xs
xsm
sm
md
lg

ชมของดีอีสานในงานเทศกาลเที่ยวอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง หนึ่งในของดีอีสานชื่อดัง
ททท.จัดงานเทศกาลเที่ยวอีสาน ระหว่างวันที่ 18 – 21- กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภาคอีสาน พร้อมเนรมิตพื้นที่ในงานโชว์ไฮไลท์ ประเพณีบุญคูณลาน ที่หาชมได้ยาก รับกระแสโค้งสุดท้ายปีการท่องเที่ยวอีสาน 2553

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานเทศกาลเที่ยวอีสาน 2553 ระหว่างวันที่ 18 – 21- กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภาคอีสาน ในงานแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนที่ 1 การแสดงสินค้าและบริการ จัดขึ้นในบริเวณ เพลนนารี ฮอลล์, Hall A และ Ballroom มีขนาดพื้นที่รวมทั้งสิ้น 10,000 ตารางเมตร และมีผู้ประกอบการมาร่วมงาน จำนวน 160 บูธ แบ่งออกเป็นสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว จำนวน 80 บูธ และ สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน อาหาร ของที่ระลึกขึ้นชื่อจากภาคอีสาน จำนวน 80 บูธ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษมาไว้ในงาน รวมทั้งการ จัดแสดงด้านประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน และพลาดไม่ได้กับ ตลาดเซ่าที่รวบรวมสินค้ามากมายให้เลือกสรร ซึ่งล้วนแต่สะท้อนถึงกลิ่นอายวิถีชีวิต วัฒนธรรมการกินอยู่แบบ ชาวอีสานขนานแท้ และชมผลงานภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่าย มหัศจรรย์ แดนอีสาน ในมุมมอง (Amazing I – San In Frame) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ชมงานได้เพลิดเพลินกับการเที่ยวชมงานครั้งนี้

ส่วนที่ 2 กิจกรรมสาธิตและการแสดงต่าง ๆ จัดขึ้นในบริเวณเพลนนารี ฮอลล์ Hall A และ Ballroom ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 โซน เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งท้องถิ่นอีสานได้อย่าง ครบทุกมิติ ทั้งสีสันแห่งความสนุกสนานรื่นเริง ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ชวนติดตาม

โดยในโซนกิจกรรมทั้ง 4 โซน ประกอบด้วย โซนประเพณี วิถีวัฒนธรรม จะเป็นการนำเสนอสีสันประเพณีวัฒนธรรม โดยแบ่งเป็นท่องเที่ยวอีสานในภาคกลางวัน และท่องเที่ยวอีสานภาคกลางคืน เริ่มจากการต้อนรับผู้เข้าชมงานด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญ จากพ่อเฒ่า แม่เฒ่า จากนั้นชมความยิ่งใหญ่อลังการของประเพณีวัฒนธรรมภาคอีสานที่สามารถเที่ยวชมได้ในภาคกลางวัน โดยไฮไลท์อยู่ที่ ประเพณีบุญคูณลานที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานที่ผูกพันกับ “ข้าว” มานับตั้งแต่อดีตกาล ประเพณีบุญคูณลาน เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่นวดเสร็จแล้ว กำหนดทำในเดือนยี่จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ เหตุที่มีการทำบุญนี้เนื่องจากผู้ใดที่ทำนาได้ข้าวมากๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็จะมีการทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลเพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนเองและครอบครัวสืบไป ภายในงานจำลองปราสาทรวงข้าวขนาดใหญ่ มีความสูง 7 เมตร พร้อมทั้งจำลองนาข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว เพื่อให้ผู้ชมงานได้ร่วมสืบสานภูมิปัญญาอีสานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไป เนื่องจากปัจจุบันประเพณีนี้หาชมได้ยาก นอกจากนี้ยังจำลองบ้านเรือนของภาคอีสานที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันเรียบง่าย มีการปลูกพืชสมุนไพรล้อมรั้ว ซึ่งผู้ที่เข้าชมงานจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของบ้านเรือนภาคอีสานได้อย่างเต็มอิ่ม โดยมีการจัดการแสดงให้ผู้ที่เข้าชมได้ชมกันเป็นรอบ ๆ ในแต่ละวัน ประเพณีวัฒนธรรมภาคอีสานที่สามารถเที่ยวชมได้

