หากใครไป อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ช่วงก่อนสงกรานต์ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วได้เห็นขบวนแห่ขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงที่นำขบวนมาด้วยแตรวงและกลองยาว นำหน้าขบวนช้างที่ถูกแต่งแต้มสีสันแปลกตาเต็มตัว โพกผ้าด้วยสีสันแปลกประหลาด อย่าไปมองหาเชียวว่ามีงานเทศกาลโชว์ช้างรื่นเริงที่ไหนหรือเปล่า แต่ขบวนแห่และขบวนช้างที่เห็นนั้นคือส่วนหนึ่งของพิธี “แห่ช้างบวชนาค”ของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวนั่นเอง
ชาวไทยพวนหาดเสี้ยว หมายถึง กลุ่มของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวพวนในเมืองพวน ประเทศลาวที่อาศัยอยู่ใน ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และนิยมบรรพชาอุปสมบทบุตรหลานของตนตามพิธีกรรมทางศาสนา โดยแห่นาคด้วยขบวนช้าง ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ตามคติความเชื่องเรื่องพระเวชสันดรชาดก โดยเรียกการบรรพชาอุปสมบทแห่นาคด้วยขบวนช้างหรือขี่ช้างแห่นาคว่า “บวชช้าง” อันหมายถึงการจัดงานบวชซึ่งเรียกว่า นาคขี่คอช้าง พร้อมด้วยญาติมิตร นำอัฐบริขารขี่บนหลังช้าง แห่เป็นริ้วขบวนของชาวไทยพวนหาดเสี้ยวนั่นเอง
สำหรับงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวปีนี้ กำหนดจัดขึ้น ณ วัดหาดเสี้ยว ตำบาลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย ในวันที่ 6 - 7 เมษายน 2554 ซึ่งผู้เที่ยวชมงานจะได้เห็นริ้วขบวนแห่ช้างอันยาวเหยียดอย่างตื่นตาตื่นใจ การจัดขบวนแห่นั้น เจ้าภาพจะนำหมวกสานหรืองอบพ่นสี เขียนชื่อนาค หรือคำหยอกล้อต่างๆ เป็นของชำร่วยให้แก่ผู้ที่ร่วมขบวนแห่เพื่อใช้กันแดด นำหน้าขบวนด้วยหญิงชายพร้อมขบวนเตรวงหรือกลองยาว ถือเทียนเอก เทียนอนุสาสน์ กรวยอุปัชฌาย์ ผ้าไตร อัฐบริขาร และเครื่องไทยธรรมเดินนำหน้าขบวนช้าง และมีอาสาสมัครพี่เลี้ยงร่วมขบวนซึ่งทำหน้าที่เป็นพยาบาลให้ยาดม ยาลม และบริการน้ำดื่มแก่ผู้ร่วมขบวน
อำเภอศรีสัชนาลัยและเทศบาลหาดเสี้ยวได้ตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญจึงได้จักงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชน อีกทั้งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดสุโขทัย และได้สะท้อนภาพชีวิตให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่บ้าน เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ซึ่งหาดูที่ไหนก็ไม่ได้อีกแล้ว