xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย แหล่งรวมของดีที่น่าเสียดาย /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
อาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย
ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา(โคราช) เป็นปราสาทขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือหยุดพิเศษ มีคนไปเที่ยวกันเยอะเอาการ ผิดกับที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย”ที่อยู่ใกล้ๆกัน แต่ว่ากลับถูกหมางเมินไม่ค่อยมีคนสนใจ ทั้งๆที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือแหล่งรวมโบราณวัตถุชั้นเยี่ยมในระดับต้นๆของเมืองไทย โดยเฉพาะโบราณวัตถุในยุคขอมโบราณ ที่นี่ถือว่าสุดยอดชนิดหาตัวจับยากทีเดียว

น่าเสียดาย 1

มีกูรูหลายคนแนะนำผมมานานแล้วว่า เวลาไปเที่ยวปราสาทหินพิมาย ก่อนไปเที่ยวชมตัวปราสาทควรเข้าไปหาความรู้ที่พิพิธภัณฑ์ฯพิมายก่อน ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจในอารยธรรมขอมให้แจ่มกระจ่างมากขึ้น
ตู้จัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่
เรื่องนี้จริงดังว่า เพราะเมื่อมาที่พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย นอกจากผมจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอีสานและเรื่องราวอารยธรรมขอมโบราณแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ชมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมในระดับมาสเตอร์พีซมากมาย ชนิดที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อยเลย

โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนหลักๆด้วยกันในพื้นที่อาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น

ส่วนแรกชั้นบน จัดแสดงเรื่องราวพัฒนาการของสังคม อารยธรรม ในดินแดนอีสานตอนล่าง ทั้งด้านประวัติศาสตร์ คติความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม โดยเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์นำส่งโยงเข้ามาจนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อปูพื้นให้เห็นถึงรอยอารยธรรมอีสานใต้ได้เป็นอย่างดี
พระพุทธรูปในพุทธลักษณะต่างๆ
ส่วนนี้มีโบราณวัตถุชวนชม อาทิ หลุมฝังศพจำลองพร้อมด้วยโครงกระดูกที่ขุดพบที่บ้านปราสาท เครื่องปั้นดินเผาในยุคและรูปแบบต่างๆ ร่วมถึงศิลปวัตถุมรสมัยทวารวดีที่มีทั้ง ลูกปัดโบราณชนิดเปลือกหอย-หิน-แก้ว พระพุทธรูปในพุทธลักษณะต่างๆ

จากนั้นลงมาในส่วนที่สอง ชั้นล่าง ส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวอารยธรรมขอม(ทางพิพิธภัณฑ์ใช้ว่าอารยธรรมเขมร)ในอีสาน ซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแพร่ในอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 มีโบราณวัตถุให้ชมกันเพียบ ไม่ว่าจะเป็นเทวรูป รูปเคารพจำหลักหิน ศิวลึงค์ ฐานโยนี ฯลฯ
ทับหลังพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม
ถัดไปเป็นส่วนที่สาม ในส่วนของอาคารโถง สิ่งของจัดแสดงที่นี่สวนใหญ่เป็นศิลปวัตถุในยุคขอมโบราณที่ถือว่าสุดยอดมากๆ มีทั้งส่วนประกอบสถาปัตยกรรม หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน บัวยอดปราสาท เทวรูป และทับหลังอีกมากมายหลายแผ่นที่ถือว่าเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซทั้งนั้น

ทับหลังเหล่านี้แบ่งเป็นยุคสมัยต่างๆ มีทั้งแบบในยุคแรกที่เป็นผลงานหยาบๆก่อนพัฒนาฝีมือการสลักและเรื่องราวเรื่อยๆมา ซึ่งทับหลังที่เด่นๆก็มี ทับหลังพุทธประวัติตอนมารผจญหนึ่งเดียวในเมืองไทย ทับหลังการกวนเกษียณสมุทร ทับหลังพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และทับหลังทรงคุณค่าชวนศึกษาอีกเพียบ ใครที่ชื่นชอบภาพศิลปะบนทับหลัง ผมว่ามาที่นี้น่าจะอิ่มกับทับหลังไปนานทีเดียว
บรรยากาศในห้องโถงพิพิธภัณฑ์
นอกจากทับหลังแล้วในส่วนนี้(กลางห้องโถง)ยังมีประติมากรรมหิน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ประทับนั่งแขนขาด 2 ข้าง มีอายุประมาณ พ.ศ. 1720-1780 นับเป็นประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของจริงที่ปัจจุบันพบเพียง 3 แห่งในโลกเท่านั้น

