xs
xsm
sm
md
lg

ปีนัง (จบ) มนต์ขลังแห่งความดั้งเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย:The Minnie
รถรางกำลังลงจากปีนังฮิลล์ในวันที่เต็มไปด้วยหมอก
ด้วยสภาพอากาศที่ออกไปทางร้อนเสียส่วนใหญ่ (แม้จะมีฝนบ้าง) ของปีนัง ทำให้ “บูกิต เบนเดรา (Bukit Bendera) หรือ “ปีนังฮิลล์” ซึ่งสูง 830 เมตรจากน้ำทะเล กลายเป็นสถานที่หลบลมร้อนชั้นดีของชาวเมือง

ที่สำคัญตำแหน่งของ “ปีนังฮิลล์” นั้นสามารถมองเห็นเมืองหลวงของรัฐปีนังได้เต็มตา จึงทำให้พวกเราปรารถนาที่จะได้บันทึกมุมมองของจอร์จทาวน์ในแบบเบิร์ดอายวิว เหมือนในโปสการ์ด !! จาก “วัดเก็กลกซี” พวกฉันนั่งรถเมล์สัก 10 นาทีก็ถึงต้นทาง “รถรางขึ้นสู่ปีนังฮิลล์” รถรางมีสับเปลี่ยนขึ้นลงเขาอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ จนถึงค่ำมืด
เอบีซี ขนมน้ำแข็งไสยอดนิยมบนปีนังฮิลล์
รางรถไฟทางขึ้นลง “ปีนังฮิลล์” ถือเป็นนวัตกรรมที่ชาวอังกฤษแห่งยุคอาณานิคมทิ้งไว้ให้ สร้างเสร็จในปี 1922 เมื่อพวกเขาต้องการขึ้นไปตากอากาศท่ามกลางอุณหภูมิเย็นสบายพอให้หายคิดถึงเกาะบริเตนใหญ่ที่จากมา เห็นได้จากร่องรอยของโรงแรมเก่าที่สร้างไว้ตามเชิงเขา

รถราง (เกือบ) ใหม่บนเส้นทางสายเก่า ไม่ใช่มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังคงเป็นเส้นทางคมนาคมสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขา โดยมีสถานีจอดเป็นระยะ ขณะที่ภายในรถรางแม้จะมีที่นั่ง แต่ทุกช่องโดยสารก็ยืนแน่นเบียดราวกับรถเมล์กรุงเทพฯ ในยามเช้า

การเดินทางด้วยรถรางถึงจุดชมวิวบนปีนังฮิลล์นั้น ใช้เวลากว่า 40 นาที ถ้าได้จับจองเก้าอี้ในทีแรกก็ใช่ว่าจะนั่งได้ยาวตลอดสาย เพราะมีการเปลี่ยนรถรางในช่วงที่ 2 ตรงที่ระดับความสูง 350 เมตร ซึ่งจากนี้จะมีความชันยิ่งขึ้น แต่ภาพของป่าร้อนชื้นที่เขียวครึ้มเย็นใจก็ยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงนี้
ผัดหมี่ฮกเกี้ยนที่นี่น้ำชุ่ม
วันที่พวกฉันขึ้นสู่ปีนังฮิลล์ อากาศเย็นสบายเป็นพิเศษ นั่นก็เพราะฝนเพิ่งซาเม็ดไปหมาดๆ และเมื่อถึงจุดที่เราจะได้บันทึกภาพ “จอร์จทาวน์” และ “ช่องแคบมะละกา” ให้เต็มตาเต็มเฟรม ปรากฎว่าเมฆหมอกอย่างหนาคลุมเชิงเขายาวไกลไปสุดสายตา

ฉันนึกถึงคำของสาวปีนังใจดีคนนั้น ที่บอกว่า ฝนไม่ตกมาพักใหญ่แล้ว เพิ่งจะตกก็วันนี้แหละ เลยพาลไปถึงสายการบินที่เลื่อนไฟล์ทของพวกฉัน ทำแผนขึ้นปีนังฮิลล์ต้องขยับมาในวันฝนตก !!

หลังจากพยายามเพ่งส่องวิวทะลุผ่านหมอก แต่ศักยภาพของสายตาก็หาเทียบเรดาร์ได้ พวกเราจึงเปลี่ยนไปส่องแผนที่ของ “ปีนังฮิลล์” ปรากฎว่าบนนี้ มีสถานที่ให้ท่องเที่ยวอีกมากมาย ไม่ใช่แค่ที่ชมวิวชิลๆ อย่างที่เราเข้าใจกัน
ลกลก ลวกจิ้มกันตามใจ
ที่ “ปีนังฮิลล์” เราสามารถเดินทางจากจุดจอดรถรางไปได้อีกไกลโข มีมัสยิด ศาสนสถานของฮินดู รวมถึงภัตตาคาร ร้านรวง หรือถ้าจะค้างคืนก็มีที่พักหลายแห่งให้เลือก และยังมี “คาโนปีวอล์ก” (Canopy Walk) ทางเดินสะพานตาข่ายแขวน 1 ใน 3 เส้นของมาเลย์ก็อยู่บนนี้ด้วย

