xs
xsm
sm
md
lg

แอ่วแม่ละนา ค้นหาปะการังในถ้ำ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ทะเลหมอกยามเช้าระหว่างทางที่ลุกข้าวหลาม
ปะการัง(ตามธรรมชาติ)ปกติอยู่ในทะเล ถ้าปะการังไปโผล่อยู่ในบ้าน ในอควาเรียม อาจมีทั้งปกติและผิดปกติ แต่กับปะการังที่เพื่อนผมมันอวดโอ่นี่ถือว่าผิดปกติมาก เพราะมันบอกว่า“กูเจอปะการังอยู่ในถ้ำบนภูเขาที่บ้านแม่ละนา เมืองแม่ฮ่องสอนโน่น สวยเชียว ว่างๆมึงลองไปเที่ยวดูสิ”

ครั้นเมื่อมีโอกาสขึ้นไปแอ่วเมืองสามหมอก ผมไม่ลืมคำเพื่อนบอกบรรจุโปรแกรมค้นหาปะการังบกในถ้ำ ณ บ้านแม่ละนา ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะม้า เข้าไปในทริปด้วย โดยออกเดินทางจากตัวเมืองแต่เช้ามืดสู่หมู่บ้านแห่งนี้
ทิวทัศน์บ้านแม่ละนา
แม่ละนาพาเพลิน

ระหว่างทาง(เริ่มเช้าแล้ว) ผมกับคณะไปแวะถ่ายเบา(ไม่หนัก)และถ่ายรูปทะเลหมอก ณ จุดชมวิว“ลุกข้าวหลาม” ซึ่งหมอกยามเช้าวันนั้นค่อยๆลอยอ้อยอิ่งผ่านทะเลภูเขากว้างไกลดูสวยสมชื่อเมืองสามหมอกไม่น้อยเลย

จากนั้นผมมาถึงบ้านแม่ละนาราวๆเกือบ 8 โมง เป็นเวลาท้องไส้กำลังหิวได้ที่ พี่จำรูญ วงจันทร์ ผู้ประสานงานด้านท่องเที่ยวบ้านแม่ละนาออกมาต้อนรับขับไล่ เอ๊ย!!! ขับสู้ พร้อมพาไปเติมพลังยามเช้าด้วยเมนูพื้นบ้านรสเด็ด ประกอบด้วย ต้มยำไก่บ้านรสแซ่บ ไข่เจียวเหลืองเกรียมนิดๆอร่อยเข้าที และที่เด็ดสุดยอดกับน้ำพริกไทยใหญ่กินคู่กับผักสวนครัวปลอดสารในหมู่บ้าน โอ้ว...เอาอาหารตามเหลา ตามโรงแรมหรูๆมาแลกก็ไม่ยอม
หินคล้ายสมอง
หลังอิ่มหนำเสร็จสรรพ หนังท้องตึง หนังตาหย่อน แต่ไอ้ครั้นจะนอนคงไม่ได้ เพราะช่วงครึ่งเช้าของวันนี้ผมมีโปรแกรมไปตะลุยถ้ำค้นหาปะการังกัน ซึ่งมันจะเป็นอย่างไร ผิดปกติอย่างที่ไอ้เพื่อนมันโวหรือเปล่า เรื่องนี้ผมไม่ได้ถามกับพี่จำรูญเพราะไม่อยากรู้ไคลแมกซ์ เดี๋ยวจะดูหนังไม่สนุก

เอาล่ะ เมื่อข้าวเรียงเม็ด เตรียมน้ำท่าพร้อมลุย พวกเราก็มุ่งหน้าไปค้นหาปะการังบกที่“ถ้ำปะการัง”กันทันที โดยต้องนั่งรถจากหมู่บ้านขึ้นเขาไปประมาณ 4 กิโลเมตร ต่อจากนั้นก็ลงเดินเท้าอีกราวๆ 3 กม.