ในภาคกลางคืน ตระการตากับประเพณีไหลเรือไฟ ที่มีความงดงามและสะท้อนถึงภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน ที่สามารถโชว์ความงามของเรือไฟบนผืนน้ำได้อย่างอลังการ ตื่นตากับ ประเพณีแห่ดาว ของชุมชนชาวคริสต์ ท่าแร่ จ.สกลนคร ดาวกระดาษที่ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่แล้วตกแต่งด้วยกระดาษ หลากสีสันถูกนำมาประดับตามบ้านเรือน เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส นอกจากนี้ยังมีสีสันจากการประกวดตกแต่งรถด้วยดาวจากหมู่บ้านต่างๆ ที่พากันร่วมขบวนแห่ดาวส่งแสงระยิบยับในยามค่ำคืนที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน โดยในงานเทศกาลเที่ยวอีสานครั้งนี้ ได้นำผลงานของผู้ชนะเลิศ การประกวดในขบวนแห่ดาวมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด
ขนมปังญวนชวนกิน
โซนเลิศเลอล้ำอารยธรรมโบราณ ซึ่งเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ภาคอีสาน เพื่อให้ผู้เข้าชมงานร่วมตามรอยอารยธรรมโบราณของชนชาติที่ราบสูงจากอดีตสู่ปัจจุบัน ย้อนรอยแหล่งอารยธรรมโบราณ กับโลกดึกดำบรรพ์ แหล่งอารยธรรมโบราณ และป่าดึกดำบรรพ์ อาทิ โครงกระดูกไดโนเสาร์อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์นี, สยามโมไทวันนัส อิสานเอนซิส, กินรีไมมัส และรอยเท้าไดโนเสาร์จำลอง พร้อมจำลองพื้นที่หลุมขุดค้นให้เด็กๆได้มีโอกาสสัมผัสการทำงานของนักธรณีวิทยาและได้สนุกสนานไปกับการตามรอยไดโนเสาร์ การจำลองแหล่งอารยธรรมโบราณ หอนางอุษา อ. บ้านผือ จ.อุดรธานี หินโบราณ รูปร่างแปลก ลักษณะเป็นหอและเพิงหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

โซนเส้นไหมใยฝ้าย ลวดลายถิ่นอีสาน ซึ่งผู้เข้าชมจะได้ชื่นชมมหัศจรรย์ดินแดนแห่งผืนผ้าหลากชนิดมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม ฯลฯ ตลอดจนชมนิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นมาที่กว่าจะเป็นผ้าผืนงามนั้นมีกรรมวิธีอย่างไร อาทิ สาธิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม, การสาวไหมตลอดจนชมการสาธิตทอผ้าพื้นเมืองอย่างใกล้ชิด โดยในโซนนี้รวบรวมผ้าอันมีเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดในภาคอีสานให้ชมอย่างมากมาย อาทิ ผ้ามัดหมี่ จ.นครราชสีมา ผ้าขิด จ.ขอนแก่น, ผ้าไหมหางกระรอก จ.บุรีรัมย์, ผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร ฯลฯ

โซนหัตถศิลป์ท้องถิ่นอีสาน สัมผัสกับกิจกรรมสาธิตจากสุดยอดช่างฝีมืออีสาน และสินค้างานหัตถศิลป์ที่เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ เทียนหอมเดชอุดม จ.อุบลราชธานี, มาลัยข้าวตอก จ.ยโสธร, การสาธิตไดโนเสาร์ไม้แกะสลักและจักสานไดโนเสาร์ บ้านหนองดู่ จ.ขอนแก่น, สาธิตกรรมวิธีผลิตข้าวเม่า กลุ่มหมู่บ้านน้ำอ้อม จ.ร้อยเอ็ด, ผลิตภัณฑ์เสื่อกกบ้านแพง จ.มหาสารคาม, เครื่องดนตรีพิณ แคน โหวด จ.นครพนม, เครื่องปั้นดินเผา ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม จ.สกลนคร, เครื่องประดับจากปีก
แมลงทับ ศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร, การปั้นหม้อเขียนลาย บ้านเชียง จ.อุดรธานี, ผลิตภัณฑ์หน้ากากผีตาโขน จ.เลย, กระเป๋าไม้ไผ่ บ้านหนองหญ้าปล้อง จ.เลย, หมอนขิต บ้านศรีฐาน จ.ยโสธร หัตถกรรมเครื่องเงิน บ้านโชค จ.สุรินทร์, หัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ครุน้อย และหัตถกรรมจักสานผอบใบตาล จ.ศรีสะเกษ , สาธิตแกะต้นเทียนพรรษา และกรรมวิธีพิมพ์ลายประดับต้นเทียน ของงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี, สาธิตการทำปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร

สำหรับกิจกรรมการแสดงนั้น ททท. จัดกิจกรรมขบวนแห่ประเพณีตลอดระยะเวลาจัดงาน 4 วัน การแสดงอีสานโบราณที่หาชมได้ยาก และนำมาจัดแสดงภายในงานนี้งานเดียว การเดินแบบผ้าไทยอีสาน และพบกับศิลปินแห่งชาติสาขาต่าง ๆ ที่มาแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานให้ชมกันภายในงาน อาทิ อ.สมบัติ สิมหล้า (เทพแห่งแคน) ศิลปินแห่งชาติ จะมาบรรเลงลีลาการเป่าแคนที่สุดแสนประทับใจแม่ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ ที่จะมาร้องหมอลำฉบับดั้งเดิมของชาวอีสาน พ่อกำปั่น บ้านแท่น ศิลปินแห่งชาติอีกท่าน ที่มาร้องเพลงพื้นบ้านให้ได้ชมได้ฟังกัน

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถร่วมสัมผัสอารยธรรมและมนต์เสน่ห์แห่งดินแดนที่ราบสูงได้ในงาน เทศกาลเที่ยวอีสาน 2553 หรือ Amazing I-San Fair 2010 ได้ระหว่างวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.tourismthailand.org
กำลังโหลดความคิดเห็น