xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองไทย ...ใกล้ตาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากต้องการชมผลงานศิลปะ ภาพวาด ภาพเขียน หรือผลงานศิลป์แขนงอื่นๆ สถานที่แรกๆ ที่ทุกคนคิดถึงคงหนีไม่พ้นแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์งานศิลป์ที่มีอยู่ทั่วฟ้าเมืองไทย

แต่ด้วยเสน่ห์อันนิ่งเงียบ ทำให้สถานที่เหล่านั้นเงียบเหงา เก่าแก่ ขาดการบำรุงรักษา และต้องยอมจำนนต่ออิทธิพลความตื่นเต้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ดึงดูดทุกคนเข้าหา


ทำให้ทุกวันนี้พิพิธภันฑ์กลายเป็นเพียงสถานที่ ที่มีเพียงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาถูกจัดตารางทัศนศึกษาไปเยี่ยมชม หรือส่วนหนึ่งคือความรักความชื่นชอบในงานศิลปะดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่เจือจาง

คุณชุมพล อักพันธานนท์ หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดตั้งและดูแลแกลเลอรี “บ้านศิลปิน คลองบางหลวง” แกลเลอรีไม้ริมน้ำย่านเพชรเกษมมองว่าเรื่องของศิลปะในไทย ไม่ได้มีการปลูกฝังคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้เป็นวิชาบังคับจริงจัง ทำให้เด็กสมัยนี้เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างคอมพิวเตอร์ทำให้สมาธิสั้น กลับกันศิลปะจะช่วยในการฝึกสมาธิสามารถใช้เวลาอยู่กับงานศิลปะได้นาน ถึงแม้ศิลปะช่วยบำบัดได้จริงแต่สังคมกลับละเลย

“หลายคนถามว่า ทำไมไม่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ มันน่ากลัวจะตายพิพิธภัณฑ์ เหมือนเป็นยันต์กันนักท่องเที่ยวคนไม่ได้อยากเข้า จะไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ไม่มีใครอยากเข้าพิพิธภัณฑ์ เพราะอะไรที่เป็นแบบแผน หรือสิ่งที่มันไม่ได้อยู่ในชีวิตจริงมันก็ไม่มีเสน่ห์อะไรมาดึงดูด”

เขายังคิดว่าบางอย่างเกิดจากเพียงว่าคิดจะสร้างโดยไม่คิดถึงการใช้งานจริง อย่างห้องน้ำทางหลวงที่ไม่มีใครคิดจะแวะเข้าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ซึ่งตามปั๊มน้ำมันก็มีอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของแกลเลอรีตอนนี้สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีที่สุดหรือสิ่งที่เป็นเสน่ห์หรือการทำให้วิถีชีวิตมีส่วนร่วมในศิลปะ เป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ไว้ให้เดินควบคู่กันไป ต้องมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ อะไรๆ ก็คงจะดีขึ้น

เสน่ห์ของศิลปะปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ว่านำการค้ามาเป็นหลักในการทำผลงาน แต่เกิดจากความชอบลึกๆ ภายใน เพราะฉะนั้นจะไม่มีคำว่าความนิยม แต่เป็นการสร้างความประทับใจต่อผลงานมากกว่า

“คนที่มาดูส่วนใหญ่จะเป็นคนที่แนะนำกันมาปากต่อปาก ทุกวันนี้คนมาท่องเที่ยวเขาอยากเห็นวิถีชีวิตไทยจริงๆ ต้องคิดให้ได้ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจดีและวิถีไม่เปลี่ยน อย่าเอาเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวมาเป็นประเด็นหลักต้องรู้ว่าทำอย่างไรแล้วไม่ขัดต่อชุมชน เราอยู่ได้ด้วย ชุมชนอยู่ได้ด้วย ”

แกลเลอรีจะอยู่ได้นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อมที่เป็นเสน่ห์ของบรรยากาศแล้วยังขึ้นอยู่กับผลงานด้วย เรื่องของราคาก็ต้องพอเหมาะพอควร เพราะราคามันอยู่ที่ใจ ตั้งในราคาที่คนไทยก็สามารถซื้อได้ เอาตามความเป็นจริงงานก็ขายได้ตลอด

งานศิลปะนั้นสามารถแทรกซึมอยู่ได้ในทุกส่วน ไม่จำเป็นต้องเป็นการวาดรูปเสมอไป อาจเป็นเพียงการได้เห็นสิ่งงดงาม พาเด็กๆ เหล่านั้นมาดู รู้จัก และซึมซับวิถีชีวิต แล้วจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าอะไรสวยหรือไม่สวย อะไรคือศิลปะและความงดงามที่แท้จริง

บ้านศิลปินมีแต่สิ่งที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย กับความเจริญจากยุคธนบุรีในอดีต เป็นชุมชนดั้งเดิมที่น่าอนุรักษ์ไว้ ปัญหาเรื่องบรรยากาศแถวนี้คือเรือท่องเที่ยวที่เป็นเรือหางยาวขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำคลองบางหลวง ซึ่งนำเครื่องรถบรรทุกมาใช้ นอกจากจะเสียงดังแล้วยังทำให้ชาวบ้านหรือคนที่แวะเวียนมาสูดมลพิษไปไม่รู้ตัว รวมทั้งคลื่นน้ำจากการที่เรือแล่นเร็วก็สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนริมน้ำด้วย

ความคิดเหล่านี้ส่งผลต่อผลงานของเขาเช่นกัน โดยส่วนตัวคุณชุมพลเองก็มีทั้งผลงานภาพเขียนสีน้ำมัน โปสการ์ดภาพถ่าย แต่หลักๆ ที่มีการจัดแสดงและจำหน่ายอยู่มากคือภาพพิมพ์จากการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลขนาดพกพา โดยทำการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์และหมึกเฉพาะแบบกันน้ำลงบนผืนผ้าใบสีขาว

ด้วยความรักในวิถีชีวิตและหัวใจอนุรักษ์ทำให้ผลงานของคุณชุมพลส่วนใหญ่ จะเน้นไปในแนววิถีชีวิต ซึ่งเขามีความเชื่อว่า การถ่ายภาพเก็บไว้ ณ เวลานี้ สามารถสื่อและแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ แล้ววันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่เคยถ่ายไว้ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงหรืออาจไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้วก็เป็นได้

“ผลงานที่จัดแสดงส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของคนที่แวะเวียนมาที่นี่ หรือกลุ่มเพื่อนกลุ่มน้องๆ ที่มาทำงานศิลปะแถวนี้แล้วก็เอาผลงานมาติดไว้ฝากขาย ทุกวันอาทิตย์ก็มีกลุ่มอาจารย์จากศิลปากรมาเปิดสอนจิวเวลรี่เครื่องเงิน ซึ่งก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น”

'บ้านศิลปิน' อาจคงอยู่ได้จากกลุ่มผู้รักในศิลปะด้วยเสน่ห์กลิ่นอายวิถีชีวิตเก่าแก่หายากในเมืองกรุง แต่แกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์อื่นๆ จะอยู่ได้ด้วยเสน่ห์อะไร หรือจะอยู่ได้หรือไม่นั้น คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


“การทำสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดคือสเน่ห์ที่จะดึงผู้คนกลับมาสู่ศิลปะ”

ภาพโดย... ธนารักษ์ คุณทน



กำลังโหลดความคิดเห็น