ไม่อยากให้หลายคนคิดว่าชัยนาทเป็นเมืองทางผ่าน หรือเมืองที่ไม่ค่อยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ไม่ค่อยได้รับการโปรโมทอย่างต่อเนื่อง (เหมือนกับจังหวัดใกล้เคียง) ถ้าลองมาดูคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า
“หลวงปู่ศุขลือชา เขื่อนเจ้าพระยาลือชื่อ นามระบือสวนนก ส้มโอดกขาวแตงกวา” จะเห็นว่าของดีเมืองชัยนาทก็น่าสนใจไม่แพ้จังหวัดไหนๆ
“หลวงปู่ศุขลือชา” ไม่ว่าใครที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวที่ชัยนาทก็ต้องแวะมาสักการะหลวงปู่ศุข ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เนื่องจากหลวงปู่ศุขเป็นพระเกจิ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ แม้ว่าในยุคปัจจุบันหนุ่มสาวยุคใหม่อาจไม่ค่อยทราบถึงประวัติความเป็นมาของท่านมากนัก แต่ก็มีศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่าน สร้างเวปไซต์ที่รวบรวมเรื่องราวเอาไว้ ซึ่งมั่นใจได้ว่า แม้เวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านเองก็มิได้ลดน้อยลงไป
จาก www.poosook.ob.tc ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของหลวงปู่ศุข เกสโร ไว้ได้อย่างละเอียดว่า ท่านเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยบ้านของท่านก็อยู่ข้างวัดปากคลองมะขามเฒ่านั่นเอง เมื่อบวชแล้วท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนรอบรู้ในพระไตรปิฎก และเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนด้านอาคมไสยเวทย์ต่างๆ นอกจากนี้หลวงปู่ศุขยังเป็น พระที่ใฝ่ธุดงค์เป็นนิจ และจากการที่ท่านธุดงค์รอนแรมไปในก็ทำให้ท่านได้พบกับพระอาจารย์อีกหลายท่านและได้เล่าเรียนเวทมนต์คาถาเพิ่มเติม จนกล่าวกันว่าหลวงปู่ศุข คือจ้าวแห่งอาคม และเมื่อกลับสู่บ้านเกิดแล้ว ท่านก็ได้กลับมาอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ความศักสิทธิ์ด้านคาถาอาคมของท่านนั้น เล่นจากปากต่อปาก จากคนรุ่นต่อรุ่นมาว่า ท่านชำนาญการผูกหุ่นพยนต์ เสกใบมะขามเป็นตัวต่อตัวแตน เสกให้คนเป็นจระเข้ เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย ระเบิดน้ำลงไปนั่งบริกรรม ทำตะกรุดโดยจีวรไม่เปียก ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเวทย์ขั้นสูง ความยิ่งใหญ่ในด้านพุทธาคมนี้เองทำให้มีลูกศิษย์ลูกหา เข้ามาฝากตัวด้วยจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับชาวบ้านขึ้น ไปถึงชั้นเจ้านายเชื้อพระวงศ์อย่าง กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
ทุกวันนี้วัดปากคลองมะขามเฒ่าจะคราคล่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชน ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมากราบไหว้สักการะรูปเหมือน และมาชมตู้เก็บของใช้เก่าๆ ในสมัยนั้น ตลอดจนมาเช่าบูชาวัตถุมงคลซึ่งขึ้นชื่อว่ามีพุทธคุณในหลายด้าน นอกจากนั้นภายในโบสถ์ยังมีภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อันสวยงาม
“เขื่อนเจ้าพระยาลือชื่อ” เขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2494 และสร้างเสร็จเมื่อปี 2500 โดยเป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในด้านการเก็บกัก และจ่ายน้ำไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด ปัจจุบันนั้นเขื่อนเจ้าพระยา นอกจากจะใช้ประโยชน์ทางด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย และผลิตไฟฟ้าใช้ภายในจังหวัดแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี และในช่วงเดือนมกราคม ก็จะเป็นที่สำหรับดูนกได้เหมือนกัน เพราะว่ามีฝูงนกเป็ดน้ำอพยพมาอาศัยหากินอยู่ในแม่น้ำบริเวณเหนือเขื่อน
