ใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แผ่ปกไพศาลเหนือปวงชนชาวไทย มีหลากหลายโครงการที่ริเริ่มก่อเกิดจากพระราชประสงค์ของพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ทรงครองราชย์ทรงกระทำทุวิถีทางให้คนไทยอยู่ดีมีสุข "โครงการหลวง" เป็นหนึ่งในสิ่งดี ๆ ที่พ่อหลวงของชาวไทย ได้ริเริ่มไว้ให้แก่ราษฎรของพระองค์
กำเนิดโครงการหลวง
โครงการหลวงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2512 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขา จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะให้ชาวเขา เลิกปลูกฝิ่นก็ต้องหาพืชอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่าและมีความเหมาะสมที่จะปลูกในที่สูง มาให้ชาวเขาปลูกทดแทนเป็นรายได้เสียก่อน จึงจะสามารถเลิกปลูกฝิ่นได้
ในเบื้องต้น ทรงมอบให้ ม.จ. ภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระราชประสงค์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เป็นโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาโครงการหลวงภาคเหนือ โครงการหลวง และท้ายที่สุดได้ จดทะเบียนเป็น มูลนิธิโครงการหลวง ในปี พ.ศ.2535
โดยได้เลือก บริเวณดอยอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการฯ และได้รับ พระราชทานชื่อในเวลาต่อมา ว่าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานที่ซึ่งที่ถือได้ว่าเป็นโครงการเกษตรหลวงแห่งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้แก่ชาวไทยและชาวไทยภูเขา ให้เป็นโครงการเกษตรเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นในอดีต
เรื่องเล่า...โครงการหลวง
จุดเริ่มแห่งความภาคภูมิใจกับโครงการหลวง คงจะไม่มีผู้ใดตราตรึงเท่ารุ่นบุกเบิก ที่ฝ่าฟันความเหนื่อยยากมากว่า 40 ปี
ม.จ.ภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ตรัสให้ฟังว่า แต่เดิมชาวเขารู้จักแต่ปลูกฝิ่น เพราะรู้เพียงว่าฝิ่นเป็นพืชที่ทำรายได้เพียงอย่างเดียว ครั้งแรกที่มาอ่างขางคือนั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมา แต่เฮลิคอปเตอร์กลับก่อน ส่วนท่านชายอยู่ต่ออีกหลายวัน
"ตั้งแต่แรกเริ่มการทำงานสำหรับคนโครงการหลวงไม่มีคำว่าท้อ สมัยนั้นเราเอา ฮ.สำรวจ ยังไม่มีถนน ขากลับเราก็เดินลงเขา อยู่กับชาวเขาจนสนิท ที่มีวันนี้ได้เพราะในหลวงรับสั่งให้หาพืชเมืองหนาวมาปลูก เพราะพืชเมืองหนาวเอาลงไปขายในเมืองที่เป็นเขตร้อนอย่างบ้านเราคงรายได้ดี เคยมีคนดูถูกว่าอ่างขางไม่มีอะไรเลย มีแต่ต้นไม้ตายๆ เจ็บใจมาก ดอกไม้ ผลไม้ เมืองหนาวอะไรที่ปลูกได้จึงเอามาปลูกหมด ตอนนี้จึงกลายเป็นที่ดูงานของหลายๆประเทศ อย่าง ภูฏาน อัฟกานิสถาน โคลัมเบีย"องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงตรัสถึงเรื่องราวอีกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวง
และแม้โครงการหลวงจะพิสูจน์ตัวเองมายาวนานกว่า 40 ปี แล้วก็ตาม แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ ม.จ.ภีศเดช ตรัสว่าจะหยุดยั้งไม่ได้คือ เรื่องของการวิจัยพืชพันธุ์ต่างๆ ไม่เช่นนั้นโครงการหลวงจะเป็นเช่นคำจำกัดความที่ว่า "โครงการหลวง ดี สนุก" ไม่ได้เลย
คงเพราะโครงการหลวงมีแต่เรื่อง ดี สนุก จึงทำให้คนกรุงเทพฯ อย่าง เรียม สิงห์ทร ต้องกลายไปเป็นครูคนแรกของโรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนชาวเขาบนดอยอ่างขาง
ครูเรียมเล่าถึงความเป็นมาที่ผูกพันกับโครงการหลวงว่า เธอเป็นคนกรุงเทพฯ ครั้งแรกที่มาดอยอ่างขางคือมาที่ยวที่บ้านขอบด้ง ขณะนั้นสอนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติสุขุมวิท ซอย 2 แต่เพราะเห็นความเป็นอยู่บนดอยจึงต้องการมาเป็นครูดอย จึงเขียนจดหมายมาสมัครงานอยากมาสอนที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ไม่นาน มีโทรเลขให้ไปถึงให้มารายงานตัว
“มาสอนได้สองอาทิตย์เด็กๆไม่มาเข้าเรียน เพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ตอนนั้นรู้สึกทั้งเงียบ ทั้งเหงา รู้สึกว่า ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยว ต้องจนมองไปรอบๆ ห้อง พบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ จึงคิดได้ว่าพระองค์ยังทรงเหนื่อยยากทั้งที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วข้าแผ่นดินอย่างเราจะท้อได้อย่างไร วันรุ่งขึ้นจึงขน ขนม ดินสอ กระดาษ สี ไปตามเด็กๆมาเรียนกันในท้องนา เด็กนักเรียนอยู่ที่ไหนครูก็ต้องอยู่ที่นั่น ใช้เวลาหลายเดือนกว่าเด็กจะยอมเข้าห้องเรียน” จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 20 กว่าปีแล้ว ที่ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยลงจากดอยอ่างขางเลย
