เวลามีทุกข์ทางใจ หลายคนมักเลือกหันหน้าเข้าวัด เข้าไปไหว้พระหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตามความศรัทธาของแต่ละคน
ส่วนเวลามีทุกข์ทางกาย ซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดจากธรรมชาติเรียกร้องให้มีการขับถ่ายหนัก-เบา ก็ต้องไป "ปลดทุกข์" กันที่ "ห้องสุขา"หรือ "ห้องส้วม"เช่นกัน
ดังนั้น "ห้องน้ำวัด" หรือห้องสุขา ห้องส้วม จึงถือเป็นแหล่งปลดทุกข์ทั้งกายและใจสำหรับผู้ที่มาเยือน และยิ่งห้องน้ำวัดในสมัยนี้เป็นมากกว่าห้องน้ำ แต่เดิมที่เน้นเรื่องความสะอาดสะอ้านเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีวัดไม่น้อยที่สร้างห้องน้ำให้มีทั้งความสะดวกสบาย ความหรูหรา ที่สามารถใช้เป็นจุดดึงดูดให้ผู้ที่มาเยือนวัดได้เข้ามาสัมผัส ซึ่งนี่คือตัวอย่างของห้องน้ำวัดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เกินความคาดหมายว่าห้องสุขาในวัดไทยจะมีดีถึงขนาดนี้
สุขาสุดเริ่ดหรู
ใครที่นึกภาพห้องน้ำวัดเก่าๆโทรมๆ น้ำท่าก็ไม่มีจะใช้ คงต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อได้มาเข้าห้องน้ำที่ "วัดบางพลีใหญ่ใน" จังหวัดสมุทรปราการ
ในแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนนับพันนับหมื่นคนเดินทางมาที่วัดแห่งนี้เพื่อกราบสักการะ "หลวงพ่อโต" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งอำเภอบางพลี ยิ่งวันเสาร์อาทิตย์ก็จะยิ่งคึกคักไปด้วยผู้คน เพราะนอกจากจะได้มากราบพระแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะได้มาเที่ยวตลาดโบราณบางพลีที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดด้วย
เมื่อมีผู้คนมากมายมาเยือน ทางวัดก็ต้องเตรียมห้องน้ำห้องท่ารองรับคนจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้วัดบางพลีใหญ่ในก็ได้ทุ่มเงินหลายล้านบาทจัดสร้างห้องน้ำหรูเริ่ดขึ้นมาบริการญาติโยมที่มาเยี่ยมเยียนวัดจนเป็นข่าวดังไปทั่ว
ห้องน้ำที่ทางวัดเนรมิตขึ้นดูราวกับเป็นห้องน้ำโรงแรมห้าดาวก็ไม่ปาน ลบภาพห้องน้ำวัดแบบเก่าๆ ออกไปจากความคิด ตามผนังตกแต่งด้วยโคมไฟและกระจกเงาเจียรไนสวยงาม ติดแอร์เย็นฉ่ำในห้องน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ทุกชิ้นทันสมัย อ่างล้างมือและชักโครกใช้ระบบเซ็นเซอร์ด้วยแสง พื้นปูด้วยกระเบื้องลวดลายสวยงาม กลางโถงห้องน้ำจัดทำเป็นสวนหย่อมเล็กๆ มีน้ำพุน้ำตกจำลอง มีพนักงานทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
"วัดท่าการ้อง" ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงมานานในเรื่องของความเป็นห้องน้ำที่หรูหราสะอาดเอี่ยมราวกับห้องน้ำในโรงแรม แถมยังมีรางวัลส้วมดีเด่นเป็นเครื่องการันตี ภายในโถงห้องน้ำปูด้วยพรมนุ่มสบายเท้า (แน่นอนว่าต้องถอดรองเท้าก่อนเข้า) ติดผ้าม่านดูหรูหรา ติดวอลเปเปอร์ ประดับภาพเขียนและแจกันดอกไม้อย่างสวยงาม ภายในเย็นฉ่ำด้วยพัดลมพัดเย็นสบาย แต่หากใครอยากเย็นกว่านั้นก็ต้องเข้าห้องพิเศษที่ติดแอร์กันเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะเลยทีเดียว เล่นเอาไม่อยากออกไปจากห้องน้ำกันเลย
ที่ "วัดหนองบัวทุ่ง" ที่นครราชสีมาหรือเมืองโคราช ก็ไฮโซไม่แพ้กัน หรืออาจจะกินกันไม่ลง เพราะที่นี่มีความโดดเด่นด้วย "ส้วมทองคำ" ส้วมนั่งยองๆ เคลือบด้วยทองคำ 18 เค มีอยู่ถึง 6 ห้องด้วยกัน สนนราคาการก่อสร้างในแต่ละห้องกว่า 50,000 บาท เจ้าอาวาสวัดให้สร้างไว้ในอยู่ในกุฏิเพื่อรับรองพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ บุคคลสำคัญ และประชาชนทั่วไป
