xs
xsm
sm
md
lg

“ไต่ฟ้า กระชากฝัน”...วันพิชิตยอด “คินาบาลู” ณ จุดสูงสุดแห่งเกาะบอร์เนียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ตะลอนเที่ยว (travel_astvmgr@hotmail.com)
ครั้งหนึ่งในชีวิตกับการพิชิตยอดคินาบาลู
...ใกล้ตา ไกลตีน

คือความรู้สึกแรกที่“ตะลอนเที่ยว”ได้เห็นภูเขา“คินาบาลู”(Kinabalu) ทอดตัวตระหง่านตั้งเด่นเป็นสง่าระหว่างการเดินทางจากสนามบินสู่ที่พักนอกเมือง ซึ่งหลังค่ำคืนนี้ผ่านพ้น เราจะได้ขึ้นไปผจญภัยพิชิตยอดเขาลูกนี้

ภูเขาที่ถือเป็นหนึ่งในจุดดักฝันของเหล่านักเดินทางผู้ชื่นชอบความท้าทายจากทั่วทุกมุมโลก...

ซาบาห์ ดินแดนใต้สายลม

ก่อนออกเดินทางสู่ภูเขาคินาบาลู “ตะลอนเที่ยว”ได้รับคำเตือนปนขู่นิดๆ ถึงความยากลำบากแทบรากเลือดในการขึ้นไปพิชิตยอดเขาลูกนี้จากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน เล่นเอาใจที่หล่อมากของเราหล่นตุ๊บลงไปอยู่ที่ไส้ติ่งถึงครึ่งค่อนวัน ก่อนจะตั้งหลักปลุกปลอบขวัญตัวเองว่า ในเมื่อคนอื่น(ที่แก่กว่า)ยังขึ้นไปได้ แล้วทำไมเราจะขึ้นไปมั่งไม่ได้

จากนั้น“ตะลอนเที่ยว” ซักซ้อมเตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อความไม่ประมาท ด้วยการเดินขึ้น-ลง บันไดรถไฟฟ้าวันละหลายเที่ยว แล้วจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่รัฐ“ซาบาห์”(Sabah) ประเทศมาเลเซีย ดินแดนอันเป็นที่ตั้งสำคัญของเทือกเขาคินาบาลู
ทิวทัศน์รัฐซาบาห์เมื่อมองลงมาจากเครื่องบิน
ซาบาห์ เป็นรัฐ 1 ใน 2 ของดินแดนมาเลเซียตะวันออก(อีกหนึ่งรัฐคือซาราวัค)ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

รัฐซาบาห์ ได้ชื่อว่าเป็น”ดินแดนใต้สายลม” ที่อุดมไปด้วยป่าฝนเขตร้อนและความงดงามของท้องทะเล(มี“สิปาดัน”เป็นเกาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก) อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งขุนเขา เพราะมีภูเขาคินาบาลูตั้งตระหง่านงามสง่าเป็นฉากหลังธรรมชาติประดับเมือง สามารถมองเห็นได้ในหลายๆจุดด้วยกัน รัฐนี้มีเมือง“โคตา คินาบาลู”(Kota Kinabalu) หรือที่มักเรียกกันสั้นๆว่า“KK” เป็นเมืองหลวง ซึ่งมีที่มาจากชื่อของขุนเขาคินาบาลูอันลือลั่นนั่นเอง

คินาบาลู ที่สิงสถิตแห่งดวงวิญญาณ

ชื่อเสียงของภูเขาคินาบาลูโด่งดังเข้าหูคนไทยมาช้านานแล้ว ขุนเขาแห่งนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 4,095 เมตร(4,095.2 เมตร) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ภูเขาสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ภูเขา Hkakabo Razi (สูง 5,881เมตร) ในประเทศเมียนมาร์) แต่คินาบาลูก็เป็นภูเขาสูงสุดแห่งเกาะบอร์เนียว
ภูเขาคินาบาลูตั้งตระหง่านประดับรัฐซาบาห์(ภาพโดย การท่องเที่ยวซาบาห์)
อีกทั้งยังเป็นขุนเขาที่ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติคินาบาลู(Taman Negara Kinabalu)นั้น ได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกแห่งแรกของมาเลเซียในปี พ.ศ. 2543

ขณะที่ชาวชนเผ่า“ดูซุน” (Dusun) ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยใช้ชีวิตผูกพันกับคินาบาลูมาช้านานผ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่า ได้เรียกขานขุนเขาลูกนี้ว่า“Aki Nabalu" ซึ่งหมายถึง "ที่สิงสถิตแห่งดวงวิญญาณ"

