xs
xsm
sm
md
lg

โครงการหลวง อัศจรรย์ความสุขสุดขอบฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการหลวงดอยอ่างขาง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน หลังเสด็จประพาสต้นเชียงใหม่ในต้นปี พ.ศ. 2512 ทอดพระเนตรเห็นเขาหัวโล้น ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวเขาที่แม้จะปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพแต่ว่ากลับมีฐานะยากจน

พระองค์ท่านจึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมกับโปรดเกล้าฯให้ตั้ง “โครงการหลวง” ขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” โดยเลือกจัดตั้ง“สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ขึ้น เป็นพื้นที่โครงการหลวงแห่งแรกของเมืองไทย

จากนั้นโครงการหลวงดอยอ่างขางก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเขาหัวโล้นกลายเป็นแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวอันอุดมสมบูรณ์สวยงาม ก่อนที่จะมี“การท่องเที่ยว”ตามมาในภายหลัง ซึ่งล่าสุดทางโครงการหลวงที่ปัจจุบันมีเกือบ 40 แห่งได้เดินหน้าต่อยอดภารกิจ ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “โครงการหลวง อัศจรรย์ความสุขสุดขอบฟ้า”ขึ้น โดยมุ่งเน้นการดึงวัยรุ่น เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้หันมาเดินทางท่องเที่ยวเรียนรู้ภายในพื้นที่โครงการหลวงให้มากขึ้น
แปลงนาที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์
เพราะวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่นั้นปัจจุบันคือผู้นำทางกระแสการท่องเที่ยว ประกอบกับสื่อต่างๆ ที่เป็นทางเลือกใหม่อย่างสื่อบนโลกออนไลน์อย่าง เวปไซต์ เฟสบุ๊ค หรือบล็อกต่างๆ ก็เป็นเครื่องมือที่เหล่าวัยรุ่นใช้ในโลกออนไลน์แต่สามารถส่งผลถึงกระแสการท่องเที่ยวได้ดีอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแคมเปญใหม่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่าง “เที่ยวหัวใจใหม่” ที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ มาเที่ยวในที่ใหม่ๆ ดูบ้าง

ด้วยเหตุนี้ทางโครงการหลวงจึงเฟ้นหาทีมประชาสัมพันธ์โครงการหลวงจากคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองมาแล้ว 5 คน ได้แก่ นายจักรกฤต โยมพะยอม จากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์ นส.ชุติมา สีเหลือง จาก ม. มหิดล ส่วนอีก 3 คนที่เหลือคือ นส.นภัสกร บริสุทธิ์สวัสดิ์,นส.วารุณี วัชรเสถียร และพัชสนันท์ จีนะนัทธ์ มาจากรั้วเหลืองแดง ธรรมศาสตร์

สำหรับคนรุ่นใหม่ทั้ง 5 คนนี้ จะใช้ความคิดและประสบการณ์ในการดึงเอาความน่าสนใจรูบแบบใหม่ของโครงการหลวงออกมานำเสนอ เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในโครงการหลวงมากขึ้น
น้องๆ ทีมประชาสัมพันธ์ทั้ง 5
ไม่ว่าการนำเสนอรูปแบบใหม่ของโครงการหลวงแบบใหม่นั้นจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ก็คือการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของโครงการหลวงให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ได้รับรู้กันอย่างทั่วถึง โดยจะนำร่องใน 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน แล้วจึงค่อยๆขับเคลื่อนโครงการความอัศจรรย์ของโครงการหลวงนี้ไปสู่ยังโครงการหลวงทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจต่อไป

โดยผู้สนใจรายละเอียดของโครงการ สามารถเข้าชมพร้อมร่วมโหวตและให้กำลังใจทีมประชาสัมพันธ์ทั้ง 5 คน ได้ที่ www.amazingroyalproject.com
กำลังโหลดความคิดเห็น