โถส้วมทองคำสว่างสุกใส รับกับพื้นกระเบื้องห้องน้ำสีทองเฉดเดียวกัน เมื่อเปิดไฟสว่างห้องน้ำก็จะเหลืองอร่ามไปด้วยแสงของทองคำ เมื่อเข้าไปนั่งปลดทุกข์ก็อาจจะเมื่อยสักหน่อยเพราะต้องนั่งยองๆ แต่ก็เชื่อว่าคงจะเมื่อยไม่มากมายนักเพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับโถส้วมทองคำเสียมากกว่า
เหตุที่ท่านเจ้าอาวาสเลือกสร้างส้วมทองคำนี้ก็เนื่องจากว่าสีทองเป็นสีที่สวยงามและยังไม่มีใครนำมาใช้กับห้องน้ำ ก็เลยอยากลองทำดู วิธีทำก็คือเคลือบทองคำบนเซรามิคแล้วนำไปเผาไฟ จนออกมาเป็นโถส้วมทองคำอย่างที่เห็น ซึ่งในขณะนี้ก็มีประชาชนทั่วไปมาชมโถส้วมทองคำกันเป็นจำนวนมาก
มาถึงห้องน้ำหรูเริ่ดอลังการอีกแห่ง ต้องยกให้กับ "วัดร่องขุ่น" วัดดังแห่งจังหวัดเชียงราย ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่หากใครได้มาเยือนเป็นครั้งแรกอาจจะเผลอยกมือไหว้ห้องน้ำ เพราะเมื่อมองดูจากภายนอกแล้วดูราวกับเป็นหอพระหรือวิหารอีกแห่งหนึ่งของวัดที่ประดับด้วยลวดลายกนกศิลปะสไตล์อาจารย์เฉลิมชัย และไม่เพียงจะมีความงดงามแต่ภายนอกเท่านั้น แต่ภายในก็ยังสะอาดสะอ้านน่าใช้ด้วยเช่นกัน
ห้องน้ำ(ปริมาณ)มากที่สุด
ชมห้องน้ำหรูหราไฮโซกันไปแล้ว คราวนี้มาดูห้องน้ำที่เยอะที่สุดในประเทศ หรืออาจจะเยอะที่สุดในโลกก็ว่าได้กันบ้าง ที่ "วัดจันทาราม" หรือ "วัดท่าซุง" จังหวัดอุทัยธานี ที่วัดแห่งนี้รู้จักกันดีในชื่อ "วัดหลวงพ่อฤาษีลิงดำ" พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในเมืองไทยองค์หนึ่ง
ภายในวัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น "วิหารแก้ว" ที่ภายในงดงามไปด้วยกระจกที่ประดับไว้ตามเสาและเพดาน เมื่อแสงไฟกระทบกระจกเหล่านี้แล้วก็จะทำให้เกิดสีเส้นแสงที่สวยงามขึ้นภายในวิหาร นอกจากนั้นแล้ว ภายในก็ยังมีพระพุทธชินราชองค์จำลองประดิษฐานไว้ และที่สำคัญที่ทุกคนต้องมาสักการะก็คือร่างของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ อดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปนานหลายปีแล้วแต่สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ทางวัดยังคงเก็บรักษาไว้ในหีบแก้วเป็นอย่างดี และหากใครได้ไปเยือนก็อย่าพลาดชม "ปราสาททองคำ" ที่มีลักษณะคล้ายโลหะปราสาทแต่ขนาดย่อมกว่า ประดับลวดลายไทยปิดทองคำเปลวติดกระจก ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความงดงามมากทีเดียว
ความศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ทำให้มีผู้คนมาเยือนวัดท่าซุงแห่งนี้เป็นจำนวนมาก แม้เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วผู้คนก็ยังหลั่งไหลมาที่วัดไม่ขาดสาย อีกทั้งยังมีผู้มาฝึกวิปัสสนากรรมฐานที่วัดเป็นจำนวนมากเสมอๆ เช่นกัน ทางวัดท่าซุงจึงได้ก่อสร้างห้องน้ำเอาไว้รองรับประชาชนที่มาวัดนับเป็นพันๆ คนต่อวัน นับรวมแล้วมีทั้งหมดกว่า 400 ห้อง อยู่ตามจุดต่างๆ ของวัดซึ่งมีบริเวณกว้างใหญ่มาก
เรียกว่าแม้ห้องน้ำจะไม่หรูเหมือนวัดอื่นๆ แต่ถ้าเรื่องปริมาณแล้ววัดท่าซุงไม่แพ้ใครแน่นอน
ส้วมโบราณ ฐานคลาสสิค
คราวนี้มาดูห้องน้ำวัดแบบแปลกๆ ที่หลายคนคงไม่เคยเห็นและไม่มีโอกาสได้ใช้ อย่างหนึ่งเพราะเป็นห้องน้ำสำหรับพระสงฆ์เท่านั้น และสองคือเป็นห้องน้ำโบราณที่ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป
ห้องน้ำวัดโบราณแห่งแรก ขอเชิญไปชมได้ที่ "อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร" ในจังหวัดกำแพงเพชร ห้องน้ำวัดโบราณนี้จะอยู่บริเวณวัดพระนอน โบราณสถานวัดร้างเก่าแก่ในอุทยานฯ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 วัดแห่งนี้จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ห้องน้ำที่ว่านี้จะอยู่บริเวณเขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นที่อาศัยของสงฆ์ โดยมีทั้งมีกุฏิ ศาลา บ่อน้ำ รวมไปถึงเว็จกุฎี หรือห้องส้วมของพระสงฆ์นั่นเอง เว็จกุฎีนี้แข็งแรงมากเพราะสร้างด้วยศิลาแลง ก่อเป็นฐานสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ตรงกลางมีหลุมสำหรับรองรับสิ่งปฏิกูล เวลาที่พระจะเข้าห้องน้ำก็ต้องขึ้นไปนั่งยองๆ บนเว็จกุฎินี้ ไม่ต้องไปทุ่งเหมือนอย่างชาวบ้านในยุคนั้น
ห้องน้ำวัดสมัยโบราณอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั้นตั้งอยู่ที่ "วัดใหญ่สุวรรณาราม" จังหวัดเพชรบุรี ส้วมโบราณนี้บ้างก็เรียกเว็จกุฎี หรือถาน ที่ปัจจุบันนี้มีเหลือให้เห็นอยู่ 2 หลัง เป็นอาคารทรงไทยขนาดย่อมสมส่วน ข้างในเป็นไม้ตีกรอบสีเหลี่ยมให้นั่งยองๆ พร้อมรูให้มองออกไปข้างนอก ส่วนด้านล่างมีรูให้หมูมุดไปกำจัด (กิน) ของเสีย ถือเป็นห้องน้ำวัดโบราณที่ได้บรรยากาศความคลาสสิคอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่วนอีกหนึ่งห้องน้ำวัดสุดคลาสสิคก็คือที่ "วัดต่อแพ" อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน อีกหนึ่งวัดทรงคุณค่าแห่งแม่ฮ่องสอน เพราะนอกจะเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์แล้วยังเป็นวัดในแบบไทยใหญ่ที่มากไปด้วยสิ่งชวนชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป ธรรมมาสน์ พระบัวเข็มศักดิ์สิทธิ์ จุดชมวิว ผ้าม่านโบราณประดับทับทิม รวมไปถึง "เว็จกุฎี" หรือส้วมพระอันเก่าแก่สวยงาม จนทางวัดชูให้เป็นหนึ่งในของดีชวนชม
ส้วมพระหรือฐานพระแห่งนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2464 เป็นส่วนหนึ่งของศาลาการเปรียญ ตัวอาคารฐานพระแห่งนี้ เป็นอาคารไม้มุงหลังคาแป้นเกร็ด หลังคาซ้อนกันหลายชั้นมีหน้าต่างเป็นกระจก ส่วนฐานพื้นก่ออิฐถือปูน ดูจากภายนอกเป็นส้วมที่สง่างาม ลงตัวโดยเฉพาะหลังคา ที่ซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้ทำการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ. 2551 ที่แม้ว่าอาจจะทำให้ความเก่าขรึมขลังหายไป แต่ที่ได้มาก็คือความแข็งแรง คงทน และความสะอาดสะอ้าน ชนิดที่หลายคนที่ขึ้นไปในศาลาเปรียญต้องไปใช้บริการปลดทุกข์ในฐานพระแห่งนี้อย่างชื่นชอบและชื่นชม
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
และนั่นก็เป็นเรื่องราวของสุขาวัดจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษโดดเด่นกว่าวัดทั่วไป ซึ่งประเด็นเรื่องห้องน้ำวัดที่ดูหรูหรานี้มักจะถูกนำมาเป็นข้อถกเถียงกันเสมอในเรื่องของความเหมาะสม บ้างก็ว่าเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นของวัด บ้างก็ว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรหากวัดมีเงินเหลือมากพอจะทำได้
ทั้งนี้ความคิดของแต่ละคนก็คงจะต่างมุมกันไป แต่หากมองในแง่ที่ว่า ห้องน้ำสวยหรูเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้คนเข้าวัดได้ ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีกว่าที่จะให้คนออกห่างจากวัดไปทุกวันๆ