สำหรับการขึ้นไปพิชิตยอดสูงสุดของคินาบาลูนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายและยังต้องจองคิวขึ้นกันล่วงหน้ายาวเหยียดถึง 4-5 เดือนขึ้นไป แต่ภูเขาลูกนี้ก็ไม่เคยร้างลานักท่องเที่ยว แถมนับวันมีแต่จะยิ่งทวีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ไต่นรกสู่สวรรค์

หลังเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ KK แล้วออกไปพักนอกเมืองใกล้ๆกับอุทยานฯ แบบกินอิ่มหลับนอนอย่างเต็มที่
คุณป้าสิกิม แม่หาบผู้แข็งแรง
เช้าวันนี้เรากับคณะออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่ มุ่งหน้าสู่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติคินาบาลู เพื่อลงทะเบียนขึ้นเขา และพบปะไกด์กับลูกหาบชาวเผ่าดูซุนที่ทางอุทยานฯจัดเตรียมไว้ ซึ่งคณะเราได้“รามิง” หนุ่มหน้ามนคนซื่อมาทำหน้าที่ไกด์ ส่วนลูกหาบนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นแม่หาบมากกว่า เพราะเธอคือคุณแม่ของรามินมีนามว่า (คุณป้า)“สิกิม” อายุ 56 ปี ที่ยังดูแข็งแรง กระฉับกระเฉง

สำหรับการเดินเท้าขึ้นไปพิชิตยอดสูงสุดของคินาบาลู เริ่มต้น ณ จุดเช็คนักท่องเที่ยวขึ้น-ลง ที่ ประตู Timpohon ในระดับความสูง 1,866 เมตร มีระยะทาง(เที่ยวเดียว)ประมาณ 8 กม. โดยต้องเดินไปพักค้างคืนระหว่างทาง ณ กิโลเมตรที่ 6 แล้วจึงเดินเท้าต่อในตอนดึกสู่ยอดเพื่อไปให้ทันพระอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้น
นักท่องเที่ยวฟันฝ่าเส้นทางเดินสูงชันสู่ยอดคินาบาลู
ช่วงเริ่มต้นของการออกสตาร์ทประมาณ 500 เมตรแรก เส้นทางเดินไม่ได้ยากลำบากตามคำขู่ บวกกับเรี่ยวแรงที่ยังเปรี๊ยะ แถมข้างทางยังมีน้ำตก Carson น้ำตกเล็กๆไหลเป็นสายบางๆลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำ งานนี้บอกได้เลยว่าหมูครับพี่น้อง

แต่ประทานโทษ!?! หลังจากนี้สักพัก เมื่อทางเดินเปลี่ยนสภาพเป็นทางขึ้นเขาชันดิก งานเข้าทันที มันเปรียบได้กับการไต่ขึ้นขอบนรกเพื่อขึ้นไปสู่สวรรค์ดีๆนี่เอง

อย่างไรก็ตาม ความที่เราเคยฝึกปรือกำลังภายด้วยการเดินขึ้น-ลงบันไดรถไฟฟ้ามาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็เก็บการได้เนียนพอตัว โดยเฉพาะกับเทคนิคการหยุดถ่ายรูป โน่น นี่ นั่น ในระหว่างทางนั้น สามารถช่วยลดทอนความเหน็ดเหนื่อยได้มากโขทีเดียว
สภาพป่าดึกดำบรรพ์ระหว่างทาง
ความงามรายทาง

ใครที่มาพิชิตคินาบาลูแล้วมัวแต่มุ่งหน้าเดินจ้ำอ้าวอย่างเดียวเพื่อให้ถึงจุดหมายนั้น นับได้ว่าน่าเสียดายยิ่ง เพราะตลอดรายทางสู่ยอดเขามีธรรมชาติสวยๆงามๆให้ยลกันอย่างมากหลาย

