xs
xsm
sm
md
lg

ชะนะได ชนะใจ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ยามเย็นที่เสาเฉลียงคู่
ชีวิตบางครั้งคล้ายดังพระอาทิตย์

มีขึ้น มีตก เหมือนกัน

ผิดกันตรงที่การขึ้น-ตกของพระอาทิตย์นั้นเป็นปกติวิสัยเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ทั้งการขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตก ทั้งการขึ้นยามเช้าตรู่ ตกยามเย็นย่ำ(ถ้าพระอาทิตย์ขึ้น-ตกทางทิศเหนือใต้ โลกคงวุ่นพิลึก) แถมปัจจุบันมนุษย์ยังสามารถคำนวณ วัน ว. เวลา น. ได้ค่อนข้างแน่นอนแบบชัวร์ป๊าบแช่แป้ง ว่าจะขึ้นเมื่อใดตกเมื่อใด ผิดกับเส้นทางชีวิตที่บางครั้งยากจะรู้ว่าช่วงเวลาใดจะขึ้น ช่วงใดจะตก
ตะวันลับฟ้า ณ บางมุมของเสาเฉลียงคู่
สำหรับจุดที่ใช้คำนวณเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-ตกหลักๆที่คนฟังวิทยุรู้กันดี คงจะหนีไม่พ้น จุดเทียบเวลาพระอาทิตย์ขึ้นแห่งแรกของเมืองไทย และจุดพระอาทิตย์ตกแห่งสุดท้ายของเมืองไทย ที่ประมาณการโดยกรมอุตุนิยมวิทยา

จุดที่พระอาทิตย์ขึ้นแห่งแรกในเมืองไทยอยู่ที่ ผาชะนะได(ชนะได) ในพื้นที่ป่าดงนาทาม อุทยานฯผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

จุดที่พระอาทิตย์ตกแห่งสุดท้ายของเมืองไทยอยู่ที่ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต

ทั้ง 2 แห่งแม้เป็นจุดชมพระอาทิตย์เลื่องชื่อ แต่ที่ผ่านมาผมกลับมีโอกาสได้สัมผัสแค่จุดชมพระอาทิตย์จุดสุดท้ายที่แหลมพรหมเทพเท่านั้น แถมยังมีโอกาสได้ไปร่วมส่งตะวันลงทะเลบ่อยครั้งอยู่(และเพิ่งเขียนไปเมื่อไม่นานมานี้) ส่วนจุดชมพระอาทิตย์แห่งแรกในเมืองไทยนั้น บอกตามตรงว่าแม้ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปเที่ยวอช.ผาแต้มอยู่บ่อยครั้ง แต่ว่าก็ยังไม่เคยไปผาชะนะไดเลยซักกะที กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้นั่นแหละจึงเพิ่งจะมีโอกาสได้ไปเปิดซิงรับตะวันก่อนใครในสยามเป็นครั้งแรกมาแบบสดๆร้อนๆ
พระอาทิตย์ลับเหลี่ยมผาที่ชะง่อนหินเสาเฉลียงคู่
งานนี้ผมกับคณะเริ่มต้นออกเดินทางจาก“บ้านนาโพธิ์กลาง” อ.โขงเจียม ชุมชนที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศพานักท่องเที่ยวผู้สนใจเที่ยวขึ้นไปป่าดงนาทาม ผาชะนะได มีระยะทางจากหมู่บ้านไปจุดกางเต็นท์บนผาชะนะไดประมาณ 27 กม. ต้องนั่งรถโฟร์วีลขึ้นไปสถานเดียว เพราะเป็นทางดีลาดยางครึ่งหนึ่งประมาณ 15 กม. ที่เหลือเป็นทางลูกรังขึ้นเขาลงเขาสมบุกสมบันเอาเรื่องชนิดนั่งรถกันตัวกระโดดก้นกระดอน