พวกเรานึกว่าเป็นเนินเขาเล็กๆ จึงไม่ได้เตรียมตัวมาผจญภัยใดๆ บนฮิลล์แห่งนี้เลย และเมื่อวิวที่คาดว่าจะงามก็อดชมไปแล้ว สภาพอากาศเย็นและหมอกหนักแบบนี้ คงไม่มีกิจกรรมอะไรฆ่าเวลาได้ดีไปกว่าการ “กิน” เพื่อเป็นรางวัลปลอบใจ

“ไอซ์กระจัง” หรือ “เอบีซี” ขนมน้ำแข็งไสของผู้คนแถบนี้ กลายเป็นของคลายหนาวของพวกเรา (เพราะมีเรียงรายขายกันทุกเจ้า) อนุมานว่าปกติอากาศยามเที่ยงบนนี้คงร้อนพอควร ส่วนพวกเราโชคดีที่มาเจออากาศแบบเย็นยะเยือกลมฝน เลยกินเอบีซีแก้หนาวกันไปซะเลย
โรจาค ของหวานฉ่ำใจ
พอจะคลายผิดหวังจากปีนังฮิลล์ได้แล้ว เราก็นั่งรถเมล์ยาวกลับเข้าสู่ใจกลางเมือง มื้อค่ำวันนี้ เราเลือกศูนย์อาหารกลางคืน “เรดการ์เดน” เยื้องกับที่พัก ซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นแบบจีนฮกเกี้ยนและเสฉวน เป็นพวกเส้นก๋วยเตี๋ยวผัดต่างๆ ที่หาพบได้ทั่วไปในปีนัง เช่น “ฮกเกี้ยนหมี่” (ผัดหมี่ฮกเกี้ยน) “ชาก๋วยเตี๋ยว” (ผัดซีอิ้ว) และ ข้าวมันไก่ (แบบสิงคโปร์) เป็นต้น

แต่พวกเรามีมติเป็นเอกฉันท์กับ “ลกลก” (Lok Lok) จิ้มจุ่มในรูปแบบปีนัง ที่หน้าร้านตั้งอาหารสดสียบไม้มากมายทั้ง กุ้ง ไก่ ปลาหมึก ผัก ลูกชิ้นต่างๆ อยากกินไม้ไหนก็บริการตัวเอง จับจุ่มลงในหม้อน้ำเดือดที่วางอยู่แถวหน้าสุดของแผง พร้อมเลือกน้ำจิ้มตักราดเอาเอง สนนราคาก็คิดตามสีที่แต้มไว้ที่ปลายไม้ (ประมาณไม้ละ 0.20 – 2 ริงกิต ตามวัตถุดิบ)
ที่ คูกงสี จัดแสดงภาพจำลองของตึกสุดอลังการในยามกลางคืน
จริงๆ แล้ว “ลกลก” ที่ศูนย์อาหารนี้ไม่ใช่ของใหม่สำหรับพวกเรา ในคืนแรกพวกเราก็ได้พบรถเข็น “ลกลก” ที่ตลาดนัดข้างทาง ทุกคนสุดจะตื่นตากับไอเดียในการขาย เห็นผู้คนทั้งชาวปีนังและฝรั่งยืนล้อมลวกจิ้มกันใหญ่ ส่วนพวกเราบันทึกภาพกันไปหลายช็อต แล้วก็ตกลงกันว่าจะซื้อคนละไม้พอเป็นพิธี แต่พอรู้ตัวอีกที ก็ปักหลักอยู่หน้าหม้อต้ม หมดกันไปหลายไม้เลยทีเดียว

จะว่าไป เมนู “ลกลก” นี้ไม่ได้อร่อยมากนัก เพราะน้ำจิ้มออกรสจืดๆ สไตล์จีน (ถ้าทำน้ำจิ้มทะเลได้แบบบ้านเราคงเด็ดดวง) แต่ที่โดดเด่นจนติดใจคณะทัวร์คือ “ความสนุก” เพราะเราได้หยิบ ได้จุ่ม ได้ปรุงวัตถุดิบเอง จะสุกมาก สุกน้อยก็ตามสะดวก แต่ตอนจุ่มก็จำให้ดี อย่าเผลอไปหยิบไม้คนอื่นเข้าล่ะ !!