นอกจากจะเป็นที่ถ่ายรูปยามอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ยังเป็นที่สำหรับถ่ายรูปแต่งงานที่สวยไม่แพ้กัน ตลอดจนมาชมวิวทิวทัศน์พร้อมลมพัดเย็นๆ ได้อารมณ์ไปอีกแบบ และทางเขื่อนเจ้าพระยาเองก็ยังมีห้องพักรับรองไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมีพักค้างคืนที่นี่ อากาศก็ดี เหมาะสำหรับพาครอบครัวมาพักผ่อน หรือถ้าเด็กๆ อยากเล่นน้ำก็อาจต้องรอในช่วงที่ระดับน้ำลดลงพอสมควร และในละแวกไม่ไกลจากตัวเขื่อนก็จะเกิดเป็นลักษณะคล้ายชายหาด สามารถลงเล่นน้ำได้
“นามระบือสวนนก” ชัยนาทเองมีสวนนกเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ที่สำคัญ มีกรงนกใหญ่ที่สุดในเอเซีย โดยภายในเป็นพื้นที่เปิดโล่งท่ามกลางสวนซึ่งมีต้นไม้น้อยใหญ่ ให้เราได้ไปสัมผัสกับนกสายพันธุ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด อาทิ นกยูง นกเอี้ยง นกกาบบัว นกอีโก้ง ไก่ฟ้า ฯลฯ หรือจะเป็นการมาเดินเล่นพักผ่อนยามบ่ายๆ และถ้าอยากสัมผัสกับสวนนกให้ทั่ว คงต้องใช้บริการของรถราง เพราะว่าสวนนกนั้นมีบริเวณกว้างขวางกว่า 26 ไร่ นอกจากกรงนกแล้วยังมีอาคารแสดงพันธุ์ปลาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จัดแสดงเอาพันธุ์ปลาต่างๆ ที่เราสามารถพบได้ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยามาให้นักท่องเที่ยวได้ชมกว่า102 ชนิด ประกอบด้วย ปลากินพืช จำนวน 40 ชนิด ปลากินเนื้อ จำนวน 62 ชนิด มีพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ปลากดดำ ปลาตองลาย ปลาหมูอารีย์ ปลาบึก ปลาเทพา ปลากระโห้ ปลาเสือตอ ปลาหางไหม้ ปลายี่สกไทย ปลาเค้าดำ ปลานวลจันทร์ ปลากระเบนราหู ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง พิพิทธภัณฑ์ไข่นก ตลอดจนรูปปั้นนกอินทรีย์ขนาดใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของคอบครัว และการมาทัศนศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ภาพของเด็กๆ วิ่งเล่นไปมาภายในสวนนกจึงเป็นบรรยากาศที่ชินตา แต่ก็มีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดตลอดจนชาวต่างชาติให้ความสนใจเพราะว่าได้ท่องเที่ยวไปและได้ความรู้ควบคู่กันไปด้วย
“ส้มโอดกขาวแตงกวา” สำหรับคนไหนมาเที่ยวชัยนาทแต่ยังไม่เคยชิมความหวานกรอบของส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาแล้ว บอกได้คำเดียวว่าน่าเสียดายมากๆ เพราะพันธุ์ขาวแตงกวานี้มีความหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อกรอบและไม่ฉ่ำน้ำ และด้วยสภาพดินและสภาพอากาศของชัยนาทยิ่งทำให้รสชาติของส้มโอนั้นโดดเด่นกว่าสายพันธุ์อื่น (ซึ่งอาจขึ้นอยูกับความชอบของแต่ละคน) ปัจจุบันทางจังหวัดชัยนาทได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันทาปลูกส้มโอพันธุ์นี้กันมากขึ้น เนื่องจากว่าสามารถสร้างรายได้ดีและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
มีหลายสวนซึ่งเปิดให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมสวนส้มโอ พร้อมชิมกันแบบถึงสวนแบบเต็มอิ่ม การเก็บผลผลิตส้มโอนั้น เมื่อเก็บเกี่ยวในวันแรกจะยังไม่สามารถนำออกขายได้เลย ต้องเก็บไว้ให้ลูกส้มโอลืมต้นก่อนประมาณ 20 วัน เพื่อให้จุดน้ำมันบนเปลือกของส้มโอค่อยๆ แห้งลงและจางไป เพราะเจ้าจุดเล็กๆ ที่เราเห็นเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดรสชาติเปรี้ยว ดังนั้นเลือกซื้อส้มโอคราวหน้า อย่าลืมสังเกตจุดน้ำมันบนผิวของส้มโอให้ดี เพื่อจะได้ส้มโอที่หวาน ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนๆ
ขับรถจากกรุงเทพฯ ไม่ไกลนัก และเหมาะเป็นอีกทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่เบื่อกับแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ ไม่เพียงแค่ในคำขวัญ แค่ของดีเมืองชัยนาทมีมากกว่าที่คิด ถ้าไม่มาให้เห็นกับตาก็คงยังไม่เชื่ออย่างแน่นอน