xs
xsm
sm
md
lg

แอ่ว“โครงการหลวงตีนตก” ยกใจให้กาแฟ เที่ยว“แม่กำปอง”บ้านเล็กในป่าใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำตกแม่กำปองมีน้ำไหลตลอดทั้งปี
ขึ้นเหนือทีไรเป็นต้องไปขึ้นดอยทุกที มันเป็นเหมือนของคู่กันเลยก็ว่าได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน “ตะลอนเที่ยว” นั่งรถโค้งไปคดมาค่อยไต่ระดับความสูงไปเรื่อยเพื่อมุ่งหน้าสู่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก”ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก” อาจฟังดูไม่คุ้นหูแต่ก็เป็นอีกศูนย์ฯ หนึ่งที่เกิดจากน้ำพระทัยและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ประมาณ 300,000 บาท สำหรับก่อสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก เพื่อเป็นแหล่งพัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และกาแฟให้เป็นอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง
บรรยากาศสายน้ำไหลเอื่อยๆ ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรมีรายได้เสริมนอกจากการปลูกเมี่ยง พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและคุณภาพชีวิตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนงานทดลอง สาธิต และวิจัย รวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยศูนย์ฯแห่งนี้ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 700-1,200 เมตร เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก หมู่1, บ้านแม่ลาย หมู่ 2, บ้านแม่กำปอง หมู่ 3 และบ้านธารทอง หมู่ 8 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา และที่ราบเชิงเขา

ด้วยสภาพพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกกาแฟ ทำให้กาแฟเจริญเติบโตได้ดี “กาแฟพันธุ์อราบิก้า” จึงเป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เกษตรกรชาวไทยภูเขา เพื่อปลูกทดแทนฝิ่นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งโครงการหลวง
ต้นกาแฟสีเขียวสด
ทางศูนย์ฯจึงสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูก “กาแฟพันธุ์อราบิก้า” ซึ่งเป็นกาแฟสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก โดยต้นกาแฟถูกจัดให้อยู่ในพืชมีดอก วงศ์ Rubiaceae ประเภทไม่ผลัดใบ ใบสีเขียวเข้มและมัน ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลกาแฟมีลักษณะรียาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร สีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแดง

เมล็ดกาแฟอราบิก้าจะมีรูปทรงค่อนข้างเรียวผอม รอยผ่าไส้กลางมีลักษณะคล้ายตัว S เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วกาแฟพันธุ์นี้จะมีกลิ่นหอมหวานอบอวล รสชาตินุ่มละมุน มีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 1.1-1.7 % ซึ่งถือว่าน้อยกว่าสายพันธุ์โรบัสต้าที่ปลูกทางภาคใต้ของไทยเรา

ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ พวกเราได้เห็นตั้งแต่ต้นกาแฟสีเขียวสด การคั่วเมล็ดกาแฟที่ส่งกลิ่นหอมเย้ายวนคอกาแฟ ไปจนถึงกาแฟที่ออกมาเป็นแก้วๆ ทั้งร้อนทั้งเย็นให้ได้ดื่มกินกันท่ามกลางบรรยากาศลำธารน้ำไหล และเหล่าแมกไม้ที่ให้ความร่มรื่นร่มเย็นทำให้รู้สึกมีความสุขอยากบอกไม่ถูกเลยทีเดียว
ฝักวานิลลาสดๆอวบๆ
นอกจากกาแฟแล้ว เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีไม้ก่อเป็นจำนวนมากเหมาะแก่การปลูกเห็ดหอม ที่ปลูกโดยการใช้ไม้ก่อและไม้เมเปิ้ล โดยจะฝั่งเชื้อเห็ดลงไปในไม้ที่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมในระดับอุณหภูมิความชื้นที่พอดีในโรงเรือน เห็ดที่ปลูกในรูปแบบนี้จะได้ผลดีกว่าเห็ดที่ปลูกเพาะเลี้ยงด้วยถุงเชื้อสำเร็จรูป

เมื่อ “ตะลอนเที่ยว” และชาวคณะได้รับชมรับฟังเรื่องราวของเห็ดหอมกันแล้ว ยังได้ลงมือเก็บเห็ดสดๆกันด้วย ซึ่งเห็ดที่พวกเราเก็บเหล่านี้จะกลายมาเป็นหลากหลายเมนูเห็ดหอมอร่อยๆ โอ้ว!!....เก็บเห็ดไปก็น้ำลายสอไป

