
ลายรดน้ำ หนึ่งในงานช่างเมืองเพชรบุรี
ด้านงานช่างลายรดน้ำ งานประณีตศิลป์ของไทยที่มักพบเห็นตามบานประตูหน้าต่างของวัดวาอาราม รวมไปถึงบนบานประตูตู้พระไตรปิฏกนั้น อ. ธานินทร์ ชื่นใจ ครูช่างลายรดน้ำได้เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนและวิธีการทำ ตั้งแต่การทำน้ำยาหรดารที่ใช้เขียนลวดลายลงบนชิ้นงานในส่วนที่ไม่ต้องการให้ทองติด แล้วเช็ดชิ้นงานด้วยยางรักเพื่อให้ทองติด ก่อนจะปิดทองคำเปลวให้ทั่ว แล้วใช้น้ำค่อยๆ รดและถูเบาๆ เพื่อชะล้างทองส่วนเกินออก เหลือเพียงส่วนที่เป็นลวดลายไว้ วิธีที่ต้องใช้น้ำรดนี่เอง จึงทำให้เราเรียกงานประเภทนี้ว่า “ลายรดน้ำ”

แม้ขั้นตอนจะดูยุ่งยากซับซ้อน แต่ อ.ธานินทร์ ก็มีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้จักและรักในศิลปะไทย
อ. ธานินทร์ ชื่นใจ กับชิ้นงานลายรดน้ำอันวิจิตร
“ตอนนี้ผมได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ เพราะจะรอให้อายุมากกว่านี้แล้วค่อยถ่ายทอดก็ไม่ไหว ต้องทำตอนที่เรายังมีกำลังอยู่ ได้สอนให้เด็กๆ รู้จักและได้ทำงานลายรดน้ำ โดยทำในชิ้นงานเล็กๆ เช่น บนหินทับกระดาษ หรือจาน ให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนาน และงานประเภทนี้ยังขายเป็นของที่ระลึกได้ง่าย ทำให้เด็กเกิดกำลังใจที่จะทำงานลายรดน้ำต่อไป” อ. ธานินทร์ กล่าว

ด้านงานปูนปั้นอันเลื่องชื่อของเมืองเพชรบุรี อ.ทองร่วง เอมโอษฐ์ ครูช่างปูนปั้นมือหนึ่งของเมืองเพชร ซึ่งเคยฝากฝีมือไว้ในการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งงานฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในปี 2525 เป็นผู้เล่าให้ฟังว่า
อ. ธานินทร์กำลังสาธิตการทำลายรดน้ำให้ชม
“ผมเป็นลูกศิษย์ของครูพิน อินฟ้าแสง ช่างปูนปั้นมือหนึ่งของเมืองเพชรอีกท่านหนึ่ง ได้หัดงานปูนปั้นกับครูพินและหัดเขียนกับครูอาภรณ์ ลูกของครูผิน และได้ทำงานปูนปั้นที่เมืองเพชรอยู่หลายปี จนกระทั่งปี 2523 กรมศิลปากรจะบูรณะวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ผมรู้จักกับอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งทำงานอยู่ในกรมศิลป์ขณะนั้น จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตย์และประติมากรรมไทย และได้มีโอกาสตามเสด็จและถวายรายงานแก่สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นองค์ประธานในการบูรณะ” อ. ทองร่วง กล่าว
อ.ทองร่วง เอมโอษฐ์ ช่างปูนปั้นเมืองเพชร
การบูรณะวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในผลงานที่ทำให้คนรู้จักฝีมือของช่างเมืองเพชร โดย อ.ทองร่วงกล่าวต่อว่า เมื่อซ่อมบูรณะวัดพระแก้วเสร็จและกลับมาทำงานเอง ก็ได้ฝึกลูกศิษย์และคนงานให้ออกไปเป็นช่างรับงานทั้งภาคกลาง ใต้ อีสาน ทำให้คนรู้จักช่างปูนปั้นเมืองเพชรมากยิ่งขึ้น และเมื่อ อ.ทองร่วงได้แสดงฝีมือแหวกแนวในงานปูนปั้น “ล้อการเมือง” ก็ยิ่งทำให้งานปูนปั้นของเมืองเพชรมีชื่อเสียงแบบไม่ธรรมดา

“ที่มาของปูนปั้นล้อการเมือง มาจากการแอนตี้นโยบายของรัฐในบางครั้ง บางเรื่องที่ไม่เข้าท่า หรือบางครั้งเพื่อเป็นการชื่นชม ผมจึงใส่ความคิดเห็นลงไปในงานปูนปั้น เช่น เคยปั้นรูป ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กำลังแบกฐานพระ แสดงถึงการแบกความดีที่ท่านได้ทำไว้กับแผ่นดิน เป็นต้น เมื่องานประเภทนี้ออกสู่สายตาประชาชน ทำให้คนในวงการอื่นๆ นอกจากวงการช่างและวงการสงฆ์ เช่น คนวงการสื่อ วงการศึกษา รู้จักงานปูนปั้นในฐานะที่รับใช้สังคม ในเรื่องของงานปูนปั้นล้อการเมือง งานปูนปั้นที่แฝงธรรมมะ งานปูนปั้นที่บันทึกประวัติศาสตร์ นี่คือเนื้อหาที่เราใส่เข้าไปในงานปูนปั้น” อ. ทองร่วงกล่าว
งานปูนปั้นเมืองเพชรได้รับยกย่องว่างดงามเป็นหนึ่ง
เมื่อถามถึงจุดเด่นของงานปูนปั้นเมืองเพชร อ.ทองร่วง กล่าวว่า เป็นงานที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งการออกแบบลวดลาย วิธีการทำงาน และวัสดุต่างๆ ซึ่งยังคงยึดตามโบราณ เช่น การนำหินปูนมาเผาแล้วหมัก ผสมกับน้ำตาล กาวและกระดาษฟาง ตำให้เข้ากันจนเหนียว วัสดุแบบไทยๆ นี้มีคุณภาพมาก สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นเดือนๆ อีกทั้งลวดลายที่ทำยังไม่นิยมทำให้ซ้ำกัน ในซุ้มหรือจั่วแต่ละจั่วจะมีลวดลายที่แตกต่างหลากหลาย

“งานทุกชิ้นถือเป็นความภาคภูมิใจ เพราะงานที่ทำมีความหมายมีเนื้อหาทั้งสิ้น” อ.ทองร่วง กล่าวปิดท้าย
งานปูนปั้นอันวิจิตรอ่อนช้อยของช่างเมืองเพชร
สำหรับงานช่างศิลป์เมืองเพชรอันทรงคุณค่าที่อาจารย์ทั้งสามท่านได้สืบทอดภูมิปัญญามาอย่างยาวนานนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกของชาติซึ่งมิควรอย่างยิ่งที่จะให้สูญสิ้นไปตามกาลเวลา การส่งต่อความรู้และการปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของศิลปะไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งน่าดีใจที่โรงเรียนต่างๆ ในเมืองเพชรบุรีได้บรรจุหลักสูตรเกี่ยวกับงานช่างเมืองเพชรให้เป็นหนึ่งในวิชาเรียนรู้ของนักเรียน เด็กๆ ได้มาเรียนรู้กับอาจารย์ซึ่งเป็นช่างฝีมือเยี่ยมทั้งสามท่าน ซึ่งจะทำให้เขาเห็นคุณค่าและเกิดความคิดที่จะอนุรักษ์ศิลปะไทยเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น