พวกเรามาถึงผาชะนะไดกันราวเย็นแก่ๆใกล้โพล้เพล้เต็มที เพื่อเป็นการไม่ให้พลาดโอกาสสำคัญจึงรีบมุ่งหน้าห้อไปยังจุดชมพระอาทิตย์ตกที่“เสาเฉลียงคู่”ทันที เพื่อไปเดินหามุมเหมาะๆถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกคู่กับเสาเฉลียงคู่ ที่เป็นเสาหิน 2 เสา ฐานกว้างปลายคอด มีแผ่นหินขนาดใหญ่วางอยู่ข้างบนแบบหมิ่นเหม่หวาดเสียวว่าจะตกไม่ตกแหล่
เธอคือใคร?
หลังผมและเพื่อนๆผู้นิยมการถ่ายภาพหามุมเหมาะเหม็งเล็งถ่ายรูปได้แล้ว แต่ความแน่นอนกลับไม่แน่นอนขึ้นมาเมื่อจู่ๆมีนักท่องเที่ยวคณะใหญ่ขึ้นมาเที่ยวด้วย ผมได้ยินได้ฟังว่าคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็น”คณะผู้ว่า” ซึ่งคนที่ถูกเรียกว่า“ผู้ว่า”นั้นมีอัธยาศัยไมตรีดีไม่หยอก แถมดูมีราศรีพอตัว แต่ประทานโทษ!!! กับพวกลิ่วล้อจอมสอพลอบางคนนี่สิ กร่างใช่ย่อย พวกเล่นไปไล่ที่นักท่องเที่ยวคนอื่นๆที่มาจับจองไว้ก่อน จัดฉากให้เจ้านายถ่ายรูปคู่กับเสาเฉลียง(เอ...พฤติกรรม”ช่างจัดฉาก”แบบนี้คล้ายน้องเดียวจริงๆเลย) จนช่างภาพหลายคนที่มาตั้งกล้องหามุมไว้ก่อนบ่นอุบไปตามๆกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ท้องฟ้ายามเย็นวันนั้นค่อนข้างเป็นใจ มองออกไปเห็นเงามืดของเสาเฉลียงคู่ตั้งตระหง่านย้อนแสงตัดกับท้องฟ้าสีเหลืองทองอร่าม ทำให้พวกตากล้องที่ตั้งใจไปถ่ายภาพคลายอารมณ์ขุ่นมัวจากพฤติกรรมโดนไล่ที่ของลิ่วล้อช่างจัดฉากไปได้มากโข

หลังแสงสุดท้ายของวันพ้นผ่าน แสงรัตติกาลแรกมาเยือน ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล เพราะหลังอาบน้ำ กินข้าว ผมได้พบกับเพื่อนใหม่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้(และน้องสาว) พวกเราโจ้เหล้าบ่มเพาะมิตรภาพริมกองไฟกันจนดึกดื่นก่อนมุดเต็นท์เข้านอน รอเวลาทีมงานเจ้าหน้าที่มาปลุกไปชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าตรู่ ณ ผาชะนะได ที่อยู่ห่างจากจุดกางเต็นท์ไปประมาณ 1 กม.กว่าๆ
แสงแรกแห่งวัน ณ ผาชะนะได
ตอนกลับหลับนอน ผมจำไม่ได้ว่าเป็นเวลากี่โมงกี่ยาม แต่ตอนถูกเจ้าหน้าที่ปลุกให้ตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นนี่สิ จำได้แม่นเลยว่าราวตีห้ากว่าๆ

ปกติเวลานี้ตอนอยู่กรุงเทพฯถ้ายังไม่นอนเพราะทำงานหรือสังสรรค์ไม่เลิกก็เป็นยังไม่ตื่นเพราะนอนหลับอุตุ แต่เมื่อมาอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้าไม่เอา“ชนะใจ”ตัวเองด้วยการรีบตื่นนอนแต่ย่ำรุ่งเดินฟันฝ่าสายลมยะเยือกและอากาศอันหนาวเหน็บไปเฝ้ารอรับตะวัน ผลแห่งการ“แพ้ใจ”มันย่อมทำให้ผมพลาดโอกาสการชมพระอาทิตย์ขึ้นแห่งแรกในเมืองไทยไปอย่างน่าเสียดายทั้งๆที่ตั้งใจมาเป็นอย่างดี

