xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวเมืองน้ำแร่ ล่องแพพลับพลึงธาร ลานตาภูเขาหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระราชวังรัตนรังสรรค์ที่สร้างจำลองขึ้น
มีไม่บ่อยนัก ที่ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางไปยังภาคใต้ แต่กลับไม่ได้สัมผัสกับทะเลแม้ซักนิด หรือแม้แต่จะเห็นก็ยังไม่ได้เห็น แต่กลับไม่รู้สึกเลยว่าขาดอรรถรสในการท่องเที่ยวไป

เพราะที่นี่คือ “เมืองระนอง” ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ คือมีฝนตกชุก รวมๆ แล้วจะเจอฝนอยู่แปดเดือน ได้เห็นแสงแดดแค่สี่เดือนในหนึ่งปี เราไม่ได้ไปสัมผัสน้ำทะเลกัน เพราะแค่แหล่งท่องเที่ยวบนบกในเมืองระนองก็มีมากมายจนไม่มีเวลาคิดถึงทะเลแล้ว
ภายในจัดจำลองเป็นห้องต่างๆ
สำหรับเส้นทางเที่ยวเมืองระนองของ “ตะลอนเที่ยว” นั้น เริ่มกันในตัวเมืองที่ "พระราชวังรัตนรังสรรค์" เป็นแห่งแรก พระราชวังแห่งนี้ถือเป็นพระราชวัง 1 ใน 6 แห่งที่สร้างขึ้นตามหัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระยารัตนเศรษฐี (คอ ซิม ก๊อง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้นเป็นผู้สร้างพระราชวังนี้ขึ้นเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 5 จะทรงเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเป็นครั้งแรก พระยารัตนเศรษฐีจึงได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอันอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งนอกจากจะได้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 แล้ว พระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์ คือรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกเช่นกัน
หอเก้าเกจิอาจารย์
พระราชวังแห่งนี้ต่อมาได้ทรุดโทรมลง จนได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่เป็นเรือนตึกก่ออิฐถือปูนสองชั้นเมื่อปี พ.ศ.2444 และต่อมาเมื่อตัวตึกทรุดโทรมลงอีกก็ได้มีการรื้อถอนพระราชวังออกไป พระราชวังแห่งนี้จึงเหลือไว้แต่ชื่อ ก่อนที่จะมีการสร้างพระราชวังจำลองขึ้นมาใหม่จากภาพถ่ายเก่าๆ โดยได้สร้างไว้บนเนินเขานิเวศน์คีรี ใกล้เคียงกับบริเวณเดิม และยังได้จัดจำลองบรรยากาศของพระราชวังแต่เดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 ห้องบรรทมของพระราชินีและพระราชโอรส พระราชธิดา ห้องทรงพระอักษร เป็นต้น

ใกล้ๆกับพระราชวังนั้นเป็นที่ตั้งของ “หอเก้าเกจิอาจารย์” หอพระที่ประดิษฐานรูปหล่อของ 9 เกจิอาจารย์ชื่อดัง ประกอบไปด้วยหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ หลวงพ่อบรรณ พุทธโร วัดอุปนันทาราม หลวงพ่อจันทร์ วัดจันทาราม พระครูอุดมคุณาจารย์ (รื่น คมภีโร) วัดสุวรรณคีรีวิหาร หลวงพ่อเบี้ยว อุปกิจโจ วัดธรรมวุธาราม หลวงพ่อติ๋ว สุวรรโณ หลวงพ่อน้อย วัดหาดส้มแป้น หลวงพ่อลอย วัดปากน้ำ และหลวงพ่อนุ้ย ใครที่ได้มากราบไหว้ก็ถือเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง
จวนเจ้าเมืองระนอง
ในเมืองระนองยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอย่าง “จวนเจ้าเมืองระนอง” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2420 ในสมัยของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอ ซู เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก ผู้สร้างคือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอ ซิม ก๊อง) บุตรชายคนที่ 2 ของท่านคอ ซู เจียง

จวนเจ้าเมืองและเรือนรับรองแต่เดิมเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้หลังแฝด 3 หลังเชื่อมต่อกันด้วยระเบียง ปัจจุบันสองหลังที่อยู่ด้านริมได้ผุพังไปเหลือเพียงเสาและพื้นหินไว้ให้เห็น ส่วนเรือนหลังกลางได้ปรับปรุงทำเป็นศาลบรรพบุรุษ มีป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ ภาพถ่ายเก่าๆของคนในตระกูล ณ ระนอง และสิ่งของเครื่องใช้ของเจ้าเมืองระนองคนแรกไว้ให้ชมกัน
ภายในมีป้ายวิญญาณและรูปถ่ายเก่าๆของต้นตระกูล ณ ระนอง
มาเที่ยวระนองทั้งที หากไม่ได้ไปแช่น้ำแร่ร้อนแล้วล่ะก็ ต้องถือว่ายังมาไม่ถึง เพราะที่เมืองระนองนี้เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองน้ำแร่ มีน้ำพุร้อนผุดขึ้นกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน บ่อน้ำร้อนพรรั้ง บ่อน้ำร้อนบ้านนา บ่อน้ำร้อนพรุหลุมพี บ่อน้ำร้อนหาดยาย ฯลฯ

มาคราวนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้ไปแช่น้ำร้อนถึงสองแห่ง คือที่บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน และบ่อน้ำร้อนพรรั้ง ที่มีบรรยากาศแตกต่างกัน สำหรับ “บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน” หรือ “บ่อน้ำร้อนวัดตโปทาราม” นั้นจะอยู่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด จึงเป็นแหล่งน้ำแร่ร้อนที่มีผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและชาวเมืองระนองมาเยี่ยมเยียนมากที่สุด
บ่อน้ำแร่ร้อนบ่อพ่อ ที่สวนสาธารณะรักษะวาริน
บ่อน้ำแร่ที่นี่ตั้งอยู่ในหุบเขา จัดสร้างเป็น “สวนสาธารณะรักษะวาริน” มีเป็นบ่อน้ำพุร้อนที่ไหลผ่านชั้นหินและแร่ธาตุ พุ่งขึ้นมาบนพื้นผิวดิน มีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส มีการสร้างบ่อน้ำร้อนครอบคลุมแหล่งน้ำพุนี้จำนวน 3 บ่อตั้งชื่อตามขนาดของบ่อ คือบ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูกสาว สำหรับสามบ่อนี้จะไม่สามารถลงไปแช่ได้ เพราะมีอุณหภูมิสูงเกินไป แต่จะสร้างเป็นบ่อให้นักท่องเที่ยวได้นั่งแช่เท้าในน้ำร้อนเพื่อผ่อนคลาย รวมทั้งมีบ่อเล็กๆ สำหรับต้มไข่กินกันได้ด้วย หรือหากใครอยากจะลงไปแช่น้ำแร่ทั้งตัว ทางสวนฯเขาก็จัดพื้นที่ไว้ให้ อยู่ห่างจากบ่อพ่อออกไปอีกประมาณ 200 เมตร แต่หากใครต้องการความเป็นส่วนตัวขึ้นมาอีก ก็มีบริการสปา ซึ่งก็มีทั้งการแช่น้ำแร่ในอ่างจากุซซี่ รวมไปถึงการนวดตัว นวดเท้า ก็มีให้ใช้บริการด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ "บ่อน้ำพุร้อนบ้านพรรั้ง" ก็เป็นบ่อน้ำแร่ที่มีความเป็นธรรมชาติเช่นกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว น้ำแร่ร้อนของที่นี่จะไหลซึมขึ้นมาตามรอยแตกของหิน และทางอุทยานก็ได้สร้างบ่อเก็บกักน้ำแร่ร้อนเอาไว้ อีกทั้งยังได้สร้างบ่อแช่น้ำแร่กลางแจ้งแบบเล็กๆ แต่น่ารักกลางธรรมชาติไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาลองแช่กันอีกด้วย โดยจะมีทั้งบ่อแช่ตัวและแช่เท้า โดยอุณหภูมิของน้ำแร่ร้อนที่นี่วัดได้โดยเฉลี่ย 55 องศาเซลเซียส
บ่อแช่น้ำแร่กลางแจ้งที่บ้านพรรั้ง
ออกนอกเมืองกันไปอีกนิด ไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นอันซีนไทยแลนด์อย่าง “ภูเขาหญ้า” เนินเขาเล็กๆ หลายลูกที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น มีเพียงต้นหญ้าปกคลุมไปทั่วบริเวณ เป็นเขาหัวโล้นตามธรรมชาติ ไม่ได้มีคนมาตัดต้นไม้แต่อย่างใด ดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ

ช่วงที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเยือนภูเขาหญ้านี้เป็นช่วงที่หญ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ยิ่งผสมกับแสงแดดยามเช้าแล้วก็เหมือนภูเขาหญ้ากลายเป็นสีทองอร่าม ยามลมพัดมาต้นหญ้าก็ปลิวไสวเป็นคลื่น น่าประทับใจ และคงจะเป็นสีทองอย่างนี้ไปจนถึงหน้าร้อน แต่หากใครอยากจะเห็นภูเขาหญ้าสีเขียวขจีก็ต้องมาในช่วงฤดูฝน ก็จะได้เห็นภูเขาหญ้าในอีกบรรยากาศหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้กัน และนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินขึ้นไปบนภูเขาหญ้าเพื่อชมทิวทัศน์ด้านบนได้ด้วย
ภูเขาหญ้าสีทองในแดดยามเช้า
และอีกหนึ่งโปรแกรมของเราในวันนี้ที่ถือเป็นไฮไลท์ในการมาท่องเที่ยวเมืองระนองในคราวนี้ก็คือ การได้มา “ล่องคลองนาคา ชมพลับพลึงธาร” ที่อำเภอสุขสำราญ ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองระนองประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ก็เข้าสู่พื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งถั่ว (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา) เพื่อเตรียมตัวลงแพล่องคลองกันที่จุดล่องแพที่ฝาย (เขื่อน) คลองนาคาใหญ่