ระหว่างที่บางคนกำลังพัลวันกับ “ลกลก” สายตาฉันก็ปะทะเข้ากับ “โรจาค” (Rojak) ของหวานที่ขอขึ้นป้าย 5 ดาว มาปีนัง-มาเลย์ไม่แนะนำให้พลาดด้วยประการทั้งปวง ผลไม้สดๆ ราดด้วยน้ำจิ้มคล้ายน้ำปลาหวานบ้านเรา ลิ้มเข้าไปคำแรกชุ่มลิ้น รู้สึกฉ่ำแอปเปิล สัปปะรด กรอบๆ เย็นๆ แทรกด้วยน้ำตาลเคี่ยวข้นไม่หวานนัก อร่อยประทับใจ พอจะทำให้ลืมความโหดร้ายของเมฆหมอกบนปีนังฮิลล์ไปสนิท
ที่ทำการเมืองมรดกโลก จอร์จทาวน์
พวกฉันเหลือเวลาแค่ครึ่งเช้าในวันสุดท้าย จึงได้ตระเวนเที่ยวใกล้ๆ ในระยะเดินกำลังเมื่อย เตร็ดเตร่ไปย่านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของชาวชุมชนดั้งเดิม โดยเริ่มที่ “ไชน่าทาวน์ บนถนนแคมเบล” ซึ่งมีตลาดตอนเช้าวางแผงขายของสดอยู่ที่กลางย่าน และพวกฉันก็เริ่มมื้อแรกด้วยติ่มซำแถวนั้น

แถวไชน่าทาวน์แห่งนี้ มีอาคารสีสันสวยงามมากมาย รวมถึงร้านค้า ร้านอาหารที่ยังจัดในรูปแบบดั้งเดิม เพียงแต่แต่งเติมสีให้คงดูสวยสด บริเวณนี้จนเลยไปถึงถนนอาร์เมเนียน และ อาเจะห์ มีบ้านเศรษฐีจีนให้เห็นเป็นระยะ บางบ้านเปิดให้เราเข้าชม ซึ่งที่น่าสนใจ และใหญ่มากก็คือ “คูกงสี”
หนึ่งในบ้านสีสวยย่านไชน่าทาวน์
บ้านตระกูล “คู” นี้ใหญ่โตโอฬาร อารณาบริเวณเหมือนหมู่บ้านน้อยๆ มีโรงงิ้วอยู่กันกงสี ส่วนบ้านหลังหลักตกแต่งด้วยไม้สลักลวดลายวิจิตร โดยเฉพาะตามเชิงชายและคาน เดินแหงนดูกันจนเมื่อยคอ และมีการจัดแสดงเครื่องใช้ ความเป็นมาของตระกูล พร้อมให้พวกเราจำลองบรรยากาศโรงงิ้วในในบ้าน เข้าไปชมแล้วรู้สึก “คูล” กับการนำเสนอของตระกูล “คู”

จากบ้านเศรษฐี พวกฉันก็เดินย้อนมาดูบ้านผู้คนที่ทำมาหากินบนถนนสจ๊วตต่อไปถึงมุนตรี ย่านนี้มีนักท่องเที่ยวมากมาย ที่แถบนี้เป็นห้องแถวเล็กๆ 2-3 ชั้นสร้างติดกัน แต่ละบ้านมีกิจการที่สืบทอดกันมา ไม่ว่าจะเป็น ทำธูป ทำทอง ทำกาแฟ หรือช่างไม้แกะสลัก บ้านต่างๆ ก็ล้วนจัดแต่งให้โดดเด่นและสีสันสวยงาม บางบ้านเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บเงินบ้างเล็กน้อย
แถบอาคารเก่าบนถนนมุนตรี
ฉันว่าความพยายามส่งต่อและสืบสานกิจการของบรรพบุรุษ และคงความดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างยิ่ง แล้วใครจะเชื่อว่าในวันข้างหน้า “มรดกที่ยังมีชีวิต” เหล่านี้จะเพิ่มมูลค่า จากการสร้างคุณค่าในตัวมันเอง

หลังเดินชื่นชมตึกอาคาร บ้านสีสันต่างๆ จนเต็มที่ พวกเรากลับมาเช็คเอาต์ พักเหนื่อย รอรถมารับไปหาดใหญ่ โดยมีคุณเหลนท่านพระยาภูมินารถภักดี เจ้าของบ้านคอยติดตามดูแล และท่านกล่าวอำลาเราด้วยการเปิดพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ที่บันทึกร่องรอยของอดีตเจ้าเมืองสตูล ทั้งภาพและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ พร้อมเล่าเรื่องราวสาวความกันมาจนถึงปัจจุบัน ถึงมันจะเป็นห้องน้อยๆ แต่เรื่องราวที่อยู่ด้านในนั้นใหญ่โตเหลือเกิน
มัสยิดกัปตันเคลิง ศาสนาสถานขนาดใหญ่กลางจอร์จทาวน์
มีคนบอกว่าฉันว่า มาปีนัง แค่ตระเวนดูบ้านดูเมืองสีสันสวยงามในจอร์จทาวน์ ก็เพลิดเพลินเพียงพอแล้ว แต่ในฐานะ “มรดกโลก” คำการีนตีก็ได้บอกอะไรไว้มากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องราวข้าวของที่คนรุ่นหลังเก็บไว้อย่างตั้งใจ เท่ากับการแสดงให้เห็นว่า ลูกหลานบ้านนี้เมืองนี้ได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่บรรพบุรุษเพียรพยายามสร้างไว้.
กำลังโหลดความคิดเห็น