โอ้โห!?! พิพิธภัณฑ์ฯพิมาย มากมายไปด้วยของดีขนาดนี้ แต่น่าแปลกที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯพิมายคนหนึ่งแอบมาตัดพ้อให้ผมฟังในอารมณ์กึ่งๆน้อยใจไม่ได้ว่า ที่นี่จำนวนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯกลับมีปริมาณน้อยเทียบไม่ได้กับผู้มาเที่ยวชมปราสาทหินพิมาย แถมบางคนไม่รู้จักพิพิธภัณฑ์พิมายด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ผมฟังแล้วก็ได้แต่หัวร่อมิได้ร่ำไห้มิออก พร้อมกับรู้สึกเสียดายแบบปลงๆที่ระบบการศึกษาของเมืองไทยไม่ค่อยสอนหรือมุ่งเน้นให้เข้าพิพิธภัณฑ์เพื่อทำการศึกษานอกห้องเรียนสักเท่าไหร่ นั่นจึงทำให้คนส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่มีค่านิยมในการเข้าพิพิธภัณฑ์ ไม่เหมือนกับการเข้าห้างสรรพสินค้าที่มีคนเข้า-ออกชนิดเจ้าของห้างรวยไม่รู้เบื่อ
ประติมากรรมหินพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพิพิธภัณฑ์ฯพิมาย
น่าเสียดาย 2

ผมเดินออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์มาด้วยความรู้สึกเห็นใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งพอพ้นออกมาก็เดินเลียบสระน้ำด้านหน้าไปทางซ้ายเพื่อชมกับโบราณวัตถุชุดใหญ่ในอาคารเก็บทับหลังที่เป็นอาคารเปิดโล่งมีหลังคาคุม

ที่นี่มีการจัดแสดงชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมอย่างกลีบขนุน ยอดปราสาทขนาดเล็ก และทับหลังชิ้นเยี่ยมอีกมากมาย(มากกว่าในอาคารจัดแสดงเสียอีก) หลายชิ้นจัดเป็นงานชั้นเยี่ยมฝีมือเอกอุ ดูสวยงามด้วยวเรื่องราวและน่าสนใจด้วยเรื่องราวในกรอบทับหลังที่มีทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธ แต่น่าเสียดายที่การจัดแสดงดูอานาถาไปหน่อย
ทับหลังในอาคารเก็บทับหลัง
ระหว่างที่ดูทับหลังอยู่เพลินๆ นักท่องเที่ยวมีอายุคนหนึ่งที่เดินเลียบเคียงมาดูโบราณวัตถุก่อนหน้าผมเปรยมาเบาว่าๆ น่าเสียดายนะที่ของดีๆแบบนี้ไม่ถูกนำไปจัดแสดงแบบอลังการสมศักดิ์ศรี สงสัยทางพิพิธภัณฑ์คงไม่มีงบทำต่อ

เรื่องนี้มันทำให้ผมรู้สึกเห็นใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกครั้ง ซึ่งแม้เขาจะการันตีว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงได้ถูกต้องตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑ์ได้มาตรฐานสากล แต่จากที่เห็นรูปแบบการจัดแสดงทั้งในอาคารและนอกอาคาร มันยังคงเป็นไปในรูปแบบพิพิธภัณฑ์แบบเก่าที่เน้นการเก็บโบราณวัตถุมากกว่าการสื่อความหมายเพื่อการเรียนรู้ แม้เจ้าหน้าที่จะมีความสามารถในการอธิบายได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เมื่อการจัดแสดงไม่ดึงดูด นั่นก็ทำให้พิพิธภัณฑ์ฯพิมายดูกระด้างและจืดไปถนัดตา

อย่างไรก็ตามกับสภาพพิพิธภัณฑ์รัฐแบบนี้ผมไม่แปลกใจหรอก เพราะจะว่าไปพิพิธภัณฑ์พิมายถือว่าดีกว่าพิพิธภัณฑ์อีกมากมายทั่วฟ้าเมืองไทยที่ขาดแคลนงบประมาณในการจัดแสดงและการผลิตบุคลากร แต่กระนั้นผมก็ยังแอบหวังเล็กๆว่าสักวันหนึ่งพิพิธภัณฑ์พิมายจะได้รับงบมาเพื่อปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยมีความมีชีวิตชีวา โดยการนำเทคโนโลยีการจัดพิพิธภัณฑ์ นำมัลดิมีเดียและสื่อสมัยใหม่มาจัดแสดง ให้สมกับของดีที่มีอยู่มากมาย เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนอันทรงคุณค่า ไม่ต่างจาก หอฝิ่น(เชียงราย) พิพิธภัณฑ์สิริธรหรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์(กาฬสินธุ์) หรือ มิวเซียมสยาม(กรุงเทพฯ) ซึ่งกับเรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่า เพราะเท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นภาครัฐ นักการเมือง ให้ความสนใจกับแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เรียกว่า“พิพิธภัณฑ์”เลย

ก็อย่างว่าแหละ โครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์หรือสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้มันใช้หาเสียงไม่ได้ เมื่อเป็นอีหรอบนี้แล้วนักการเมืองคนไหนจะสนใจ!?!
*****************************************

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ตั้งอยู่ที่ ถ. ท่าสงกรานต์ เชิงสะพานท่าสงกรานต์ ริมฝั่งแม่น้ำมูล ต. ในเมือง อ. พิมาย ห่างจากปราสาทหินพิมายประมาณ 300 เมตร เปิดทุกวัน เวลา 9.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท โทร. 0-4447-1167
กำลังโหลดความคิดเห็น