เมื่อเอาชนะใจได้ ชะนะไดย่อมไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่ปัญหามันกลับมีอยู่ว่าเช้ามืดวันนี้ ด้วยความแฮงก์ผสมงัวเงียทำให้ผมเกิดพลัดหลงกับเพื่อนๆอย่างน่าเจ็บใจ พวกเพื่อนๆเขาไปยืนรอที่ลานจอดรถเพื่อนั่งรถไปผาชะนะได แต่ผมดันเดินตามแสงไฟฉาย 2 ดวงที่ส่องแวบๆอยู่ข้างหน้าด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นเพื่อนส่องเรียก แต่ที่ไหนได้กลายเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นไปเสียฉิบ

อย่างไรก็ดีมิตรภาพในหมู่คนเที่ยวที่มีหัวใจเดียวกันมันมักเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะเพียงแป๊บเดียวผมก็เข้ากับพี่ทั้งสองที่มาจากชมรมจักรยานเมืองอุบลฯได้เป็นอย่างดี จากนั้นผมจึงออกเดินตามพี่ทั้งสองไปยังจุดหมายที่รออยู่เบื้องหน้าด้วยเข้าใจว่าเจ้าถิ่นทั้งสองคงชำนาญทางเป็นอย่างดี เพราะเห็นพี่แกเดินนำลิ่วแบบคล่องทีเดียว
รับตะวันก่อนใครในสยามท่ามกลางบรรยากาศเหน็บหนาวที่ผาชะนะได
แต่จู่ๆพี่ทั้งสองก็หยุดกึกริมดงไม้ดงหญ้าที่รกทึบพร้อมหันมาถามผมว่า “เอ่อ พี่ว่าเรามาผิดทางนะ”

ประโยคนี้มันทำให้ผมนึกถึงคำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนหนึ่ง...“เดินป่าดงนาทามรับรองว่าไม่มีหลงป่าจะมีก็เพียงหลงทางเท่านั้น เพราะที่นี่ไม่ว่าหลงไปทางไหนก็เป็นป่าเหมือนกันหมด ฉะนั้นมาที่นี่รับรองว่าไม่มีหลงป่าแน่นอน”...เอ้อ นี่มันจริงดังคำเขาว่าเป๊ะ

“น้องไปทางไหนรู้มั้ย? พวกพี่เพิ่งเคยมาครั้งแรก” พี่คนหนึ่งถามต่อ

...อ้าว เวรแล้วกู...ผมนึกในใจ เห็นเป็นคนอุบลฯนึกว่าเคยมา แถมพี่แกยังเล่นเดินนำแบบชำนาญทางปร๋อ แต่สุดท้ายกลับมาเผยไต๋ว่าเพิ่งเคยมาครั้งแรกเหมือนกัน

“เอ่อ ผมก็ไม่รู้ครับพี่ บังเอิญว่าไม่ใช่คนแถวนี้ แต่เดี๋ยวเราคลำทางไปตามแสงกันดีกว่า” ผมตอบพวกแกไป ก่อนบ่ายหน้าไปตามแสงที่เรื่อเรืองอยู่เบื้องหน้า

ผลปรากฏว่า โอ้!?! พระอาทิตย์ผมมาถูกทางแล้ว เพราะเพียงแค่อีกประมาณ 10 กว่านาทีก็มาถึงยังหน้าผาเตียนโล่งมีป้ายปักไว้ว่า “ผาชะนะได ณ ตำแหน่ง ลองจิจูด 105 องศา 37 ลิปดา 17 ฟิลิปดา” แต่ประทานโทษรอบข้างไม่เห็นมีใครสักคน นี่แปลว่าเรามาก่อนใครเพื่อนอย่างนั้นรึ มาก่อนพวกนั่งรถยนต์เสียอีก โอกาสแบบนี้ต้องรีบจับจองหามุมถูกใจ เพราะเชื่อว่าอีกไม่นานคนจะตามมาตรึม
เธอผู้พยายามจับตะวัน
สักพัก มันเป็นตามที่นึกจริงๆ มีคนทยอยมาเรื่อยๆก่อนจะเต็มพื้นที่ด้านหน้าผาชะนะได ผมดูเวลาช่วงนี้อยู่ที่เกือบ6 โมงเช้า ท้องฟ้าเริ่มส่องแสงโทนแดงทองเรื่อเรืองมาทักทาย แต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นเพราะเป็นหน้าหนาวพระอาทิตย์ย่อมขึ้นช้าเป็นธรรมดา