เริ่มกันตั้งแต่ระยะทางในช่วงต้นของครึ่งแรกที่มีลักษณะของป่าดิบเขา ซึ่งนอกจากความเขียวชอุ่มชุ่มชื่นของแมกไม้ใบหญ้าต้นไม้น้อยใหญ่แล้ว ยังน่ายลไปด้วยมอสสีเขียวสดดุจดังพรมธรรมชาติขึ้นปกคลุม ลำต้นไม้ โขดหิน และริมทางเดินอยู่เป็นระยะๆ ในขณะที่บางช่วงบางตอนก็ชวนบันทึกภาพด้วยหม้อข้าวหม้อแกงลิงดอกเขื่องขนาดประมาณโทรศัพท์มือถือ เฟินรูปทรงแปลกตา หรือไม่ก็จำพวกดอกไม้ป่าริมทางดอกเล็กดอกน้อยสีสันสวยงาม ที่ดูได้แต่ตาส่วนมือนั้นห้ามไปเด็ดดึงทึ้งทำลายเป็นอันขาด

จากนั้นหลัง 2.5 กิโลเมตรผ่านพ้น สภาพป่าเริ่มแปรเปลี่ยนดูหนาแน่นทึบมากขึ้น อุดมไปด้วยเฟินต้นใหญ่ๆโตๆกับพืชพันธุ์ไม้แนวโบราณหลายชนิดที่ดูแล้วให้อารมณ์ป่าดึกดำบรรพ์ได้เป็นอย่างดี
หม้อข้าวหม้อแกงลิงดอกยักษ์
แล้วเส้นทางของความเหน็ดเหนื่อยก็มาถึงจุดพักครั้งสำคัญในช่วง กม.4 ที่ระดับความสูง 2,702 เมตร ให้“ตะลอนเที่ยว”หยุดพักกินล้างหน้าล้างตากินมื้อเที่ยงเติมพลังกันตามอัตภาพ

บริเวณนี้มีเจ้ากระรอกน้อยแสนเชื่องมาวิ่งดุ๊กๆคอยเก็บกินเศษอาหารจากนักท่องเที่ยว สร้างสีสันให้ผืนป่ามีชีวิตชีวามากขึ้น ส่วนใครที่ชอบซอกซอนแถวนี้มีกล้วยไม้สวยๆและหม้อข้าวหม้อแกงลิงดอกยักษ์ขนาดฝ่ามือให้มองดูด้วยความทึ่งกันอยู่หลายดอกด้วยกัน
กุหลาบพันปีมีให้ชมเป็นระยะในระหว่างทาง
ดูเหมือนว่าคุณป้าสิกิมแม่หาบคนเก่งของเราจะสังเกตเห็นว่า เราชอบถ่ายสิ่งละอันพันละน้อยข้างทาง เส้นทางในช่วงหลังจากนี้ไปคุณป้าไม่ได้รีบเร่งเดิน หากแต่ชี้จุดให้ดูดอกไม้ กล้วยไม้ ต้นไม้แปลกๆ โดยเฉพาะกับดอกกุหลาบพันปีสีส้ม สีชมพูสดที่มีให้ชมกันเป็นระยะๆ

คุณป้าสิกิมกับ“ตะลอนเที่ยว” แม้จะพูดคุยกันคนละภาษา(คุณป้าพูดภาษาพื้นเมือง) แต่นั่นหาใช่อุปสรรคไม่ เพราะสิ่งสำคัญคือเราใช้ใจคุยกันต่างหาก
เส้นทางผ่านป่าไม้แคระ
ป่าแปลก คนเปลี่ยน

หลังอิ่มจากการเติมพลังในมื้อเที่ยง เส้นทางนับจาก กม.5 ขึ้นไป สภาพทางเดินสูงชันมากขึ้น ขณะที่อากาศนั้นเบาบางลงอย่างสัมผัสได้ชัดเจน ทำให้ก้าวขาเดินหน้าแต่ละทีน่องปวดหนุบๆ แถมยังเหนื่อยง่ายอีกต่างหาก เล่นเอาเราที่เก็บอาการมาตลอดเริ่มเสียทรงเดินเป๋ไปเป๋มาดูเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ผิดกับคุณป้าสิกิมที่ยังเดินนิ่งมั่นคงทั้งๆที่แบกสัมภาระให้พวกเราเต็มตัว
ประติมากรรมกิ่งไม้ปรับตัวตามแรงลม
เส้นทางในช่วงนี้ลักษณะของผืนป่าเปลี่ยนสภาพไปอีกครั้ง เป็นป่าที่โปร่งขึ้น ไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ให้เห็น มีแต่พวกต้นไม้แคระ ต้นไม้ขนาดย่อมรูปร่างแปลกตาบิดเบี้ยวเคี้ยวคดหงิกงอไปตามแรงลมแห่งขุนเขา ก่อนที่เส้นทางจะพาขึ้นไปพบกับอาคารขนาดย่อม สีครีมตั้งเด่นๆโดดๆ ท่ามกลางฉากหลังเป็นหน้าผาของยอดเขาคินาบาลู ซึ่งหมายถึง การเดินทางของวันนี้สิ้นสุดลงแล้ว ณ Laban Rata Resthouse จุดพักสำคัญของเราในค่ำคืนนี้
Laban Rata ที่พักกลางทางบนเขา
Laban Rata เป็นอาคารที่พัก 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องอาหาร(บุพเฟ่ต์) แหล่งพลังงานสำคัญของเหล่านักเดินทาง ส่วนชั้นสอง ชั้นสาม เป็นห้องพัก มีระเบียงชมวิวยื่นออกมา มองลงไปเห็นผืนป่าและทิวทัศน์เบื้องล่างที่มีเมฆขาวโพลนลอยไต่ไล่เลี่ย งามตายิ่งนัก