แค่นั้นยังไม่พอ สิ่งที่ทำให้กระเพาะของ “ตะลอนเที่ยว” ร้องโอดครวญจนแทบจะทดไม่ไหว ก็คือ “โรงเรือนเห็ดหูหนูขาว” หรือ “White Jelly” เห็ดชนิดนี้ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีดอกบางสีขาวใส ลักษณะของดอกเห็นคล้ายวุ้น ดูอ่อนนุ่ม รูปร่างแตกต่างกันไป เช่น รูปร่างเหมือนกลีบดอกไม้ เหมือนใบหู เหมือนภาชนะ นั้นยิ่งเห็นน้ำลายพรางจะหยดติ๋งๆ
ดอกเห็ด White Jelly บางสีขาวใสคล้ายวุ้น ดูอ่อนนุ่ม
จากเจ้าเห็ด White Jelly เราไปยังโรงเรือนวานิลลา อันเป็นพืชเศรษฐกิจที่อนาคตไกล “วานิลลา” นี้เป็นไม้เลื้อยในตระกูลกล้วยไม้ ที่มักจะถูกนำมาใช้แต่งกลิ่นในอาหารจำพวกของหวานอยู่เป็นประจำ เช่น เค้ก ไอศกรีม ทำให้ขนมเหล่านี้หอมน่ากินยิ่งขึ้น หรือถ้าเอาฝักวานิลลามาคนในกาแฟร้อนซักนิดก็ทำให้กาแฟนุ่มกลมกล่อมขึ้นมาเชียวหล่ะ

เมื่อเหล่าคณะได้เพลิดเพลินกับบรรดาพืชผักต่างๆในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกแห่งนี้แล้ว ก็เดินทางไปต่อยัง “หมู่บ้านแม่กำปอง” ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 2-3 กิโลเมตร เพียงชั่วครูรถพาพวกเรามาจอดตรงหน้า “วัดคันธาพฤกษา” หรือที่เรียกกันว่า “วัดแม่กำปอง” นั้นเอง

วัดนี้ถือเป็นวัดเดียวในหมู่บ้านแม่กำปอง ที่สร้างมาในยุคเดียวกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชน ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมของภาคเหนือ โดยมีพระอุโบสถตั้งอยู่กลางน้ำ ส่วนวิหารหลังเก่าเป็นไม้ทั้งหลัง หน้าจั่วหลังคาวัดแกะสลักจากไม้สักเป็นลวดลายแบบล้านนา
เห็ดหอมต้นอวบๆที่เพาะกับไม้ก่อและไม้เมเปิ้ล
ที่ “ตะลอนเที่ยว” ติดใจก็คือ ที่หลังคาของวิหารหลังเก่ามีต้นมอสสีเขียวอ่อนขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด ดูราวกับหลังคาใส่เสื้อคลุมขนๆสีเขียวเลยก็ว่าได้ สวยงามมากเลยทีเดียว ใครที่มาเยือนยังวัดแม่กำปองนี้เป็นต้องแชะรูปเจ้าหลังคานี้ไม่มีพลาด ถือเป็นไฮไลท์ของวัดเลยก็ว่าได้

จากวัดแม่กำปอง พวกเราเดินเท้าขึ้นเนินไปไม่ไกลก็เจอะกับหมู่บ้านแม่กำปอง ซึ่งหลายๆคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงของหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วหมู่บ้านแม่กำปองได้รับรางวัลกินรีประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดีเด่น และหมู่บ้านที่ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย

และที่หมู่บ้านแม่กำปองยังมีกิจกรรมผจญภัยโหนสลิงที่ขึ้นชื่อนั้นก็คือ “Flight of the Gibbon” ซึ่งเป็นที่สนใจของทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะได้ตื่นเต้นผจญภัยท้าทายความกลัวของตนเอง โดยการโหนสลิงข้ามยอดไม้เหนือผืนป่าดิบชื้นที่สูงจนขาสั่น
ศาลาวิหารหลังเก่า วัดแม่กำปอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของการปลูกเมี่ยงซึ่งเป็นอาชีพดั่งเดิมของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นเมียงเป็นๆ การหมัก บ่อหมัก ซึ่งเราจะได้รู้เรื่องราวพร้อมๆกับการเดินชมหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากพวกเราจะเดินชมหมู่บ้านกันแล้ว ชาวคณะก็พากันเดินลัดเลาะไปตามทางดินหลังหมู่บ้าน ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจีผ่านลำน้ำสายเล็กๆ จนมาถึง “น้ำตกแม่กำปอง” ซึ่งจริงๆแล้วมีถนนเข้าถึงน้ำตก แต่เนื่องจากพวกเราชาวคณะต้องการดื่มด่ำกับธรรมชาติจึงเลือกที่จะใช้เส้นทางเดินป่าระยะสั้นนี้