ระหว่างที่รอนี้ นักท่องเที่ยวหลายคนเมื่อไม่รู้จะทำอะไรจึงหันมาปล่อยมุกกระจายคั่นเวลา บ้างก็ว่า “วันนี้พระอาทิตย์ขึ้นสายหน่อยเพราะเป็นวันหยุด”(พอดีวันนั้นเป็นวันเสาร์) บ้างบอก“พระอาทิตย์จะขึ้นนี่กินข้าวมารึยัง” หรือไม่ก็ว่า“ทำไมพระอาทิตย์ไม่ขึ้นตอนบ่าย จะได้ไม่ต้องตื่นแต่เช้ามาเฝ้ารอดู”(ว่าเข้าไปนั่น) บางคนไม่มีมุกอะไร แต่มีเล่นตะโกนดังลั่นว่า “โอ้ โห!?! พระอาทิตย์ขึ้นสวยจัง” จนเพื่อนๆต้องแก้มุกว่า“ยัง!!! ตึ่ง โป๊ะ”(มาแบบคาเฟ่เลยเพ่) ในขณะที่สาวๆช่างฝันบางคนเลือกที่จะแหงนไปมองหมู่เมฆแล้วจินตนาการไปต่างๆนานา รูปหมา รูปอูฐ รูปคนรัก รูปกิ๊ก ไปตามเรื่อง

ส่วนที่ไม่มุกแต่เป็นเนื้อหาก็เห็นจะเป็นข้อมูลจากทางหัวหน้าอุทยานฯผาแต้มที่บอกกับผมว่า “ผาชะนะไดเป็นดังส่วนคมขวานทองเมืองไทยที่อยู่ตะวันออกสุดของประเทศ พระอาทิตย์ที่นี่ขึ้นเป็นจุดแรกสุดในเมืองไทยก่อนกรุงเทพฯประมาณ 20 นาที วันไหนฟ้าดีจะเห็นดวงอาทิตย์ดวงกลมสุกแดง ยิ่งในช่วงหน้าหนาวอย่างนี้มีโอกาสเห็นทะเลหมอกได้เยอะทีเดียว”

แต่ประทานโทษ วันนั้นไม่มีทะเลหมอก แถมฟ้าไม่เป็นใจ ไม่มีพระอาทิตย์ดวงกลมโตประเภทไข่แดงให้ชม แต่กระนั้นฟ้าก็ไม่ใจร้ายเกินไป เพราะยังส่องแสงออกสีโทนแดงผสมเหลืองทองอันเรื่อเรืองมาทักทาย ณ เส้นขอบฟ้า ก่อนจะค่อยๆแผดจ้าขึ้นตามลำดับฉาดฉายลงมาแต่งแต้มฉาบทอทิวทัศน์เบื้องล่าง มองลงไปเบื้องล่างเห็นแม่น้ำโขงยามหน้าแล้งไหลดังลำตัวพญานาคเลื้อยทอดยาวแบ่งกั้นพรมแดนไทยลาว วิวทางฝั่งบ้านเรานั้นเป็นหมู่บ้านปากลา อ.โขงเจียม ส่วนฝั่งลาวเป็นเมืองคงเซโดนกับผืนป่าภูเชียงทอง แขวงสาละวัน

แม้ฟ้าวันนั้นจะไม่เป็นใจเท่าใดนัก ชนิดที่นักท่องเที่ยวและช่างภาพหลายคนบ่นอุบ แต่สำหรับผมแล้ว นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ตัวเองได้รู้ซึ้งถึงสัจธรรมของธรรมชาติ ว่าในความ“แน่นอน”ของพระอาทิตย์ขึ้น-ตกนั้นมีความ“ไม่แน่นอน”ของสภาพท้องฟ้าอากาศเคียงคู่กันอยู่แทบทุกขณะ

...สำหรับชีวิตแล้วไยไม่ต่างจากพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ที่มีทั้งความแน่นอนและไม่แน่นอน ฉะนั้นใครที่อยากให้ความแน่นอนของชีวิตมีพลังเหนือความไม่แน่นอน การตั้งตัวอยู่ในความ“ไม่ประมาท”คือหนึ่งในหนทางที่จะช่วยเสริมส่งได้ ไม่มากก็น้อย...
กำลังโหลดความคิดเห็น