สำหรับช่วงที่รถแล่นผ่านหมู่บ้านนั้น เห็นได้ชัดว่าหมู่บ้านแห่งนี้แอบอิงอยู่กับธรรมชาติ ชาวบ้านดำรงไว้ซึ่งวิถีอันเรียบง่ายพอเพียง ทำการเกษตรปลูกผัก ทำนา เลี้ยงสัตว์เป็นหลัก ตัวอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นเรือนท้องถิ่นสร้างด้วยไม้ดูเรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์ ดูแล้วให้ความรู้สึกสงบงาม สมกับเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งพี่จำรูญท้าวความให้ฟังถึงความเป็นมาของหมู่บ้านว่า แม่ละนาเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี เดิมชื่อ"แม่ลัดนา" เพราะมีแม่น้ำไหลผ่านทุ่งนา แต่ตอนหลังชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็น “แม่ละนา” ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ ยังคงแนบแน่นพุทธศาสนาและขนบประเพณีแบบดั้งเดิม
ระยิบระยับตามแบบฉบับหินประกายเพชร
“ต้นตระกูลพวกเราอพยพมาจากพม่ามีวัดแม่ละนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน”

พี่จำรูญเล่าให้ฟัง ก่อนพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวของหมู่บ้านว่า ด้วยความที่ในเขตหมู่บ้านมีถ้ำเยอะมีคนมาเที่ยวกันพอสมควร ชาวบ้านจึงเล็งเห็นทรัพยากรชุมชนที่มีเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2537

“ช่วงแรกๆล้มลุกคลุกคลานมาก ชาวบ้านไม่เข้าใจ ฝรั่งเข้ามานุ่งน้อยห่มน้อย กอดจูบกันแบบไม่อาย มันดูผิดวิถีไทยใหญ่ ส่วนนักท่องเที่ยวบางคนก็เข้ามาขโมยหิน(ควอตส์)ในถ้ำกลับไปจำนวนมาก กลายเป็นว่าที่เราเปิดท่องเที่ยวหวังจะเป็นรายได้เสริมให้กลับชุมชนและให้ชุมชนช่วยกันรักษาธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาเพื่อเป็นต้นทุนในการท่องเที่ยว กลับส่งผลเสียต่อชุมชนแทน”
หินย้อยโตวันโตคืน
แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ย่อท้อ ระดมสมองหาแนวทางในการแก้ไข ตั้งกฏระเบียบเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นมา ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อให้รูปแบบการท่องเที่ยวของโดยชุมชนเดินไปตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งเป็นดังเครื่องมือพัฒนาคนให้มีความเข้มแข็งเกิดการรวมกลุ่มกันในการทำงาน โดยมีผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวกลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อพวกเขาตั้งหลักได้ก็เดินหน้าต่อไปแบบพอเพียงจัดรูปแบบการท่องเที่ยวขึ้นมา พาไปนอนโฮมสเตย์ ไปสัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี แหล่งธรรมชาติ ป่าชุมชน และเที่ยวถ้ำต่างๆที่ถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ ซึ่งถ้ำที่เด่นๆก็มี ถ้ำแม่ละนาที่ยาวราวๆ 12 กม. ถ้ำเพชร ถ้ำไข่มุก และถ้ำปะการังที่กำลังเดินทางไป