เมื่ออาบน้ำอาบท่าและหม่ำอาหารเย็นเสร็จเรียบร้อย เราถือโอกาสหลังเติมพลังออกไปเดินชมวิวที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ พร้อมเฝ้ารอดวงตะวันลาลับขอบฟ้า ที่หลังจากนั้นไม่นานแสงยามเย็นหลากสีสันอันสวยงามค่อยๆลาลับ ทิ้งค่ำคืนอันแสนเหน็ดเหนื่อยไว้กับความมืดมิดท่ามกลางดาวเดือนและลมกระโชกอื้ออึง
ระเบียงเหนือเมฆของที่พัก Laban Rata
ครั้งหนึ่งในชีวิต พิชิตยอดคินาบาลู

หลังความทรงจำอันพร่าเลือนจำได้ว่าเพิ่งผล็อยหลับไปไม่นาน แต่เราก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นกลางดึกในช่วงตี 2 ของวันใหม่ เพื่อล้างหน้าล้างตาพร้อมเติมพลังกับอาหารเช้ากันพอประมาณแบบให้ได้เรี่ยวแรง แล้วก็ปรับร่างกายเข้าสู่โหมดออกเดินอีกครั้ง

เส้นทางในช่วงนี้รอบข้างมืดมิด มีเพียงแสงไฟจากไฟฉายนำทางเดินตามๆกันไป แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึงยอดเสียที รู้แต่ว่าอากาศรอบข้างมันช่างหนาวระยับจับเข้าไปถึงลมปราณ
แสงสียามเย็น ณ ลานจอด ฮ.ข้างที่พัก
จากนั้นบนเส้นทางฝ่าความมืดที่มีแต่เดินกับเดินและเดินมานานนับชั่วโมง ก็ปรากฏว่าหนทางเบื้องหน้ากลายเป็นหน้าผาหินสูงชัน มีเชือกเส้นโตให้เราเกาะยึดปีนป่าย ไต่ระฟ้าขึ้นไปกระชากความฝันของตัวเอง

แต่ประทานโทษ!!! ความฝันครั้งนี้มันเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยเหลือใจ ทั้งปีนป่าย ทั้งโหนไต่ ซึ่งก็ใช้เวลาอีกร่วมชั่วโมงกว่าๆ กว่าเราจะมาถึง กม.ที่ 7.5 ที่พอให้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้างกับยอดเขาคินาบาลูที่เห็นลิบๆอยู่เบื้องหน้า ท่ามกลางท้องฟ้าสางที่เริ่มเรื่อเรือง
Low’ s Peak ยอดสูงสุด บนระดับความสูง 4,095.2 เมตร
ช่วงเวลาสำคัญใกล้จุดไคลแม็กซ์เช่นนี้ ถ้าร้อนรนเกินไป ตื่นเต้นเกินไป อาจทำให้ทุกอย่างผิดพลาด ความมุ่งมั่นที่ตั้งใจมาสูญสลายได้ ดังนั้นเราจึงค่อยๆเดินกระดึ๊บๆขึ้นไปแบบเก็บออมพลังไว้ปีนป่ายอย่างเต็มที่ในช่วงท้าย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเราก็มาถึงยังบริเวณส่วนปลายยอดของขุนเขา ที่ประกอบไปด้วยยอดเขาสำคัญๆ อย่าง “St. John‘s Peak”(4,091 เมตร) “Alexandra‘s Peak”(4,003 เมตร) “Ugly Sister Peak”

