เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของภาคเหนือที่เศรษฐกิจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนในจังหวัดจนปัจจุบันมีความเจริญและทันสมัยไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก แต่สเน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ก็ยังไม่เคยจางหายไป อย่างในคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา งามล้ำค่านครพิงค์”
“ดอยสุเทพเป็นศรี” คำบอกเล่าและตำนานของสุเทพนั้น เริ่มต้นในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์เม็งราย ที่ได้ทรงพยายามเสาะแสวงหาสถานที่อันเหมาะสมสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุที่ทรงเก็บไว้ แต่ก็ไม่พบ พระองค์จึงได้นำเอาพระบรมธาตุเข้าใส่ในกูบ ประดิษฐานไว้บนหลังช้างมงคลและปล่อยช้างออกไปเพื่อเสี่ยงทายหาสถานที่เหมาะสมดังกล่าวดังกล่าว ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ และได้พบสถานอันพึงปรารถนา นั่นก็คือยอดดอยสุเทพนั้น พอจะสรุปได้ว่าวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ.1916 เป็นต้นมา
ทุกวันนี้ดอยสุเทพกลายมาเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมา กราบพระ สักการะพระธาตุ การรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีกิจกรรมพาน้องๆ เดินขึ้นไปกราบพระธาตุ และเส้นทางขึ้นสู่ดอยสุเทพเองก็เป็นที่ฝึกฝีมือของผู้ชื่นชอบการขี่จักรยานแบบดาวน์ฮิลอีกด้วย จริงๆ แล้วในช่วงเช้าตรู่ วิวเมืองเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยแสงไฟนั้นก็สวยงามในอีกแบบ ซึ่งทั้งนี้ต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้นจะดีที่สุด
“ประเพณีเป็นสง่า” สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึง สำหรับประเพณีของเชียงใหม่คงหนีไม่พ้นประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีงานลอยกระทง ซึ่งภาพถ่ายของการปล่อยโคมลอยนับพันลูกจากหนังสือท่องเที่ยวต่างๆ ช่วยเสริมสร้างความยิ่งใหญ่อลังการได้อย่างดี ประเพณียี่เป็งนั้นป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ยี่เป็ง เป็นภาษาคำเมืองในภาคเหนือ คำว่า "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" ตรงกับคำว่า เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งชาวไทยในภาคเหนือจะนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าไทยภาคกลาง 2 เดือน ทำให้เดือนสิบสองของไทยภาคกลางตรงกับเดือนยี่ หรือเดือน 2 ของไทยล้านนา ธรรมเนียมปฎิบัติของชาวล้านนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีคติความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต
จนทุกวันนี้การปล่อยโคมลอยจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทั่วประเทศ โดยจะใช้จุดกันตามงานพิธีสำคัญๆ หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ นอกจากงานยี่เป็งแล้ว เชียงใหม่ยังมีประเพณีแบบล้านนาที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ ประเพณีเข้าอินทขีล ที่จะจัดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ชาวเชียงใหม่จะร่วมกันประกอบพิธีบูชาอินทขีล ซึ่งเป็นเสาหลักเมิอง และประเพณีตานหลัวพระเจ้า เป็นการนำฟืนมาเผา ตามความเชื่อเพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จะจัด ประมาณเดือนมกราคม จัดที่วัดยางหลวงหรือวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม หรือจะเป็นประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ที่จะจัดในช่วงวันวิสาขบูชา
“บุปผาชาติล้วนงามตา” ด้วยสภาพที่มีความหนาวเย็น ทำให้เชียงใหม่นั้นสามารถปลูกไม้เมืองหนาวและพืชสวยงามต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์เองก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลูกไม้ดอกสวยงาม จัดเป็นสวนสวยๆ ไว้รอนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก หรือจะเป็นบรรยากาศหนาวๆ ที่เต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิดที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แต่ถ้าพูดถึงดอกไม้ที่เชียงใหม่แล้ว ซากุระแบบไทยๆ หรือดอกพญาเสือโคร่งนั้นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในช่วงปีหลังๆ นี้ เพราะบรรยากาศที่เต็มไปด้วยสีชมพูจากธรรมชาติที่ขุนแม่ยะ หรือขุนช้างเคี่ยน นั้นเป็นความสวยงามหนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียว
และสิ่งที่สะท้อนความงามของพันธุ์ไม้ต่างๆ ได้ชัดเจนที่สุดเห็นจะไม่พ้น มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำ นอกจากจะมีพันธุ์ไม้ที่ปลูกที่เชียงใหม่แล้ว ยังรวบรวมเอาพันธุ์ไม้นานาชนิดทั่วโลกมาให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
“งามล้ำค่านครพิงค์” นพบุรีศรีนครพิงค์ หรือเวียงพิงค์ นั้นเป็นชื่อเดิมในประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ที่เดิมเคยยิ่งใหญ๋ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ซึ่งแน่นอนว่าความเจริญรุ่งเรืองในอดีตย่อมไม่แพ้ในปัจจุบัน สภาพสังคมของเมืองหลวงเองนั้นทำให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรมควบคู่กันไปจนสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ความงดงามของศิลปกรรมแบบล้านนา วิถีชีวิตแบบชาวล้านนา อาหารการกิน ภาษาพูด ภาษาเขียน และอีกหลายอย่างหล่อหลอมมาเป็นมนต์สเน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ที่หลายคนชื่นชอบ ผู้คนจากเมืองหลวงจำนวนไม่น้อยหลีกหนีความวุ่นวายมาลงหลักปักฐานที่นี่ แม้ว่าทุกวันนี้เชียงใหม่จะมีสภาพไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพฯ แต่ลึกๆ แล้วยังคงมีกลิ่นอายความเป็นล้านนาแฝงอยู่ทั่วทุกที่
และในช่วงเดือนเมษายนอย่างนี้ ถ้าจะไม่ให้กล่าวถึงงานสงกรานต์ที่เชียงใหม่นั้นก็คงจะกะไรอยู่ ยิ่งนับวันกระแสความรื่นเริง คึกครื้นของการสาดน้ำบริเวณคูเมืองนั้น ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงวันปีใหม่ไทยนั้นพุ่งกระฉูด นอกจากความสนุกสนานแล้ว ประเพณีของชาวล้านนาอย่างการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังคงถูกสืบทอดมาแบบไม่ตกหล่น ผู้ใหญ่ยังคงท่องคำบาลีให้พร ผูกแขนให้กับลูกหลาน กลิ่นหอมๆ ของน้ำส้มป่อยยังคงอบอวลอยู่ในวันแห่งครอบครัว ซึ่งก็เป็นสเน่ห์อีกอย่างของเชียงใหม่ ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าสเน่ห์ของเชียงใหม่เป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องลองมาเที่ยวไปตามคำขวัญกันดู