อีกหนึ่งวันที่ครูเรียมภาคภูมิใจคือ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2535 เป็นวันที่ในหลวงและพระราชินี เสด็จทางฮ. มาโครงการหลวงอ่างขาง มีพระดำรัสถามเมื่อเห็นแปลงดอกคาร์เนชั่น ของเด็กนักเรียน และพระราชทานเงินให้ 3,000 บาท จึงมาทำเรือนดอกไม้ พร้อมกับมีพระราชดำรัสกับครูเรียมว่า "ครู ...ตัวเราอยู่ไกล ฝากดูแลเด็กๆด้วยนะ"ถ้อยพระราชดำรัสนี้ จึงทำให้ครูเรียมไม่เสียใจสักนิดที่หันหลังให้แสงสีเมืองกรุง
ความสมบูรณ์ของโครงการหลวงคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีชาวเขา จะหมอ ฐิติพงศ์พนา แห่งหมู่บ้านขอบด้ง บนดอยอ่างขาง โครงการหลวงแห่งแรกของไทย จะหมอ เป็นหมอผีของชาวมูเซอดำ เขาและพี่ชาย คือ จะหลู และ จะแนะ เคยเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินมาอ่างขาง
ปัจจุบัน จะหมอ อายุ 82 ปี แต่ยังจดจำเรื่องราวในอดีตได้ดี จะหมอ เล่าให้ฟังว่า ในหลวงเสด็จมาแปลงเกษตรก่อนแวะพัก จะหมอก็กราบบังคมทูลชวนในหลวงมาแวะพักที่บ้านของเขา กระท่อมชาวดอยหลังเล็กๆ ในหลวงประทับและพูดคุยกับจะหมออยู่ราวครึ่งชั่วโมง
“จำได้ว่า ได้รินพระสุธารสชาถวาย พร้อมกับต้มไก่และหุงข้าวสวยถวายพระองค์ท่าน ในหลวงตรัสชมว่า ชาอร่อย ทุกวันนี้ยังคงคิดถึงในหลวงทุกวัน อยากให้เสด็จมาหากันอีก พอรู้ข่าวว่าทรงพระประชวร ก็ซื้อหัวหมูมาทำพิธีขอพรให้ในหลวงหายไวๆ”จะหมอ เล่า
ชาวเขาอีกหนึ่งคนที่ได้โครงการหลวงโอบอุ้ม คือ นาโม หัวหน้าหมู่บ้านนอแล นาโมเล่าย้อนไปว่า ตัวเขาได้หอบลูกหลานย้ายจากฝั่งพม่าเข้ามายังฝั่งไทย แรกๆก็อยู่กันแถบๆตะเข็บชายแดนยังไร้ที่ทำกิน วันหนึ่งรู้ข่าวว่าในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาอ่างขาง จึงเดินทางเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อมาขอเข้าเฝ้าฯและเมื่อได้เข้าเฝ้าฯเขาจึงได้กราบบังคมทูลขอในหลวงว่า จะขอเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยได้มั้ย
“ในหลวงก็ถามว่ามาจากไหน เป็นเผ่าไหน ก็กราบบังคมทูลไปว่าเป็นปะหล่อง อพยพมาจากพม่า จากนั้นก็มีพระราชดำรัสถามว่าแล้วจะเลือกอยู่ที่ไหน จึงกราบบังคมทูลไปว่าเลือกอ่างขาง ตอนนี้ก็ปักหลักกันที่หมู่บ้านนอแล ปลูกสตอเบอรี่ขาย อยู่กันอย่างสงบก็ด้วยพระบารมี”หัวหน้าหมู่บ้านนอแลกล่าว
สู่งาน 40 โครงการหลวง จ.เชียงใหม่
นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จจากการก่อตั้งโครงการหลวง ปัจจุบันความสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและองค์กรต่างๆภายในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาที่สูงในระดับภูมิภาคการพัฒนาตามต้นแบบของโครงการหลวงได้ขยายต่อไปยังประเทศต่างๆ เช่น ภูฏาน อัฟกานิสถาน โคลัมเบีย และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย
โครงการหลวง ดำเนินงานใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการ จำนวน 21 ศูนย์ และหมู่บ้านพัฒนาอีก 6 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการทั้งสิ้น 267 หมู่บ้าน
ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวงและ ดอยคำ
ชาวโครงการหลวงจึงพร้อมใจกันจัดงาน 40 ปีโครงการหลวงขึ้น ซึ่งงานในครั้งนี้ ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานการจัดงาน 40 ปีโครงการหลวง กล่าวว่า โครงการหลวงมีการพัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบันมีทั้งหมดทั้งสิ้น 38 แห่ง
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่สนับสนุนโครงการหลวงงาน ครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมผลงานของโครงการหลวงกว่า 40 ปี ที่ผ่านมา บนเส้นทางอันเชี่ยวกรำ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17- 20 ธ.ค. 2552 ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00น. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินทร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่จะถึงนี้
ภายในงานจะจะไฮไลท์สำคัญมากมายอาทิ นิทรรศการ 40 ปี โครงการหลวงต่อการพัฒนาที่สูง การจัดนิทรรศการและการแสดงวิถีชีวิตชุมชน ในภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร การจำหน่ายผลิตผล "ดี อร่อย" และผลิตภัณฑ์ตรา "โครงการหลวง" แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ให้รู้จัก การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากผลผลิตของโครงการหลวง.
อยากรู้ว่า โครงการหลวง ดีสนุก อย่างไร กว่า 40 ปี ที่ยืนหยัดมาต้องผ่านอะไรมาบ้าง งานครบรอบ 40 ปีครั้งนี้ เป็นคำตอบหนึ่งที่ไม่ควรพลาด.