และยอดเขา “Low’ s Peak” ที่เป็นยอดเขาสูงสุดแห่งขุนเขาลูกนี้ บนระดับความสูง 4,095.2 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณยอดทั้ง 3 แบบต้องไต่ปีนขึ้นไปอีกหนึ่งเหนื่อยราว 700 เมตร แต่เมื่อได้ขึ้นไป แล้ว งานนี้มีแต่คุ้มกับคุ้ม
ยอดเขา South Peak กับความงามที่ต้องบันทึกภาพ
ขณะที่ยอดเขา“South Peak”(3,933) ที่แม้จะต่ำกว่าใครในบรรดายอดเขาทั้งสี่ แต่ว่าความสวยงามและความโดดเด่นนั้นมาเป็นอันดับหนึ่ง กับรูปร่างที่เป็นสามเหลี่ยมแหลมงอน เชิดสะบัดยอดขึ้นเล็กน้อย ที่ถือเป็นยอดเขาสัญลักษณ์คู่บุญของขุนเขาแห่งนี้

ระหว่างนี้แสงแรกแห่งวันมาเยือน บรรยากาศ ณ บริเวณปลายยอดของคินาบาลูดูงดงามปานเนรมิต ทั้งสีสันของท้องฟ้าอันสดแจ่มจับใจ รูปร่างของก้อนเมฆขาวที่ลอยเป็นองค์ประกอบไปตามสายลมที่แปรเปลี่ยน และรูปทรงของยอดเขาต่างๆที่ตั้งตระหง่าน โชว์ความแข็งกระด้างสัมผัสรับแสงแดดเกิดเป็นแสงเงาอันน่ายล
ลงเขาด้วยวิธีพิเศษ
สวรรค์ของจริงเป็นเช่นไร “ตะลอนเที่ยว”มิอาจรู้ได้ เพราะไม่เคยไป แต่สำหรับบนยอดเขาคินาบาลูในเช้าวันนี้ ความงามที่ปรากฏมันคือสวรรค์ในใจดีๆนี่เอง

เก็บคินาบาลูไว้ในใจเสมอ

...ใกล้ตา ไกลตีน

คือความรู้สึกแรกที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้เห็นภูเขา“คินาบาลู” ทอดตัวตระหง่านตั้งเด่นเป็นสง่าประดับเมืองหลวงโคตา คินาบาลู

ครั้นเมื่อได้ขึ้นไปพิชิตยอดแห่งนี้ แล้วเดินทางกลับสู่เมืองไทย ภูเขาลูกนี้ยังคงฝังตรึงอยู่ในความทรงจำ นับเป็นความรู้สึกที่เราบอกได้เพียงสั้นๆว่า

...แม้ไกลตา แต่ว่าช่างใกล้ใจเสียเหลือเกิน
*****************************************

ผู้ที่สนใจและอยากพิชิตยอดเขาคินาบาลู ต้องแจ้งทางอุทยานแห่งชาติคินาบาลูและสำรองที่พักบนเขาล่วงหน้าก่อนประมาณ 4-5 เดือน เนื่องจากทางอุทยานฯจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 200 คนต่อวัน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดทางการท่องเที่ยวเกี่ยวกับการเดินทาง ที่พัก การติดต่อจองปีนเขาคินาบาลูล่วงหน้า กิจกรรมท่องเที่ยวในรัฐซาบาห์ เมือง KK และรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับมาเลเซียได้ที่ การท่องเที่ยวมาเลเซียประจำประเทศไทย โทร. 0-2636-3380-3 หรือดูที่ http://www.sawasdeemalaysia.com

สำหรับการเดินทางจากเมืองไทยสู่โคตา คินาบาลู หรือ KK เพื่อที่จะต่อรถไปยังอุทยานฯทางขึ้นภูเขาคินาบาลูนั้น เดิมเคยมีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่ KK แต่ว่าปัจจุบันได้ยกเลิกไป ดังนั้นเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือ บินจากเมืองไทยมาลงกัวลาลัมเปอร์ หรือ KL แล้วต่อเครื่องจาก KL สู่ KK โดยสามารถสอบถามเที่ยวบินได้ที่ มาเลเซียแอร์ไลน์ โทร. 0-2263-0565 ถึง 71, 0-2263-0520 ถึง 26, ภูเก็ต หรือที่ดู www.malaysiaairlines.com
กำลังโหลดความคิดเห็น