โดยน้ำตกแม่กำปองมีต้นกำเนิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตบ้านแม่กำปอง ไหลลดหลั่นกันลงมารวม 7 ชั้น หากใครแรงดีก็สามารถเดินขึ้นไปได้ถึงชั้นที่ 7 ได้เลย เพราะชาวบ้านเขาร่วมด้วยช่วยกันสร้างทางเดินและศาลานั่งพักระหว่างน้ำตกชั้นต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมน้ำตกทุกชั้นอย่างไม่ลำบากยากนัก
บนหลังคาวิหารหลังเก่ามีพืชจำพวกมอสขึ้นปกคลุมทำให้ดูสวยไปอีกแบบ
ถัดจากการปล่อยอารมณ์สุนทรีย์ เคล้าเสียงน้ำตกอย่างเพลิดเพลินแล้ว พวกเรามุ่งหน้าสู่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ” ตำบลทาเหนือ กิ่งอำเภอแม่ออน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ควายนม” ซึ่งปกติเราเคยได้ยินแต่โคนม ไม่เคยรู้ว่ากระบือก็ให้นมได้ เจ้าความนมนี้จึงเป็นที่หมายตาของคณะเราเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ แห่งนี้เริ่มครั้งแรกในรูปโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือเมื่อปี พ.ศ.2521 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ และป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกทำลายป่า
โฉมหน้าควายนม ที่ผลิตนมมาทำชีสแสนอร่อย
แต่ก่อนที่เราจะไปยลโฉมควายนม พวกเราแวะดูการทำข้าวโพดอ่อน ซึ่งถือเป็นพืชสินค้าหลักของศูนย์ฯแม่ทาเหนือแห่งนี้ชนิดหนึ่ง โดยข้าวโพดอ่อนที่ปลูกเป็นพันธุ์แปซิฟิก 271 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมในการบริโภคสด และแปรรูป เมื่อ “ตะลอนเที่ยว” ได้เห็นข้าวโพดอ่อนฝักอวบอิ่มสีเหลืองดูสะอาดสะอ้านก็พาให้ท้องเริ่มครวญครางอีกครั้ง

ระหว่างที่บ่นอยากกินอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ยกขนมกับน้ำผลไม้คั้นสดมาบริการ แหม..ช่างรู้ใจพวกเราจริงๆ และขณะที่พวกเราชิมขนมหน้าชีสอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ชีสที่เรากินๆกันคือชีสนมควาย โอ้ว...ถึงขั้นชะงักกันเป็นแถว แล้วก็ฟังคุณเจ้าหน้าที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงควายไว้ทำชีส หรือที่เรียกว่า “มอสซาเรล่า ชีส” (Mozzarella Cheese)
บ้านพักภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
เจ้าความนมที่ศูนย์แห่งนี้เลี้ยงไว้ก็คือสายพันธุ์อินเดีย มูร่าห์ ซึ่งต้นของข้าวโพดอ่อนที่เหลือจากการนำฝักข้าวโพดไปใช้เป็นอาหารอย่างดีของเจ้าควายนมเหล่านี้ แหม..เป็นมังสวิรัติซะด้วย โดยตามหลักโภชนาการแล้วนมควายมีสารอาหารมากกว่านมโค และมีสีขาวเนียนชวนกินชวนดื่มกว่า อีกทั้งยังมีโปรตีนและไขมันสูง และคลอเรสเตอร์รอลต่ำอีกด้วย

เห็นเหล่าควายนมเหล่านี้แล้วก็ลักษณะเหมือนควายทั่วไป ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะให้นมได้ขนาดนี้แถมยังเป็นนมที่มีคุณค่ามากเสียด้วย โดยให้นมได้ถึงวันละ 5-8 กิโลกรัม นอกจากนี้เรายังได้ชมการรีดนมควายกันสดๆ ระหว่างรีดเจ้าควายคงจะเขินอายตามประสาผู้หญิงที่มีคนมาดูมันจึงออกอาการพยศดีดคอกเล็กน้อย สร้างความระทึกขวัญให้พวกเราพอหอมปากหอมคอปิดท้ายทริปกัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน เชียงใหม่ โทร.0-5322-8524 , ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ตำบลทาเหนือ กิ่งอำเภอแม่ออน เชียงใหม่ โทร.0-7173-9023
กำลังโหลดความคิดเห็น