ตามหาปะการังในถ้ำ

ปากถ้ำปะการังถ้ำไม่บอกก็ไม่รู้ว่าในถ้ำมีปะการังเพราะเป็นรูแคบๆให้มุดลงบันไดไปแบบเรียงเดี่ยว ซึ่งเมื่อลงไปในถ้ำ ทางเดินค่อยๆกว้างขึ้นเรื่อยๆ แถมในถ้ำยังเย็นไม่อ้าวเหมือนถ้ำหลายแห่ง
หินลักษณะเป็นริ้วคลื่น
สำหรับถ้ำแห่งนี้ยาวประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า ข้างในมีหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตาให้จินตนาการกันไปตลอดทาง และถ้าจะให้ได้อรรถรส หินหลายก้อนควรจินตนาการตามที่ไกด์ท้องถิ่นบอก อาทิ หินฆ้อง ที่เมื่อเคาะแล้วมีเสียงดังกังวานเหง่งง่าง(จินตนาการ)คล้ายคล้องวง หินรูปตุ๊กตาที่ดูคล้ายตุ๊กตาแต่ไม่รู้ว่าเป็นตุ๊กตาอะไร หินเสาเห็ดที่ใครหิวจนหน้ามืดอาจมองเห็นเป็นแกงเห็ด 3 อย่างได้ หินรูปสมองที่สามารถจินตนาการเป็นปะการังสมองได้ไม่ยากแต่นั่นไม่ใช่ปะการังของชาวบ้านที่นี่เขา เพราะปะการังบกอยู่ช่วงท้ายๆของถ้ำโน่น

เส้นทางยังคงทอดยาวลึกเข้าไป ในขณะที่พี่ไกด์ก็พาเดินหน้าดุ่มๆต่อไป พร้อมกับชี้ชวนให้ดูหินงอกหินย้อยที่น่าสนใจไปตลอดทาง นี่หินประกายเพชรที่ยามต้องแสงส่องประกายระยิบระยับ นั่นหินรูปฟันที่สาวอย่าเผลอไปถูกเข้าล่ะเพราะเธอจะโดนฟันเอาได้ง่ายๆ โน่น ฯลฯ
หินงอกหินย้อยรูปลักษณะคล้ายปะการังในถ้ำปะการัง
นอกจากนี้ในถ้ำยังมีหินงอกหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตาให้ชมกันอีกเพียบ ร่วมถึงเพื่อนต่างสายพันธุ์อย่างกิ้งกือถ้ำสีขาวเผือกที่ยามต้องแสงไฟฉายดูเป็นสีเงินน่าชมไม่หยอก

ครั้นเมื่อเดินมาถึงช่วงท้ายๆของถ้ำก็เป็นโซนปะการังบกที่เป็นหินงอกหินย้อยยื่นออกมาเป็นตุ่มๆไตๆคล้ายปะการังใต้ทะเล แถมใกล้ๆกันยังมีน้ำหยดจากเพดานถ้ำลงมาเกิดเป็นแอ่งน้ำเล็กๆรับกับปะการังอีกต่างหาก
ปะการังบกที่ผุดโผล่มากมายกลางโถงถ้ำ
ส่วนที่เป็นไฮไลท์สุดๆคือในช่วงสุดท้ายที่เป็นแท่งหินลักษณะคล้ายปะการัง โผล่ขึ้นมากลางโถงถ้ำมากมาย นับเป็นความมหัศจรรย์อันเกิดจากน้ำมือธรรมชาติที่บรรจงแต่งแต้มสร้างสรรค์ขึ้นมา ลักษณะธรรมชาติแบบนี้หาชมไม่ได้ง่ายๆในเมืองไทย แต่ก็ไม่ใช่ความผิดปกติของธรรมชาติอย่างที่เพื่อนผมโว ซึ่งเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯเล่าให้มันฟัง

เจ้าเพื่อนขี้คุยคนนี้ยักไหล่ พร้อมกับบอกว่า “ถ้ามึงไปดูแบบปกติ มันก็ปกตินะสิ แต่คราวหน้าถ้าไปใหม่ลองใส่สน็อคเกิ้ลไปเดินดูปะการังบกในถ้ำสิ รับรองว่าจะเห็นอะไรที่ผิดปกติแน่นอน”

อืม....งานนี้ไม่ต้องทำตามผมก็รู้ได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน ทว่าไม่ใช่ธรรมชาติผิดปกติหรอกนะ หากแต่เป็นเพื่อนของผมต่างหากที่ผิดปกติ!?!
กำลังโหลดความคิดเห็น