ก่อนจะลงแพ “ตะลอนเที่ยว” ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับดอกพลับพลึงธารที่ทาง “ชมรมเพลินไพร ศรีนาคา” เขาได้จัดทำไว้ จึงได้รู้ว่า ดอกพลับพลึงธาร หรือที่เรียกว่าหญ้าช้องนั้นเป็นพืชน้ำที่พบเฉพาะในสายธารแห่งคลองนาคาและป่ารอยต่อระหว่างระนอง-พังงา แต่ว่าที่พังงานั้นพบบ้างประปรายเท่านั้น โดยจากการศึกษาข้อมูลพบว่าพลับพลึงธารในสกุลนี้มีขึ้นอย่างสมบูรณ์จำนวนมากพบเพียงแห่งเดียวในโลกที่คลองนาคาเท่านั้น
พลับพลึงธารที่ขึ้นอยู่เต็มคลองนาคา
ดอกพลับพลึงนี้เป็นไม้น้ำขยายพันธุ์ด้วยหัวจากใต้น้ำ และจะเจริญเติบโตเฉพาะในน้ำสะอาดที่ไหลเอื่อยๆ เท่านั้น และกว่าต้นพลับพลึงธารจะเติบโตและออกดอกก็ใช้เวลากว่า 9 เดือน และจะออกดอกบานในช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายเดือนธันวาคมเท่านั้น

พอรู้จักชื่อเสียงเรียงนามและที่มากันแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็เริ่มรอไม่ไหวที่จะไปชมตัวจริงของดอกพลับพลึงธารในคลองนาคาแห่งนี้ จึงรีบลงไปเตรียมพร้อมในแพไม้ไผ่ที่สามารถนั่งได้ 4-5 คน มีคนคอยถ่อแพทางหัวและท้ายแพที่ละคน ส่วนพวกเราผู้โดยสารก็มีหน้าที่ชมทิวทัศน์สองข้างทาง และเตรียมรอดูพลับพลึงธารกันอย่างใจจดจ่อ
ยลโฉมพลับพลึงธารกันใกล้ๆ
สำหรับคนที่กลัวน้ำ ขอบอกว่าการล่องแพนี้ไม่มีอันตราย เพราะสายน้ำไม่ไหลแรงนัก แม้คลองบางช่วงจะลึกจนสุดไม้ถ่อ แต่บางช่วงก็ตื้นจนมองเห็นพื้นดินเบื้องล่าง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะมีเสื้อชูชีพให้ทุกคนได้ใส่กันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงเรื่องอันตรายจากการจมน้ำ

ชมทิวทัศน์ริมคลองไปเพลินๆ ไม่นานเราก็ได้เห็นนางเอกของคลองนาคาชูดอกเริงร่าอยู่กลางคลองแล้ว ดอกสีขาวของพลับพลึงธารส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ บ้างก็ขึ้นเป็นช่อดอกเดี่ยวๆ บ้างก็ขึ้นเป็นกลุ่มหนาแน่นอยู่กลางคลอง หรือตามชายฝั่ง และสายน้ำที่ไหลรินนั้นก็ทำให้ใบของต้นพลับพลึงธารที่เป็นสายยาวสีเขียวสดไหลลู่อยู่ในสายน้ำดูคล้ายริบบิ้นสีเขียว เป็นความงามที่ส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดี
ล่องแพชมดอกพลับพลึงธาร
ได้ยินเสียงนายท้ายบอกว่าปีนี้ดอกพลับพลึงค่อนข้างน้อย ต่างกับปีอื่นๆ ที่จะขึ้นเต็มไปทั้งคลอง โดยสาเหตุที่ทำให้ดอกพลับพลึงมีน้อยก็เนื่องจากในช่วงหน้าน้ำมีกระแสน้ำแรง ทำให้พลับพลึงธารที่กำลังเติบโตหลุดไหลไปกับสายน้ำ รวมทั้งกระแสน้ำยังพัดเอาก้อนหินในคลองมาทับต้นพลับพลึงธารจนไม่สามารถเติบโตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เสน่ห์ของพลับพลึงธารก็ยังมีมากพอที่จะสะกดให้ทุกคนหลงใหลไปกับความงาม

และเชื่อว่านี่คงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้หลายๆคนมุ่งหน้ามาที่นี่ มาสัมผัสกับเสน่ห์ของพลับพลึงธาร และแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายของเมืองระนองแห่งนี้


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *

สอบถามรายละเอียดการล่องแพคลองนาคา ชมพลับพลึงธารได้ที่ ชมรมเพลินไพรศรีนาคา  สอบถามโทร.08-6120-9700 และสามารถสอบถามรายละเอียดหรือขอข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดระนองได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร โทร.0-7750-1831 ถึง 2, 0-7750-2775

กำลังโหลดความคิดเห็น